สุดท้ายแล้ว คนที่ตายไปที่พบศพแล้วกับคนที่สูญหายไปกับมหันตภัยสึนามิในประเทศต่างๆ
รวมกันร่วมสามแสนคน นั่นอาจนับเป็นผลของภัยธรรมชาติที่ให้ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดกรณีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ที่อะเจะห์ อินโดนีเซีย นั้นเขานับคนที่สูญหายคือผู้ตายไปแล้ว
แต่ที่บ้านเรา - หากใช้วิธีการเดียวกับที่อินโดนีเซีย ความสูญเสียของชีวิตมนุษย์ก็ตกเป็นจำนวนหมื่น
- เท่าที่ผู้เขียนรู้และจนถึงวันนี้ - เราไม่นับแบบนั้น เราไม่นับผู้ที่หายสาบสูญที่ไม่ได้กลับมาให้ใครได้เห็นหน้าเห็นตาอีก
แม้นับเวลากันเป็นเดือนๆ ที่โดยสามัญสำนึก ไม่ว่ามองจากภายนอกหรือภายในก็ต้องแปลได้ว่า
พวกเขาได้จากโลกไปแล้ว แปลกที่เราต้องรอให้ศาลสั่งว่าการหายสาบสูญด้วยภัยแบบนี้เป็นเวลานานคือตาย
ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ต้องรอให้ศาลสั่งเช่นนั้น (มุมมองจากด้านของสังคมเป็นเพียงมุมมองหนึ่งในสี่มุมมองซึ่งให้ความจริงทางโลก
ที่เกิดจากห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันของความเป็นมนุษย์ที่มีปัจเจกกับโดยรวมและภายนอกกับภายใน
มุมมองด้านสังคมเป็นเรื่องของโดยรวมที่มองจากมุมมองภายนอก the four
quadrants ของ Ken Wilber) เพราะคนที่หายไปแล้วเกิดกลับมาใหม่นั้นต้องนับกันเป็นตัวเลขหลังศูนย์หลังจุดทศนิยม
ที่ในทางสถิติเป็นเรื่องไร้ความหมาย และในทางสังคมแก้ไขทีหลังก็ได้
- เพราะมีจำนวนน้อยกว่าและมีเวลาที่ไม่จำกัด - ทำให้เรื่องที่เป็นสามัญสำนึกธรรมดาๆ
กลายเป็นเหมือนกับว่ามนุษย์ "สมัยใหม่" ไม่ดำรงอยู่จริงจนกว่าศาล
- โดยตัวอักษร - ระบุเช่นนั้น เหมือนกับว่ามนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ไร้จิตปัญญาหรือโง่เง่าเช่นซอมบี้ไปทั้งหมด
และนั่นคือหลุมแห่งอวิชชาหลุมหนึ่งในกรณีนี้ที่ปัญญาของเผ่าพันธุ์สร้างมันขึ้นมาให้เป็นกฎหรือระเบียบสังคมที่กำหนดการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของเรา
และบอกว่าเราต้องเชื่อต้องปฏิบัติเช่นนั้น - เหมือนกับว่าเราไร้จิตไร้ปัญญาหรือเป็นซอมบี้จริงๆ
นั่นคือหลุมหรือกับดักที่ทำให้เราเชื่อว่ารูปธรรมภายนอกเท่านั้นคือความจริงของการดำรงอยู่
คนที่สูญเสียวิถีและแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวส่วนมากที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติในครั้งนี้
ที่ภูเก็ตและพังงารวมทั้งที่ศรีลังกาเกาะลังกาวีและที่มัลดีฟส์ หลายๆ
คนที่ให้ข่าวตามสื่อต่างๆ ล้วนพากันร่ำร้องขอให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
"กลับไปเหมือนเดิม" หลายคนเร่งรีบปรับปรุงสถานที่และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของตน
เมื่อเสร็จแล้วก็ร่ำร้องขอให้รัฐบาลเร่งทำให้ทุกอย่าง "กลับไปเหมือนเดิม"
ซึ่งรัฐบาลเองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดของประเทศไหน ล้วนมีความเห็นที่สนับสนุนไปในทางเดียวกัน
เพราะหนึ่ง เงิน - เงินที่ได้บดบังประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่กฎหมายและการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกระบวนการของมันนั้นไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงหรือมีช่องโหว่ราวกับว่าใครก็ไม่รู้ที่มีอำนาจกว่าจงใจให้โหว่
สอง พฤติกรรมเก่าเดิมของจิตที่ยังวิวัฒนาการไม่ถึงไหนของคนส่วนใหญ่
ที่ไม่ได้นำบทเรียนจากภัยสึนามิสะท้อนคิดอย่างจริงจัง โดยคิดว่า
สึนามิก็คือภัยธรรมชาติธรรมดาๆ ที่เคยมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มันคงเคยมีเช่นนี้มาแล้วในอดีตในภูมิภาคนี้เมื่อเราคนไทยยังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
แทนที่จะเฉลียวคิดว่า ทำไปคลื่นยักษ์แบบนี้ถึงไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย?
หรือแทนที่จะเฉลียวใจคิดว่า ทำไมฝรั่งที่มาจากประเทศต่างๆ - เจ้าตำรับผู้รุกรานธรรมชาติเพื่อให้ตนเองได้เสพสุขที่แท้จริง
- ถึงต้องมาตายพร้อมๆ กับคนไทยเราในจำนวนที่มากพอๆ กันหรือมากกว่าในวันนั้น?
ดังนั้น การขอให้ทุกสิ่งมันกลับมาเหมือนเดิม
ย่ำยีธรรมชาติโดยไร้จิตสำนึกต่อไปตามกฎหมาย - ที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหมด
- เหมือนเดิม มันก็เหมือนเป็นการเชื้อเชิญให้ภัยธรรมชาติกลับมาอีก
จึงเป็นเหมือนกับดักหลุมพรางที่ล่อให้เราเข้าไปติด การขอให้ทุกสิ่งกลับไปเหมือนเดิมโดยไม่นำบทเรียนมาสะท้อนคิดที่ภายในให้แจ่มแจ้ง
เช่นคิดว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรกับธรรมชาติหรือไม่ที่ทำให้ธรรมชาติสนองตอบกลับมาเช่นนั้น?
หรือสะท้อนคิดว่าเงินที่เราคิดว่าสำคัญที่สุด หรือสำหรับบางตนหรือบางทีอาจสำคัญยิ่งกว่าชีวิตนั้น
เราได้ความคิดเช่นนี้มาจากไหน? ทำไมเราถึงมองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วเงินก็คือทรัพยากรธรรมชาติที่แปรรูปไป
ที่ส่วนหนึ่งอาจอยู่กับเราได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องคงอยู่บนโลกนี้วันยังค่ำ
ส่วนอีกส่วนหนึ่งมันแปรเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ไม่รู้และทำนายไม่ได้
แบบเดียวกับคำพูดที่กล่าวว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว หรือผีเสื้อที่กระพือปีกที่กรุงเทพฯ
ในวันนี้ อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่สุมาตราในเดือนหน้า ในความซับซ้อนอย่างยิ่งของธรรมชาตินั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะล้อเล่นหรือคาดการณ์อะไรได้
ดังนั้นที่ยกมากล่าวเป็นตัวอย่างนั้น มันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้เช่นนั้นจริงๆ
มันมีวิถีทางของการดำรงอยู่ที่หลากหลายที่สอดคล้องกับกระบวนการที่เป็นไปเองของธรรมชาติ
นั่นคือวิถีใดก็ได้ที่ให้ความพอเพียงพอดีอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น
ประหยัดอย่างมีสติและเรียบง่ายในทุกๆ ทาง วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่บองเราว่า
ธรรมชาตินั้นสุดแสนจะซับซ้อนและแปรเปลี่ยนตลอดเวลาอย่างที่เรากำหนดและควบคุมไม่ได้
จริงๆ แล้วซับซ้อนเกินที่วิทยาศาสตร์หรือมนุษยชาติจะสามารถล่วงรู้ได้
(David Bohm : Hidden Variables and The Implicate Order, 1985)
ด้วยความซับซ้อนที่เป็นไปเองเช่นนั้น เราในสมัยบุพกาลจึงเชื่อว่าธรรมชาติมีความศักดิ์สิทธิ์
ที่คงจะศักดิ์สิทธิ์จริง เพราะว่าธรรมชาตินั้นรู้ตนเองและซ่อมแซมรักษาตัวเองได้
นั่น - แตกต่างกันอย่างเป็นตรงกันข้ามกับความคิดและการกระทำของเราในยุค
"สมัยใหม่" ของปัจจุบัน ในที่นี้และหลังสึนามิเราจึงไม่สมควรทำเช่นที่เคยทำเหมือนเดิมอีก
เราไม่ควรย่ำยีธรรมชาติอย่างเร่งรัดและไร้ความยั้งคิดอีก อย่าลืมว่าธรรมชาตินั้นไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงอย่างเชื่อมโยงกันของทั้งหมด
และทั้งหมดนั้นดำเนินไปอย่างพอเพียงพอดีและยั่งยืน และที่กล่าวมานั้น
ต้องรวมเราหรือมนุษย์เอาไว้ในนั้นด้วย เพราะมนุษย์เราก็เป็นธรรมชาติ
เป็นส่วนของทั้งหมดที่ว่านั้น
จริงอยู่ที่นักวิทยาศาสตร์ทางจิตสาขาจิตวิทยาผ่านพ้นตัวตน
(transpersonal psychology) บางคน เช่น ปีเตอร์ รัสเซล ที่เอามาอ้างแล้วที่นี่หลายครั้งจะบอกว่าแม้นมนุษย์เราจะหยุดย่ำยีธรรมชาติในวันนี้
มันก็สายไปมากแล้ว ที่ไม่ว่าอย่างไรผลพวงที่เราได้กระทำกับธรรมชาติอย่างหนักหน่วงและยาวนานย่อมจะค่อยๆ
ทะยานกลับมาเป็นภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ หลากหลายที่ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างช้าๆ
มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ดังที่ฟริตจอฟ แคปร้า พูดไว้ และต่อมาก็ได้ทวีความร้ายกาจรุนแรงในทศวรรษต่อมาหลังจากนั้น
ดังที่เลสเตอร์ บราวน์ อดีตประธานสถาบันจับตาโลกเขียนไว้ และทศวรรษที่
1990 ก็กลายเป็นทศวรรษที่มีอากาศร้อนที่สุดติดต่อกันแทบทุกปีเป็นประวัติการณ์ของมนุษยชาติที่ไอพีซีซี
(IPCC.com) แห่งองค์การสหประชาชาติได้ระบุไว้ และต่อไปนี้ทศวรรษที่
2000 นี้ ภัยพิบัติที่เรามักโทษว่าเป็นภัยธรรมชาติก็จะสุดหนักหน่วงรุนแรงแบบที่ไม่ว่าอย่างไร
ผู้อ่านก็คงคาดคิดไม่ถึง แม้ว่าจะมีการกล่าวไว้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ในอินเทอร์เน็ต
ที่ผู้อ่านสามารถเปิดเข้าไปอ่านเมื่อไรก็ได้ เช่น เรื่องไข้หวัดนกที่จะแพร่ระบาดจากคนสู่คนที่เราป้องกันไม่ให้มันเกิดไม่ได้
หรือน้ำที่จะท่วมประเทศที่เป็นเกาะแก่ง (ที่ขณะนี้บางเกาะเล็กเกาะน้อยเช่นที่หมู่เกาะมาร์แชลก็ได้จมหายไปใต้ทะเลเรียบร้อยแล้ว)
ในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย โดยเฉพาะประเทศบังกลาเทศที่อาจจมน้ำไปแทบทั้งหมด
หรือทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือด้านตะวัน ออกจะกลายเป็นดินแช่แข็งแบบไอสกรีม
ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ว่าจะเกิดในเร็วมากๆ นี้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าประชากรในประเทศต่างๆ
ที่อยู่ในบริเวณภูมิภาคที่กล่าวมานั้น - หากอพยพกันตั้งแต่วันนี้ที่ยังพอมีเวลา
- จะพากันโยกย้ายไปอยู่ที่ไหนและอย่างไร?
ที่กล่าวมานั้น
เป็นข้อมูลจากภายนอกหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านนี้ทุกคนล้วนรับรู้กันเช่นนั้น
ส่วนข้อมูลที่เป็นผลของการรับรู้จากภายในนั้น จริงๆ แล้วมีมาก่อนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
และอาจดูแปลกที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับไปพ้องกับการทำนายเชิงศาสนา
ไม่ว่าจะเป็นนอสตราดามุสหรือพระนักบุญหลากหลาย ที่การตีความในเรื่องของเวลามีได้หลายแง่หลายมุมทำให้เหมือนกับว่าแตกต่างกันจนไม่น่าเชื่อถือ
ที่น่าสนใจคือปฏิทินของชาวมายาที่มีมาตั้งแต่กว่าหนึ่งพันปีก่อน
ที่สร้างปฏิทินให้จบลงแบบสิ้นสุดที่ปี 2012 (ที่คนในกลุ่มนิวเอจ
และเอ็นจีโอสายธรรมชาติแทบทุกคนในประเทศที่พัฒนามากๆ ล้วนรู้ดีในสโลแกนที่มีว่า
the crash of 2012!) และหลังจากนั้น นับแต่ปี 2013 เป็นต้นไป (ไม่ได้ระบุว่าตอนนั้นมนุษย์โลกจะยังคงหลงเหลืออยู่เท่าไร)
คือยุคสมัยแห่งมิติที่ห้า - ยุคแห่งจิตวิญญาณ - เป็นชื่อหนังสือของผู้เขียนที่พิมพ์ขายเมื่อสี่ปีก่อน
ตอนนี้คงหมดไปแล้ว ที่ระบุชื่อจึงไม่ใช่โฆษณาขายหนังสือ
ที่กล่าวมานั้น
น่ากลัวสำหรับคนที่คิดยึดติดกับสังคมกายภาพที่มีแต่วัตถุรูปธรรมเท่านั้นคือควมจริงทั้งหมดนั้นถูกต้องแล้ว
นั้นคือ อารยธรรม "สมัยใหม่" - ของสังคมที่ผ่านมาและส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพาราไดม์หลักของขาวโลกในเวลาปัจจุบัน
- นั้น ถูกต้องแล้ว ระบบการศึกษาที่ให้การเรียนรู้รวมทั้งระบบสังคมที่สนับสนุนคุณภาพของการดำรงอยู่ของเรานั้นถูกต้องแล้ว
ดังนั้นหลัง สึนามิ "ภัยธรรมชาติธรรมดาๆ" กับการกลับไปหาความเก่าเดิม
"ขอให้เหมือเดิม" ก็ถูกต้องแล้ว เรายังคิดเช่นที่เคยคิดว่ามนุษย์เราจะต้องเอาชนะธรรมชาติได้
หรืออย่างน้อยก็หาหนทางป้องกันภัยธรรมชาติได้ ทำไมเราไม่คิดเช่นที่อลัน
อัตกิสสัน คิด (Alan Atkisson ประธานของบริษัทอัตกิสสันบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก)
อัตกิสสันคิดว่า ขณะนี้เรามีวิกฤติรอบด้านที่ล้วนเกิดจากตัวเราเอง
เพราะการพัฒนาอย่างผิดๆ ด้วยเส้นทางสองเส้นทางที่ไปทางเดียวกัน คือหนึ่ง
เราสร้างเทคโนโลยีที่แทบทั้งหมดทำลายธรรมชาติแบบที่เราไม่เคยเอามาคิด
จนก่อภัยธรรมชาตินานัปการที่หวนกลับมาทำร้ายเรา สอง แถมเรายังคิดเช่นนั้นต่อไปอีก
- รีบและเร่งรัดกว่าเก่า - โดยคิดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวหน้ากว่าและเก่งกาจกว่าเก่าเพื่อแก้ไขวิกฤติเหล่านั้น
นั่น - เรากำลังทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ - เราเอาจิตปัญญาเก่าเดิมวิธีคิดแบบเดิมๆ
มาแก้ไขวิกฤติที่เกิดจากวิธีคือแบบเดียวกันนั้น คงไม่ได้ - ที่เราต้องทำมีอย่างเดียว
- คือ เราต้องเปลี่ยนตัวเอง (complete transformation)
ดเวน เอลยิน
(Duane Elgin) หรือคริสโตเฟอร์ บาช (Christopher Bache) ก็คิดเหมือนกันเช่นนั้น
เราไม่มีทางอื่นเหลืออีกเลย สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันวิกฤติได้
และนำมนุษยชาติรอดพ้นได้คือการเอื้อให้มีวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ
การเรียนรู้ที่ได้จากการมองสะท้อนกลับสู่ภายในอย่างลึกซึ้ง (Reflection
and introspection) ที่ผู้เขียนเองคิดว่า เราอาจสร้างองค์กรทางจิตเพื่อวัตถุประสงค์เช่นนั้น
ร่วมไปกับการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับกระบวนการ "ธรรมชาติ"
อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาช่วยประชาชนในวงกว้างได้ อันจะนำมาซึ่ง "ชุมชนแห่งสมาธิกับการสร้างสรรค์"
(creative and contemplative community) ชื่อผู้ที่เขียนใช้เพื่อความเป็นสากลโดยไม่ติดกับศาสนาโดยรูปแบบที่เราใช้ๆ
กันในเชิงวัฒนธรรมแยกส่วน (secular religion) นั่นคือ องค์กรที่ผู้เขียนร่วมกับเราหลายๆ
คนกำลังวางแผนคิดจะทำขึ้นมาอยู่ในขณะนี้ นั่นคือรูปแบบที่จะนำไปสู่
"อารยธรรมแห่งความยั่งยืน" (sustainable civilization)
ที่ใช้กระบวนทัศน์เก่าหรือรูปแบบของการพัฒนา (เทคโนโลยี) ให้มันยั่งยืนอย่างไรก็ไม่ได้
แต่ว่าใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้นที่เอื้อต่อวิวัฒนาการ
(ธรรมชาติ) ได้ มันจึงไม่ใช่เรื่องของปัญญาที่เป็นความฉลาดหลักแหลมหรือปัญญาแบบที่บ้านเราคลั่งไคล้กัน
เด็กอัจฉริยะสอบได้ที่หนึ่งตลอดกาลที่เก็บเข้าค่ายเพื่อส่งไปสอบโอลิมปิกหรือไปเรียนทางเทคโนโลยีที่เมืองนอกและกลับมาเป็นยอดผู้เชี่ยวชาญ
น่าสงสารที่หลายคนพกความสำเร็จทางปัญญา แต่มาสอบตกเรื่องโลกทัศน์สังคมทัศน์จนกลายเป็นโรคจิตโรคประสาทหรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย
ดังที่เรารู้ๆ กันเพราะตกเป็นเหยื่อของผุ้ใหญ่ที่ "ไม่รู้"
แต่คิดว่ารู้หมดเพราะมองแต่ข้างนอก ผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมสะท้อนประสบการณ์สู่ภายใน
ผู้ใหญ่ที่ติดอยู่กับกับดักหรือที่อยู่ในหลุมมืดเก่าๆ เดิมๆ.

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
วันอาทิตย์ ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค
๑๖
ไป
Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป
Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี
|