ทุกข์พระ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
รัฐไม่ช่วย
พระต้องช่วยพระกันเอง

***********************

 

หกโมงเช้า...ช่วงเวลา พระออกบิณฑบาต แม้พระจะถูกสอนให้สำรวมกิริยา แต่ในยานี้ พระก็ ต้องหันซ้ายหันขวา มีสิ่งแปลกปลอมหรือไม่ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ ที่วิ่งผ่าน...ถ้าได้ยินเสียง ก็ต้องเหลียวหลัง

เหล่านี้ คือทุกข์ของพระ ออกจากปาก พระลูกวัดนพวงศาวาส อ.เมือง ปัตตานี

และเมื่อเมืองปัตตานี...มีรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคนย่านนั้นเรียกว่ารถเครื่อง เยอะ เพื่อความปลอดภัย พระท่านเดินเลาะไปตามไหล่ถนน

ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดใต้...เหตุฆ่ารายวัน เกี่ยวโยงไปถึงพระสงฆ์ เวลาพระออกบิณฑบาต...แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยดูแลให้ความปลอดภัย

แต่ถ้าวันไหนทหารติดภารกิจ...ไม่ว่าง...ยังไงพระก็ต้องออกบิณฑบาต พระจะไม่ออกบิณฑบาตในวันที่มีฝนตกหนัก

อันตรายที่อาจเกิดกับพระ...ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้ พระที่นี่มีอันตรายมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารแล้ว

“ตั้งแต่ช่วงนั้น พระก็ถูกทำร้ายมาเรื่อย...”

ผ่านไประยะหนึ่ง เหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย เหตุร้ายที่เกิดกับพระหายไปพักใหญ่ แล้วเหตุร้ายก็มาเริ่มขึ้นอีก...ช่วงที่มีการวางระเบิดที่นั่นที่นี่ ก็มีตำรวจก็เข้ามาดูแลพระอีก

โชคดีวัดนี้...อยู่ในเมือง บิณฑบาตได้ในระยะใกล้ๆ ตอนแรกได้ยินข่าวขู่ห้าม ไม่ให้พระบิณฑบาต...พระก็หยุดบิณฑบาต หรือไปก็แค่ใกล้ๆ

คำว่าใกล้ ที่พระว่า ระยะทางเกือบ 4 กิโลฯ แยกไป สายลูสะมิแล ไปหลังเทศบาล ไปสายมะกรูด โดยปกติก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินตามหลัง

“พระมีทหารตำรวจเดินตามก็อุ่นใจขึ้นมาหน่อย แต่สถานการณ์ นี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุร้ายเจาะจงทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือทำร้ายพระ อาตมาก็ไม่แน่ใจ...”

พระวัดในเมืองมีทหารคุ้มกัน พระวัดนพวงศาวาส คิดถึงพระวัดนอกเมือง...คงอยู่กันลำบาก เท่าที่ฟังมา ไม่กล้าออกบิณฑบาต

หมู่บ้านชาวพุทธ เคยทำบุญใส่บาตร ก็ไม่ทิ้งพระ แต่ละหมู่บ้าน ญาติโยมจะแบ่งเวรกันทำกับข้าวมาถวาย หมุนเวียนกันคราวละ 3-4 บ้าน...บ้านนี้ถวายเช้า บ้านนี้ถวายเพล

ส่วนการทำบุญเป็นหมู่คณะ เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐินสามัคคี ที่เรียกว่าคณะทำบุญ ถามพระว่ามีมาบ้างหรือไม่

“ถึงมี...ก็น้อย...” พระตอบเสียงแผ่ว

เข้าพรรษาที่ผ่านมา ญาติโยมจะมาวัดสวดมนต์ไหว้พระช่วงทุ่ม เดี๋ยวนี้ สี่โมงเย็นก็รีบมา มาแล้วก็รีบกลับ นี่ว่าเฉพาะชาวบ้านบ้านใกล้ ใครบ้านไกลก็ไม่มาเลย

เมื่อญาติโยมเข้าวัดทำบุญน้อย มีผลให้พระตามวัดน้อยลงไปด้วย ช่วงเทศกาลใหญ่ ประจำปีที่ปัตตานี เคยมีพระร่วมงาน 50-60 วัด แต่ปีนี้เหลือแค่ 22 วัด

“ทุกปีเบียดกันแน่น ปีนี้เหลือไม่เกินครึ่ง...ปีนี้ภัยธรรมชาติไม่มี แต่กลัวภัยคนมากกว่า”

วันนี้...วัดนพวงศาวาสมีพระจำพรรษา 12 รูป รวมเณร...ทหารบวช งาน 72 พรรษาอีก 2 รูป พระลูกวัดบอกว่า ปกติช่วงเข้าพรรษา พระจะบวชเยอะ 20-22 รูป น้อยที่สุด 18 รูป

ปีนี้...มีคนตั้งใจจะบวชกันเยอะ แต่มีพระบวชใหม่แค่ 2 รูป เพราะเหตุการณ์ไม่ปกติ พ่อแม่กลัวอันตราย...ไม่กล้าให้ลูกบวช

วัดอื่นๆคงมีปัญหาเดียวกัน พระจำพรรษาน้อย พระบวชใหม่ก็น้อย...ยิ่งวัดนอกเมืองพระยิ่งไม่มี คณะสงฆ์ต้องแก้ปัญหาด้วยการส่งพระธรรมทูตจากส่วนกลางมาจำพรรษาให้ครบวัดละ 5 รูป หลังออกพรรษาไปแล้ว...วัดจะได้รับทอดกฐินได้

พระวัดนพวงศาวาสบอกอีกว่า สถานการณ์ในเมืองคงไม่อันตรายเท่าไหร่...เพราะคนอยู่เยอะ ข่าวที่สื่อออกมา คนนอกพื้นที่อาจมองว่าสถานการณ์ดูน่ากลัว แต่โดยรวมอาจไม่รุนแรงขนาดนั้น

เหตุการณ์ร้ายๆเกิดขึ้นเฉพาะจุด...นอกเมือง ในเมืองไม่ค่อยมีปัญหา แต่กระนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนทุกพื้นที่...ระวังตัวมากขึ้น

คนในพื้นที่จริงๆ ยังอยู่ปกติ แต่ต้องระวังตัว...ไม่ไปไหนตอนกลางคืน

“ปกติ...เมืองปัตตานี กลางคืนมีคนเยอะ วัยรุ่นขี่รถเครื่องเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้ 2 ทุ่มเงียบ...มองในแง่ดีมันก็ดีที่ถนนโล่ง แต่เศรษฐกิจค้าขายน้ำชา กาแฟ มันกระทบไปหมด”

ญาติโยมที่ค้าขายเล่าทุกข์ร้อนให้ฟัง...ตั้งแต่ต้นปีขายของได้น้อย ร้านเล็กๆ...ปกติขายได้วันละ 2,000 ตอนนี้เหลือ 1,000-800 บาท บางวันแย่ ได้แค่...300-400 บาท

ญาติโยมมีทุกข์ร้อนขนาดนี้ คนเข้าวัดทำบุญก็น้อยลง?

“คนที่เข้าวัดทำบุญก็เข้าเป็นปกติ ส่วนคนที่ไม่เข้า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไร...ก็ยังไม่เข้า”

ทุกข์ร้อนของพระและวัดในสามจังหวัดใต้ เท่าที่พูดคุยกับพระด้วยกัน ทั้งในเมืองและนอกเมือง พอสรุปได้ว่า...รัฐบาลไม่ได้สอดส่องดูแล ไม่ว่าในชั้นการเข้ามาถามสุขทุกข์... หรือจะช่วยด้วยการสนับสนุนปัจจัย

ปัจจัยที่มีเข้ามา...มีแต่เงินส่วนกลางจากคณะสงฆ์ เก็บนิตยภัต พระที่มีสมณศักดิ์ทั่วประเทศ หนึ่งถึงสามพันบาท ไว้ปีละ 1 เดือน แบ่งจ่าย 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ถวายพระในสามจังหวัดใต้ เป็นรายเดือน รูปละ 100 บาท

แต่ช่วงหลัง เพิ่มให้เป็นรายปี เป็นรูปละ 4,500 บาท

“เงินนิตยภัต ไม่เกี่ยวกับเงินรัฐบาล...เป็นเงินพระช่วยพระ...รัฐบาลไม่ดูแลพระ พระก็ต้องดูแลพระ”

พระวัดนพวงศาวาสรูปนี้ บวชมานาน จำได้ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย คนไทยพุทธ...ไทยอิสลาม อาศัยร่วมกัน คละกันไป ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย

“ถ้าไม่มีบุคคล เป็นตัวการตั้งใจให้เป็นเช่นนี้ คนในพื้นที่ก็คงอยู่กันเป็นปกติ... อยู่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกัน ต่างกันเพียงนับถือคนละศาสนา”

แม้จะอยู่แต่ในวัด แต่พระท่านก็มีญาติโยมบอกข่าว ปีนี้แม้มีเหตุการณ์ร้ายๆเกิดขึ้นมากมาย...เพื่อนบ้านที่อยู่ด้วยกัน ก็ไม่มีปัญหาอะไรกัน เชื่อว่า...คนก่อเหตุในแต่ละพื้นที่คงมีไม่กี่คน

“พวกนี้เป็นคนส่วนน้อย คอยชักใบให้เรือเสีย”

“คนที่อยู่ก็อยู่กันปกติ คนที่ก่อปัญหาก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนน้อยที่เป็นส่วนหัวคอยดึงดูดสมัครพรรคพวก ชักชวน...วัยรุ่นตามหมู่บ้าน ให้เป็นอย่างนั้น แต่กับคนรุ่นเก่า...คนเฒ่าคนแก่ก็ยังอยู่กันได้เหมือนพี่เหมือนน้อง”

คิดว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะจบลงได้หรือไม่?

“คงจะยาก...”

หากกรรมวิธีต่างๆในการแก้ปัญหา...ไม่ถูกจุด ปัญหาก็ยังเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าแก้ปัญหาถูกจุด...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดเพราะอะไร ใครทำ... ทำเพื่ออะไร หรือต้องการอะไร

ปัญหาในตอนนี้ ไม่มีใครรู้ว่า...เหตุการณ์ร้ายๆที่เกิดขึ้น เกิดเพราะอะไร...มีจุดประสงค์อะไร ชาวบ้านทั่วไปอยู่ไม่สุข พระก็พลอยทุกข์ไปด้วย

“ยังดี...ที่พระในเมืองยังพอมีกิจนิมนต์ แต่พระวัดนอกเมืองไม่มีกิจนิมนต์ ย่อมขาดแคลนสิ่งต่างๆมาก”

“สถานการณ์แบบนี้พระยิ่งจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัย ปัจจัยเป็นสิ่งสำคัญของ ทุกคน...อาตมาอยากให้ รัฐบาลดูแลจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือพระบ้าง พระนอกเมืองจะได้มีกำลังใจ เป็นกำลังใจของประชาชน เป็นกำลังของศาสนาต่อไป”.

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ 14 ธ.ค.47

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี