๑๑. ขั้นตอนการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร
โดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

 

            การทำเอกสารเพื่อขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร มีขั้นตอนและวิธีดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ใน ระเบียบมหาเถรสมาคมกำหนดวิธีปฏิบัติในการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร พ.ศ. ๒๕๓๗ (.pdf file) ออกตามความในมาตรา ๑๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่๒ ) พ.ศ.๒๕๓๕ มหาเถรสมาคมวางระเบียบไว้ โดยสรุปดังต่อไปนี้ (ขอให้อ่านระเบียบให้เข้าใจก่อนดำเนินการ) ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ประเภท ข. เท่านั้น ดังนี้

            ๑. ติดต่อขอซื้อ "แบบหนังสือขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ พร้อมหนังสือคู่มือการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (จะมีเลขที่กำกับ/พ.ศ. อยู่ด้านบน จะพ.ศ.ใด ก็ใช้ได้)" ได้ที่ โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โทร.๐-๒๒๒๓-๓๓๕๑, ๐-๒๒๒๓-๕๕๔๘ แล้วอ่านคู่มือการเดินทางไปต่างประเทศฯ ให้เข้าใจก่อนเริ่มลงมือดำเนินการ เฉพาะในภาคใต้ สามารถติดต่อขอซื้อได้ที่
                 ๑.๑ วัดสระเรียง ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช โดย บ.สังคมทัวร์ โดย ดร.สังคม แชเชือน จัดซื้อถวายให้วัดจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทั้งหมด(โดยไม่หักค่าใช้จ่าย)บำรุงวัด)
                 ๑.๒ บริษัท เอส อาร์ เอส ทัวร์ แอนด์ ทราเวล จำกัด โดย คุณพัชรนันท์ เรืองอนันตภัทร์ ๒๔๕/๔๘ ม.๓ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ๘๓๑๑๐ โทร. ๐๙-๙๔๕๔-๑๖๔๒ และ
                 ๑.๓ ร้านบุญธรรมสังฆภัณฑ์ (หน้า โรงพยาบาลท่าโรงช้าง) ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธาน

            ๒.กรอกข้อความลงในแบบฟอร์มให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง (เฉพาะช่อง วิทยฐานะ ให้หมายถึง ป.ธ., น.ธ. และจะลงวุฒิอื่นด้วยก็ได้) ติดรูปถ่าย ซึ่งถ่ายไว้ไม่เกิน ๖ เดือน ขนาด ๒X ๒.๕ นิ้ว เสร็จแล้วผู้จะขออนุญาตเดินทางฯ ลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนดไว้ใต้รูปภาพ

            ๓. ถ่ายเอกสารในข้อ ๒ (แบบฟอร์มที่กรอกเสร็จแล้ว) จำนวน ๒ สำเนา (รวมเป็น ๓ กับต้นฉบับ )

            ๔. เตรียมเอกสารแนบเพื่อประกอบการพิจารณา (โปรดลงนามรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ) ดังนี้
                        ๔.๑ สำเนาหนังสือสุทธิ ถ่ายจำนวน ๓ ชุด (
วิธีถ่ายเอกสารหนังสือสุทธิ และหากเป็น พระมีสมณศักดิ์ ต้องถ่ายหน้า ๑๘-๑๙ ด้วย)
                        ๔.๒ สำเนาทะเบียนบ้าน ถ่ายจำนวน ๓ ชุด
                        ๔.๓ เอกสารประกอบการพิจารณา เช่น หนังสือนิมนต์ตารางเดินทาง จำนวน ๓ ชุด
                             หากเอกสารหรือหลักฐานใด เป็นภาษาต่างประเทศ ให้แปลเป็นภาษาไทย โดยผู้แปลและผู้ไปนั้นลงนามรับรองคำแปลด้วย
                        ๔.๔ หากผู้ประสงค์จะขออนุญาตฯ เป็นพระภิกษุที่มีพรรษายังไม่พ้น ๕ และสามเณร (ตามระเบียบข้อ ๘) จะต้องมีพระภิกษุที่มีคุณสมบัติตามระเบียบฯ ข้อ ๗ ซึ่งจะเดินทางไปด้วยกัน ทำหนังสือรับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลในระหว่างที่ไปต่างประเทศ ท่านสามารถโหลด แบบฟอร์มตัวอย่างหนังสือรับรองว่าจะเป็นผู้ดูแลความประพฤติพระภิกษุ-สามเณรในระหว่างไปต่างประเทศ ได้ที่นี่ แล้วกรอกแนบไปด้วย

            ๕.จัดเรียงแบบขออนุญาต สำเนาหนังสือสุทธิ สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารประกอบ แล้วเย็บชุดให้เรียบร้อย (รวม ๓ ชุด) เสร็จแล้วนำเสนอเจ้าอาวาส เพื่อพิจารณา หากท่านเห็นว่าข้อมูลถูกต้อง และเอกสารทุกอย่างครบและถูกต้อง ก็จะลงเลขที่หนังสืออก/พ.ศ. ที่ออกหนังสือ (ด้านบนของหนังสือขออนุญาตฯ) แล้วลงนามในช่องที่กำหนด แล้วเก็บสำเนาเอกสารไว้ ๑ ชุด เพื่อเป็นหลักฐาน (ขั้นตอนต่อจากนี้ โปรดปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด่วยงานสารบรรณฯ ข้อ ๑๓ โดยในที่นี้ จะอธิบายตามขั้นตอนสำหรับพระภิกษุสามเณรทั่วไป เท่านั้น )

            ๖. นำเอกสารอีก ๒ ชุด ที่เหลือ เสนอต่อเจ้าคณะตำบลเพื่อพิจารณาลงความเห็นและลงนามในช่องที่กำหนดไว้ทั้ง ๒ ชุด

            ๗. นำเอกสารอีก ๒ ชุด ที่เหลือ ที่เจ้าคณะตำบลลงนามแล้ว เสนอต่อเจ้าคณะอำเภอ เพื่อพิจารณาลงความเห็นและลงนามในช่องที่กำหนดไว้ ทั้ง ๒ ชุด

            ๘. นำเอกสารอีก ๒ ชุด ที่เหลือ ที่เจ้าคณะอำเภอลงนามแล้ว เสนอต่อเจ้าคณะจังหวัด เพื่อพิจารณาลงความเห็นและลงนามในช่องที่กำหนดไว้ ทั้ง ๒ ชุด

            ๙. นำเอกสารอีก ๒ ชุด ที่เหลือ ที่เจ้าคณะจังหวัดลงนามแล้ว เสนอต่อเจ้าคณะภาค เพื่อพิจารณา หากเอกสารทุกรายการถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ท่านจะลงความเห็นและลงนามทั้ง ๒ ชุด แล้วเก็บสำเนาเอกสารไว้ ๑ ชุดเพื่อเป็นหลักฐาน

            ๑๐. นำเอกสารอีก ๑ ชุด ที่เหลือ ที่เจ้าคณะภาคพิจารณาลงนามแล้ว เสนอต่อ เลขานุการคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ที่ สำนักงานศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร ตั้งอยู่บริเวณภายในวัดสังเวชวิศยาราม ถนนสามเสน ๑ แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทางเข้าวัดอยู่ด้านถนนพระอาทิตย์ ข้างป้อมพระสุเมรุ (สวนสันติชัยปราการ)
หากส่งทางไปรษณีย์ ให้จ่าหน้าซองถึง
                        เลขานุการคณะกรรมการ ศ.ต.ภ.
                        วัดสังเวชวิศยาราม แขวงวัดสามพระยา
                        เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ
                        10200

ให้ทันวันประชุมของคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. ซึ่งจะประชุมพิจารณาทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน เวลา ๑๖.๐๐ น. นอกจากติดภารกิจสำคัญ ที่ต้องเลื่อนวันประชุมออกไป หรือเลื่อนเข้ามา ซี่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงชี้แจงทำความเข้าใจต่อท่านที่มีความประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ และต่ออายุหนังสือเดินทาง ควรยื่นเรื่องขออนุญาตเดินทางไว้ล่วงหน้า (ประมาณ ๗ วัน)

            เมื่อคณะกรรมการฯพิจารณาเรียบร้อยแล้ว เลขานุการฯ ก็จะคัดรายชื่อเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางทั้งหมด ส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ดำเนินการส่งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
            ก่อนที่ท่านจะดำเนินการขอรูปเล่มหนังสือเดินทางนั้น ท่านต้องทราบก่อนว่าเรื่องของท่านได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. หรือไม่ โดยให้ท่านไปดูรายชื่อได้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ พุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (www.onab.go.th)

            การขอเอกสารคืน
            อนึ่ง เรื่องขออนุญาตเดินทางที่ยื่นเสนอ ต่อคณะกรรมการ ศ.ต.ภ. สำนักงาน ศ.ต.ภ. ประทับรับเรื่องแล้ว ไม่ว่าเรื่องนั้นจะได้รับอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ตาม จะขอเอกสารคืนไม่ได้ เพราะเป็นระเบียบปฏิบัติที่จะต้องบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด
หมายเหตุ ผู้ส่งเรื่องขออนุญาตเดินทาง ขณะที่คณะกรรมการ ศ.ต.ภ. กำลังประชุมพิจารณา ที่ประชุมจะไม่นำมาพิจารณา แต่จะนำเสนอที่ประชุมพิจารณาในครั้งต่อไป

            ๑๑. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ให้ผู้ขออนุญาต ติดต่อขอหนังสือเดินทาง (Passport) ได้ที่สำนักงานหนังสือเดินทางได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ในขั้นตอนนี้ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมขอทำหนังสือเดินทาง เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท + ค่าจัดส่งเอกสารอีก ๓๕ บาท รวม ๑,๐๓๕ บาท (ราคานี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามประกาศ หรือระเบียบของทางราชการ โปรดรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง) หากไปยื่นขอที่ กระทรวงการต่างประเทศ ใช้เวลาประมาณ ๒ วัน ก็จะได้รับหนังสือเดินทาง, หากยื่นขอที่สำนักงานหนังสือเดินทางแห่งต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ ก็จะได้รับหนังสือเดินทาง (Passport) ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์

            เอกสาร/หลักฐานที่จะต้องใช้ในการขอมีหนังสือเดินทาง (Passport).-
                    -แบบคำร้องที่กรอกเสร็จแล้ว (สามารถรับได้ฟรี.. ที่สถานที่ให้บริการหนังสือเดินทาง)
                    -หนังสือสุทธิฉบับจริง
                    -สำเนาหนังสือสุทธิ จำนวน ๑ ชุด (ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง) >> ดูวิธีถ่ายเอกสารหนังสือสุทธิ (พระมีสมณศักดิ์ถ่ายหน้า ๑๘-๑๙ , และที่เปลี่ยนชื่อ-สกุล ต้องถ่ายหน้า ๑๗ ด้วย)
                    -สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน ๑ ชุด (ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง)
                    -สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน ๑ ชุด (ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง)
                    -เอกสารประกอบอื่น ๆ เช่น สำเนาสัญญาบัตร, เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล จำนวน ๑ ชุด (ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง)
                   - เฉพาะพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ จะต้องนำ "สำเนาสัญญาบัตร" ส่วนพระที่มีสมณศักดิ์เป็น "พระมหา" จะต้องนำ "สำเนาใบประกาศนียบัตร ผู้สอบได้ ป.ธ... ชั้นล่าสุด" ไปเป็นหลักฐานด้วย (ถ่ายเอกสารขนาด A4 พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง)

            สถานที่ให้บริการหนังสือเดินทาง
           ๑๑.๑ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งวัฒนะ แผนที่
                   - ที่อยู่ 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
                   - โทรศัพท์ 0-2981-7171-99 โทรสาร 0-2981-7256

            ๑๑.๒ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา แผนที่
                   - ที่อยู่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลซิตี้บางนา อาคาร "บางนาฮอลล์"(ด้านข้างศูนย์การค้า) ชั้น B1
                   - โทรศัพท์ 0-2383-8401-3 โทรสาร 0-2383-8398

            ๑๑.๓ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า แผนที่
                   - ที่อยู่ อาคารธนาลงกรณ์ทาวเวอร์(ชั้นใต้ดิน) แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม. 10700
                   - โทรศัพท์ 0-2446-8111-2 โทรสาร 0-2446-8118-9

            ๑๑.๔ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดขอนแก่น แผนที่
                   - ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
                   - โทรศัพท์ 0-4324-2707, 0-4324-3462, 0-4324-2655 โทรสาร 0-4324-3441

            ๑๑.๕ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดเชียงใหม่ แผนที่
                   - ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
                   - โทรศัพท์ 0-5389-1535-6 โทรสาร 0-5389-1534

            ๑๑.๖ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดสงขลา แผนที่
                   - ที่อยู่ ศูนย์ราชการจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จ.สงขลา 90000
                   - โทรศัพท์ 074-326508-10 โทรสาร 074-326511

            ๑๑.๗ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดอุบลราชธานี แผนที่
                   - ที่อยู่ อาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000
                   - โทรศัพท์ 045-242313-4 โทรสาร 045-242301
                   - E-mail : passport_ub@hotmail.com

            ๑๑.๘ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดสุราษฎร์ธานี แผนที่
                   - ที่อยู่ ศาลาประชาคม ถนนหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
                   - โทรศัพท์ 077-274940, 077-274942-3 โทรสาร 077-274941

            ๑๑.๙ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดนครราชสีมา แผนที่
                  - ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ถนนมหาดไทย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
                   - โทร 044-243-132, 044-243-124 โทรสาร 044-243-133

            ๑๑.๑๐ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดอุดรธานี
                   - ที่อยู่ ศูนย์อเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี(ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง) ถนนอธิบดี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 41000
                   - โทร 042-212827, 042-212-318 โทรสาร 042-222-810

            ๑๑.๑๑ สำนักงานหนังสือเดินทางชัวคราว จังหวัดพิษณุโลก
                   - ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ถนนเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
                   - โทร 055-258-173, 055-258-155, 055-258-131, โทรสาร 055-258-117

            ๑๑.๑๒ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จังหวัดยะลา
                   - ที่อยู่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถนนสุขยางค์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
                   - หมายเลขโทรศัพท์ 073-274-526, 073-274-036, 073-274-037 โทรสาร 073-274-527

            ๑๑.๑๓ สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต
                   - ที่อยู่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ถนนนริศร อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000
                   - หมายเลขโทรศัพท์ 076-222-083, 076-222-080, 076-222-081 โทรสาร 076-222-082

            ๑๒. เมื่อได้รับหนังสือเดินทาง (Passport) แล้ว จึงยื่นเรื่องเพื่อขออรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า)
                การขอหนังสือนำวีซ่า
                เพื่อเป็นอำนวยความสะดวกและรวดเร็ว การติดต่อประสานงานกับส่วนศาสนวิเทศ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในการขอหนังสือนำวีซ่าเพื่อขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ณ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย โปรดส่งสำเนาหนังสือเดินทางหน้าแรกที่มีรายชื่อและหมายเลขหนังสือเดินทาง พร้อมแจ้งมติ มส. หรือ ศ.ต.ภ. สถานที่พำนักในต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และหมายเลขโทรศัพท์ผู้ที่สามารถติดต่อได้ ไปยังหมายเลขโทรสารส่วนศาสนวิเทศ 0 2441 4548 (อัตโนมัติ) หรือ E-mail : chai2kp@yahoo.com และมาขอรับเอกสารหนังสือนำวีซ่าได้ภายในช่วงบ่ายหรือวันถัดไป

หมายเหตุ.- การจัดทำแบบเอกสารเพื่อขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร ขอให้จัดทำ ๓ ชุด ดังนี้
            ๑.สำเนาไว้ที่วัดเพื่อเป็นหลักฐาน จำนวน ๑ ชุด
            ๒.ถวายเจ้าคณะภาค เพื่อเป็นหลักฐาน จำนวน ๑ ชุด
            ๓.นำส่ง สำนักงาน ศ.ต.ภ. จำนวน ๑ ชุด

แผนภูมิสรุปขั้นตอนการขออนุญาตเดินทาง

            ท่านสามารถคลิ๊กที่นี่เพื่อดูแผนภูมิแสดงขั้นตอนการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร

สาเหตุที่ทำให้ไม่ได้รับอนุญาต เท่าที่พบบ่อยมีดังนี้.-

            - ขาดรูปถ่ายส่ง สนง.พุทธฯ
            - ขาดสำเนาทะเบียนบ้าน
            - ขาดสำเนาหนังสือสุทธิ
            - ขาดสำเนาหนังสือสุทธิ และ สำเนาทะเบียนบ้าน
            - ขาดหนังสือนิมนต์ (ในกรณีไปเพื่อกิจนิมนต์ / รับนิมนต์)
            - ขาดเอกสารประกอบการพิจารณา เช่น ตารางเดินทาง
            - ขาดเอกสารประกอบการพิจารณาตามระเบียบข้อ ๔
            - ชื่อที่หนังสือสุทธิมีการลบแก้ไข
            - ชื่อ-นามสกุลที่แบบขออนุญาตกับหนังสือสุทธิและสำเนาทะเบียนบ้านไม่ตรงกัน
            - ชื่อวัดที่แบบขออนุญาตกับหนังสือทธิไม่ตรงกัน
            - ชื่อวัดที่แบบขออนุญาตไม่ตรงกับหน้ารับเข้าสังกัดวัด
            - ชื่อวัดที่หนังสือสุทธิไม่ตรงกับตราตั้งเจ้าอาวาส
            - ใช้แบบขออนุญาตแบบเก่าที่คณะกรรมการยกเลิกไปแล้ว (ซึ่งไม่มีการลงเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก)
            - พ้นกำหนดการเดินทาง
            - สำเนาหนังสือสุทธิหน้าย้ายและรับเข้าไม่เรียบร้อยมีรอยลบ
            - หนังสือนิมนต์ ใช้ตราประทับ ไม่ได้ลงนามด้วยลายมือจริง
            - หนังสือสุทธิ ขาดหน้าอุปสมบทสังกัดวัดสับสน
            - หนังสือสุทธิขาดหน้าสังกัดวัด
            - หนังสือสุทธิขาดหน้ารับเข้าสังกัดวัด
            - หนังสือสุทธิขาดหน้าอุปสมบท
            - หนังสือสุทธิหน้าสังกัดวัดไม่ได้ประทับตรา
            - หน้าสถานะเดิมถ่ายเอกสารไม่ครบ
            - เอกสารประกอบการพิจารณา ข้ามปี
            - เอกสารสับสน
            - เอกสารสับสน สังกัดอยู่ ภาค ๖ แต่ให้เจ้าคณะภาค ๑๕ ลงนาม (เป็นเพียงกรณีสมมมติ เท่านั้น)

           ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่มีความประสงค์จะขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ โปรดตรวจดูเอกสารให้ครบถ้วน สมบูรณ์ก่อนยื่นเรื่อง เพื่อความสะดวกและจะได้ไม่ผิดหวัง และไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก...สำนักงาน ศ.ต.ภ.
บทความที่ควรอ่าน.-
          1. ขั้นตอนและวิธีการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศและต่ออายุหนังสือเดินทางสำหรับพระภิกษุสามเณร
          2.วิธีกรอกแบบขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศฯ หน้า ๑
          3.วิธีกรอกแบบขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศฯ หน้า ๒

------

เอกสารที่พระภิกษุสามเณรต้องใช้ในการทำ VISA

          1. แบบฟอร์มการจองโปรแกรมทัวร์ ซึ่งเป็นใบที่ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการนำมากรอกฟอร์มขอวีซ่าออนไลน์ ดังนั้น ต้องกรอกข้อมูลให้สมบูรณ์ที่สุด (แผ่นสุดท้ายที่แนบมาในโปรแกรมทัวร์)

          2. หนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีอายุการใช้งานเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับจากวันเดินทาง กรณีที่เคยไปมาแล้ว ภายใน 2 ปี ให้ถ่าย pasport หน้า VISA ครั้งที่ผ่านมาแนบไปด้วย และกรณีที่มีเล่มเก่าที่เคยไปอินเดียมาแล้วให้แนบไปด้วย

          3. หนังสือเดินทาง (Passport) ต้องมีหน้าว่าง ๆ สำหรับประทับตราวีซ่าและตราเข้า-ออก อินเดียและเนปาล อย่างน้อย 4 หน้าเต็ม

          4. รูปถ่ายสี พื้นหลังสีขาว ขนาด 2 x 2 นิ้วจำนวน 5 รูป (กรณีที่ทำวีซ่ามาเองแล้ว แนบภาพถ่าย 1 ภาพ ซึ่งรูปถ่ายที่ใช้เพื่อขอ VISA ต้องมีลักษณะถูกต้อง ครบทุกข้อ ดังนี้

              - รูปถ่ายสี จะต้องมีขนาด 2 x 2 นิ้ว ไม่รวมขอบ(ความสูง 2 นิ้ว ความกว้าง 2 นิ้ว เท่านั้น กรณีสูง 2 นิ้ว แต่กว้างไม่ถึง 2 นิ้ว ไม่สามารถใช้ได้)
              - พื้นหลังจะต้องเป็นสีขาวเท่านั้น ห้ามเป็นสีอื่น
              - รูปจะต้องเป็นรูปที่สามารถเห็นหน้าเต็ม, หน้าตรง, และลืมตา สามารถมองเห็นดวงตาได้ชัดเจน ไม่สวมแว่นตาดำ
              - ศีรษะจะต้องอยู่ตรงกลาง และจะต้องเห็นตั้งแต่บนศีรษะจนถึงปลายคางอย่างชัดเจน
              - จะต้องไม่มีเงาตกกระทบหรือบดบังใบหน้า
              - ไม่มีกรอบ ไม่มีขอบ
              - ไม่ใส่ชุดข้าราชการ
              - รูปต้องเห็นไหล่ทั้ง 2 ข้าง
              - ต้องไม่ใช่สติ๊กเกอร์ หรือรูปพริ้นซ์จากคอมพิวเตอร์
              - เป็นรูปใหม่ที่ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน
              - ห้ามเขียนชื่อ หรือข้อความหลังรูปถ่าย เพราะเมื่อนำรูปมาซ้อนกัน น้ำหมึกปากกาจะเลอะติดรูปถ่ายได้ ทำให้รูปถ่ายนั้นไม่สามารถใช้ได้ หากต้องการเขียน อนุญาตให้เขียนเพียงรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น และนำไปซ้อนไว้รูปหลังสุด
              - รูปจะต้องแสดง ตั้งแต่ปลายผมจนถึงคาง ศีรษะควรมีขนาด 1 นิ้ว ถึง 13/8 นิ้ว (25-35 มิลลิเมตร)
              - ตั้งแต่ ขอบตาล่างถึงขอบล่างของรูปหรือขอบล่างของเสื้อ จะต้องอยู่ในช่วงระหว่าง 11/8 นิ้ว ถึง 13/8 นิ้ว

 

กรณี ที่รูปถ่ายมีลักษณะไม่ถูกต้องตามลักษณะที่สถานทูตตั้งไว้ทุกข้อ ท่านต้องถ่ายรูปใหม่ ที่สถานทูต ราคา 200 บาท

          5. สำหรับพระภิกษุ ต้องใช้หนังสือสุทธิ ที่ประกอบด้วยหน้าสถานะเดิม, บรรพ ชา,อุปสมบท, สังกัดวัด, และกรณีที่ได้ตำแหน่ง เช่น พระครู ต้องมีหน้าที่ ระบุว่าได้ตำแหน่งด้วย >> วิธีถ่ายเอกสารหนังสือสุทธิ และหากเป็น พระมีสมณศักดิ์ ต้องถ่ายหน้า ๑๘-๑๙ ด้วย (ไม่สามารถใช้บัตรประชนที่เป็นพระหรือบัตรพระสังฆาธิการแทนได้)..

          6. สำหรับแม่ชี ต้องใช้สำเนา บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง และเขียนรายละเอียดกำกับด้วยว่า "ใช้สำหรับทำ VISA อินเดียเท่านั้น" และสำเนาหนังสือสุทธิบรรณ

          7. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง และเขียนรายละเอียดกำกับด้วยว่า "ใช้สำหรับทำ VISA อินเดียเท่านั้น" ห้ามเขียนเป็นอย่างอื่นโดยเด็ดขาด บางรายเขียนกำกับว่า "ใช้สำหรับทำหนังสือเดินทางเท่านั้น" ซึ่งถือว่าผิด (ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สําเนาสูติบัตร พร้อมใบแปลสูติบัตรเป็นภาาษอังกฤษ) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสูติบัตร เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการยื่น VISA ด้วย

          8. สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง และเขียนรายละเอียดกำกับด้วยว่า "ใช้สำหรับทำ VISA อินเดียเท่านั้น"

          9. กรณีที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติไทย ใช้เวลาในการทำวีซ่าอินเดียและเนปาล อย่างน้อย 10 วันทําการ ไม่นับรวมวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์

          10. กรณีที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอเมริกา หรือพาสปอร์ตต่างชาติ ใช้เวลาในการทำวีซ่าอินเดียและเนปาล อย่างน้อย 12 วันทําการ ไม่นับรวมวันหยุด เสาร์ - อาทิตย์ (พาสปอร์ตต่างชาติเก็บเพิ่ม 1,500 บาท ต่อท่าน, พาสปอร์ตอเมริกาเก็บเพิ่ม 2,500 บาท ต่อท่าน)

          11. ใบรับรองการงาน (หรือ work permit) สำหรับลูกค้าถือหนังสือเดินทางสัญชาติอเมริกาหรือพาสปอร์ตต่างชาติ (หากมี)

 

เฉพาะการทำ VISA เข้าประเทศเนปาล

          สำหรับท่านที่อยู่ภาคใต้ ใกล้ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีความประสงค์จะไปประเทศเนปาล อย่างเดียว หรือ มี วีซ่า อินเดีย แบบมัลติเพิ่ล สามารถยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศเนปาลได้ที่ สถานกงศุลกิตติมศักดิ์เนปาลประจำจังหวัดภูเก็ต (กงสุลเปิดทำการ เวลา13.00-15.00 น.) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 23/27 ซอยสะพานหิน ถนนภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000 โทร. 076-217343 มือถือ 081-6933576 อีเมล์ pranee81@yahoo.com (ซอยสะพานหิน. เข้าถนนด้านข้างตำรวจน้ำ เข้าซอยจะเห็นThe Bay ตึกกลุ่มใหญ่ อาคารสถานกงสุลอยู่ตรงข้าม)

เอกสารยื่นขอ Visa ต้องใช้ .-

          1.หนังสือเดินทาง (Passport) เล่มจริง ที่มีอายุการใช้งานเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับจากวันเดินทาง
          2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ใบ
          3.สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน1 ใบ
          4.รูปถ่ายสี ขนาด 2X2 นิ้ว ฉากหลังสีขาว จำนวน 1 รูป
          5.ค่าธรรมเนียม จำนวน 1,200 บาท / ต่อการ VISA อยู่ในเนปาลได้ 15 วัน (ทั้งคนไทย และ ต่างชาติ ราคาเดียวกัน)

(ขออนุโมทนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราณี สกุลพิพัฒน์ กงสุลกิติมศักดิ์ประเทศเนปาลประจำจังหวัดภูเก็ต และ คุณพัชรนันท์ เรืองอนันตภัทร์ (จนท.สถานกงสุล) ๒๔๕/๔๘ ม.๓ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ๘๓๑๑๐ โทร. ๐๙-๙๔๕๔-๑๖๔๒ ที่ให้ข้อมูล)


-----------------

หมายเหตุ.-แก้ไขล่าสุด วันที่ 29 มิถุนายน 2559

*******************