คำว่า
"กฐิน" ภาษาบาลี แปลกันตามตัวอักษรว่า "ไม้สะดึง"
สะดึง (อังกฤษ: Embroidery hoop; Embroidery frame) คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าในเวลาปักดิ้นหรือไหมเป็นต้น
หรืออาจจะหมายถึงกรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร .... สะดึงมี
2 แบบ คือ (๑) สะดึงกลม ใช้ปักงานชิ้นเล็ก เช่น การปักตัวอักษร เครื่องหมายของโรงเรียน
มุมผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น (๒) สะดึงสี่เหลี่ยม เหมาะสำหรับปักงานชิ้นใหญ่
จำเป็นต้องมีผ้าขึงสะดึง เพื่อบังคับผ้าที่ปัก ให้แน่นและเรียบตึงอยู่ได้นาน
ช่วยให้งานปักประณีตเรียบร้อย ปักได้สะดวกและรวดเร็ว เช่น การปักหน้าหมอน
ผ้าปูโต๊ะ ย่าม ตาลปัตร เป็นต้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้สะดึง
โดยตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึง เชือกผูกไม้สะดึง
ให้ผูกลงในที่นั้น ๆ เย็บจีวรได้ ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ
ไม้สะดึงหัก ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึงไม้สะดึง ในที่ไม่เสมอ
รูปใดขึง ต้องอาบัติทุกกฎ, ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงบนพื้นดิน ไม้สะดึงเปื้อนฝุ่น
... ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง ขอบไม้สะดึงชำรุด ...
ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดามขอบเหมือนผ้าอนุวาต ไม้สะดึงไม่พอ,
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึงเล็ก ไม้ประกับ ซี่ไม้สำหรับสอดเข้าในระหว่าง
จีวรสองชั้น เชือกรัดสะดึงในกับสะดึงนอก ด้ายผูกจีวรลงกับสะดึงใน ครั้นขึงแล้ว
จึงเย็บจีวร ด้ายเกษียนภายในไม่เสมอ, ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ทำหมาย เส้นด้ายคด ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเส้นด้าย ตีบรรทัด"
คำว่า
"กฐิน" นอกจากจะแปลว่า "ไม้สะดึง" แล้ว ผู้ที่เคยไปนมัสการสังเวชนียสถานและดูงานพระศาสนาที่อินเดีย
ย่อมจะคุ้นเคยกับคำว่า "กฐินะ" ภาษาฮินดี (อินเดีย มีภาษาราชการ
๒ ภาษา :ฮินดี-อังกฤษ) แปลว่า "ยาก" ทำให้สันนิษฐานได้ว่า
เหตุที่ "การทำบุญกฐินได้บุญมาก" เพราะการทอดกฐินเป็นการทำบุญซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก
หากไม่มีศรัทธาจริงๆ ยากจะกระทำได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดและเรื่องที่ทำได้ยาก
ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งถือว่าเป็นการทำบุญแบบทั่วๆไปไม่ใช่การทอดกฐินซึ่ง
กฐินจึงเป็นบุญที่ทำได้ยาก โดยอาศัยเหตุผลประกอบดังต่อไปนี้ : -
๑.ทุกวัดมีสิทธิรับกฐินได้เพียงปีละ
๑ ครั้ง เท่านั้น จะวัดเล็ก วัดใหญ่ จะมีพระจำพรรษามากมายสักเพียงไร
จะเป็นวัดราษฎร์ หรือพระอารามหลวงก็รับได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง
๒.พระสงฆ์หายาก
เพราะวัดที่จะรับกฐินได้ จะต้องมีพระจำพรรษาด้วยกัน ๕ รูป ขึ้นไปจึงรับกฐินได้
(จำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป พอถึงเวลาไปนิมนต์ที่อื่นมาเข้าพิธีให้ครบ ๕
รูป ก็นับจำนวนไม่ได้) เป็นบุญที่จำกัดด้วยประเภททาน คือต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น
จะถวายเฉพาะเจาะจงพระภิกษุรูปใด รูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
๓.ต้องมีพระที่เป็นพหูสูตร
ทรงธรรม ทรงวินัย รู้ "กฐินมาติกา ฉลาดในวินัยกรรม จะไม่ให้วินัยกรรมนั้น
ๆ กำเริบ(เสียหาย)ได้ และมีสติปัญญาสามารถกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้"
ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก
๔.ผู้จะรับเป็นเจ้าภาพทอดกฐินต้องใช้ทุน
และมีความพร้อมมาก จึงหาเจ้าภาพกฐินได้ยาก ผู้จะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินต้องมีบุพเพกตบุญญตา
สะสมบุญกุศลมานานจึงจะมีโอกาสได้ทอดกฐิน หากขาดบุญหนุนส่ง ขาดธรรมจัดสรรยากที่จะทำได้
๕.เป็นบุญที่เกิดจากพุทธานุญาต
คือ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ผู้มีจิตศรัทธาเองจะต้องแสดงเจตน์จำนงต่อสงฆ์เพื่อจะนำผ้ากฐินไปทอดถวายด้วยตนเองเท่านั้น
การที่จะให้คนเกิดศรัทธาเอง คิดเอง แจ้งความจำนงเอง และถวายกฐิน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ "ห้ามมิให้พระภิกษุชักชวน แนะนำ ทำนิมิต
หรือพูดเลียบเคียงให้คนนำกฐินมาถวายตนเอง .. การทำนิมิต เช่น พูดว่า
ผ้าผืนนี้ดี สามารถจะกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ได้. พูดเลียบเคียงนั้น
เช่นพูดว่า การถวายผ้ากฐินสมควรอยู่ ทายกย่อมได้บุญมาก. ทำนิมิตนั้น
หมายถึงนัดหมายแนะนำให้เขาถวาย โดยความก็คือทำวิญญัติ (พูดขอโดยตรงซึ่งๆหน้า)"
หาก ไพระภิกษุชักชวน แนะนำ ทำนิมิต หรือพูดเลียบเคียงให้คนนำกฐินมาถวายตนเองผ้าที่ทายกนำมาทอดถวายนั้นก็ไม่เป็นกฐิน
แต่ได้บุญจากการถวายทานตามปกติทั่วเท่านั้น"
๖.เวลาในการทอดกฐินก็จำกัดมากเพียง
๑ เดือนหลังออกพรรษาเท่านั้น เป็นบุญทีจำกัดด้วยกาลเวลา คือต้องทำภายใน
๑ เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา (ทำได้ยากเพราะมีเวลาจำกัด)
๗.การจะหาวัดจองกฐินก็ยาก
เพราะวัดที่มีพระสงฆ์พร้อมทั้ง ๕ รูปเป็นอย่างน้อย ซึ่งมีความรู้วินัย
วิธีการ และขั้นตอนการปฏิบัติตามขั้นตอนตามวินัยก็หายาก พระภิกษุผู้กรานกฐิน
เมื่อได้รับกฐินมาแล้วต้องกะ ตัด เย็บ ย้อม กรานกฐินให้เสร็จและครองผ้าที่ได้รับภายในวันนั้นเลย
และหลายวัดเจ้าภาพจองทอดกฐินแล้ว กว่าจะได้ทอดก็ต้องรอคิวทอดกฐินใช้เวลาหลายปี
(บางวัดมีคิวจองทอดกฐินเกิน ๕๐ ปี)
๘.ช่วยแบ่งเบาภาระที่ประพฤติได้ยากของพระภิกษุสงฆ์เกี่ยวกับพระวินัยบางสิกขาบทให้ซึ่งไม่ค่อยสะดวกแก่การประพฤติปฏิบัติตามให้เบาบางลง
(จากยาก ผ่อนผันให้เป็นง่ายและสะดวกแก่การประพฤติปฏิบัติสำหรับพระ)
แท้ที่จริงแล้ว
การทอดกฐินนั้นมีเพียงผ้าผืนเดียว ซึ่งอาจตัดเย็บย้อมเป็นผ้านุ่ง(สบง)
ผ้าห่ม(จีวร) ผ้าซ้อน/ผ้าทาบ (สังฆาฏิ) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจถวายผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งก็ได้
นับเป็นการทอดกฐินแล้ว ที่เราสิ้นเปลืองกันมากนั้น เป็นการไปเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ขึ้นมากันตามกำลังศรัทธา
เพื่อให้มีองค์ประกอบสวยงาม โดยเฉพาะมหรสพคบงันต่างๆ ที่สร้างความครึกครื้นนั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้แต่อย่างใด
ซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นใดๆ เลย
เพราะฉะนั้น
ถ้ามีปัญหาเรื่องวัดใดวัดหนึ่งไม่มีใครจองกฐิน ใครก็ได้ที่มีจิตศรัทธาและทุนไม่มาก
เพียงไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งมาถวายก็เรียกว่า "ทอดกฐิน"
แล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมีประเพณีให้ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้นก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวาย
ก็จัดเป็นการทอดกฐินที่สมบูรณ์ตามพระวินัย เป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่าย
ๆ เพียงเท่านี้
------------------------
ภาพประกอบส่วนหนึ่งจากอินเตอร์เนต จึงขออนุโมทนาเจ้าของภาพไว้ ณ ที่นี้
ที่มา.-
เฟชบุ้คพระมหาบุญโฮม
27 ตุลาคม 2015
*******************
|