ตื่น"สึนามิ"หนีตายจ้าละหวั่น โวยศูนย์เตือนภัยไม่แม่นยำ
***********

            จังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทยโกลาหลหนัก หลังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกประกาศจะเกิดคลื่นสึนามิ หลังเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ที่อินโดนีเซีย ก่อนจะยกเลิกคำเตือนในอีกกว่า 2 ชั่วโมงถัดมา ผู้ว่าฯตรังสั่งราษฎรอพยพ อย่าห่วงข้าวของให้เอาชีวิตรอดไว้ก่อน กระบี่วุ่นวายที่สุด ชาวบ้านตกใจขวัญผวา โวยสัญญาณเตือนภัยไม่ดัง ถ้าเกิดคลื่นจริงตายเกลื่อนแน่

            ชาวอินโดนีเซียต้องผวาหลังเกิดธรณีไหวที่มีขนาดรุนแรงถึง 6.8 ริกเตอร์ เขย่าพื้นที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา 08.52 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 5 กรกฎาคม แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวได้สั่นคลอนอาคารสูงและสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนจนต้องวิ่งหนีออกจากบ้านเรือนมายังที่ปลอดภัย แต่ไม่มีรายงานความเสียหายหรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติครั้งนี้

            ด้านสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริการายงานว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวลูกนี้มีขนาด 6.8 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือนอยู่ห่างจากเมืองเมดาน ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 210 กิโลเมตร ซึ่ง ณ ระดับความรุนแรงนี้มักไม่ก่อให้เกิดสึนามิอย่างที่ชาวอินโดนีเซียผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตชาวอินโดนีเซียไปกว่า 128,000 คน

            แผ่นดินไหวในอินโดนีเซียครั้งนี้สั่นสะเทือนถึงจังหวัดชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นพื้นที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ส่งผลให้เกิดความโกลาหล มีการสั่งเตรียมความพร้อมอพยพ ก่อนที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะยกเลิกประกาศเตือนในอีกกว่า 2 ชั่วโมงถัดมา

            ทั้งนี้เมื่อเวลา 08.51 น. วันที่ 5 กรกฎาคม จังหวัดระนองได้รับแจ้งจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.8 ริกเตอร์ ที่ความลึกใต้ผิวโลก 31 กิโลเมตร ศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจาก จ.ภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 700 กิโลเมตร และมีโอกาสสูงที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ

            ต่อมานายไพบูลย์ เกียรติสุขเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง สั่งการทางวิทยุสื่อสารด่วนที่สุดไปยังหน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงภัย อ.เมือง อ.กะเปอร์ และกิ่ง อ.สุขสำราญ ประกาศเตือนประชาชนตามแนวชายฝั่งเตรียมพร้อมอพยพขึ้นที่สูง โดยเฉพาะพื้นที่เคยเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พร้อมสั่งให้ทุกหน่วยงานระดมกำลังคน รถยนต์ อุปกรณ์กู้ภัยพร้อมออกปฏิบัติทันที โดยหลังประกาศเตือนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อพยพขึ้นไปอยู่บนที่หลบภัยที่ทางจังหวัดกำหนดไว้

            นายณรงค์ มีสวัสดิ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)กำพวน กิ่ง อ.สุขสำราญ กล่าวว่า ขณะได้รับแจ้งจากกิ่งเภอกำลังมีการประชุมสภา อบต. ประธานสภาจึงสั่งปิดการประชุม นำกำลังออกแจ้งเตือนชาวบ้าน ซึ่งบางส่วนมีอาการตื่นกลัวบ้าง

            ต่อมาจังหวัดได้รับแจ้งจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ว่า จากการประมวลสถานการณ์แล้ว เชื่อว่าไม่เกิดคลื่นยักษ์ขึ้นในพื้นที่ จึงให้ยกเลิกการอพยพ แต่จังหวัดยังคงเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมสั่งเตรียมพร้อมตลอดเวลา

            เวลา 10.30 น. นายนเรศ จิตสุจริตวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่า ศูนย์เตือนภัยฯแจ้งว่าคลื่นยักษ์สึนามิจะเข้าสู่ อ.ปะเหลียนและกันตัง เวลา 11.30 น. ขอให้ประชาชนอพยพหนีขึ้นสู่ที่สูง โดยอย่าห่วงสมบัติ ให้เอาชีวิตรอดก่อน เพราะต้องหนีอย่างเดียว ซึ่งทางจังหวัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมให้ความช่วยเหลือเต็มที่แล้ว ส่วนประชาชนที่อยู่ตามเกาะลิบง เกาะมุก เกาะกระดาน ขอให้รีบหนีขึ้นที่สูง เพราะคงจะขึ้นฝั่งไม่ทัน สร้างความโกลาหลให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

            นายพรศักดิ์ เกลี้ยงช่วย ผู้จัดการเลตรังรีสอร์ท หาดปากเมง จ.ตรัง กล่าวว่า การเตือนภัยเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ แต่ขณะนี้นักท่องเที่ยวลดลงมาก แม้แต่วันนี้ที่รีสอร์ตยังไม่มีนักท่องเที่ยวเลย

            ต่อมาเวลา 11.30 น. ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯประกาศยกเลิกการเตือนภัยสึนามิ

            ส่วนที่ จ.กระบี่ ประชาชนตามเกาะต่างๆ ทราบข่าวทางสถานีโทรทัศน์ในข่าวภาคเที่ยง ต่างตื่นตกใจวิ่งหนีขึ้นที่สูงกันโกลาหล โดยนายวงศกร เกล้าแก้ว ราษฎรเกาะพีพี ต.อ่างนาง อ.เมือง กล่าวว่า หากเกิดคลื่นยักษ์จริงประชาชนทำอะไรไม่ได้เลย สัญญาณเตือนภัยก็ไม่แจ้ง หากมีคลื่นยักษ์จริงประชาชนคงตายกันเกลื่อนแน่นอน

            นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐได้ประกาศเตือนภัยจนสร้างความสับสนให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวมาก เพราะหน่วยงานที่รับคำสั่งมาให้เตือนก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเกิดคลื่นยักษ์หรือไม่

            "หากเป็นแบบนี้ต่อไปจะเป็นนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ สัญญาณเตือนภัยที่ติดตั้ง 35 จุดก็ยังมีปัญหาความไม่มั่นใจว่าเตือนภัยได้จริงหรือไม่ เพราะตั้งแต่ติดตั้งมาในแต่ละจุดก็ยังไม่มีการทดสอบ โดยเฉพาะที่อ่าวนาง จู่ๆ ก็มีเพลงเพื่อชีวิตดังออกมา นักท่องเที่ยวด่ากันทั้งเมือง จะให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมั่นใจได้อย่างไร ตอนนี้นักท่องเที่ยวเหลือไม่ถึง 10% แล้ว ร้านค้าพากันปิดกิจการตั้งแต่เกิดสึนามิ จนปัจจุบันยังไม่ได้เปิดกันเลย" นายอิทธิฤทธิ์กล่าว

            นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อยากให้ศูนย์เตือนภัยฯมีความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะการเตือนแต่ละครั้งส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนและนักท่องเที่ยว

            นายพัฒนพงษ์ เอกวานิช นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต กล่าวว่า การเตือนว่ามีโอกาสที่จะเกิดคลื่นสึนามิถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการไม่ประมาท แต่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการใช้คำประกาศเตือนให้ชัดเจน เช่นแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2548 ขนาด 8.7 ริกเตอร์ ประกาศทำนองว่ามีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งตามทฤษฎีจะต้องวัดความสั่นสะเทือนได้ไม่ต่ำกว่า 7.5 ริกเตอร์ขึ้นไป แต่วันนี้ประกาศว่ามีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิสูง ทั้งที่มีความรุนแรงเพียง 6.8 ริกเตอร์

            "น่าจะออกมาเตือนเพียงว่าเกิดแผ่นดินไหว วัดความสั่นสะเทือนได้เท่าใด หากมีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิสูง ก็ต้องสูงจริง ไม่เช่นนั้นประชาชนและนักท่องเที่ยวจะสับสน สื่อมวลชนก็จะนำเสนอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวภูเก็ต และที่สำคัญคือผู้รับผิดชอบศูนย์เตือนภัยฯจะต้องมีความชัดเจน"

************************

ที่มา : นสพ.มติชน

หน้า 1ฉบับ 6 กรกฎาคม 2548

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี