"๙ เหตุผลที่เราควรไปลอยกระทง"
โดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

         วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

Image       เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ..

     ดังนั้นจึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานประเพณีลอยกระทงของไทยเรา โดยแอดมิน (พระมหาบุญโฮม) ขอนำเสนอเหตุผลที่เราควรไปลอยกระทง อย่างน้อย ๙ อย่างดังต่อไปนี้

       ๑. ลอยกระทง เป็นการแสดงถึงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้

       ๒.เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด

 

Image       ๓. เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา (มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา)

       ๔.ลอยกระทง เพื่อเป็นการสักการะพระบรมสารีริกธาตุ(กระดูกพระพุทธเจ้า)ที่ถูกลอยลงในแม่น้ำคงคา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ (เศรษฐีเจ้าของตลาดในพาราณสี ได้นำเอาซากอิฐจากวิหารในบริเวณธัมเมกขสถูปไปสร้างตลาด ได้พบเจอพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้บรรจุไว้ในเจดีย์ เศรษฐีหวังดีได้นำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าไปลอยแม่น้ำคงคา เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ขึ้นสวรรค์ ตามคติความเชื่อของฮินดู ซึ่งเป็นการสูญเสียพระบรมสารีริกธาตุ ครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐)

       ๕. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยให้ลอยไปกับแม่น้ำ

Image       ๖. เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล (การลอยกระทงเพื่อบุชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "อโศการาม" ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง ๘,๔๐๐ องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์ และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร และเพื่อจัดเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เนื่องจากเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง และทราบจากพระมหาเถระในขณะนั้นว่ามีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเท่านั้นที่จะสามารถปราบพญามารได้ จึงขอให้พระสงฆ์ที่มีฤทธิ์ไปนิมนต์แทนพระองค์ เมื่อพระอุปคุตต์มาตามคำนิมนต์และได้ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิม... พระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวอีสานและชาวพม่านับถือพระอุปคุตต์มาก ชาวพม่าไม่ว่าจะมีงานอะไรเป็นต้องนิมนต์มาเช้าพิธีด้วยเสมอ ไทยเราใช้บูชาในพิธีขอฝนหรือพิธีมงคล ฯลฯ)

       ๗. ลอยกระทง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

       ๘. เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน

       ๙.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ มีการประกวดกระทง ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้

 

คำอธิษฐานสำหรับลอยกระทง
(นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ… ว่า ๓ จบ)
------------------


      มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ จะ, คังคายะ นะทิยา ฐิตัง สารีริกะธาตุง อะภิปูเชมะ จะ, อะยัง ปะทีเปนะ ปูชา, อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ
      ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาซึ่งรอยพระพุทธบาท ที่ตั้งอยู่เหนือหาดทรายในแม่น้ำชื่อนัมมทานทีโน้น และขอบูชาซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ในแม่น้ำคงคา ด้วยประทีปนี้, กิริยาที่บูชาด้วยประทีปนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

(ผู้กล่าวคำถวายไม่ต้องกล่าวว่า "สาธุ")

-------------------------------------

ที่มา.-เฟชพระมหาบุญโฮม 4 พฤศจิกายน 2014

*******************