ขั้นตอนการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
ตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. 2543

ขั้นตอนการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
ตามระเบียบมหาเถรสมาคม
ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. 2543
......

                สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด หมายถึงสำนักปฏิบัติธรรมที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตาม ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. 2543 เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่ทางคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมให้การส่งเสริมสนับสนุนให้วัดทั่วประเทศจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับประชาชนพุทธบริษัทที่สนใจใคร่ปฏิบัติธรรมด้วยการฝึกสมาธิ-เจริญวิปัสสนา โดยมุ่งให้แต่ละคณะสงฆ์จังหวัดควรมีสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในด้านการฝึกอบรมสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อย่างน้อย 1 แห่ง

                การจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนั้น ต้องดำเนินการตามตามความในข้อ 5 แห่งระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. 2543 ซึ่งระบุไว้ว่า “การจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ให้เจ้าคณะจังหวัด ประธานคณะกรรมการ จัดประชุมคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด คัดเลือกวัดที่เหมาะสม ให้เจ้าอาวาสวัดที่จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ยื่นหนังสือขอจัดตั้งตามแบบ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พิจารณาแล้วให้ประธานคณะกรรมการรายงานเสนอเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่พิจารณาเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาอนุมัติ เพื่อมีพระบัญชาการตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นทะเบียนเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด” ดังนั้น อาศัยตามความแห่งระเบียบนี้ การเสนอเรื่องขอจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเพื่อให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติอนุมัติ จึงเป็นการดำเนินการโดยเฉพาะของเจ้าคณะปกครองฝ่ายสงฆ์ ในนามของคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติประจำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการ รองเจ้าคณะจังหวัด เป็นรองประธานคณะกรรมการ เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอของจังหวัดนั้น เป็นกรรมการ โดยมีเจ้าคณะใหญ่ เป็นประธานที่ปรึกษา เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เป็นที่ปรึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ปกครองฝ่ายบ้านเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามหาเถรสมาคมจะออกระเบียบดังกล่าวมานับเป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่สมัยที่กรมการศาสนาเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับสนองงานคณะสงฆ์โดยตรง แต่สถานการณ์การจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกลับไม่เพิ่มขึ้น ทั้งยังไม่กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัดตามเจตนารมณ์แห่งระเบียบ มส. ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะขาดการติดตามประสานกระตุ้นส่งเสริมให้ดำเนินการตามระเบียบ มส. ซึ่งมิได้มีมาตรการบังคับ นั่นก็ส่วนหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะปัญหาอุปสรรคต่างๆ จึงก่อให้เกิดความสับสนในการเสนอเรื่องขอจัดตั้งทั้งแก่เจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ได้เสนอเรื่องผ่านความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ปกครองฝ่ายบ้านเมืองส่วนภูมิภาค (นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด) แล้วส่งเรื่องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำเสนอมหาเถรสมาคม โดยไม่เสนอเรื่องผ่านความเห็นของเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะใหญ่ ดังนั้น เพื่อให้การจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงกำหนดขั้นตอนเสนอเรื่องขอจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

                ขั้นตอนที่ 1 เจ้าคณะจังหวัด จัดประชุมคณะกรรมการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด คัดเลือกวัดที่เหมาะสม แล้วแจ้งเจ้าอาวาสวัดที่ได้รับการคัดเลือกทราบ
                ขั้นตอนที่ 2 เจ้าอาวาสวัดที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ยื่นหนังสือขอจัดตั้งต่อคณะกรรมการจัดตั้งตามแบบที่กำหนด (แบบ สธจ. 1)
                ขั้นตอนที่ 3 เจ้าคณะจังหวัด ประธานคณะกรรมการจัดตั้ง รายงานเสนอเจ้าคณะภาคตามแบบที่กำหนด (แบบ สธจ. 2)
                ขั้นตอนที่ 4 เจ้าคณะภาคพิจารณาลงนามเสนอความเห็นและรายงานเสนอเจ้าคณะใหญ่
                ขั้นตอนที่ 5 เจ้าคณะใหญ่พิจารณาลงนามเสนอความเห็น นำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมด้วยตนเอง ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง หรือส่งเรื่องโดยตรงให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือส่งเรื่องคืนให้เจ้าคณะจังหวัดดำเนินการจัดส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำวาระเพื่อนำเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคม พิจารณาอนุมัติ
                ขั้นตอนที่ 6 เลขาธิการมหาเถรสมาคมนำเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณามีมติอนุมัติจัดตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
ขั้นตอนที่ 7 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำมติมหาเถรสมาคมแจ้งให้เจ้าคณะจังหวัดทราบ และขึ้นทะเบียนเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด
                ขั้นตอนที่ 8 เจ้าคณะจังหวัดแจ้งเจ้าอาวาสวัดที่เป็นสถานที่จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดทราบเพื่อดำเนินกิจกรรมจัดการศึกษาปฏิบัติธรรมให้แก่พุทธบริษัทต่อไป
                ขั้นตอนที่ 9 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนศึกษา จัดสรรงบประมาณอุดหนุนประจำปี ตามโครงการเงินอุดหนุนการดำเนินงานสำนักปฏิบัติธรรม

--------------

ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ กองพุทธศาสนศึกษา
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โทร. 0 2441 4553

*******************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี