"ประเพณีทำบุญวันศารท" ที่เราชาวพุทธควรรู้
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕,นธ.เอก,ศษ.บ.,MPA.(นิด้า) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

Image    ประเพณี "สารทเดือนสิบ" ถือกันว่าเป็นประเพณีที่เป็นรูปแบบและศูนย์รวมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย ประเพณีสารทเดือนสิบ จึงเกิดขึ้นจากคติความเชื่อที่ว่า "ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วนั้น มีผู้ที่สร้างบาปกรรมเอาไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และต้องไปทนทุกข์ทรมานเป็นเปรตอยู่ในนรกภูมิ โดยต้องถูกลงโทษทัณฑ์ในลักษณะต่าง ๆ ตามโทษทัณฑ์ที่นรกภูมิได้กำหนดไว้ จะหนักหรือเบานั้นขึ้นอยู่กับบาปกรรมที่ได้กระทำเอาไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์"

       มีความเชื่อกันว่า ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 พยายมราชผู้ที่ทำหน้าที่ลงโทษทัณฑ์ในยมโลกจะทำการปลดปล่อยพวกเปรตทั้งหลาย ให้ขึ้นมาเยือนโลกมนุษย์เพื่อเยี่ยมเยือนลูกหลานพร้อมทั้งขอรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศไปให้ปีละครั้ง คือในช่วงประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบ หลังจากนั้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เปรตทั้งหลายก็จะถูกเรียกตัวกลับนรกภูมิ ตามเดิม ซึ่งเปรตที่ได้รับบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศไปให้ในวันสารทเดือนสิบ ก็จะสามารถนำบุญกุศลดังกล่าวไปใช้ในการลดโทษไถ่ถอนโทษจนพ้นผิดหรือมีโทษเบาบางลง แต่หากเปรตตนใดที่ขึ้นมาขอส่วนบุญกุศลจากลูกหลานแต่ไม่มีลูกหลานทำบุญอุทิศไปให้ตอนเดินทางกลับนรกภูมิก็จะเก็บเอาใบไม้กลับไปด้วยและนำใบไม้โปรยไปตลอดทางและก็จะสาปแช่งลูกหลานและคนในตระกูลที่ละเพิกเฉยไม่ทำบุญอุทิศไปให้ ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อถือกันว่าคำสาปแช่งของบรรพบุรุษดังกล่าวนั้นทำให้การดำรงชีวิตอยูในสังคมไม่ปกติสุข ดังนั้นเมื่อถึงช่วงงานบุญสารทเดือนสิบทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมทำบุญอย่างขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด

        ประเพณีทำบุญวันสารท คือ ประเพณีทำบุญอุทิศให้แก่เปตชนผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นับเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งได้กระทำกันมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันนี้การกระทำนั้นนิยมทำกัน 2 ครั้งคือ
      ครั้งแรกกำหนดเอาวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เป็นวันรับ และ
       ครั้งที่ 2 วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันส่ง

        ประเพณีทำบุญวันสารท ชาวไทยพุทธ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้กระทำตามคตินิยมของพระเจ้าพิมพิสาร กรุงราชคฤห์ (พระเจ้าแผ่นดินมคธ) ที่ได้ทรงถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วทรงอุทิศแก่เปรตผู้เป็นพระญาติของพระองค์ ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้า เมื่อจะทรงอนุโมทนาจึงได้ตรัสติโรกุฑฑสูตรว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เป็นอาทิ (แปลว่า "เปรตทั้งหลายมาสู่เรือนของตน ยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ทาง ๔ แพร่ง ทาง ๓ แพร่ง และใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของบริโภคเป็นอันมาก ซึ่งญาติทั้งหลายตั้งไว้แล้ว แต่หากญาติ ของเปรตเหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นเหตุ เหล่าชนที่เป็นผู้อนุเคราะห์ ย่อมให้ทานด้วยน้ำและโภชนะอันสะอาด ประณีต อันเป็นของควรโดยกาล แล้วอุทิศด้วยตั้งเจตนาอย่างนี้ว่า "ขอทานนี้จงสำเร็จประโยชน์แก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นมีความสุขเถิด" และญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้วเหล่านั้น มาประชุมพร้อมกันแล้วในที่นั้น เมื่อปรากฏมีข้าวและน้ำเป็นอันมาก ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า "เราทั้งหลายได้สมบัติเช่นนี้ เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอให้ญาติเหล่านั้นของพวกเราจงอายุยืนนานเถิด ญาติทั้งหลายได้ทำบุญอุทิศทำแก่พวกเราแล้ว" และทายกทั้งหลายก็หาไร้ผลไม่ ในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม ไม่มีพาณิชยกรรมเช่นนั้น ไม่มีการซื้อการขาย (การแลกเปลี่ยนด้วยเงิน) ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ย่อมมีชีวิตอยูในเปรตวิสัยนั้นได้ก็ด้วยทานที่ญาติให้แล้วจากมนุษยโลกนี้, น้ำฝนที่ตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วแต่มนุษย์ในโลกนี้ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน, ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด ทานที่ญาติทั้งหลายให้แล้วจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน)

        ประเพณีทำบุญวันสารทของชาวภาคใต้นั้น โดยมุ่งหมายก็เพื่อจัดทำบุญอุทิศผลส่งไปให้แก่เปตชนทั้งหลาย ผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านเหล่านั้นจะไปสู่สุคติหรือทุคติขึ้นอยู่กับผลบุญกรรมของแต่ละท่าน เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ตายไปแล้ว จำพวกที่ทำกรรมดีก็ได้เสวยสุข ผู้ที่ทำกรรมไม่ดีก็ได้เสวยทุกข์ ในสภาพเป็นเปรต 21 จำพวก ได้แก่.-

      1.กุมภัณฑเปรต ได้แก่ เปรตมีอัณฑะโตเท่าหม้อ
      2.คูถขาทิเปรต ได้แก่ เปรตผู้จมอยู่ในหลุมคูถ(ขี้)
      3.คูถนิมุคคเปรต ได้แก่ เปรตผู้จมอยู่ในหลุมคูถท่วมหัว
      4.นิจฉวิตถีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงผู้ไม่มีผิวหนัง
      5.นิจฉวิเปรต ได้แก่ เปรตผู้ไม่มีผิวหนัง
      6.ภิกษุเปรต ได้แก่ เปรตชายผู้มีรูปร่างเหมือนภิกษุ (ตอนมีชีวิต ได้ปลอมตัวเป็นภิกษุ)
      7.ภิกษุณีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงผู้มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี (ตอนมีชีวิต ได้ปลอมตัวเป็นภิกษุณี)
      8.มังคุลิตถีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงผู้มีรูปร่างน่าเกลียด
      9.มัสปิณฑเปรต ได้แก่ เปรตมีแต่ก้อนเนื้อ
      10.มังสเปสิเปรต ได้แก่ เปรตมีแต่ชิ้นเนื้อ
      11.สัตติโลมเปรต ได้แก่ เปรตมีขนเปนหอก
      12.สามเณรเปรต ได้แก่ เปรตชายมีรูปร่างเหมือนสามเณร (ตอนมีชีวิต ได้ปลอมตัวเป็นสามเณร)
      13.สามเณรีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงมีรูปร่างเหมือนสามเณรี (ตอนมีชีวิต ได้ปลอมตัวเป็นสามเณรี)
      14.สิกขมานาเปรต ได้แก่ เปรตหญิงมีรูปร่างเหมือนนางสิกขมานา (ตอนมีชีวิต ได้ปลอมตัวเป็นนางสิกขมานา)
      15.สูจิกเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นเข็ม
      16.สูจิโลมเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นเข็มตกลงตำเบื้องบนแทงกายตนเอง
      17.อสิโลมเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นดาบตกลงมาฟันตนเอง
      18.อสีสกพันธเปรต ได้แก่ เปรตชายมีหัวขาด
      19.อัฏฐิสังขลิกเปรต ได้แก่ เปรตมีแต่โครงกระดูก
      20.อุสุโลมเปรต ได้แก่ เปรตชายมีขนเป็นลูกศร
      21.โอกิลินีเปรต ได้แก่ เปรตหญิงที่กำลังถูกไฟลวกตลอดเวลา

     บุญวันสารทเดือนสิบ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งวันนี้จะถือกันว่าเป็น "วันจ่าย" โดยจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า นำสินค้าที่จะใช้ในการทำบุญมาจำหน่ายกันมากมาย ทั้งที่เป็นของสดและของแห้ง พืชผักและผลไม้ เพื่อใหผู้ที่จะทำบุญได้ได้จับจ่ายซื้อหาสิ่งของไปจัดเตรียมใส่ภาชนะหรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกกันว่า "การจัดหมฺรับ" ในช่วงวันดังกล่าวนี้ตามย่านตลาดสดต่าง ๆ จึงคึกคักคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนที่แห่กันมาจับจ่ายซื้อหาสิ่งของไปใช้สอย เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ถือกันว่าเป็น "วันยกหมฺรับ หรือแห่หมฺรับ" โดยหมฺรับที่จัดทำขึ้นนั้นจะประกอบไปด้วยของกิน ของใช้ที่จำเป็นมากมายหลาย 10 ชนิด แต่ที่จะขาดเสียไม่ได้นั้นจะต้องมีขนม 5 อย่าง ซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของการทำบุญวันสารทเดือน 10 ขนม 5 อย่าง นั้นได้แก่.-

     1.ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์หมายถึง แพฟ่อง สำหรับให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
     2.ขนมลา ใช้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้บรรบุรุษได้สรวมใส่
     3.ขนมกงหรือขนมไข่ปลา ให้บรรพบุรุษได้แทนเครื่องประดับร่างกาย
     4.ขนมบ้า ให้บรรพบุรุษใช้แทนลูกสะบ้าเล่นในเทศกาลสงกรานต์ และ
     5.ขนมดีซำ ให้บรรพบุรุษใช้แทนเงินเบี้ยเพื่อใช้สอย

Image     สำหรับข้าวของอื่น ๆ นั้นมักจะประกอบไปด้วย ข้าวสาร ปลาเค็ม เนื้อเค็ม พริก กะปิ หอม กระเทียม เกลือ น้ำตาล ขิง ข่า ตะไคร้ เป้นต้น ส่วนพวกผลไม้ก็มี เงาะ ทุเรียน มังคุด หรือผลไม้ตามฤดูกาลอื่น ๆ รวมไปถึงพวกยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งของที่นำมาจัดหมฺรับนั้นมักจะเป็นสิ่งของที่เก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์สามารถเก็บไว้ใช้เป็นเสบียงในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาเยือน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ออกบิณฑบาตไม่ได้หรือออกบิณฑ บาตด้วยความยากลำบาก

     ในปัจจุบันนี้การจัดหมฺรับนั้นได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการจัดใส่ภาชนะขนาดเล็กและตกแต่งเป็นรูปต่าง ๆ อย่างสวยงามมาเป็นการจัดเป็นหมฺรับขนาดใหญ่ใส่ไว้ในรถยนต์ แล้วมีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยสดงดงามเพื่อนำไปประกวดแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม ในสังคมชนบทรอบนอกก็ยังคงมีการจัดหมฺรับแบบดั้งเดิมกันอยู่ เพียงแต่ในส่วนกลางคือที่ตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น จะมีการยกหมฺรับไปรวมกันที่บริเวณสนามหน้าเมืองและศาลาประดู่หก

     จากนั้นในวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ก็จะมีการจัดขบวนหมฺรับแห่ไปตามถนนราชดำเนินอย่างยาวเหยียดหลายกิโลเมตร เพื่อนำไปยังสนามสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 "ทุ่งท่าลาด" ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการจัดงานประเพณีบุญวันสารทเดือนสิบในปัจจุบัน ซึ่งในจุดนี้นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ และยิ่งใหญ่ที่สุดในกิจกรรมทั้งหมดของงานนี้ เมื่อแห่หมฺรับไปรวมกันที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 แล้ว ก็จะมีคณะกรรมการตัดสินการประกวดหมฺรับในวันเดียวกัน

     รุ่งเช้าวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะมีการยกหมฺรับไปยังวัดต่าง ๆ เรียกว่า "หมฺรับตา- ยาย" โดยเมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ก้จะนำอาหารและข้าวของในหมฺรับไปวางไว้ตามกำแพงวัด ใต้ต้นไม้ หรือวางไว้บนศาลาที่จัดทำขึ้นเรียกว่า"หลาเปรต"ให้พระสงฆ์สวดบังสุกุลอุทิศส่วนบุญกุศล เสร็จเรียบร้อยแล้วผู้ที่เข้าร่วมในพิธีทั้งหมดก็จะมีการเข้าไปแย่งชิงอาหารและสิ่งของในหมฺรับที่นำไปวางไว้ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้เป็นของที่เหลือจากบรรพบุรุษ หากผู้ใดได้กินแล้วจะได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า"ชิงเปรต"


.
วิธีปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสารท
        เมื่อประชาชนนำเครื่องสักการะมีอาหารคาวหวานเป็นต้นทุกอย่างมาพร้อมกันแล้ว แบ่งอาหารหวานคาวถวายพระภิกษุสงฆ์ส่วนหนึ่ง แล้วนำอีกส่วนหนึ่งสำหรับนำไปบูชาเปรตชน ไปวางไว้บนศาลาเปรต(ร้านเปรต/หลาเปรต) แล้วโยงสายสิญจน์(สายโยง)จากร้านเปรตมาถึงที่พระภิกษุสงฆ์

        พระภิกษุสงฆ์สวดถวายพรพระเสร็จแล้วจึงฉันภัตตาหารเพล แล้วพระภิกษุสงฆ์เข้าประจำอาสนะ ทายก-ทายิกาถวายปัจจัยไทยธรรมเสร็จแล้ว พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนา ยถา...ฯเปฯ สัพพี... แล้วต่อท้ายด้วย ติโรกุฑฑสูตร และ อทาสิ เม.. ฯ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ..ฯ หลังจากนั้น พระภิกษุสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล อัฐิ ชื่อ และภาพถ่าย เป็นต้นของเปตชนที่พวกญาติจัดไว้ รวบรวมไว้จบแล้วทายกทายิกาถวายปัจจัยไทยธรรม พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนาโดยใช้บท อทาสิ เม...ฯ ต่อด้วย ภวตุ สพฺพมงฺคลํ...ฯ เป็นอันเสร็จพิธี (แปลว่า บุคคลเมื่อระลึกถึงอุปการะที่ผู้อื่นได้ทำแล้วในกาลก่อนว่า "ผู้นี้ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้ทำกิจนี้ของเรา ผู้นี้เป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนของเรา" ดังนี้ ก็ควรให้ทักษิณาทาน เพื่อผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว, การร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไรรำพันอย่างอื่นนั้น บุคคลไม่ควรทำเลย เพราะว่าการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้เสียชีวิตไปแล้ว ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้นได้ก็เพราะทักษิณาทาน (การทำบุญอุทิศให้)นี้แล ฯ อันท่านให้แล้ว ประดิษฐานไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จ โดยพลัน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้น ตลอดกาล นาน ญาติธรรมนี้นั้นท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว บูชาอัน ยิ่งท่านก็ได้ทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว และท่านทั้งหลายได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญไม่ใช่น้อย ท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้ว ดังนี้แล)

Image        ชาวใต้ก็มีความเชื่ออย่างชาวเขมรว่ายมบาลได้ปล่อยให้เปรตทั้งหลายมาเยี่ยมลูกหลานในเมืองมนุษย์ในเทศกาลวันสารทนี้ งานทำบุญวันสารทบางจังหวัดเรียกว่า "วันส่งตา-ยาย" บางจังหวัดเรียกว่า "วันส่งเปรต" ตามประเพณีเดิมวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 มีการทำบุญตักบาตรเป็นการอุทิศส่วนกุสลผลบุญตอบสนองอุปการคุณของปู่-ย่า ตา-ยาย วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 มีการทำบุญตักบาตร เป็นการทำบุญเพื่อส่งตายายอีกหนึ่งวัน แต่ในปัจจุบันนี้นิยมทำบุญตักบาตรในวันแรม 1 ค่ำ และ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 รวมเป็น 2 วัน

        คำว่า "ส่ง" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงส่งของให้ปู่-ย่า ตา-ยาย กินหรอก ความหมายเดิมมาจากคำเขมร "ส่ง" (ข.ซ็อง ท.สง) แปลว่า "ตอบแทน" แผลงเป็น "สนอง" แปลว่า "การตอบสนอง"

       ฉะนั้น คำว่า "ส่งตายาย" หรือ"ส่งเปรต" ความหมายเดิมมีว่า "ทำบุญอุทิศส่วนกุศลผลบุญตอบสนองอุปการะคุณไปให้ปู่-ย่า ตา-ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว" แต่เพราะไม่รู้ว่า "ส่งตายาย" หรือ "ส่งเปรต" มาจาก "ซ็องตายาย"ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า "ตอบแทน อุปการะคุณตายาย" จึงเข้าใจกันว่า "ส่งตายาย"ก็คือ " ส่งข้าวปลาอาหารไปให้ตายายกิน"

       การทำบุญส่งตายายหรือส่งเปรตนี้ บางท้องถิ่นทำก่อนพระฉันอาหาร ซึ่งตรงกับของเขมร ผิดกันแต่ของไทย ไม่ต้องจุดธูปเทียนแห่รอบโบสถ์เหมือนเขมรแต่ส่วนมากทำกันหลังจากพระฉันอาหารเสร็จสรรพแล้วขนมที่จำเป็นต้องใช้ในงานนี้ "ขนมที่จะขาดเสียมิได้ ได้แก่ 1.ข้ามต้มมัด 2.ขนมลา 3.ขนมสะบ้า 4.ขนมดีซำ 5.ขนมข้าวพอง 6.ขนมเจาะหู(ขนมเบซำ) 7.ขนมไข่ปลา" จะต้องทำไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ว่ากันว่าเปรตบางตนทำบาปกรรมเอาไว้มากในขณะที่มีชีวิตอยู่ จึงทำให้มีรูปากเท่าปลายเข็ม จะกินขนมลาได้สะดวก ส่วนขนมสะบ้านั้น เปรตจะได้เก็บเอาไว้เล่นทอยสะบ้าเมื่อยามเทศกาลตรุษสงกรานต์

กำหนดวันและสถานที่
       วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (วันส่งตายาย) ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุด บรรดาลูกหลานของปู่ย่า ตายาย ทุกคนจะต้องไปทำบุญที่วัด ในวันนี้จะขาดเสียมิได้ ที่ลานวัด เขาจะยกร้านขึ้นสูงเพียงราวนม เอาข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนย เงินทอง เล็กน้อย สมัยนั้นก็ 5,10,25,50 สตางค์ อย่างสูงไม่เกิน 1 บาท บางคนก็เอาสุราตั้งไว้ด้วย แล้วแต่ลูกหลานจะเห็นว่าปู่ย่า ตา ยาย เมื่อสมัยยังมีชีวิตอยู่ชอบกินอะไร มีสายสิญจน์(สายโยง)โยงมาจากร้านเปรตนั้น นี้เขาเรียกว่า "ตั้งเปรต" หรือ "รับเปรต"

       เมื่อพระสวดมาติกาบังสุกุลแล้ว มีการกรวดน้ำเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดา - มารดา ปู่ - ย่า ตายาย ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่แน่ใจหรือรู้ไม่ได้ว่า วิญญาณของบุพพการีชนเหล่านั้นได้ไปผุดไปเกิดแล้ว หรือ ยังวนเวียนเป็นเปรตอยู่เพื่อให้แน่นอนจึงต้องมีการจัดไว้สำหรับเปรตหรือตายายได้กินโดยเฉพาะอีกแห่งหนึ่งดังกล่าวแล้ว

       บางจังหวัดเอาของเซ่นไหว้มาตั้งกลางลานวัด หรือวัดใดมีหาดทรายหน้าวัด ก็เอามาตั้งกลางหาดทรายถ้ามาเป็นกลุ่มญาติเป็นหมู่ เอาเสื่อปู วางเครื่องเซ่นลงบนเสื่อรวมกันถ้ามาเดี่ยวก็เอาของวางลงบนใบตองหรือกระดาษเป็นเฉพาะรายไปเมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้ว จะมีคนกระตุกด้ายสายสิญจน์(สายโยง) เพื่อบอกให้รู้ว่าพิธีสงฆ์ได้ เสร็จสิ้นแล้ว ต่อไปนี้เป็นพิธีส่งเปรตกันล่ะ

Image       หมู่คนเหล่านั้นก็จะพากันออกมาเซ่นไหว้ปู่ย่า ตายาย ที่ยังเป็นเปรตอยู่ ตลอดทั้งเปรตที่ไม่มีญาติด้วย ขอเชิญมาเสพข้าวปลาอาหาร สุราน้ำท่า ขนมนมเนย ที่ลูกหลานนำมาให้อิ่มหนำสำราญ ขอให้คุ้มครองลูกหลานให้ มีความร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากิน ค้าขายคล่องด้วยเถิด

       เมื่อคะเนว่าเปรตกินอิ่มหนำสำราญดีแล้ว จะมีคนประกาศว่า "เปรตกินอิ่มแล้ว ต่อไปนี้ลูกหลานเปรต กินได้แล้ว" สุดเสียงประกาศ พวกเด็ก ๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย จะเข้าแย่งชิงขนมของกิน และเงินทองกันที่วางไว้บนร้านเปรตนั้นอย่างชุลมุนวุ่นวายเป็นที่สนุกสนาน ตอนนี้แหละที่เรียกว่า "ชิงเปรต" คือ ชิงของกินที่เหลือจากเปรตกินแล้ว ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้เป็นของที่เหลือจากบรรพบุรุษ หากผู้ใดได้กินแล้วจะมงคลอย่างยิ่ง, งานทำบุญ "ส่งตายาย" หรือ "ส่งเปรต" นี้ ได้ต้นกำเนิดมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วจึงแพร่หลายไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคใต้

"การชิงเปรต"
       การชิงเปรต เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวใต้ โดยทำร้านสำหรับนำสำรับอาหารหวานคาวไปวางเพื่ออุทิศกุศลผลบุญส่งไปให้เปตชนที่ล่วงลับไปแล้ว หลังจากวางสำรับลงบนร้านเปรตแล้ว พวกลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเข้าแย่งอาหารนั้นแทน จึงเรียกกันว่า "ชิงเปรต"

       การชิงเปรตนี้ ก็คล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน ที่เขาทำในกลางเดือน 7 ของเขา ซึ่งตรงกับ เดือน 9 ของไทย คือเขาปลูกเป็นร้านยกพื้นสูงนำเอาขนมและผลไม้เป็นกระจาดขึ้นไปวาง ไว้บนนั้น นอกจากนั้นยัง มีของมีค่า เช่น เสื้อผ้า หุ้มคลุมบนเครื่องสานไม้ไผ่คล้ายตระกร้า เมื่อถึงเวลามีเจ้าหน้าที่ 2 - 3 คนขึ้นไปประจำอยู่บนนั้นแล้ว จับโยนสิ่งของบนพื้นทิ้งลงมาข้างล่างให้แย่งชิงกัน เดิมทีเห็นจะโยนทิ้งลงมาทั้งกระจาด จึงได้เรียกว่า "ทิ้งกระจาด" ต่อมาหยิบสิ่งของในกระจาดบนร้านทิ้งลงมาเท่านั้น มีแต่พวกเด็ก ๆ และผู้หญิงแย่งกัน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยแย่ง เพราะคอยแย่งเสื้อผ้า ดีกว่าลูกไม้และขนมที่ทิ้งลง มากกว่าจะแย่งเอาอาหารซึ่งกว่าจะแย่งเอาได้ก็เหลวแหลกบ้างเป็นธรรมดา แต่เสื้อผ้าที่ทิ้งลงมานั้น แย่งกันจนขาดไม่มีชิ้นดี

Image       บางทีคนแย่งไม่ทันใจปีนร้านขึ้นไปแย่งกันบนนั้น เจ้าหน้าที่มีน้อย ห้ามไม่ไหวจึงเกิดความชุลมุนวุ่นวายกันใหญ่ ถึงกับร้านทานน้ำหนักไม่ไหวพังลงมาก็เคยมี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นทิ้งสลากสำหรับเสื้อผ้า ส่วนของอื่นยังคงทิ้งลงมาให้แย่งกัน การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการไหว้เจ้าชิดง่วยปั่นหรือสารทกลางปีของเขา เป็นการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คือทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ตายไปแล้ว

       การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตของไทยเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือ การ ทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พสกผีไม่มีญาติเท่านั้น ส่วนการตั้งเปรตชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนั้นแล้ววิธีการปฏิบัติ ในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็ต่างกัน

       ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้เล่าให้ฟังและยืนยันว่า การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นบุญด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรต อาจตกหล่นลงบนพื้นซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

       การตั้งเปรตและชิงเปรต จะกระทำในวันที่ยกสำรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม 1 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษผู้เป็นเปตชนชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่ไม่ควรขาด ก็คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมสะบ้า ขนมแห้ง ขนมไข่ปลา นอกจากขนมดังกล่าวแล้วยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก กะปิ เกลือ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อยมะพร้าง ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย และธูปเทียน เป็นต้น นำลงจัดในสำรับโดยเอา ของแห้งดังกล่าวรวมกันและอยู่ชั้นใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก ปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัดทำ ส่วนภาชนะที่ใช้แต่เดิมนั้นนิยมใช้กระเฌอหรือถาด นำเอาสำรับที่จัดแล้ว ไปวัดรวมกันตั้งไว้บนร้านเปรตซึ่งสร้างไว้กลางวัด ยกเสาสูง ต่อมาในภายหลังร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์(สายโยง) ลงล้อมไว้รอบ และต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ซึ่งนั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตายซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปยังเปตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้วสายสิญจน์(สายโยง)ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่งพร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้น ด้วยความสนุกสนาน

Image       เมื่อตั้งเปรตแล้วลูกหลานอาจจะแย่งชิงกันก็เป็นอันเสร็จสิ้นการชิงเปรตสำหรับปีนั้น บรรดาเปตชนทั้งหลายได้รับส่วนบุญกุสลซึ๋งลูกหลานอุทิศและชิงให้ แล้วกลับไปสู่ยมโลก คอยโอกาสจะได้เข้าเฝ้าท่านท้าวยมบาล เพื่อรายงาน และถวายบุญกุศลแด่พระองค์แล้ว จะได้พ้นจากทุกข์ทรมานไปอุบัติยังสุคติภพต่อไป


       ยังมีเปตชนอยู่อีกจำพวกหนึ่งซึ่งมีบาปหนา (ในขณะมีชีวิตอยู่ไม่ค่อยเข้าวัด ไม่ชอบทำบุญ ไม่ชอบฟังธรรม ชอบติเตียนบุญ ดูหมิ่น ติเตียน ใส่ความพระสงฆ์องค์เจ้า ลักขโมย ฉ้อโกง เบียดบัง หรือทำลายทรัพย์สินของวัดและของสงฆ์) ด้วยอำนาจกรรมที่ทำไว้ จึงทำให้เปรตประเภทนี้ไม่กล้าเข้าไปรับอาหารที่ลูกหลานเอาไปวางไว้บนร้านเปรตในเขตวัด จึงทำได้เพียงเดินเลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่ริมรั้วรอบวัด ลูกหลานทั้งหลายจึงได้นำอาหารและขนมดังกล่าวนั้น ไปตั้งร้านเปรตกันนอกเขตวัด เป็นร้านเปรตแบบวางกับพื้นดิน ตั้งให้เปตชนบนพื้นดินพื้นหญ้า หรือตามค่าคบไม้เตี้ย ๆ

 

      เรามีกรรมเป็นของตน เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำสิ่งใดไม่ว่าดีหรือชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้นสืบไป

      เรามีบุญกุศลคุณงามความดีเป็นของตน เราจักเป็นผู้รับผลของบุญกุศล คุณงามความดีนั้น เรามีบุญกุศลคุณงามความดีเป็นแดนเกิด เรามีบุญกุศลคุณงามความดีเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีบุญกุศลคุณงามความดีเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำบุญกุศลคุณงามความดี เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งบุญกุศลคุณงามความดีนั้นสืบไป

      ควรทำบุญ ความดีไว้เองในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่ลำบาก เพราะบุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งพิง พึ่งอาศัย เป็นวิถีชีวิต เป็นสิ่งที่คอยช่วยเหลือเรา ป้องกันภัยพิบัติ คอยป้องกันเราจากสิ่งชั่วร้าย บุญเป็นตัวชี้นำทาง(สุคติ)แก่เราทั้งในปัจจุบัน อนาคต และในชาติหน้า บุญกุศล ความดีเท่านั้นที่จะส่งเสริมให้เรามีวิถีชีวิตที่ไปดี มาดี อยู่ดี มีความสุข ทำให้ชีวิตเรามีความมั่นคง ไม่เดือดร้อน ..ทุกอย่างสร้างได้ด้วย ๒ มือ ๑ สมอง ๑ ใจ ของเรา

      หากเราไม่ทำบุญกุศล คุณงามความดีให้เพียงพอในชาตินี้ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ แล้วจะรอให้ลูก หลาน ญาติ มิตร ซึ่งมีภารกิจ ธุระรัดตัวอย่างมากมาย แล้ว นึกถึงเรา ทำบุญอุทิศให้เรานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก โอกาสที่จะมีน้อยยิ้งนัก และบุญกุศลที่เขาอุทิศไปให้ยังไม่รู้ว่าจะทำให้เราได้ประโยชน์เพียงพอในชาติหน้าหรือเปล่า

      ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าลูก หลาน ญาติ มิตร จะคิดถึงเราหลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้ว จึงทำบุญแล้วอุทิศให้ ก็อาจไม่แน่นักว่า เราจะมีบุญมากเพียงพอหรือเปล่าที่จะได้สิทธิ์ไปเกิดเป็นปรทัตตูปชีวีเปรต ซึ่งเป็นเปรตประเภทเดียวที่สามารถรับบุญกุศลจากการที่มีคนทำบุญแล้วอุทิศไปให้ และไม่แน่นักว่าเราจะได้มีโอกาสอนุโมทนาบุญที่เขาอุทิศไปให้แล้วจึงจะได้รับบุญกุศล


Image"สรุปประเพณีทำบุญวันสารท"
       ประเพณีทำบุญวันสารทนั้นที่ประชาชนชาวภาคใต้นิยมทำกัน 2 ครั้งในเดือน 10 คือ ครั้งที่ 1 ทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ประเพณีทำบุญรับเปรต(ตายาย) และ ครั้งที่ 2 ทำในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า ประเพณีทำบุญส่งเปรต(ตายาย)

       การจัดเตรียมการและวิธีการทำบุญทุกอย่างของชาวภาคใต้ทั้ง 2 ครั้งนั้น มีวิธีการทำและปฏิบัติเหมือน ๆ กัน ชาวภาคใต้มีความภาคภูมิใจที่ได้มีประเพณีทำบุญวันสารท ซึ่งถือได้ว่าเป็นอารยะประเพณีที่ดียิ่ง ที่สืบทอดมาตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนาแต่โบราณกาล

       ฉะนั้น ประเพณีนี้ชาวไทยพุทธภาคใต้จะปฏิบัติรักษาไว้ไม่ให้สูญสิ้นไป เพราะถือเป็นมรดกไทยอันล้ำค่าควรแก่การกระทำให้เป็นประเพณีที่มีความมั่นคงแน่วแน่ สมเป็นเอกลักษณ์ของปวงชนชาวไทยพุทธในภาคใต้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้มีความสำนึกในความกตัญญูกตเวทีต่อบุพพ การีชนสืบต่อไปนานเท่านาน

     จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้หันมาทำหน้าที่อย่างถูกต้อง โดย"บริหารตน บริหารคน บริหารเงิน บริหารงานด้วยคุณธรรม" ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทำดีเพื่อดี เพื่อให้ใจของเรารู้โดยสามัญสำนึกว่าเรามีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เร่งทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์" ขณะเดียวกัน อย่าให้ความสนใจเลยว่าใครจะพูดอย่างไร เพราะเราไม่ได้เป็นคนดีหรือชั่วเพราะคำคน แต่เราจะดีหรือชั่วเพราะกรรมคือการกระทำ โลกจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถิด เพียงเราทำวันนี้ให้ดี ตามรู้ดูเราเอง ประเมินตัวเราเองด้วยตัวเราเอง และตามรู้อาการของจิต ฝึกจิต และอยู่กับปัจจุบัน เพียงเท่านี้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นแก่เราทุกขณะจิต สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยคุณธรรม มีคุณงามความดี และมีบุญเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นเครื่องนำชีวิต และจิตวิญญาณของเราทุกคนให้มีความสุขตามสมควรแต่กำลังสติปัญญาและความสามารถ ขอให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติโดยทั่วกัน เทอญ
******************************
เอกสารอ้างอิง:
     - กรมการศาสนา, นางวันดี จันทร์ประดิษฐ์, นายสุวรรณ กลิ่นพงศ์, พิธีกรรมและประเพณี,กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,2552
    - บุญโฮม ปริปุณณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา.คู่มือเรียนนักธรรมชั้นตรีและชั้นตรี วัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 15/2558, กรุงเเทพฯ, รัตนศิลป์การพิมพ์, 2558
    - ประเพณีไทย ฉบับพระมหาราชครู,กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี, 2518
    - ไพฑูรย์ อินทศิลา,นสพ.เดลินิวส์รายวัน(ฉบับที่ 17,157 วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2539)หน้า 26
     -  ศรีพัท มีนะกนิษฐ์,อนุสรณ์งานวันสารทสหภูมิภาคทักษิณครั้งที่ 28 ประจำปี 2535 (บทความเรื่อง ประเพณีทำบุญวันศารท), โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร,2535."
     - สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์,ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้, กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.๒๕๔๘
    -  ภาพประกอบบางภาพจากอินเตอร์เนต ซึ่งไม่สามารถระบุที่มาได้
จึงขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้
----------------------------------------------------
ปณิธาน/อนุญาตแชร์ได้ :
        ทุกข้อความ ทุกภาพประกอบที่ปรากฏในเฟชนี้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ข้าพเจ้า(พระมหาบุญโฮม วัดท่าไทร) ขอมอบให้เป็นสมบัติสาธารณะ โดยทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ท่านที่ต้องการแชร์ ขอเชิญตามอัธยาศัย โดยไม่ต้องขออนุญาตอีก ขออนุโมทนาบุญ ขอให้ได้รับบุญกุศลจากการเผยแพร่ธรรมะด้วยกัน ขอให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ทั้งชาตินี้และชาติหน้าโดยทั่วกัน สาธุๆๆ

*******************