"หญ้ากุสะ มิใช่หญ้าคา..ประเด็นที่ชาวพุทธควรรู้"
โดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

Image           หลังจากพระมหาบุรุษ ได้รับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาและได้เสวยจนหมด และได้อธิษฐานลอยถาดแล้ว ก็กลับมาได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ ซึ่งได้ถวายหญ้ากุสะ (กุศะ) ในบาลีเขียนถูกแล้ว แต่คนไทยแปลว่า "หญ้าคา" เพราะเข้าใจว่าเป็นหญ้าคาแบบไทย ๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่เคยไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ย่อมรู้กันโดยทั่วไปว่า "หญ้ากุสะ มิใช่หญ้าคา"

         วันเพ็ญ เดือน ๖ (นับจากวันที่ผนวชมาประมาณ ๖ ปี) ตอนเช้า พระองค์ได้รับข้าวมธุปายาส (พร้อมถาดทอง)จากนางสุชาดา ธิดาของกุฎุมพีผู้เป็นนายบ้าน แล้วทรงถือเอาไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงเสวยข้าวมธุปายาสหมดแล้ว ทรงอธิษฐานลอยถาดเสียในกระแสน้ำ เวลาเย็นพระองค์เสด็จมาสู่ต้นโพธิ์ ทรงรับหญ้ากุสะ (หญ้าคา) ๘ กำมือจาก โสตถิยพราหมณ์ซึ่งถวายในระหว่างทาง ทรงปูลาดหญ้านั้นที่โคนต้นโพธิ์ แล้วประทับนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หันหลังเข้าหาต้นโพธิ์ ทรงอธิษฐานว่า "ถ้ายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด ก็จะไม่เสด็จลุกขึ้นตราบนั้น ถึงแม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที"

         หญ้ากุสะ(กุศะ) (ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmostachy bipinnata Stapf) เป็นหญ้าในวงศ์ Gramineae (Poaceae) มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดียและเนปาล ชอบขึ้นในที่แห้งแล้งริมฝั่งแม่น้ำ โดยจะขึ้นเป็นกอเหง้าใหญ่ ใบอวบรูปยาวเหมือนหอก ขอบใบคม ดอกเป็นช่อรูปพีระมิด หรือเป็นแท่งตั้งตรง แข็ง สีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และแยกกอ ต้นหญ้ากุศะ เป็นหญ้าชนิดหนึ่งที่มักขึ้นในพื้นที่แห้งแล้ง ตามที่รกร้าง ที่โล่งทั่วไป และขึ้นตามริมฝั่งของแม่น้ำ มักขึ้นเป็นกอ ๆ เหง้ามีขนาดใหญ่และอวบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกกอ

         หญ้ากุสะ (กุศะ) เป็นหญ้าชนิดหนึ่งซึ่งถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เนื่องจากเป็นหญ้าที่ปรากฏในพุทธประวัติว่า ในวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะได้รับถวายหญ้าชนิดนี้จำนวน ๘ กำมือจากพราหมณ์โสตถิยะ และเจ้าชายสิทธัตถะได้นำหญ้ากุศะไปปูรองนั่งเป็นพุทธบัลลังก์ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ทำให้ชาวพุทธถือว่าหญ้านี้มีความสำคัญมาก และจัดให้หญ้านี้เป็นต้นไม้สำคัญชนิดหนึ่งในพุทธประวัติ และชาวพุทธนิยมนำหญ้าชนิดนี้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น นำมาทำเป็นที่ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เป็นต้น

Image         ชาวฮินดูนับถือว่าหญ้านี้มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยนำหญ้านี้มาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๙ หรือที่เรียกว่า กุโศตปาฎนีอมาวสยา เพื่อเป็นการบูชาพระกฤษณะ เทพเจ้าองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู
หญ้ากุสะ (กุศะ) ยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร โดยใช้ทั้งต้นเป็นยาฝาดสมานขับปัสสาวะ ขับเสมหะ รากมีรสหวาน เป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำได้อีกด้วย

        หญ้ากุสะนี้ใบนุ่มไม่แข็งมากและรากหอม หญ้านี้พราหมณ์เขาใช้ในพิธีกรรมของเขา โดยเฉพาะใช้สลัดน้ำมนต์ และหญ้ากุสะชนิดนี้ยังสามารถใช้ถักเป็นเชือกขึงเป็นเตียงนอนได้อีกด้วย ซึ่งชาวอินเดียเขาใช้อยู่ทั่วไป ส่วนหญ้ากุสะ
ที่เป็นกอสูงใหญ่นั้นยังใช้มุงหลังคาได้อีกด้วย

       หญ้ากุสะมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่คล้ายหญ้าคา และชนิดที่มีใบนุ่มมีรากหอม สำหรับชนิดที่โสตถิยพราหมณ์ถวายนั้น สันนิษฐานว่า……น่าจะเป็นชนิดที่มีใบนุ่มและรากหอม และโสตถิยพราหมณ์น่าจะนำหญ้าไปทำพิธีมงคล (เพราะโสตถิยะ ก็แปลว่าสวัสดีอยู่แล้ว) โสตถิยะน่าจะเป็นชื่อของพราหมณ์ที่ทำพิธีเพื่อความสวัสดีมงคล

       ในหนังสือพุทธประวัติ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งไว้ว่า“ครั้นเวลาเย็น เสด็จมาสู่ต้นพระมหาโพธิ ทรงรับหญ้าของคนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะ ถวายในระหว่างทาง” มิได้ทรงใช้คำว่า หญ้าคา

       ซึ่งเมื่อไปดูในคัมภีร์อัฏฐกถาปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสและอัฏฐกถาชาดกเล่มหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพุทธประวัติตอนตรัสรู้ไว้ข้อความคล้ายกันว่า “สายณฺหสมเย โสตฺถิเยน ทินฺนา อฏฺฐติณมุฏฺฐิโย คเหตฺวา โพธิมณฺฑํ อารุยฺห แปลว่า ในเวลาเย็น พระมหาสัตต์ รับหญ้า ๘ กำที่นายโสตถิยะถวาย แล้วขึ้นสู่โพธิมณฑล"

Image       ในพระบาลีทั้งสองแห่ง ใช้คำว่า ติณะ ซึ่งแปลว่า หญ้า เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นหญ้ากุสะ แต่คนในละแวกนั้นกล่าวกันว่าเป็นหญ้ากุสะ

       ดังนั้น หญ้ากุสะที่พระโพธิสัตว์รับจากโสตถิยพราหมณ์นั้น จึงน่าจะเป็นหญ้ากุสะชนิดเดียวกับที่พราหมณ์นำไปประกอบพิธีมงคล ซึ่งมีใบไม่คมนัก นุ่ม และมีรากหอมตามที่ปรารภไว้แต่ต้น

        โดยรวมแล้ว ถือว่าหญ้ากุสะเป็นหญ้าที่มีความสำคัญ และมีความหมายสำหรับเราชาวพุทธ เพราะเป็นหญ้าที่รองประทับนั่งของพระบรมโพธิสัตว์ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ที่ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกในโลก

         ส่วน หญ้าคา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Imperata cylindrica Beauv.) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลหญ้า มีลำต้นสูงประมาณ ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร ลักษณะลำต้นเป็นทรงกลมเรียวยาวขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นขนกระจุก ขอบใบมีลักษณะคมกริบ ออกดอกเป็นช่อก้านยาวสีขาว คล้ายหางกระรอก มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคมะเร็งคอ แก้ลมพิษ ผื่นคัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากหญ้าคาในการมุงหลังคา ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ มีเหง้าสีขาวแข็งอยู่ใต้ดิน ลำต้นตั้งตรงสูงถึง15 - 20 เซนติเมตร มีกาบใบโอบหุ้มอยู่และริมกาบใบจะมีขน ตัวใบจะเรียวยาวประมาณ 1 - 2 เมตร กว้างประมาณ 4 - 18 มิลลิเมตร มีขนเป็นกระจุกอยู่ระหว่างรอยต่อของตัวใบและกาบใบ ดอกมีสีขาวอมเหลือง หรือเป็นสีม่วง เป็นช่อยาวประมาณ5 เซนติเมตร

         พระพุทธองค์ตรัสไว้ในราตรีที่จะปรินิพพานว่า "สังเวชนียสถาน คือ สถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใสควรจะดู ควรจะเห็น ควรจะให้เกิดสังเวช" มี ๔ สถานที่ ได้แก่
          ๑.สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ
          ๒.สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
          ๓.สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา
          ๔.สถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน.
ดูก่อนพระอานนท์ ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ "

         ผู้ที่เคยไปนมัสการสังเวชนียสถาน แสวงบุญ ไว้พระ สวดมนต์ เจริญจิตตภาวนาในแดนพุทธภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่จริงเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เพียงแค่ได้กราบลงที่ต้นโพธิ์ หรือเริ่มนั่งสมาธิเท่านั้นจะรู้สึกและสัมผัส "อะไรๆ" ได้ด้วยจิตของเราเองทันที ซึ่งยากยิ่งที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น.. คำ "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงรู้ได้เฉพาะตน" คนที่เคยไปสัมผัสแล้วเท่านั้นจะเข้าใจ สัมผัส และรู้สึกได้ ... จะเข้าใจได้เลยทันทีถึงเหตผลที่พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งก่อนปรินิพพานกระตุ้นเตือนให้เราชาวพุทธได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน …

         จึงใคร่ขอเชิญชวนชาวพุทธ "อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต" ควรหาโอกาสที่ดีให้แก่ตัวเองเพื่อจะได้ไปแสวงบุญ ไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปสัมผัส ไปไหว้ ไปสักการะ นมัสการสังเวชนียสถาน แล้วท่านจะถามตัวเองว่า "เราน่าจะมาตั้งนานแล้ว ทำไม เราจึงปล่อย วัน เวลา และโอกาสให้ล่วงเลยมายาวนานถึงเพียงนี้ "

         หากต้องการ "ศึกษาพุทธประวัติเชิงลึกในสถานที่จริง .. เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพุทธประวัติ" ว่าง ๆ และพอมีเงินเหลือก็จองทัวร์ไปทัศนศึกษา หากเกรงจะไม่ปลอดภัย และเกรงทัวร์จะหลอก ก็ออกค่าทริปให้แอดมิน ยินดีจะไปเป็นเพื่อน และยินดีติดต่อ ประสานงานกับทัวร์ให้ในราคาย่อมเยาว์ เพราะแอดมินมีคอนแทคกับทัวร์หลาย ๆ ทัวร์อยู่แล้ว เรื่องแค่นี้ "จิ๊บๆๆ" ครับ
----------------
หมายเหตุ.-
         ภาพประกอบ เป็นภาพที่ แอดมิน (พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล) กำลังสัมผัสหญ้ากุสะ ใกล้สถานที่ถอยถาด ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (ในปัจจุบันชื่อแม่น้ำลีลาจัน) ถ่ายเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ และอีกภาพเป็นหญ้ากุสะ สภาพต้นที่โตแล้ว ฤดูแล้ง ใกล้ทางเดินไปบ้านนางสุชาดา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (น.ลีลาจัน ในปัจจุบัน) ถ่ายเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ จึงนำภาพมาฝาก เผื่อใครต้องการนำไปเป็นสื่อบรรยาย ครับ (ข้อมูลประกอบจากอินเตอร์เนต ขออนุโมทนาเจ้าของข้อเขียนไว้ ณ ที่นี้)

-------------------------------------

ที่มา.-เฟชพระมหาบุญโฮม 8 กุมภาพันธ์ 2558


*******************