วิธีดำเนินการเพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับพระภิกษุสามเณร
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕,นธ.เอก,ศษ.บ.,MPA.(นิด้า) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

"บัตรประจำตัว ปชช.ใช้แสดงตนว่าเป็นคนไทย, หนังสือสุทธิใช้แสดงตนว่าเป็นพระภิกษุสามเณร"

Image        บัตรประจำตัวประชาชนเป็นบัตรซึ่งใช้แสดงว่าตนเป็นคนไทย พระภิกษุสามเณรก็ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วไป (เพราะพระภิกษุสามเณรก็มีสถานะเป็นประชาชนคนหนึ่งของประเทศไทย) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น บัตรประจำตัวประชาชน จะระบุชื่อและนามสกุล วัน เดือน ปีเกิดและภูมิลำเนาของผู้ถือบัตร เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นคนไทย ในกรณีที่ใช้สิทธิฯ ทำนิติกรรม ติดต่อหน่วยงานราชการ หรือเอกชน เป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะออกหนังสือสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย หนังสือเดินทาง ฯลฯ รวมทั้งใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะถอนเงิน รับพัสดุ เป็นต้น ประชาชนคนไทยต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้พร้อมที่จะแสดงต่อเจ้าพนักงานตลอดเวลา หากไม่อาจแสดงได้ในเมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตร/ขอตรวจ ย่อมมีความผิดตามกฎหมาย

        ขณะเดียวกัน พระภิกษุสามเณรต้องมีหนังสือสุทธิเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระภิกษุสามเณรที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลในกรณีที่ใช้สิทธิฯ ทำนิติกรรมสัญญา ติดต่อหน่วยงานราชการ หรือเอกชน เป็นหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะออกหนังสือสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย หนังสือเดินทาง ฯลฯ รวมทั้งใช้ตรวจสอบตัวบุคคลเมื่อจะถอนเงิน รับพัสดุ เป็นต้น

        ดังนั้น พระภิกษุที่เป็นคนไทย มีสิทธิและหน้าที่โดยชอบธรรมเช่นประชาชนทั่วไปที่จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน หากเจ้าพนักงานขอดูบัตรประจำตัวประชาชน จะต้องยื่นบัตรประจำตัวประชาชนให้ตรวจเพื่อแสดงตัวว่าเป็นคนไทย.. หากเจ้าพนักงานขอตรวจหนังสือสุทธิ จะต้องยื่นหนังสือสุทธิให้ตรวจเพื่อแสดงตัวว่าเป็นพระภิกษุ

       กรณี พระภิกษุ สามเณรประสงค์จะขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ก็สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยกรมการปกครอง ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้
       •พระภิกษุ สามเณรจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของวัด
       •พระภิกษุสามเณรจะต้องใช้คำนำหน้านาม หรือวงเล็บชื่อตัวชื่อสกุลต่อท้ายสมณศักดิ์ (กรณีเป็นพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์) ให้ถูกต้องตรงกันกับรายการที่ระบุในหนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุ สามเณร
เมื่อได้ดำเนินการครบถ้วนตามแนวทางที่กำหนดไว้แล้วนั้น ก็สามารถยื่นคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ตามปกติ และบัตรประชาชนที่ได้รับนั้นก็จะมีคำนำหน้านามเป็นพระ และรายการที่อยู่ก็จะเป็นรายการของวัดนั่นเอง

ขั้นตอนในการทำบัตร (ต้องเป็นพระภิกษุจริงถ้าเป็นพระปลอมติดคุกข้อหาแต่งกายเลียนแบบสงฆ์)
        1.พระภิกษุสามเณรต้องย้ายชื่อเข้ามาในสำเนาทะเบียนบ้านของวัด หลักฐานที่ต้องใช้คือหนังสือสุทธิ และทะเบียนบ้านของวัดที่ท่านอยู่
        2.กรอกข้อมูลในเอกสารที่เจ้าหน้าที่ทางอำเภอจัดให้ พร้อมด้วยค่าทำเนียม 20 บาท
        3.ถ่ายรูปแล้วประมาณห้านาท ก็จะได้รับบัตรประจำตัวประชาชน

แนวทางการพิจารณา
         1. ตามกฏหมายบัตรประจำตัวประชาชนมิได้ห้ามพระภิกษุขอทำบัตรไว้ พระภิกษุสามเณรถ้าประสงค์จะทำบัตรก็สามารถทำได้
         2. ก่อนทำบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งแก่พระภิกษุให้ทราบว่าผู้ขอต้องลงชื่อในคำขอมีบัตร โดยใช้ชื่อตัว -ชื่อสกุลตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน และการลงชื่อในคำขอดังกล่าวเป็นการแสดงภาวะไม่แน่นอนว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ตามกฎมหาเถรสมาคม มีโทษปรับ โทษถึงสึกมาแล้วทุกราย และเมื่อทำบัตรให้แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องรายงานจังหวัด เพื่อแจ้งกรมศาสนาพิจารณาตามกฎหมายมหาเถรสมาคมต่อไป
         3. ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้ระบุสมณศักดิ์ของพระภิกษุในทะเบียนบ้านของวัด โดยระบุชื่อตัว - ชื่อสกุลวงเล็บต่อจากสมณศักดิ์ พระที่ไม่มีสมณศักดิ์หรือสามเณรให้ใช้คำว่า "พระ" หรือ สามเณร" เป็นคำนำหน้านามแล้วตามด้วยชื่อตัว - ชื่อสกุลของพระหรือสามเณรนั้นในทะเบียนบ้านของวัด
         4. ใช้หลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หนังสือสุทธิ และบัตรเดิม (ถ้ามี
) ไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
         5.พระภิกษุ สามเณร เป็นบุคคลได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอมีบัตร หากประสงค์ขอทำบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท

ข้อกฏหมาย
         1. พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 5 วรรคสาม
         2. ระเบียบบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ข้อ 10 ( 4 )
         3. กฏกระทรวง ฉบับที่ 2 ( พ.ศ.2527 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ 2526
         4. หนังสือกรมการปกครองที่ มท 0408/ว 925 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533
         5. หนังสือกรมการปกครองที่ มท 0309.1/ว 1500 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2546
         6. หนังสือกรมการปกครองที่ มท 0408/ว7552 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2550
         7.มติมหาเถรสมาคม มติที่ ๓๙๑/๒๕๕๑ เรื่อง การทำบัตรประจำตัวประชาชนของพระภิกษุสามเณร

 

มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๑
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
*********

มติที่ ๓๙๑/๒๕๕๑
เรื่อง การทำบัตรประจำตัวประชาชนของพระภิกษุสามเณร

ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระบุรีได้มีหนังสือ ที่ สบ ๐๐๓๐/๒๘๗ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑ แจ้งว่า ในการประชุมพระสังฆาธิการ ประจำปี-งบประมาณ ๒๕๕๑ ในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ณ วัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางปฏิบัติกรณีพระภิกษุสามเณรขอมีบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อคณะสงฆ์จะได้ถือปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ กรมการปกครอง ได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๓๐๙.๒/ว ๗๕๕๒ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๐ เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีพระภิกษุสามเณรขอมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยกรมการปกครองพิจารณาเห็นว่า กรณีดังกล่าว ให้อำเภอ กิ่งอำเภอ เขต เทศบาล และเมืองพัทยา พิจารณาดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ ซึ่งตามกฎหมายพระภิกษุสามเณรเป็นบุคคลยกเว้นไม่ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ แล้วแต่ความประสงค์ของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เพื่อให้แนวทางปฏิบัติของสำนักทะเบียนเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรต้องกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของมหาเถรสมาคม รวมทั้งเพื่อให้การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พระภิกษุสามเณร ที่ประสงค์จะทำบัตร-ประจำตัวประชาชนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมการปกครองจึงวางแนวทางปฏิบัติกรณีพระภิกษุสามเณรขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ดังนี้

๑. เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอมีบัตรจากพระภิกษุสามเณรที่ประสงค์จะทำบัตรประจำตัวประชาชน ให้ตรวจสอบหลักฐานว่า รายการต่าง ๆ ในทะเบียนบ้านของวัด เช่น คำนำหน้านาม หรือวงเล็บชื่อตัว ชื่อสกุล ต่อท้ายสมณศักดิ์ กรณีเป็นพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตรงกันกับรายการที่ระบุในหนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุสามเณรหรือไม่ หากถูกต้องตรงกัน และมีหลักฐานเอกสารประกอบอื่น ๆ ตามระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนกำหนด เช่น สูติบัตร บัตรเดิม เป็นต้น ครบถ้วน ให้พิจารณาดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้พระภิกษุสามเณรทันที โดยไม่ต้องดำเนินการตามหนังสือ ปค. ที่ มท ๐๔๐๘/ว ๙๒๕ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๓

๒. หากตรวจสอบแล้วปรากฏว่า สำเนาทะเบียนบ้านที่พระภิกษุสามเณรนำมาแสดงเป็นสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ให้แนะนำพระภิกษุสามเณรให้แจ้งย้ายที่อยู่จากทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านเข้าทะเบียนบ้านฉบับของวัด แล้วขอให้แก้ไขคำนำหน้านาม หรือสมณศักดิ์ โดยวงเล็บชื่อตัว ชื่อสกุล ต่อท้ายสมณศักดิ์ ให้ถูกต้องตรงกันกับที่ระบุในหนังสือสุทธิของพระภิกษุสามเณร แล้วจึงจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ต่อไป แต่หากพระภิกษุสามเณรยังคงยืนยันที่จะใช้สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน หรือสำเนาทะเบียนบ้านฉบับของวัด ที่ยังไม่ได้แก้ไขคำนำหน้านามให้เป็น “พระ” หรือ “สามเณร” หรือ สมณศักดิ์ โดยวงเล็บชื่อตัว ชื่อสกุล ต่อท้ายสมณศักดิ์ กรณีพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นหลักฐานในการทำบัตรประจำตัวประชาชน ก็ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ และให้ดำเนินการตามหนังสือ ปค. ที่ มท. ๐๔๐๘/ว ๙๒๕ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๓ เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีพระภิกษุสามเณรขอมีบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ เรื่อง พระภิกษุสามเณรเซ็นนามแสดงภาวะไม่แน่นอนว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ

ที่ประชุมรับทราบ

อ่านมติมหาเถรสมาคม มติที่ ๓๙๑/๒๕๕๑ ในรูปแบบ DPF ไฟล์