เหตุการณ์ในอดีตประจำเดือน มีนาคม
รวมเรื่องราวที่เกิดในอดีตทุกเดือนเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษา ค้นคว้า
โดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี

เกร็ดน่ารู้ในเดือนมีนาคม.-

          - มีนาคม เป็นเดือนที่ ๓ ของปี ตามปฏิทินเกรกอเรียน และเป็นหนึ่งในเดือน ๗ เดือนที่มี ๓๑ วัน
          - ตามโหราศาสตร์ เดือนมีนาคมเริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีมีน และสิ้นสุดเมื่อยกเข้าสู่ราศีเมษ แต่ในทางดาราศาสตร์ ต้นเดือนมีนาคมดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและปลายเดือนไปอยู่ในกลุ่มดาวปลา
          - ชื่อในภาษาอังกฤษ “March” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน “Martius” หมายถึงเทพเจ้ามาร์ส เทพแห่งสงคราม จึงถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ดีในการเริ่มทำสงคราม ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้ชื่อเดือนมีนาคมใน พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้ราศีกำหนดชื่อเดือน
          - ตามปฏิทินโรมันดั้งเดิม กำหนดให้เดือนมีนาคมเป็นเดือนแรกของปี แม้ว่าจูเลียส ซีซาร์จะปฏิรูประบบปฏิทินใหม่ โดยให้ปีใหม่ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม เมื่อ ๔๕ ปีก่อนคริสตกาล แต่หลายประเทศก็ยังคงเริ่มปีใหม่ในเดือนมีนาคม ฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวที่กำหนดให้วันปีใหม่ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม ในปีพ.ศ. ๒๑๐๗(ค.ศ.๑๕๖๔) ส่วนสหราชอาณาจักรและอาณานิคมยังคงใช้วันที่ ๒๕ มีนาคม เป็นวันปีใหม่จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๒๙๕ (ค.ศ.๑๗๕๒) ปีเดียวกับที่เริ่มใช้ปฏิทินเกรกอเรียน
           - วันในสัปดาห์ ของแต่ละวันในเดือนมีนาคม ตรงกับวันในสัปดาห์ของเดือนพฤศจิกายนเสมอ และจะตรงกับวันในสัปดาห์ของเดือนกุมภาพันธ์ในบางปี
           - ดอกไม้ประจำเดือนมีนาคม คือ ดอกไวโอเลต
           - อัญมณีประจำเดือนเกิดของเดือนมีนาคม คือ อะความารีน (พลอยสีน้ำทะเลอ่อน)
           - วันอีสเตอร์ตรงกับวันอาทิตย์ที่อยู่ระหว่าง ๒๒ มีนาคม ถึง ๒๕ เมษายน (ไม่ตรงกันทุกปี)

๑ มีนาคม ๒๒๓๐

ออกพระวิสูตรสุนทร ได้เป็น ราชทูตออกไปเมืองฝรั่งเศส เดินทางกลับถึงประเทศไทย

ฝรั่งเศสได้ส่งกองทหาร ๖๓๖ คน ในบังคับนายพลเดฟาร์ช มาประจำที่ป้อมเมืองมะริด ตามคำร้องขอของฟอลคอน และมีหัวหน้าทูตเข้ามา ๒ คน คือ เดอลาบูแบ และ คลอดเซเบแต้ดูบูลเย

๑ มีนาคม ๒๔๓๓

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระบรมราชโองการ ให้สร้างทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพ ฯ ถึงเมืองนครราชสีมาเป็นทางรถไฟสายแรกในราชอาณาจักรไทย

๒ มีนาคม ๒๔๗๗

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ เนื่องจากไม่ทรงเห็นชอบกับรัฐบาลคณะราษฎร ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในการออกกฎหมายบางเรื่อง

๒ มีนาคม ๒๔๗๗

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์สืบแทน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสละราชสมบัติ

๒ มีนาคม ๒๔๘๕

ออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย ตามความต้องการของอังกฤษ แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างกัน

๔ มีนาคม : วันไทยอาสาป้องกันชาติ

๔ มีนาคม ๑๘๙๓

สถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยพระเจ้าอู่ทองเป็นปฐมกษัตริย์

๔ มีนาคม ๒๔๘๐

ไทยกับประเทศนอร์เว ทำสัญญาแลกเปลี่ยนไมตรีการพาณิชย์ ในรัชกาลที่๘

๕ มีนาคม - วันนักข่าวในประเทศไทย

๖ มีนาคม ๒๔๑๓

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ สิงคโปร์ ชวา โดยเรือพิทยัมรณยุทธ ออกจากกรุงเทพ ฯ วันนี้

๗ มีนาคม ๒๔๗๗

รัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เห็นชอบอัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์ นับตั้งแต่วันและเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ วันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ เวลา ๑๓.๔๕ น. ตามเวลาในประเทศอังกฤษเป็นต้นไป แต่เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุราชนิติภาวะ

๗ มีนาคม ๒๕๑๐

ชักชวนให้พวกพ่อค้าในเรือนั้นกระทำร้ายพระเจ้าแผ่นดินสยาม (พระเจ้าปราสาททอง) และเนื่องด้วยเหตุนี้พระเจ้าปราสาททอง จึงส่งกองทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช

๘ มีนาคม - วันสตรีสากล, วันสุขภาพสตรี

วันสตรีสากล

วันสตรีสากลเริ่มมีเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.๑๙๐๙

และเริ่มเฉลิมฉลองทั่วโลกใน ค.ศ.๑๙๑๑ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำเร็จและความสำคัญของสตรีในประวัติศาสตร์ ในสหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดเดือนแห่งประวัติศาสตร์สตรีขึ้นก่อนใน ค.ศ.๑๙๐๘ โดยโครงการประวัติศาสตร์สตรีแห่งชาติ ต่อมาจึงกลายเป็นการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล โดยถือเอาวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล มีกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองกันทั่วโลก

จากการวิจัยที่ผ่านมามากกว่า ๗๐ ปี พบความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย ทั้งโอกาสการทำงานและค่าตอบแทน นอกจากนี้สตรีจำนวนมากยังถูกโดดเดี่ยว และถูกทุบตี นอกจากนี้หญิงที่มีครอบครัวแล้วนอกจากต้องทำงานตามปกติแล้วยังต้องดูแลบ้านด้วย จากการประชุมขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับสตรีครั้งที่ ๔ ได้มีการอภิปรายถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสตรีที่สำคัญ ๆ อาทิเช่น ความยากจน การศึกษา การดูแลสุขภาพ อำนาจทางการเมือง การตัดสินใจทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และความรุนแรงต่อสตรี

วันสตรีสากล

จุดเริ่มต้น

การที่แรงงานสตรีของโรงงานทอผ้า ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้รับการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน จึงเดินขบวนประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรี

ความเป็นอยู่ในแรงงานสตรีในสมัยนั้น เปรียบได้กับทาสนิโกร เพราะต้องทำงานอย่างหนัก วันละ ๑๒-๑๕ ชั่วโมง ส่วนค่าแรงนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับการทำงานหนักเช่นนั้น และสตรีที่ตั้งครรภ์จะถูกไล่ออก

ผู้นำแรงงานสตรีที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี คือ คลาร่า เซทคิน แรงงานสตรี โรงงานทอผ้า ชาวเยอรมัน คลาร่า นัดเดินขบวนหยุดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงาน จากวันละ ๑๒-๑๕ ชั่วโมง ให้เหลือวันละ ๘ ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีคนหลายร้อยถูกจับกุม แต่ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน

ภายหลังอีก ๓ ปีต่อมา ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดาแรงงานสตรีจึงบรรลุความสำเร็จ กล่าวคือ ในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ.๑๙๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๓) ตัวแทนสตรีจาก ๑๘ ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของแรงงานสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ ๘ ชั่วโมง พักผ่อน ๘ ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย นอกจากนี้ ยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย และที่สำคัญในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

ปัจจุบัน

วันสตรีสากล มิได้มีความสำคัญเพียงแค่ กลุ่มสตรีทุกประเทศทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองตามประเพณีที่ทำกันทุกปีเท่านั้น หากแต่เป็นการรำลึกวันประวัติศาสตร์ที่กลุ่มสตรีร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานสตรี และสืบทอดแนวคิด ที่ต้องการให้สตรีได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย จากความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสวัสดิการต่าง ๆ ความปลอดภัยในการทำงาน ด้านสุขภาพให้ดีขึ้น และการให้เกียรติสตรี ยกย่องให้มีฐานะเท่าเทียมกับบุรุษ

วันสตรีสากลเป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติร่วมเฉลิมฉลองด้วย และอีกหลายประเทศได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำชาติของตน กลุ่มสตรีจากทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือ การเมืองก็ตาม ได้รวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้

สิทธิสตรีในประเทศไทย

ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อสหประชาชาติที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี โดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฏหมาย นโยบาย มาตรการและกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษ คือ มีนโยบาย กฎหมายต่าง ๆ เพื่อความเป็นธรรมในทุกรูปแบบ ทำให้สตรีได้รับโอกาส ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ มีการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล และระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสตรีมีบทบาทมากขึ้น มีความรู้ความสามารถทัดเทียมผู้ชาย เป็นที่ยอมรับจากสังคม เป็นผู้นำในหลาย ๆ ด้าน ในหน่วยงานราชการและภาคเอกชน มีสุภาพสตรีเข้าไปเป็นผู้บริหารระดับสูงมากมาย และยังมีบุคคลสำคัญมากมายที่เป็นสุภาพสตรีที่มีบทบาทในการบริหารประเทศชาติ และเป็นที่ยอมรับของสังคม

ที่มา.-วิชาการ.คอม

๙ มีนาคม ๒๔๑๓

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสน์เมืองสิงคโปร์ ปัตตาเวีย และเกาะชวา โดยเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ เพื่อทอดพระเนตรกิจการบ้านเมือง ตลอดจนขนมธรรมเนียม และประเพณีของต่างชาติ เป็นเวลา ๔๗ วัน และเสด็จกลับเมื่อ๑๕ เมษายน ๒๔๑๔

๙ มีนาคม ๒๔๓๓

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองแขวงเมืองปทุมธานี ไปออกแม่น้ำนครนายก หรือที่เรียกว่า คลองรังสิต และคลองนี้เอง ที่เป็นการเริ่มต้นกิจการด้านการชลประทาน

และเป็นผลดีแก่เกษตรกรในจังหวัดใกล้เคียงเป็นอันมาก

๙ มีนาคม ๒๔๓๔

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) ประกอบพิธีกระทำพระฤกษ์ เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ นครราชสีมา

๑๐ มีนาคม ๒๓๓๔

เมืองทะวายกลับมาอยู่ในอิทธิพลของไทย หลังจากตกไปเป็นของพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๒

๑๐ มีนาคม ๒๓๙๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระบรมราชชนนีและกรมพระราชวังบวร ฯ ที่สวรรคตแล้ว (ร.๑-๓)

๑๐ มีนาคม ๒๔๕๑

อังกฤษยอมตกลงปักปันเขตแผ่นดินไทย และรัฐกลันตันของมลายู ด้วยแม่น้ำสุไหงโกลก ที่ไหลมาออกอ่าวไทยที่บ้านตาบา (ใต้อำเภอตากใบ) จังหวัดนราธิวาสลงไปราว ๕กิโลเมตร มีการลงนามในสัญญาแบ่งเขตแดนที่เรียกว่า สัญญาตาบา เพราะไทยใช้วัดชลธาราสิงเหตำบลเจ๊ะเห ริมฝั่งแม่น้ำตากใบ อ้างเป็นหลักฐานยืนยันว่า แผ่นดินตากใบรวมถึงตัวเมืองนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี เป็นของไทยมาเก่าแก่ ต่อมาวัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดพิทักษ์แผ่นดินมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

๑๐ มีนาคม ๒๔๕๑

ไทยเสียรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส เป็นพื้นที่๘๐,๐๐๐ ตร.กม. ให้แก่ อังกฤษ เพื่อให้ได้อำนาจศาลไทยที่จะใช้บังคับคนในบังคับอังกฤษในประเทศไทย

๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔

ไทยกับฝรั่งเศสตกลงทำสัญญาเลิกรบกัน ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น

๑๑ มีนาคม ๒๕๐๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ประพาสประเทศปากีสถาน จนถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๐๕

๑๒ มีนาคม ๒๕๐๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมท์ปฎิทิน ทรงคำนวนขึ้นเป็นครั้งแรก

๑๒ มีนาคม ๒๕๒๔

ตั้งค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ตามหลักฐานแจ้งความกองทัพบก ลง ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๔ เป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ ๕ อยู่ที่ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

๑๓ มีนาคม - วันช้างไทย, วันแห่งชัยชนะท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร

วันช้างไทย

-เกิดจากการริเริ่มของคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น ก็จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่นและเห็นว่าวันที่ ๑๓ มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เห็นชอบให้วันที่ ๑๓ มีนาคม เป็นวันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑

-ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย

วันแห่งชัยชนะท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร

๑๓ มีนาคม ๒๓๑๘

เป็นวันที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว เจ้าพระยาจักรีที่พิษณุโลก ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้อายุ๗๒ ปี เจ้าพระยาจักรีอายุ ๓๘ ปี และพม่าล้อมที่พิษณุโลก ๔ เดือน จึงจะเข้าตีพิษณุโลกได้

๑๔ มีนาคม : วันหยุดเขื่อนโลก , วันนอนหลับโลก

๑๕ มีนาคม : วันสิทธิผู้บริโภคสากล หรือ วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล

วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล

ภาคีสุขภาวะของเราได้ผลักดันงานเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง ตั้งแต่การจัดประเภทรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) การจำกัดการโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็กการควบคุมข้อมูลที่มีผลต่อเยาวชนในอินเตอร์เน็ต การปกป้องอันตรายของสินค้า เช่น น้ำที่ปนเปื้อนตะกั่วของเล่นที่มีสารตะกั่ว เป็นต้น ยังไม่นับการผลักดัน พ.ร.บ.เหล้า และการเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ ที่ใจความสำคัญคือการคุ้มครองผู้บริโภคเช่นกัน

สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้มาตรการเหล่านี้ก่อผล ทางปฏิบัติจริงจังและพัฒนาต่อไป ไร้การแทรกแซงจากผู้เสียผลประโยชน์หรือหวั่นไหวไร้หลักเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยเรื่องดีที่เกิดขึ้นยังมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ของผู้บริโภค และช่วยให้มาตรการบรรเทาความเสียหายเมื่อผู้บริโภคเสียหายเป็นจริงได้

ความเคลื่อนไหวของงานคุ้มครองผู้บริโภค มีแกนนำขับเคลื่อนอยู่หลายคน เช่น รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คุณรสนา โตสิตระกูล คุณสารี อ๋องสมหวัง นักรณรงค์ด้านสุขภาพและเพื่อผู้บริโภค ทพ.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ แห่งแผนงานเด็กไทยไม่กินหวาน เป็นต้น รวมถึงอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน์ สองกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ชุดใหม่ของกองทุน สสส. ด้วย (ขอภัยหากผมเอ่ยนามได้ไม่หมด)

สร้างสุขฉบับนี้ยังไปติดตามสาระแห่งธรรมนูญสุขภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่ได้ประกาศใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นฐานการทำงานขององค์การอิสระคุ้มครอง ผู้บริโภคตามมาตรา ๖๑ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้ ต้องมีองค์กรอิสระคุ้มครอง ผู้บริโภคภายใน ๑ ปี หลังจากวันที่รัฐบาล ชุดปัจจุบันแถลงนโยบาย โดยเป็นองค์การในฝันที่ประชาชนผู้บริโภคเฝ้ารอแล้วรอค้างมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

เริ่มปีหนูไฟเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศเริ่มจะหนาหู แต่เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะก็จะเดินหน้าทำเรื่องดี ๆ เพื่อสังคมสุขภาวะของเราต่อไป

โดย นพ.สุภกร บัวสาย

ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนมีนาคม ๒๕๕๑

๑๕ มีนาคม ๒๓๔๙

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราชผู้รับรัชทายาท

๑๕ มีนาคม ๒๔๐๑ รัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์

๑๕ มีนาคม ๒๔๐๐ เป็นวันที่ราชกิจจานุเบกษา ฉบับปฐมฤกษ์ออก

กำเนิดหนังสือราชกิจจานุเบกษา โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้พิมพ์ออกแจกจ่ายประชาชน พระราชทานนามว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแปลว่า หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ

ราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือของทางราชการที่ออกเป็นรายสัปดาห์โดยสำนักงานราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนประกาศของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมทั้งประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

เนื้อหาที่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ การบอกข้อราชการและข่าวต่าง ๆ ประเภทหนึ่ง อีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ แจ้งความ ประกาศพระราชบัญญัติ และกฎหมาย

๑. การบอกข้อราชการและข่าวต่าง ๆ ประกอบด้วย

- ข่าวในพระราชสำนัก ได้แก่ ข่าวเสด็จพระราชดำเนิน ณ ที่ต่าง ๆ ข่าวอัครราชทูตนานาประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคมลา ข่าวพระราชทานเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ พระราชาคณะ ข่าวแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข่าวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญตราต่าง ๆ สัญญาบัตรขุนนางและตำแหน่งยศทหาร ข่าวสิ้นพระชนม์ เป็นต้น

- ข่าวการสงคราม ได้แก่ ข่าวบอกเมืองนครราชสีมาว่าด้วยกองทัพฮ่อและกำหนดซึ่งจะได้ยกทัพขึ้นไปเมืองหนองคาย เป็นต้น

- ข่าวเกี่ยวกับการเกษตรและภูมิอากาศ เช่น รายงานข้าวเปลือกข้าวสารที่ซื้อขายกันในพื้นเมืองต่าง ๆ รายงานราคาถั่ว งา รายงานจำนวนสัตว์พาหนะที่ป่วยเป็นโรคล้ม และรายงานบอกน้ำฝนต้นเข้ากรุง เป็นต้น

- เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวไฟไหม้สถานที่ต่าง ๆ

๒. แจ้งความ ประกาศ พระราชบัญญัติและกฎหมายต่าง ๆ

๑๕ มีนาคม ๒๔๑๐

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเป็นกรมขุนพินิตประชานารถ

๑๖ มีนาคม ๒๔๒๓

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พรราชทานเพลิงศพ สมเด็จรพะนางเจ้าสุนันทากุมานีรัตน์ พระบรมราชเทวี(พระนางเรือล่ม)

๑๖ มีนาคม ๒๔๘๕

นิวซีแลนด์ประกาศสถานะสงครามกับไทย โดยให้มีผลตั้งแต่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างกัน

๑๘ มีนาคม ๒๔๑๔

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอินเดีย เป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งบางกอก มีเรือรบตามเสด็จ ๒ ลำ

๒๐ มีนาคม ๒๒๗๙

วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชสมภพ ณ ที่ปัจจุบันคือ วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

๒๐ มีนาคม : วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ งานสาธารณสุขมูลฐานเกิดขึ้นหลังจากมีคำประกาศปฏิญญาสากล เมื่อปี ๒๕๒๑ ว่าประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะให้ความร่วมมือทั้งรายบุคคลและเป็นคณะเพื่อให้บรรลุสภาวะสุขภาพดีถ้วนหน้าภายในปี ๒๕๔๓ องค์การอนามัยโลกได้จัดสรร

ทรัพยากรเพื่อสนับสนุนงานสาธารณสุข ซึ่งดำเนินการโดยชุมชนหรือที่เรียกว่าการสาธารณสุขมูลฐาน การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจของความสำเร็จในการพัฒนา การมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นั้น ได้ดัดแปลงมาจากความคิดนี้ มีโครงการทดลองที่

จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย ได้ทำไว้ โดยคัดเลือกชาวบ้านบางคนมาทำการฝึกอบรม ให้ทำการรักษาพยาบาลอย่างง่าย ๆ ในระยะแรก ๆ พบอุปสรรค เพราะสถาบันการศึกษากล่าวว่าเป็นการสร้างหมอเถื่อน จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมโครงการที่คล้าย ๆ กันมานำเสนอความคิดเรื่องอาสาสมัครเข้าสู่การวางแผนระดับชาติโดยมีการประชุมปรึกษากันหลายครั้ง ในที่สุดก็ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๒ คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ให้เปลี่ยนคำว่าการสาธารณสุขเบื้องต้น เป็นการสาธารณสุขมูลฐาน ดังนั้นอสม.จึงถือว่า วันที่ ๒๐ มีนาคม เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขด้วย

กิจกรรม จัดการประกวดเพื่อคัดเลือก อสม.ดีเด่นและจัดนิทรรศการต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ

๒๐ มีนาคม ๒๓๗๕

ไทยกับสหรัฐ ตกลงทำสัญญาค้าขายกัน ในสมัยประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจคสัน โดยมี มร. เอ็ดมัน โรเบอร์ดส์ เป็นทูตเข้ามาเซ็นสัญญา

๒๐ มีนาคม ๒๕๑๙

รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประโมท ได้สั่งให้สหรัฐอเมริกา ปิดฐานทัพในประเทศไทย และถอนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ทั้งหมดออกไปภายในระยะเวลา๔ เดือน นับเป็นการสิ้นสุดของทหารสหรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศไทย

๒๑ มีนาคม วันสากลว่าด้วยการขจัดการแบ่งแยกเชื้อชาติ, วันป่าไม้โลก, วันกวีโลก (วันกวีนิพนธ์สากล)

๒๒ มีนาคม – วันน้ำของโลก หรือ วันอนุรักษ์โลก

วันน้ำของโลก (World Day for Water หรือชื่อที่ไม่เป็นทางการคือ World Water Day) ตรงกับวันที่ ๒๒ มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น ในปี ค.ศ.๑๙๙๒ สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ ๒๒ มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันน้ำของโลก" หรือ "World Day for Water" เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก

อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติ ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี ๑๙๙๒ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda ๒๑ จัดโดยองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ซึ่งในแต่ละปีจะมีหน่วยงาน ในสังกัดองค์การสหประชาชาติรับผิดชอบในการร่วมจัดงาน

ความเป็นมา

จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ ๒๒ มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันน้ำของโลก" หรือ "World Day for Water" โดยเริ่มต้นในปี ๒๕๓๖ เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างรับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี ๒๕๓๕ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda ๒๑

การจัดกิจกรรมการประชุมระหว่างประเทศ

มีการจัดกิจกรรมการประชุมระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องน้ำของโลกขึ้นที่ประเทศ ต่าง ๆ ดังนี้

ครั้งที่ ๑: ปี ๒๕๔๐ ณ ประเทศโมร็อกโก
ครั้งที่ ๒: ปี ๒๕๔๓ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ครั้งที่ ๓: ปี ๒๕๔๖ ณ ประเทศญี่ปุ่น

ในการประชุมหนแรกนั้น ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกำหนด "หลักจริยธรรมในการใช้น้ำครั้งใหม่"เพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำโลกดังนั้น การประชุมน้ำโลกในครั้งที่สองจึงเป็นการสานต่องานที่ทำค้างไว้ โดยจะมีการผลักดัน "แผนปฏิบัติการ" สำหรับน้ำในอีก ๒๕ ปีข้างหน้า เพื่อทำให้ชาวโลกมีน้ำสะอาดไว้ดื่มกิน ชำระร่างกาย และทำการเกษตรอย่างทั่วถึงในปี ๒๕๖๘ ผู้รับหน้าที่ทำงาน คือ "คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยน้ำสำหรับศตวรรษที่ ๒๑" ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการชุดนี้ตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มการลงทุนในการจัดหาน้ำทั่วโลกขึ้นเป็นปีละ ๑๘๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ โดยมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นายโคฟี อันนาน เลขาธิการสหประชาชาติได้มีสารเนื่องในวันน้ำโลก

โดยย้ำว่า "น้ำสะอาดเป็นสิ่งพิเศษ ในศตวรรษใหม่นี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถผลิตน้ำได้ น้ำจึงไม่มีสิ่งใดมาแทนที่ หรือทดแทนได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเห็นคุณค่าของน้ำและรักษาทรัพยากรนี้ไว้" เลขาธิการยูเอนยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้น้ำอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้คนจนและคนรวยได้รับน้ำอย่างเท่าเทียมกัน ในราคาที่หาซื้อได้ และว่าสิ่งท้าทายของมนุษยชาติก็คือ การจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์น้ำ คุณภาพของน้ำ และปริมาณน้ำ ซึ่ง "สตรีเพศ" ในฐานะผู้จัดการครอบครัวจะต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นทั่วโลกว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญ และมีบทบาทในการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นชาวโลกต้องยกระดับความรู้ในเรื่องการหมุนเวียนนำน้ำมาใช้ใหม่ และการเพิ่มสมรรถวิสัยต่อการจัดการทรัพยากรน้ำที่หายากนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะบรรลุผลได้ด้วยการดึงสติปัญญาของมนุษย์ออกมมาใช้ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอนุรักษ์น้ำ ตลอดจนการ" ปฏิวัติสีน้ำเงิน"

หน่วยงานของสหประชาชาติ

หน่วยงานของสหประชาชาติมี ๒ แห่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องน้ำโดยตรง คือ

๑. องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้)
๒. คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสเคป)

ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำทั่วโลก ซึ่งน่าสนใจและมีหลายเรื่องที่คนทั่วยังไม่รู้และนึกไม่ถึง กล่าวคือ ยูเนสโกและเอสเคประบุว่า พื้นผิวโลก๒ใน๓ปกคลุมด้วยน้ำแต่เป็น "น้ำเค็ม" จากทะเลและมหาสมุทรทั้งหมด ส่วน "น้ำจืด" ซึ่งจำเป็นต่อการยังชีพของมนุษย์นั้น ครอบคลุมเพียงร้อยละ ๑ ของผิวโลกเท่านั้น แต่ "แหล่งน้ำจืด" ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ,ใต้และธารน้ำแข็ง หรือซึมอยู่ใต้ผิวดินลึก จนมนุษย์ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนแหล่งน้ำจืดที่ใช้ได้จริง ๆ มีเพียงร้อยละ ๐.๒๕ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่หาได้จากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำใต้ดิน

แหล่งน้ำจืดเพียงน้อยนิดนี้เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตพลโลกกว่า ๖,๐๐๐ล้านคน ซึ่งแน่นนอนว่าย่อมไม่เพียงพอ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของมนุษย์กลับมีมากขึ้นทุกวัน และมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของน้ำจืด จนตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง ยูเอนได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมการใช้น้ของมนุษย์ว่า ในแต่ละวันมนุษย์ต้องดื่มน้ำอย่างน้อย ๒-๕ ลิตร ใช้ชักโครกโถส้วม ๕-๑๕ ลิตร ใช้อาบน้ำ ๕๐-๒๐๐ ลิตรขณะที่ใช้น้ำเพื่อการชลประทานและการเกษตร ราวร้อยละ ๗๐ ของน้ำทั้งหมด แต่ครึ่งหนึ่งต้องสูญเปล่าเพราะซึมลงไปในดินหรือไม่ก็ระเหยขึ้นสู่อากาศหมด กรุงเทพมหานครของไทย ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่เมืองที่ผลาญทรัพยากรน้ำมากที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วใช้น้ำราว ๒๖๕ ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่ชาวฮ่องกงใช้น้ำเปลืองน้อยที่สุดในโลก เพียง ๑๑๒ ลิตร ต่อคนต่อวัน

การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่รับผิดชอบทำให้การไหลเวียนของแม่น้ำหยุดชะงักลง ระดับน้ำในแม่น้ำและน้ำใต้ดินลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มดินเปียกหายไป สภาพปนเปื้อนพิษจากมลพิษต่าง ๆ ทำให้คุณภาพน้ำลดลง จำนวนน้ำสะอาดก็ลดลงเช่นกัน นอกจากนี้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรโลกก็มีส่วนทำให้จำนวนน้ำจืดสำหรับใช้ในรายบุคคลลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่น่าเป็นห่วงคือ น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษและขาดสุขลักษณะ เป็นสาเหตุทำให้เด็กทารก ในเอเชียและแปซิฟิกเสียชีวิตกว่าปีละ ๕ แสนคน นอกจากนี้สถิติของสหประชาชาติเมื่อสิ้นปี๒๕๔๒ พบว่ามีประชากรโลกราว ๒,๔๐๐ล้านคน ไม่ได้รับความสะดวกสบายจากระบบสุขอนามัยเกี่ยวกับน้ำที่ทันสมัย หน่วยงานของสหประชาชาติได้เสนอแนะทางออกในปัญหานี้หลายข้อ อาทิ การอนุรักษ์น้ำ, การบำบัดน้ำเสีย, การปรับเปลี่ยนหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่, การจัดการเรื่องน้ำและดินให้เหมาะสม , การทำวิจัยแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่, ออกกฎหมายการใช้น้ำที่ทันสมัย, การจัดสรรน้ำอย่างเสมอภาค และการปลุกจิตสำนึกในหมู่ประชาชนให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของน้ำ ยิ่งกว่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ตัวบุคคล, องค์กร, อาสาสมัคร, ภาคอุตสาหกรรม, รัฐบาลท้องถิ่น, รัฐบาลกลาง ตลอดจน องค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

และในการประชุมครั้งที่ ๓ ณ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวร่วมกับประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ ๒๐๐ ประเทศ

การประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะมีส่วนร่วมที่สำคัญในการประชุม ๓ ประการได้แก่

๑. การเสนอรายงานโครงการประเมินสถานการณ์น้ำของโลกในส่วนของประเทศไทยกรณี ศึกษาการพัฒนาและบริหารลุ่มน้ำเจ้าพระยา
๒. การเสนอแผนปฏิบัติการทรัพยากรน้ำ ของประเทศไทย
๓. การประชุมและจัดทำแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี

ในการประชุมระดับโลกทุกครั้งที่ผ่านมา สถาบันการจัดการน้ำระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการประชุมดังกล่าว อาทิเช่น World Water Council (WWC), Clobal Water Partnership (GWP) และธนาคารโลก ต่างใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอทิศทางหรือการจัดทรัพยากรน้ำและการแบ่งปันผลประโยชน์ (Water Resources Management and Benefit Sharing) โดยมีประเด็นใจกลาง ๔ ประเด็น ได้แก่ หุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ – เอกชน (Public Private Partnership), เขื่อนกับการพัฒนา (Dam and Development Partnership), ค่าคืนทุน (Cost Recovery), การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management) ซึ่งสรุปในแต่ละประเด็นได้ดังนี้

การแปรรูปกิจการประปาหรือระบบชลประทานของรัฐ (Privatization) ภายใต้แนวทาง ที่เรียกว่า Public Private Partnership (PPP) ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกผลักดันจากการประชุมระดับนานาชาติมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การประชุมเรื่องน้ำจืดโลกที่กรุงบอน เดือนธันวาคม ๒๕๔๔ หรือ การประชุมที่โจฮันเนสเบิร์ก แนวทางเช่นนี้ถูกใช้เพื่อรองรับความชอบธรรมให้บริษัทข้ามชาติด้านกิจการน้ำประปาเข้ามา ลงทุนหรือรับสัมปทานในประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในหลายประเทศได้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมสูงมาก เช่น ประเทศโบลิเวีย

แนวความคิดในเรื่องการคิดค่าคืนทุนระบบชลประทานหรือระบบการลงทุนด้านการจัดหาน้ำเพื่อเป็นหลักประกันให้กับบริษัทที่มาลงทุนในแต่ละประเทศ และการส่งเสริมระบบการค้าเสรีของโลก การส่งเสริมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบของเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และเพื่อการบรรเทาน้ำท่วม ซึ่งผลักดันโดย UNDP ได้จัดทำโครงการ Dam and Development Partnership และ World Commission on Dam (WCD) การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือ Integrated Water Resources Management (IWMI) โดยมีแนวทางให้เกิดองค์กรระดับลุ่มน้ำ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด (โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ)

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เพราะน้ำคือชีวิต หากทรัพยากรหายากนี้หมดไป โลกทั้งโลกก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน จงช่วยกันรักษ์น้ำตั้งแต่วันนี้กันเถอะ

วันน้ำแห่งโลกจะเป็นสิ่งเตือนใจประชากรโลกเกี่ยวกับเรื่องน้ำ กระตุ้นเตือนให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำ รวมทั้งระบบการชลประทาน การระบายน้ำ ทำให้ประชากรโลกตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ ด้วยการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรน้ำให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป และได้ถือเอาวันที่ ๒๒ มีนาคมเป็นวันน้ำแห่งโลก (World Water Day)

กิจกรรม จัดประชุมวิชาการสัมมนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำ และความสำคัญของน้ำต่อสุขภาพ

๙ เคล็ดลับที่ช่วยประหยัดน้ำ

--------------------------------------------------------------------------------

ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ในตอนนี้ อะไร ๆ ก็แพงขึ้นทุกวัน การประหยัดพลังงานอย่างน้ำมัน ไฟฟ้า หรือน้ำ ก็ถือว่าเป็นการช่วยเซฟเงินในกระเป๋าเราได้อีกวิธีหนึ่ง ถ้างั้นเรามาเริ่มที่เรื่องที่ใกล้ตัวอย่างการประหยัดน้ำในชีวิตประจำวันเลยดีกว่า

๑. อย่าเปิดน้ำทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ ขณะล้างหน้า แปรงฟัน โกนหนวด หรือฟอกสบู่ และควรล้างผักผลไม้ จานชามในอ่างหรือภาชนะที่มีการเก็บน้ำไว้เพียงพอ เพราะการล้างด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำโดยตรง จะใช้น้ำมากกว่าการล้างด้วยน้ำที่บรรจุไว้ในภาชนะถึงร้อยละ ๕๐

๒. ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำเพื่อการลดการสูญเสียน้ำอย่างเปล่าประโยชน์ โดยปิดปั๊มน้ำและก๊อกน้ำทั้งหมด แล้ตรวจสอบดูมิเตอร์ ถ้าหากตัวเลขมิเตอร์ยังเดินอยู่ก็แสดงว่ามีจุดรั่วไหล ให้ค่อย ๆ เช็กไปทีละจุดจนกว่าจะพบ

๓. เราสามารถนำน้ำที่ใช้ล้างจานชาม ล้างแก้ว ล้างผัก ซักผ้า (น้ำสุดท้าย) มาใช้รดน้ำต้นไม้ได้อีกครั้งหนึ่ง

๔. เวลามีแขกมาเยี่ยมที่บ้านให้เสริฟน้ำแค่ปรมาณ ๗๐% ของแก้ว หรือใช้แก้วใบเล็กเสริฟแทน เพราะบางคนดื่มน้ำไม่เยอะ หรือเราอาจจัดเตรียมเหยือกใส่น้ำไว้สำหรับเติมให้แขกบางคนที่ชอบดืมน้ำเยอะก็ได้ เพราะการเติมน้ำทีละนิดย่อมดีกว่าเหลือทีหลัง

๕. ไม่ควรใช้สายยางและเปิดน้ำไหลตลอดเวลาในขณะที่ล้างรถ เพราะจะใช้น้ำมากถึง ๔๐๐ ลิตร แต่ถ้าล้างด้วยน้ำและฟองน้ำในกระป๋องหรือภาชนะบรรจุน้ำ จะลดการใช้น้ำได้มากถึง ๓๐๐ ลิตร ต่อการล้างหนึ่งครั้ง

๖. ลดความถี่ในการล้างรถลง เช่น จากสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ก็เลยแค่สัปดาห์ละครั้งก็พอ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดน้ำได้โดยตรง

๗. ถ้าที่บ้านคุณใช้โถส้วมแบบชักโครก ให้นำหินจำนวนหนึ่งหรือถุงพลาสติก ใส่น้ำมาวางแทนที่น้ำในถังเก็บน้ำ ก็ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำสำหรับกดทำความสะอาดลงได้

๘. ไม่ใช้ชักโครกเป็นที่ทิ้งเศษอาหาร กระดาษ สารเคมีทุกชนิด เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำจากการชักโครกเพื่อไล่สิ่งของลงท่อในปริมาณมาก แถมท่อยังอาจตันได้ด้วย

๙. ถ้าซักผ้าด้วยมือ ควรรองน้ำใส่กะละมังแค่พอใช้ อย่าเปิดน้ำไหลทิ้งไว้ตลอดเวลาที่ซัก เพราะจะสิ้นเปลืองกว่าการซักโดยวิธีการขังน้ำไว้ในกะละมัง

๒๒ มีนาคม ๒๓๒๗

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร จากพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี ข้ามฟากลำน้ำเจ้าพระยา นำไปประดิษฐานไว้บนบุษบกทองคำ ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๒๒ มีนาคม ๒๔๔๙

ฝรั่งเศสเข้ายึดครองมณฑลบูรพาของไทย คือ เมืองเสียมราฐ พระตะบอง

๒๒ มีนาคม ๒๔๕๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเป็นครั้งแรก

๒๓ มีนาคม : วันอุตุนิยมวิทยาโลก

๒๓ มีนาคม ๒๔๔๙

ไทยเสียดินแดนมณฑลบูรพา คือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ พื้นที่ ๕๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากตราดและแลกกับอำนาจทางการศาลของไทย

๒๔ มีนาคม ๒๓๒๘

วันที่พม่าถอยทัพออกจากถลาง (เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐)

๒๔ มีนาคม ๒๔๓๐

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้ยิงปืนเที่ยงบอกเวลา๑๒.๐๐ น สถานที่ตั้งยิงปืนเที่ยงอยู่ที่ท้องสนามหลวง

๒๔ มีนาคม ๒๔๙๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัติประเทศไทย และได้ทรงประทับบนเรือหลวงศรีอยุธยาที่กองทัพเรือจัดถวาย เป็นเรือพระที่นั่งในคราวเสด็จพระราชดำเนิน จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นิวัติพระนคร

๒๔ มีนาคม : วันวัณโรคโลก

วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อระบบหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobac terium tuberculosis เชื้อแพร่จากผู้ป่วยสู่ผู้อื่นทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอด อาการสำคัญคือ ไอเรื้อรังเกิน ๓ สัปดาห์ อาจไอเป็นเลือด มีไข้ต่ำ ๆ ผอมลง เชื้อจากปอดอาจแพร่สู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ไต กระดูก เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการในระบบอื่นด้วยและเกิดโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคเอดส์จะมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายขึ้น

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ ๒๔ มีนาคมของทุกปีเป็น วันวัณโรค (World TB Day) เนื่องจากเมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๕ นายแพทย์โรเบิร์ต คอด ได้ประกาศการพบเชื้อวัณโรคในปัจจุบันได้มีการประการป้องกันและควบคุมวัณโรคแบบใหม่โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Direct Observed Treatment Short course เรียกสั้น ๆ ว่า DOTS หรือการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง เพื่อลดอัตราการตาย และลดจำนวนเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาที่ใช้รักษา DOTS ใช้แผนการรักษาโดยใช้ยาหลายชนิดเข้าด้วยกัน มีการเฝ้าสังเกตผู้ป่วย ให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้รับยาตามแผนการรักษาอย่างครบถ้วนเป็นเวลา ๖-๘ เดือน ซึ่งทำให้โรคหายได้มากกว่า ๘๕%

กิจกรรม.- จัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัณโรค สาเหตุ การติดต่อ อาการ การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย การป้องกันวัณโรค ให้บริการตรวจเสมหะ เอ๊กซเรย์ปอด ตรวจรักษาวัณโรค

๒๕ มีนาคม - วันแม่ในสหราชอาณาจักร

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๑๙๗ (ค.ศ. ๑๖๕๕) –

คริสเตียน ไฮเกนส์ ค้นพบไททัน ดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. ๑๙๕๗) –

เยอรมนีตะวันตก เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อิตาลี ฝรั่งเศส และเบลเยียม ลงนามในสนธิสัญญาแห่งโรม เพื่อก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ (ค.ศ. ๑๙๙๕) –

วอร์ด คันนิงแฮม สร้างวิกิแห่งแรก

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

กษัตริย์ไฟซาล (king Faisal bin Abd Al Aziz ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๗๕) แห่งซาอุดิอาระเบีย ถูกลอบยิงเสียชีวิตซึ่งคาดกันว่าเป็นผลมาจากความขัดแ ย้งทางการเมือง

๒๕ มีนาคม –

วันเกิดของ เดวิด ลีน (David Lean) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษที่ฝากผลงานภาพยนตร์ยิ่งให ญ่ไว้หลายเรื่อง ภาพยนตร์ ๒ เรื่องที่คว้าออสการ์ถึง ๗ รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม คือ The Bridge on The River Kwai (พ.ศ. ๒๕๐๐) และ Lawrence of Arabia (พ.ศ. ๒๕๐๕) ซึ่ง ๒ เรื่องนี้ถือว่าเป็นงานคลาสสิคของวงการภาพยนตร์โลก ผลงานชิ้นสุดท้ายคือเรื่อง A Passage to India (พ.ศ. ๒๕๒๗) เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถ ึง ๗ ครั้ง และเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษคนแรกที่ได้รับรางว ัลออสการ์สาขาผู้กำกับ โดยได้รับจากเรื่อง The Bridge on The River Kwai การเสียชีวิตของเดวิด ลีน นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของโลกภาพยนตร์ (เดวิด ลีน เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๔)

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ (ค.ศ. ๑๘๘๑)

วันเกิด เบลา บาร์ต็อก คีตกวีและนักเปียโนชาวฮังการี (ถึงแก่กรรม ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘)

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๘) –

วันเกิด เดวิด ลีน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ (ถึงแก่กรรม ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔)

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ (ค.ศ. ๑๙๒๘) –

วันเกิด จิม โลเวลล์ นักบินอวกาศชาวอเมริกัน

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) –

วันเกิด เซอร์เอลตัน จอห์น นักร้อง คีตกวี และนักเปียโนชาวอังกฤษ

๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๘) –

โคล้ด เดบุซซี่ คีตกวีชาวฝรั่งเศส ถึงแก่กรรม (เกิด ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๕)

๒๕ มีนาคม –

วันประกาศเอกราชกรีซ (พ.ศ. ๒๓๖๓)

๒๖ มีนาคม : วันกิจกรรมของพนักงานรถไฟสากล

๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปิดการเดินรถไฟเป็นปฐมฤกษ์จากกรุงเทพ ฯ ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นส่วนหนึ่งของทางไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการรถไฟแห่งะประเทศไทยกำหนดให้วันที่ ๒๖ มีนาคม ของทุกมีเป็นวันกำเนิดกิจการรถไฟไทย

๒๖ มีนาคม ๒๔๕๙

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒๗ มีนาคม – วันกองทัพอากาศในประเทศไทย (วันที่ระลึกกองทัพอากาศ)

๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหม ยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก กองทัพอากาศ จึงได้ถือเอาวันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนากองทัพอากาศ

๒๗ มีนาคม ๒๔๕๐

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ใช้เวลาเสด็จประพาสครั้งนี้รวม ๗ เดือนเศษ เสด็จกลับกรุงเทพ ฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน

๒๗ มีนาคม ๒๔๘๕

ประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณศาลาแดง กรุงเทพ ฯ

๒๗ มีนาคม ๒๕๐๔

เปิดอนุสาวรีย์ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มณตรี (เจิม แสงชูโต) ที่ค่ายสุรศักดิ์มณตรี จังหวัดลำปาง

๒๘ มีนาคม ๒๔๓๑

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลิกใช้จุลศักราช (จ.ศ.) และให้ใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) แทน โดยถือเอาปีตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นปีที่ ๑ (ร.ศ.๑)

๒๘ มีนาคม ๒๔๕๖

เริ่มวันหยุดราชการเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖

๒๙ มีนาคม ๒๔๑๐

วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

๓๐ มีนาคม ๒๔๑๕

ไทยเสีย รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส แก่อังกฤษ

๓๑ มีนาคม วันทีระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

๓๑ มีนาคม ๒๓๓๐ วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

 

โปรดเลือก "คลิ๊ก" เพื่ออ่านเหตุการณ์ใน ๑๒ เดือน

มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน
พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม
กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม

 

นำเสนอโดย
วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่
อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 84290