ุคำแนะนำในการทำหนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุสามเณร
โดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕,นธ.เอก,ศษ.บ.,MPA. วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

Image         หนังสือสุทธิเป็นเอกสารสำคัญที่พระภิกษุสามเณรทุกรูปต้องมีไว้ประจำตัว เช่นเดียวกับคนไทยต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน มีระเบียบบังคับให้พระอุปัชฌาย์ออกหนังสือสุทธิแก่สัทธิวิหาริกของตน (ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์พ้นจากความเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสในการออกให้แก่ลูกวัดของตน) พระสังฆาธิการผู้มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการออกหนังสือสุทธิ (เจ้าคณะภาค, เจ้าคณะจังหวัด, เจ้าคณะอำเภอ และ พระอุปัชฌาย์) จะต้องจัดซื้อมาไว้เพื่อออกให้แก่สัทธิวิหาริกของตนเอง "โปรดอย่ามักง่ายเพียงแค่ไปขอหนังสือสุทธิเปล่าจากท่านอื่นมาออกให้แก่สัทธิวิหาริก เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ และอย่าอ้างว่าไม่มีหนังสือสุทธิเปล่า แล้วปฏิเสธการออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก เพราะอาจมีความผิดกฎหมายอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ"

         สมัยก่อนหนังสือสุทธิหาซื้อได้ตามร้านค้าเครื่องเขียนทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อมีการปลอมแปลงและออกหนังสือสุทธิโดยไม่ชอบ ควบคุมไม่ได้ และปัญหาสาระพัด ดังนั้น ในปี ๒๕๔๖ จึงมีการแก้ไขระเบียบ วิธีปฏิบัติ และขั้นตอนใหม่ โดย.-

         ๑.ให้โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้พิมพ์โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม (องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย) ตามระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดวิธีปฏิบัติในหน้าที่พระอุปัชฌาย์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ไว้จำหน่ายแก่ "เจ้าคณะภาค ๒.เจ้าคณะจังหวัด ๓.เจ้าคณะอำเภอ และ ๔.พระอุปัชฌาย์" เท่านั้น (ดูแบบฟอร์มใบสั่งซื้อ) และในการสั่งซื้อ จะต้องกรอกใบสั่งซื้อ และแนบ สำเนา "ตราตั้ง และ หนังสือสุทธิ ของผู้มีสิทธิ์ซื้อ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนา”

          ๒.หนังสือสุทธิทุกเล่ม จะมีรหัสที่ปก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนซื้อมาเพื่อออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริกของตนเอง ... (หากออกโดยมิชอบ ผู้ซื้อมาและออกให้แก่ผู้อื่น อาจมีความผิดและจ้องรับผิดชอบตามกฎหมาย)

         ๓.หนังสือสุทธิ (เปล่า ๆ) "มีขายเพียงแห่งเดียว คือ โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ"

         ๔.ให้ผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อได้มีเพียง ๔ ท่าน ได้แก่ ๑.เจ้าคณะภาค ๒.เจ้าคณะจังหวัด ๓.เจ้าคณะอำเภอ และ ๔.พระอุปัชฌาย์.. และในการสั่งซื้อ จะต้องกรอกใบสั่งซื้อ และแนบ สำเนา "ตราตั้ง และ หนังสือสุทธิ ของผู้มีสิทธิ์ซื้อ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนา"

       ๕.ขั้นตอน วิธีการออกหนังสือสุทธิ ในการออกหนังสือสุทธิแก่สัทธิวิหาริกของตน เป็นอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของพระอุปัชฌาย์ ยกเว้นในกรณีที่พระอุปัชฌาย์พ้นจากความเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว เป็นอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าอาวาสที่ต้องออกหนังสือสุทธิให้แก่ลูกวัดของตน โดยดำเนินการตาม "หมายเหตุท้ายหนังสือสุทธิ ข้อ ๕ วรรค ๓" ดังนี้

       ๖.เฉพาะคณะสงฆ์หนใต้ (๑๔ จังหวัดภาคใต้) มีกติกาสงฆ์หนใต้บังคับไว้ ให้ออกหนังสือสุทธิแก่พระภิกษุสามเณร ที่ “๑.บวชมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี และมีเหตุเชื่อได้ว่าจะบวชต่อไป ๒.ต้องมีศีลาจารวัตร เรียบร้อย ๓.มีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้หนังสือสุทธิ เช่น เป็นหลักฐานสมัครเข้ารับการศึกษา” หากเข้าเกณฑ์ ท่านก็จะออกหนังสือสุทธิ แล้วส่งไปให้พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอ ขึ้นไปลงนามและประทับตรารับรองหนังสือสุทธิ แล้วมอบแก่พระภิกษุสามเณรเป็นหลักฐาน

        ตามพระวินัย เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสามเณรแล้ว จะต้องอยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์ อาจารย์เป็นเวลา ๕ ปี (สายวัดป่าจะเคร่งครัดประเด็นนี้มาก จะไม่ให้ไปที่อื่นอย่างน้อย ๕ ปี) เพื่อฝึกฝนอบรมในการประพฤติปฏิบัติตน ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย และทำหน้าที่ลูกศิษย์ที่ดี (ทำอุปัชฌายวัตร และอาจาริยวัตร)ตามพระวินัย จนกว่าจะได้นิสัยมุตตกะ ดูแลตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น เห็นตนเองชัด และอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรรูปอื่นได้โดยชอบด้วยพระธรรมวินัย

         ผู้เป็นอุปัชฌาย์ โปรดอย่ามักง่ายเพียงแค่ไปขอหนังสือสุทธิเปล่าจากท่านอื่นมาออกให้แก่สัทธิวิหาริก เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ และอย่าอ้างว่าไม่มีหนังสือสุทธิเปล่าหรือหมด แล้วปฏิเสธการออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก หรือไปขอหนังสือสุทธิจากท่านอื่นมาใช้ เพราะอาจมีความผิดกฎหมายอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

         ผู้เป็นอุปัชฌาย์ มิใช่มีหน้าที่แค่บวชเท่านั้น แต่มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบทั้งอบรม สั่งสอน ผู้ที่ตนเองบวชให้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และเมื่อเห็นว่ามีศีลวาจารวัตรเรียบร้อย ควรออกหนังสือสุทธิให้ จะต้องออกหนังสือสุทธิให้อย่างถูกต้อง ตามระเบียบ กติกาสงฆ์ กฏมหาเถรสมาคม และกฎหมาย หากผู้เป็นอุปัชฌาย์ไม่สะดวกที่จะทำหน้าที่ ควรลาออกเสีย จะไม่เกิดความเสียหายทั้งส่วนตัว สัทธิวิบาริก คณะสงฆ์ และประเทศชาติโดยส่วนรวม

         เอกสารจะใช้งานได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จะต้องออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีกฎหมายรับรองเท่านั้น หากไร้กฎหมายรับรอง หรือออกมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช้บังคับหรือหาใช้ประโยชน์ได้ ... อำนาจโดยชอบธรรม คืออำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

            เมื่อพระอุปัชฌาย์พิจารณาเห็นว่า พระภิกษุ หรือ สามเณร รูปดังกล่าว สมควรที่จะได้รับหนังสือสุทธิ ตามกฏมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ และกติกาสงฆ์หนใต้ (กรณีที่พระภิกษุสามเณรดังกล่าวอยู่ในเขตภาคใต้) แล้ว

            ๑.พระอุปัชฌาย์จัดทำหนังสือสุทธิ พร้อมออกเลขทะเบียนเลขที่หนังสือสุทธิ แล้วลงลายมือชื่อรับรองในช่อง "พระอุปัชฌาย์"
            ๒.มอบเจ้าอาวาสที่สังกัดลงลายมือชื่อรับรองในช่อง "เจ้าอาวาส" (ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์ และ เจ้าอาวาสมิใช่เป็นรูปเดียวกัน)
            ๓.พระอุปัชฌาย์ทำหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) พร้อมด้วย "บัญชีรายนามพระภิกษุสามเณรที่เสนอเพื่อขอให้ลงนามรับรองหนังสือสุทธิ" ส่ง "หนังสือสุทธิ" ฉบับดังกล่าว ไปยัง เจ้าคณะอำเภอในเขตปกครอง เพื่อขอความเมตตาพิจารณาลงนามและประทับตรารับรองหนังสือสุทธิ
            ๔.เจ้าคณะอำเภอในเขตปกครอง พิจารณาความสมบูรณ์และความถูกต้องของเอกสารที่เสนอแล้วดำเนินการตามที่เห็นสมควร
            ๕.มอบให้แก่พระภิกษุ สามเณร ผู้เป็นเจ้าของหนังสือสุทธิ เพื่อให้เป็นหลักฐาน

กรณีที่พระภิกษุสามเณรเจ้าของหนังสือสุทธิลาสิกขาตามปกติทั่วไป (ไม่มีอธิกรณ์/เรื่องคดี ถึงบังคับให้สึก)

         เมื่อพระภิกษุสามเณรเจ้าของหนังสือสุทธิลาสิกขา โดยระเบียบปฏิบัติแล้ว เจ้าอาวาสจะต้องดำเนินการตาม "หมายเหตุท้ายหนังสือสุทธิ ข้อ ๘" ดังนี้
         ๘. บันทึกการพ้นจากสังกัดวัด หน้า ๒๒ ให้บันทึกถึงเหตุที่ต้องพ้นจากสังกัดวัด ดังนี้
             (ก) ในกรณีที่เจ้าของหนังสือสุทธิลาสิกขาตามปกติให้เจ้าอาวาสบันทึก วัน เดือน ปี ที่ลาสิกขา ลงลายมือชื่อกำกับ แล้วมอบคืนให้เจ้าของเก็บรักษาไว้
             (ข) ในกรณีที่เจ้าของหนังสือสุทธิมรณภาพ ให้เจ้าอาวาสบันทึก วัน เดือน ปี ที่มรณภาพ ลงลายมือชื่อกำกับแล้วเก็บรักษาไว้
             (ค) ในกรณีที่เจ้าของหนังสือสุทธิถูกสั่งลงโทษให้ออกจากวัดด้วยเหตุที่ไม่ตั้งอยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส ให้เจ้าอาวาสบันทึกเหตุที่สั่งให้ออกไปจากวัด พร้อมด้วยวัน เดือน ปี ที่สั่ง ลงลายมือชื่อกำกับแล้วมอบให้เจ้าของหนังสือสุทธิไป

กรณีที่เจ้าของหนังสือสุทธิถูกลงนิคหกรรมถึงให้สึก หรือถูกบังคับให้สละสมณะเพศ
          ๑. บันทึกหน้า ๑ ให้ใช้สำหรับบันทึกในกรณีที่เจ้าของหนังสือสุทธิถูกลงนิคหกรรมถึงให้สึก หรือถูกบังคับให้สละสมณะเพศด้วยเหตุใด ๆ ให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะลงหมายเหตุเรื่องถูกลงนิคหกรรมถึงให้สึก หรือถูกบังคับให้สละสมณเพศนั้น และลงลายมือชื่อพร้อมด้วยวัน เดือน ปี ไว้เป็นสำคัญแล้วส่งไปยังเจ้าคณะจังหวัดที่พระภิกษุสามเณรนั้นสังกัดอยู่เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน

       กฎหมาย กฎฯ กติกา ระเบียบ มีไว้เพื่อให้คนปฏิบัติตาม เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความอยู่ดีมีสุข และเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งผมปฏิบัติตามหลักที่ถูกต้องเสมอ
       เมื่อละเมิด หากไม่มีผู้ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ก็ถือว่ารอดตัวไป แต่หากมีผู้เสียหายร้องทุกข์ กล่าวโทษแล้ว เมื่อนั้น จะรู้นรกมีจริง .... พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๔ ว่า “มธุวา มญฺญตี พาโล ยาว ปาปํ น ปจฺจติ, ยทา จ ปจฺจตี ปาปํ อถ ทุกฺขํ นิคจฺฉติ. ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น”

"บัตรประจำตัว ปชช.ใช้แสดงตนว่าเป็นคนไทย, หนังสือสุทธิใช้แสดงตนว่าเป็นพระภิกษุสามเณร"

        พระภิกษุสามเณรต้องมีบัตรประชาชน หรือ บัตรประจำตัวประชาชนเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วไป (เพราะพระภิกษุสามเณรก็มีสถานะเป็นประชาชนคนหนึ่งของประเทศไทย) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้เฉพาะ ผู้มีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ประเภทบ้าน : วัด) …เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นคนไทย ในกรณีที่ใช้สิทธิฯ ทำนิติกรรมสัญญา ติดต่อหน่วยงานราชการ หรือเอกชน เป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะออกหนังสือสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย หนังสือเดินทาง ฯลฯ รวมทั้งใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะถอนเงิน รับพัสดุ เป็นต้น

        ขณะเดียวกัน พระภิกษุสามเณรต้องมีหนังสือสุทธิเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระภิกษุสามเณรที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลในกรณีที่ใช้สิทธิฯ ทำนิติกรรมสัญญา ติดต่อหน่วยงานราชการ หรือเอกชน เป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะออกหนังสือสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย หนังสือเดินทาง ฯลฯ รวมทั้งใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะถอนเงิน รับพัสดุ เป็นต้น

        ดังนั้น พระภิกษุที่เป็นคนไทย มีสิทธิและหน้าที่โดยชอบธรรมเช่นประชาชนทั่วไปที่จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน หากเจ้าพนักงานขอดูบัตรประจำตัวประชาชน จะต้องยื่นบัตรประจำตัวประชาชนให้ตรวจเพื่อแสดงตัวว่าเป็นคนไทย.. หากเจ้าพนักงานขอตรวจหนังสือสุทธิ จะต้องยื่นหนังสือสุทธิให้ตรวจเพื่อแสดงตัวว่าเป็นพระภิกษุ

ข้อมูลที่ควรดูเพิ่มเติมก่อนพิจารณาออกหนังสือสุทธิ
            แบบใบสั่งซื้อหนังสือสุทธิ
            วิธีออกหนังสือสุทธิให้พระ-สามเณร
            วิธีออกหนังสือสุทธิแทนเล่มเดิม
            วิธีทำและส่งบัญชีสัทธิวิหาริก(สว.1)
            แบบหนังสือนำส่งบัญชีสัทธิวิหาริก
            วิธีถ่ายเอกสารหนังสือสุทธิ (.pdf)  (พระสมณศักดิ์ถ่ายหน้า๑๘-๑๙ด้วย)
            แบบทะเบียนควบคุมการออกหนังสือสุทธิ
            ปกทะเบียนควบคุมการออกหนังสือสุทธิ
            ตัวอย่างหนังสือแจ้งพระอุปัชฌาย์เพื่อให้ออกหนังสือสุทธิแก่พระภิกษุสามเณร

*******************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี