แด่ผู้สูญเสีย
รมณ รวยแสน
กรุงเทพธุรกิจ กายใจ วันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๔๘
ความเศร้าโศกจากการสูญเสีย
มักทำให้ผู้คนที่ตกอยู่ในวังวน รู้สึกเหมือนกำลังว่ายวนอยู่ในมหาสมุทรสีดำ
ทั้งกว้างไกลไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ทั้งมืดมนไม่อาจมองเห็นฟากฝั่ง เมื่อไม่ออกแรงว่ายเข้าสู่ฝั่ง
หรือยอมแพ้เสีย ก็ไม่อาจรอดพ้น แล้วเราจะช่วยกันเยียวยาจิตใจพวกเขาอย่างไร
กำลังใจ
คำปลอบโยน หรือแม้แต่หลักธรรมก็ตาม เป็นเหมือนขอนไม้ที่ทอดลอยอยู่
หากไม่มีใจเอื้อมมือไปยึดเกาะ เพียงมองเห็นก็ไม่ช่วยให้พ้นทุกข์โศก
คนทั่วไปอาจต้องการเวลาสักช่วงหนึ่งที่จะอยู่กับความเศร้าโศก
เพื่อระลึกถึงความทรงจำบางสิ่งบางอย่าง อาลัยอาวรณ์ ตามหลักจิตวิทยา
เมื่อเผชิญกับภาวะความสูญเสีย ผู้คนต้องการระยะเวลาหนึ่งเพื่อปรับตัว
ในทางจิตวิทยาแบ่งรูปแบบความสูญเสียออกเป็น
๒ ประเภทใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งอยู่ในขอบเขตที่จะปรับตัวได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นความสูญเสียที่เกินขอบเขตที่จะปรับตัวได้
มีความรุนแรงกระทั่งเกิดเป็นบาดแผลในใจ อย่างกรณีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ
พ่อแม่พี่น้องคนใกล้ชิดจมน้ำหายไปต่อหน้าต่อตา หรือลูกพลัดหลุดจากมือพ่อแม่ไปกับกระแสน้ำ
น.พ.ยงยุทธ
วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
บอกว่า ความเศร้าโศกเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากความสูญเสีย หากปล่อยตัวเองอยู่ในความเศร้านานเกินไป
อาการซึมเศร้าซึ่งเป็นความป่วยไข้ทางจิตใจจะตามมา และอาจเข้าสู่ภาวะอยากฆ่าตัวตาย
ความสูญเสียโดยเฉพาะการตายของสมาชิกในครอบครัว
เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเศร้าโศก แต่ถ้าผ่านพ้นไป ๒ สัปดาห์แล้ว ยังเดินตามหาลูก
ยังร้องไห้ไม่หยุด ไม่ยอมกินข้าว ญาติพี่น้องจะต้องนำส่งผู้เชี่ยวชาญ
เพราะเกินความสามารถที่คนทั่วไปจะดูแล จะต้องใช้การบำบัดรักษา
"ต้องยอมรับความจริงว่าได้เกิดขึ้นแล้ว
อย่าปฏิเสธความจริง แล้วมองหาสิ่งที่จะทำต่อไป ไม่ไปจมอยู่กับความเศร้า
ถ้ายอมรับความจริงได้ ก็ออกจากวิกฤติได้ ถ้าไม่ยอมรับก็เศร้าโศกอยู่อย่างนั้น"
น.พ.ยงยุทธ บอกว่า สำหรับผู้ประสบภัยก็เช่นเดียวกัน ต้องมองไปข้างหน้า
ญาติพี่น้องที่ยังหลงเหลือนั้นอยู่ตรงไหน และจะจัดการอย่างไรกับความช่วยเหลือจากรัฐและองค์กรต่างๆ
ที่เข้ามาอย่างไร
การได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ
จะทำให้คนออกจากภาวะความเศร้าได้ ในขณะที่ชีวิตปกติของผู้ประสบภัยก็ถูกทำลายไปแล้วเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน บ้านเรือน เครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากิน
ดังนั้น ความช่วยเหลือที่เข้าไป จะต้องเกื้อกูลให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตปกติ
และพื้นฐานชุมชนดั้งเดิมจะช่วยประคับประคองกันไปในระยะยาว
ความสูญเสียไม่ได้ทิ้งไว้แต่เพียงร่องรอยของความเจ็บปวดเท่านั้น
ยังสร้างความเข้มแข็งของจิตใจให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่เฉพาะหลักทางจิตวิทยาเท่านั้น
ที่นำพาผู้คนเดินออกจากความเศร้าโศกด้วยการยอมรับความจริง หลักการของศาสนาทุกศาสนาก็ช่วยเยียวยาได้เช่นกัน
ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม หากแต่มีวิธีการอธิบายต่างกันเท่านั้นเอง
บาทหลวงวิชัย
โภคทวี บอกว่า คนๆ หนึ่งที่มีร่างกายแข็งแรง ในช่วงอายุ ๘๐-๙๐
ปี ก็อาจต้องสูญเสียเขาไป และมหันตภัยที่เกิดขึ้น แม้เป็นเรื่องนานๆ
เกิดครั้ง แต่อย่างไรก็ตามได้เกิดขึ้นแล้ว คนที่เสียชีวิตไปอาจอยู่นอกเหนือความคาดหมาย
ทางคริสต์มองว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า ไม่ใช่เพื่อผลดีหรือผลเสียของใคร
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว บังเอิญเขาอยู่ตรงนั้น
เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
ก็ทำให้ได้ทบทวนบางสิ่ง โดยเฉพาะการใช้ชีวิต
"เราอาจใช้ชีวิตอย่างหลงใหลการลงทุน
อย่างเพลิดเพลินในความสุข สิ่งที่ทำให้เราช็อกคือ ความตาย คือสิ่งที่เป็นสัจธรรม
เป็นความจริงของชีวิต เหมือนขโมยขึ้นบ้าน โดยไม่ได้ระวัง การเฝ้าระวังในการใช้ชีวิตไม่ใช่เพื่อสกัดกั้นความตาย
แต่ต้องเฝ้าระวังว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องพร้อมยอมรับได้ ต้องเตือนสติว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา"
บาทหลวงวิชัย
พูดถึงเหตุการณ์ความสูญเสียของผู้คนจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิ ว่า เหมือนการกระตุกให้คนได้กลับมาคิด
แม้ทุกคนต้องการอยู่ในความเศร้าเสียใจ ในช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ แต่คนที่จากไปเราควรปล่อยเขาไป
และมาทบทวนถึงตัวเอง โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ชีวิต
ในทางคริสต์บอกว่า
มันเป็นสัญญาณ ที่ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของชีวิต จะได้พิจารณาว่า
เราควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร เมื่อความตายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ก็คงไม่ต่างจากหลักการของพุทธศาสนา
บางสิ่งบางอย่างไม่อาจหวนคืนเหมือนเดิม สิ่งที่เราต้องกระทำต่อไปก็คือ
ทำใจ ไม่ฟุ้งซ่านปรุงแต่งความคิด ไม่เช่นนั้นจะยิ่งจมปลักอยู่ในความทุกข์
พลอยทำให้คนรอบข้างเป็นทุกข์ไปด้วย
พระอาจารย์สุรพจน์
สัทธาธิโก ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติบ้านวังเมือง ต.ท้ายเมือง
จ.พังงา บอกว่า ในช่วงเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
ทางศูนย์แห่งนี้ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนทุกรูปแบบทั้งในเรื่องการเยียวยาจิตใจ
และเป็นที่พักพิงทั้งกลุ่มอาสาสมัครและคนยากไร้
หลายคนอยากฆ่าตัวตาย
บางคนมีความทุกข์และเศร้ามาก พระอาจารย์ได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้นับครั้งไม่ถ้วน
จึงแนะวิธีการปฏิบัติทางธรรมะ ให้เข้าถึงจิตเพื่อเยียวยาความทุกข์
โดยหลักการเข้าถึงจิต สามารถปฏิบัติได้ทุกคน ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลามหรือศาสนาใดก็ได้
เพราะเรื่องจิตเป็นเรื่องธรรมชาติ นำมาใช้ได้กับทุกสถานการณ์
"หากคนไม่มีหลักเกาะก็จะลอยไปตามน้ำ
จิตก็เหมือนห่วงยาง เป็นหลักยึดให้"
ความทุกข์ใช่ว่าจะไม่มีหนทางเยียวยา
เพียงแต่คนทุกข์ยังวนเวียนอยู่กับความคิด ความเศร้า และรู้สึกว่า ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว
อยากจะตายไปจากโลกนี้
พระอาจารย์แนะว่า
พอมีความคิดเข้ามาในสมอง ก็ปล่อยให้มีไป แต่เมื่อรู้สึกตัวก็ให้ทำจิตให้รู้สึกว่า
พ่อจากไป แม่จากไปแล้ว ให้แผ่เมตตาไปเรื่อยๆ ให้มากที่สุด ขอให้พ่อที่จากไปเป็นสุข
ไม่ใช่คิดเรื่องนี้ร้อยครั้งย้ำอยู่ตรงนั้น
"พระอาจารย์ใหญ่
ธัมมทีโป ผู้บริหารศูนย์พัฒนาจิต เคยบอกเสมอว่า เวลาเรื่องเกิดจะไม่ทันนะให้รีบดูจิต
หันมาสร้างกุศล ไม่ใช่เอาแต่ท้อแท้ ให้ทำความดี เหตุการณ์นี้ทำให้คนกลับมามีธรรมะ
ต่อไปประเทศไทยจะมีรากฐานของจิตที่ดี"
อาจเป็นได้ว่า
มนุษย์เราไม่เคยเตรียมตัวกับสิ่งที่ไม่แน่นอนในชีวิต จึงได้แต่ย้ำคิด
ย้ำทำว่า เรื่องเหล่านี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับตัวเรา หรือครอบครัวเรา ทำไมธรรมชาติต้องลงโทษ
แม้จะเป็นมหันตภัยพรากชีวิตหลายหมื่นคน แต่เราไม่อาจฝืนธรรมชาติได้
จากเหตุการณ์ดังกล่าวพระอาจารย์เคยออกทีวี
เพื่อให้ทุกคนหันมาคลายทุกข์ด้วยการดูจิต สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจก็คือ
ท่านสามารถใช้เวลาอันน้อยนิดเน้นการปฏิบัติเข้าหาจิต โดยการแผ่ส่วนกุศล
และมักจะบอกว่า ให้ลองปฏิบัติได้ทุกคนไม่เลือกศาสนา
ไม่ว่าจะทำงานหรือตกอยู่ในอาการแบบไหน
จะยืนจะนั่ง พระอาจารย์บอกว่า อย่าอยู่กับความคิดให้กลับมาที่จิตระหว่างทรวงอก
แม้หลายพันหลายหมื่นคนไม่อาจทนต่อเหตุการณ์นี้ ก็ให้แผ่เมตตาให้คนที่จากไปเป็นสุข
"ถ้าจิตนิ่งเมื่อไร
อาการที่เกิดขึ้นก็จะหาย ให้คิดว่า คนที่จากไปได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว
พวกเขาทำหน้าที่ส่งข่าวว่าทุกคนรักกัน เห็นได้ว่า คนไทยส่งพลังความรักมาพร้อมๆ
กัน เคยไหมมีแรงใจมากมายขนาดนี้ ให้รู้สึกที่จิตว่า การจากไปของพวกเขามีค่า
ที่เราเศร้าเพราะว่า เรายึดติดกับความคิดในสมอง
นอกจากนี้
ยังฝากบอกว่า แม้ของบริจาคจะมีจำนวนมากมาย แต่อีกไม่กี่เดือนก็หมดไป
และยังไม่เพียงพอสำหรับผู้เดือดร้อน เพราะที่นี่เป็นอีกแห่งในการแจกจ่ายของบริจาคให้ผู้ประสบภัย
พร้อมกันนี้ พระอาจารย์ได้แต่งบทกลอนเตือนใจชาวไทยดังต่อไปนี้
"คลื่นยักษ์ทำลายทรัพย์สินผู้คนจนโศกเศร้า
คลื่นน้ำใจพวกเรายิ่งใหญ่เปี่ยมล้นจนเอาชนะได้
บารมีปกเกล้าปวงชาวไทยรวมน้ำใจคนทั้งแผ่นดิน
เหตุการณ์ทั้งสิ้นเพราะเมืองไทยจะกลับมายิ่งใหญ่ในธรรมอีกครั้ง"
|