ป่าตองกำหนดจุดหนีสึนามิ 13 จุด
    ใช้เวลาอพยพเสร็จไม่เกิน 30 นาที

 

              ศูนย์ข่าวภูเก็ต-จังหวัดภูเก็ตกำหนดสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในวันซ้อมใหญ่อพยพคนหนีภัยสึนามิ กำหนดจุดปลอดภัย 13 จุด พร้อมเส้นทางหนีภัย ขณะที่ "สมิทธ" ฝากบอกผู้ว่าฯ 6 จังหวัดเตือนอย่าได้ตื่นกลัวยังพอมีเวลาหนี

              วันนี้ (20 เม.ย.) จังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนและเตรียมฝึกซ้อมแผนอพยพผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อกำหนดแผนการซ้อมการอพยพหนีภัยสึนามิในวันที่ 29 เมษายนนี้ที่บริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนและประชาชนเข้าร่วมประมาณ 300 คนที่โรงแรมเมโทรโพล อำเภอเมืองภูเก็ต

              โดยการซ้อมแผนหนีภัยในวันที่ 29 เมษายนนี้จะมีการสร้างสถานการณ์สมมติการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเวลา 10.00 น. ใต้มหาสมุทรอินเดีย บริเวณหมู่เกาะนิโคลบาร์ (ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 400 กิโลเมตร) วัดแรงสั่นสะเทือนที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้ 9.0 ริกเตอร์ แรงสั่นสะเทื่อนสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย

              จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ประกาศแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวและอาจเกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดชายฝั่งบริเวณ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยโดยเร่งด่วน ภายใน 20 นาที (ช่วงที่คลื่นจะเดินทางมาถึงชายฝั่งประมาณ 30 นาที) หลังจากการแจ้งเตือนทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ

              ทันทีที่พื้นที่ได้รับแจ้งเตือนภัยผู้ว่าฯภูเก็ตในฐานะผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัดภูเก็ตได้ประกาศให้พื้นที่ชายฝั่งในอำเภอกะทู้ อำเภอถลาง อำเภอเมือง เป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการอพยพคนตามแผนที่วางไว้

              โดยพื้นที่ปลอดภัยที่กำหนดในการอพยพคนจากป่าตองนั้นมีทั้งหมด 13 จุด ประกอบด้วย ซอยพระบารมี 7 ที่ดินของนายสุมิตร สุนทรนนท์ วัดสุวรรณศีรีวงก์ ตลาดมณฑาทอง บ้านมณีศรี 2 โรงแรมรอยัลคราวน์ โรงแรมธนาป่าตอง ที่ทำการไฟฟ้าป่าตอง ที่ทำการชุมชนนาใน ตลาดนัดแม่อุบล ถนนห้าสิบปี-แยกไปฉลอง ซาฟารีผับ และโรงแรมบ้านยินดี พร้อมทั้งกำหนดเส้นทางในการอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวไว้ 7 โซน ตามความเหมาะสม รวมทั้งจะมีการสำรวจพื้นที่และจุดสำหรับติดตั้งป้ายที่เหมาะสม

              ขณะที่นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อยากให้มีการเพิ่มเติมการกำหนดให้ชัดเจนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาใครมีบทบบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาหลายหน่วยงานจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการอพยพคน และจะต้องอพยพคนให้เสร็จภายใน 20-30 นาที เพราะหากช้ากว่านั้นอาจจะเกิดการสูญเสียเกิดขึ้นอีก

              ด้านนายสมิทธ ธรรมสาโรช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอพยพผู้คนในฝั่งทะเลอันดามันมีเวลาดำเนินการประมาณ 20-30 นาที เพราะรอยเลื่อนของเปลือกโลกตั้งแต่หัวเกาะสุมาตราถึงอ่างเบงกอลของพม่าจะอยู่ห่างจากอันดามันประมาณ 400-600 กิโลเมตร คลื่นใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 20-30 นาที จึงยังมีเวลาในการอพยพคนออกจากพื้นที่

              หากมีระบบเตือนภัยที่ดีและให้ความรู้กับประชาชนจะไม่เกิดการสูญเสียอีกและอยากฝากทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัดให้บอกประชาชนว่าอย่าได้ตื่นกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีเวลาอพยพและหอเตือนภัยในอันดามันประมาณ 40 จุดจะเสร็จภายใน 6-12 เดือนนี้ หลังจากที่ป่าตองแล้วเสร็จ 3 จุด

 


ที่มา :
ผู้จัดการออนไลน์ 20 เมษายน 2548 16:41
น.

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี