เด็กหลังสึนามิต้องการอะไร
รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


          เหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ ด้านชายฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ก่อเกิดความเสียหายใหญ่หลวง ผู้คนมากมายสูญเสียชีวิต และอีกมากไร้ที่อยู่อาศัย ครอบครัวพลัดพราก ชุมชนล่มสลาย องค์การยูนิเซฟ ได้ประมาณการว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ เด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางมากที่สุด เนื่องจากสรีระทางร่างกาย และพัฒนาการที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับเด็กไม่มีอำนาจต่อรอง และยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ ส่งผลให้การตอบสนอง ต่อความต้องการที่จำเป็นของเด็ก อาจไม่ได้รับการเอาใจใส่

          ทำให้เด็กในภาวะภัยพิบัติต้องทนทุกข์ทรมาน หรือเผชิญกับผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อน ซึ่งสามารถป้องกันได้หากสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้เหมาะสม ผลกระทบเฉียบพลันที่เกิดกับเด็ก ได้แก่ การสูญเสียชีวิตหรือการสูญหายของบุคคลอันเป็นที่รักทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ครู เพื่อน และคนที่เด็กคุ้นเคย บ้าน และโรงเรียนเสียหาย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหวาดกลัว เศร้าโศก จะยังมีผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว

          ในการประเมินความต้องการทางด้านจิตสังคมสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทราบปัญหา และความต้องการของเด็ก รวมถึงการจัดลำดับความต้องการเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม

          มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการสำรวจความต้องการทางจิตสังคมของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามัน เป็นการสำรวจอย่างรีบด่วน โดยทำการสำรวจเชิงปริมาณจาก 433 ครัวเรือน ที่มีเด็กอยู่ 128 ครัวเรือนตั้งอยู่ในจังหวัดระนอง และ 305 ครัวเรือนในจังหวัดพังงา

          พร้อมกันนี้ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์กลุ่มชุมชน ผู้นำทางสาธารณสุข และชาวบ้าน โดยสำรวจในระหว่างวันที่ 9-15 ม.ค.2548 พร้อมกันนี้ทางคณะแพทยศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโปรแกรมการปฐมพยาบาลจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ถล่ม โดยเบื้องต้นได้ทำใน 6 โรงเรียนในระนอง และพังงา ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย

          รายงานผลศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยผลการประเมินสภาวะของจิตใจเด็ก จากการทำงานกับเด็กในโครงการ การปฐมพยาบาลจิตใจเข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความต้องการของเด็กที่ได้รับผลกระทบนั้น ปรากฏข้อมูลพื้นฐานก่อนเกิดคลื่นยักษ์

          - ประชากรในระนอง 70% มีอาชีพประมงและ 12.5% มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 5,322 บาท/เดือน ส่วนในพังงา 24% ประกอบอาชีพประมง และ 43% มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่รับจ้างอยู่บริเวณเขาหลัก รายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,399 บาท
          - ลักษณะของชุมชนส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย มีการช่วยเหลือกันและกันในเครือญาติ ปู่ ย่า ตา ยาย ช่วยเลี้ยงดูเด็กในระหว่างที่พ่อแม่ออกไปทำงาน
          - ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ในระนองนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งชาวพุทธและอิสลามในพื้นที่ได้รับผลกระทบมีความเชื่อทางศาสนาเหนียวแน่น
          - สภาพของเด็กก่อนเกิดคลื่นยักษ์พบว่า 1.6% เป็นเด็กที่มีความพิการที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือพิการทางร่างกาย อีก 7.5% เป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่หย่าร้าง
          - ระบบการคุ้มครองเด็ก หน่วยงานรัฐที่เป็นหลักคือ พัฒนาสังคม มีอัตรากำลังน้อยเกินกว่าจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดได้ และระบบการช่วยเหลือยังไม่สามารถใช้ได้มีประสิทธิภาพ แม้จะมีประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่ได้รับการแต่งตั้งในจังหวัดก็ตาม ทางด้านสภาพของเด็กหลังเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์
          - บุคคลที่สูญเสียชีวิตหรือสูญหายในครอบครัวที่พบมากที่สุดถึง 30% คือบุตร รองลงมา 17% เป็นภรรยา
          - ที่อยู่อาศัยพบว่า 1% ของครัวเรือนในพังงายังคงอาศัยอยู่ในบ้านเดิม และ 1% พักอยู่บ้านญาติ ส่วนที่เหลืออยู่ในศูนย์พักพิง ในระนอง 39% ยังคงอยู่ในบ้านเดิม มีเพียง 9% ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักพิง
          - ความต้องการของครอบครัว 76% ต้องการมีรายได้ และ 74% ต้องการที่พักอาศัย
          - ปฏิกิริยาของครอบครัว 75% มีอาการกลัว และ 53% เศร้าโศกจากการสูญเสีย
          -ปฏิกิริยาของเด็กโดยการสอบถามจากผู้ปกครองพบว่าในเด็กอายุ 0-5 ปี 8% มีปัญหาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องการกิน 7% มีปัญหาติดผู้เลี้ยงไม่ยอมห่าง ในเด็กวัย 5-12 ปี 6% มีปัญหาการกิน อีก 12% มีปัญหาการนอน 9% มีอาการหวาดกลัว ส่วนในเด็กโตอายุ 7-12 ปี 18% มีอาการกลัว 11% มีปัญหาการกิน และ 8% มีปัญหาการนอน

          จากการจัดโปรแกรมการปฐมพยาบาลจิตใจเด็กในโรงเรียน พบว่าเด็กบางส่วนยังมีอาการกลัวทะเล และคลื่นยักษ์ มีอาการตกใจเวลาได้ยินเสียงดัง เด็กส่วนใหญ่ไม่กล้านอนคนเดียวเนื่องจากฝันร้าย และกลัวผี ปฏิกิริยาเศร้าโศกต่อการสูญเสียมีความรุนแรงในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น ชุมชนน้ำเค็ม โรงเรียนชุมชนในแต่ละชั้นเรียนมีเด็กเสียชีวิตหรือสูญหายถึงห้องละ 2-3 คน และมีเด็กที่สูญเสียบิดา และหรือมารดาห้องละ 2-3 คน เด็กส่วนใหญ่สูญเสียบ้าน และต้องพักอยู่ในศูนย์พักพิง บรรยากาศในห้องเรียนจึงเงียบเหงาหดหู่

          จากการทำกิจกรรมกับเด็กพบว่า เด็กบางส่วนสามารถทำใจได้บ้าง เด็กบางส่วนเผชิญปัญหากับความสูญเสียโดยนำหลักศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวโดยเฉพาะศาสนาอิสลาม โรงเรียนมีบทบาทมากกับการฟื้นฟูจิตใจเด็กที่ประสบภัย พบว่าเด็กส่วนใหญ่รู้สึกเศร้าสร้อยเมื่ออยู่บ้าน แต่มีความสุขเมื่อมาโรงเรียน และปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดคือ เพื่อนคอยปลอบใจซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความทุกข์ใจของเด็กได้มาก

          ผลสำรวจหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ มีเด็กเพียง 59% เท่านั้นที่มีทั้งพ่อและแม่อาศัยอยู่ด้วยกัน 20% มีเพียงแม่ และ 8% มีเพียงพ่อ 9% อยู่กับปู่ย่าตายาย มีเพียง 1% ไม่มีญาติพี่น้องดูแลเลย

          จากลักษณะครอบครัวที่อยู่กันอย่างเครือญาติ ทำให้เด็กที่กำพร้าทั้งพ่อแม่ ยังมีญาติช่วยเลี้ยงดู แต่ครอบครัวที่มีเพียงพ่อแม่คนใดคนหนึ่ง หรือครอบครัวที่ต้องรับเด็กกำพร้าเข้ามาไว้ในการดูแล จำเป็นต้องมีการติดตามใกล้ชิด เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบตามมา อาจทำให้เด็กมีโอกาสถูกกระทำทารุณละเลยทอดทิ้งหรืออาจถูกใช้แสวงหาผลประโยชน์จากการใช้แรงงาน

          ประเด็นสำคัญที่พบจากการจัดกิจกรรมกับเด็กนักเรียนในโรงเรียน นอกจากปัญหาสภาพจิตใจแล้ว ยังพบปัญหาหลายเรื่องที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไข

          - ผู้เลี้ยงดูเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านจิตใจได้ เด็กจึงรู้สึกเศร้าสร้อย หดหู่ เมื่ออยู่บ้านแต่รู้สึกคลายความเศร้าโศกเมื่ออยู่ที่โรงเรียนโดยเฉพาะเมื่อได้พูดคุยกับเพื่อน
          - ปัญหาครอบครัวที่มีอยู่ก่อนหน้าภัยพิบัติ เช่น ครอบครัวแตกแยก ปัญหาใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวเหล่านี้จะมีผลกระทบจากคลื่นยักษ์รุนแรงกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหาครอบครัว
         - ความไม่พร้อมของโรงเรียนในการรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติ แม้โรงเรียนเปิดแล้ว แต่กิจกรรมในห้องเรียนยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากครูต้องไปต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียนโรงเรียน และเด็กถูกเรียกตัวออกจากห้องมารับเงินบริจาคเป็นระยะ นอกจากนั้นครูส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการติดตามดูแลผลกระทบด้านจิตใจ และวิธีการให้การช่วยเหลือ ครูเองก็อยู่ในสภาพเหนื่อยล้า และซึมเศร้าจากการสูญเสียเช่นกัน ในขณะเดียวกันครูถูกคาดหวังไว้ให้ทำการช่วยเหลือเด็กในขณะที่ตัวครูเองได้รับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือน้อยมาก
          - ปัญหาสิทธิเด็ก และการคุ้มครองเด็ก ไม่ได้รับการปกป้องสิทธิจากการถูกสื่อนำไปสัมภาษณ์ โดยเด็กไม่มีโอกาสปฏิเสธ และการสัมภาษณ์บ่อยครั้งไม่ได้คำนึงถึงจิตใจ และความรู้สึกของเด็ก ในระยะวิกฤติช่วงสัปดาห์แรกๆ พบว่าสื่อสามารถเข้าถึงเด็กได้ง่ายดาย โดยไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองของโรงเรียน ขณะเดียวกันนักวิชาการต่างลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำวิจัยโดยไม่มีการขออนุญาตจากเด็ก และผู้ปกครอง
          - ปัญหาประสานงานในพื้นที่ พบว่ามีองค์กร และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างแห่ลงจัดกิจกรรมในโรงเรียนบางอย่างไม่มีความเหมาะสม และไม่ได้เป็นการเยียวยาจิตใจ การจัดกิจกรรมยังทำให้โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการเรียน การสอนตามปกติ บางโรงเรียนมีผู้มาทำกิจกรรมซ้ำซ้อน ในขณะที่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลการคมนาคมไม่สะดวกไม่มีผู้มาเยี่ยมเยียนเลย

          ข้อเสนอแนะ เด็กควรได้รับการดูแลสุขภาพทั้งกาย จิตใจ และสังคม มีการติดตามภาวะโภชนาการ และสุขภาพทั่วไปใกล้ชิด

          - ต้องมีการติดตามเด็กเพื่อดูผลกระทบทางจิตใจ ควรให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดกรองโดยผู้ปกครอง ครู ชุมชน ให้การดูแล และส่งปรึกษาต่อในรายที่มีอาการรุนแรง
          - กระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดเครือข่ายระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจที่ต้องการดูแลทางด้านสุขภาพจิต โดยต้องเป็นระบบที่สามารถครอบคลุมทั่วถึง และง่ายต่อการส่งปรึกษาโดยผู้ดูแลเด็กและครู รวมทั้งมีระบบติดตามดูแล
          - ควรจัดกิจกรรมในโรงเรียน และในชุมชนฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก
          - เปิดโอกาสให้เยาวชนที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน
          
- ฟื้นฟูจิตใจของผู้ใหญ่ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน เนื่องจากสุขภาพจิตของผู้ดูแลมีผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก รวมทั้งผู้ดูแลต้องทำหน้าที่ให้การประคับประคองจิตใจเด็ก
          
- มีระบบขึ้นทะเบียนและติดตาม เพื่อคุ้มครองเด็กที่ขาดพ่อแม่ ต้องอยู่ในความดูแลของคนนอกครอบครัว ป้องกันมิให้เด็กถูกละเลยทอดทิ้ง ถูกกระทำทารุณหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยใช้การแรงงาน
          
- ให้การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจแก่ ครอบครัวที่ขาดพ่อแม่หรือครอบครัวที่ต้องรับเด็กกำพร้าเข้ามาในการดูแล
          
- โรงเรียนควรเตรียมความพร้อมในเรื่องภัยพิบัติ รวมทั้งมีการอบรมครูเกี่ยวกับการสังเกตอาการทางจิตใจของเด็กที่ประสบภัย ทบทวนหลักสูตรให้มีการบูรณาการที่ส่งเสริมการฟื้นตัวของเด็ก
          
- พัฒนาให้มีการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ให้เด็กได้รับบริการหรือการดูแลทั่วถึง ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของโครงการ
          
- ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นสภาพวิถีชีวิตของชุมชน มีส่วนร่วมฟื้นฟู และปกป้องเด็ก
          
-การดูแลช่วยเหลือเด็กผู้ประสบภัยในระยะวิกฤติ ช่วงแรกเป็นเรื่องของการดูแลรักษาการบาดเจ็บทางร่างกาย การจัดหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น น้ำ อาหาร และที่พักพิง รวมทั้งการเยียวยาจิตใจจากความหวาดกลัว ความเศร้าโศกจากการสูญเสีย

          ในระยะยาวจะเป็นเรื่องของการเยียวยาทางจิตสังคม การฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก การป้องกันเด็กจากการถูกทารุณละเลยทอดทิ้งหรือใช้แรงงานไทยได้ผ่านภาวะวิกฤติจากการเผชิญภัยพิบัติคลื่นยักษ์ ดำเนินการช่วยเหลือได้เกิดขึ้นมากมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดบทเรียนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และปรับตัว เป็นการใช้วิกฤติเป็นโอกาสสร้างระบบและเครือข่ายในการบริหารจัดการ และแนวทางดูแลเด็กในภาวะภัยพิบัติต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
        ปีที่ 18 ฉบับที่ 6034 วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 หน้า 15

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี