“สึนามิ” ชำแหละคลื่นเพชรฆาต
โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ
*******************

               คลื่นยักษ์สึนามิซึ่งถล่มภาคใต้แถบชายฝั่งทะเลอันดามันในบ้านเรา และอีกหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา เมื่อปลายปีก่อน (วันอาทิตย์ ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗) ได้ทิ้งปัญหาให้เราต้องสะสางไปอีกพักใหญ่ พร้อมกับเปิดประเด็นสำคัญให้สังคมไทยได้ทบทวนหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ระบบการเตือนภัยของภาครัฐ บทบาทของสื่อสารมวลชนทั้งมวล รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและทัศนคติเกี่ยวกับอุบัติภัยของประชาชนทั่วไป

               แต่หากย้อนกลับมาพิจารณาภาพข่าวซึ่งแสดงให้เห็นคลื่นยักษ์พุ่งกระแทกชายหาด รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมา ก็คงจะเห็นภาพได้ค่อนข้างชัดเจนว่า สึนามิแตกต่างจากคลื่นทะเลปรกติแน่ แต่ความแตกต่างหลัก ๆ อยู่ตรงไหน ?

มีอะไรในคำว่า “สึนามิ” ?

               คำว่า สึนามิ (tsunami) แปลตรงตัวว่า คลื่นท่าเรือ โดยตัวอักษรตัวบน คือ “ึ” แปลว่า ท่าเรือ ส่วนตัวล่าง คือ “นามิ” แปลว่า คลื่น

               เดิมทีฝรั่งส่วนใหญ่คิดว่าคำนี้ หมายถึง คลื่นที่เกิดจากน้ำขึ้น – น้ำลง (tidal wave) ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะน้ำขึ้น-น้ำลงเกิดจากแรงดึงดูดระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์

               ส่วนนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเรียกคลื่นนี้ว่า คลื่นที่เกิดจากพื้นทะเลไหวสะเทือน (seismic sea wave) ซึ่งแม้จะมีส่วนถูกอยู่มาก แต่ก็ยังไม่ครบ เพราะว่าสึนามิมิอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น แผ่นดินถล่ม เทหวัตถุพุ่งชนมหาสมุทร

กลไกการเกิดสึนามิ

               คลื่นทะเลโดยทั่วไปเกิดจากกระแสลม (หรือพายุ) ที่พัดเหนือน้ำ ทำให้ผิวน้ำเคลื่อนไหวเกิดเป็นคลื่นหลายลูกวิ่งตามต่อเนื่องกันไป คลื่นที่เกิดจากลมพัดนี้แต่ละลูกอยู่ห่างกันไม่มากนัก (ภาษาวิชาการเรียกว่า ความยาวคลื่นสั้น) และวิ่งผ่านจุดจุดหนึ่ง หรือพุ่งเข้ากระทบฝั่งค่อนข้างถี่ (เช่น ทุก ๆ ๑๐ วินาที)

               แต่สึนามิเกิดจากเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่ทำให้มวลของน้ำในมหาสมุทรเกิดการขยับตัวอย่างรวดเร็วในแนวดิ่ง เช่น แผ่นเปลือกโลกเบียดเข้าหากัน (และทำให้เกิดแผ่นดินไหว) ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด แผ่นดินถล่ม รวมทั้งอุกกาบาตพุ่งชน แต่สึนามิส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้น้ำ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ ๗.๐ ริคเตอร์ขึ้นไป

               การขยับตัวในแนวดิ่งของน้ำที่ถูกรบกวนทำให้เกิดสึนามิวิ่งออกไปโดยรอบอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สึนามิมีความยาวคลื่นยาวมาก (ประมาณ ๑๐๐–๒๐๐ กิโลเมตร) ซึ่งหมายความว่าคลื่นแต่ละลูกที่อยู่ติดกันอาจจะวิ่งผ่านตำแหน่งหนึ่ง ๆ ห่างกันนานถึง ๑๐–๒๐ นาที (หรือถึง ๑ ชั่วโมง) และในขณะที่อยู่ในมหาสมุทรจะเคลื่อนไปใต้ผิวน้ำโดยจะทำให้น้ำกระเพื่อมขึ้นลงไม่มากนัก (แค่ ๑-๒ เมตร) ดังนั้น เรือที่อยู่ในทะเลจึงมักจะไม่ได้รับอันตราย แถมอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคลื่นนี้วิ่งผ่านไป สึนามิในมหาสมุทรคล้ายกับเป็น “ยักษ์ใหญ่ใจดี”

               ในระหว่างที่คลื่นเคลื่อนที่ไปในมหาสมุทร สึนามิอาจจะลดความเร็วลงหากเคลื่อนผ่านบริเวณที่ลึกน้อยลง และเพิ่มความเร็วสูงขึ้นหากเคลื่อนผ่านบริเวณที่ลึก และอาจจะสะท้อนหรือหักเหเปลี่ยนทิศทางเมื่อกระทบกับเกาะแก่งต่าง ๆ อันเป็นธรรมชาติของคลื่นโดยทั่วไป

               เมื่อสึนามิเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งซึ่งตื้นขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะค่อย ๆ ช้าลง แต่ยอดคลื่นจะสูงขึ้นเนื่องจากพลังงานที่เคลื่อนที่ผ่านพื้นที่หนึ่งหน่วยในเวลาเท่า ๆ กันมีค่าคงที่โดยประมาณ (ภาษาวิชาการเรียกว่า ฟลักซ์ของพลังงาน หรือ energy flux มีค่าคงที่) หากแหล่งกำเนิดคลื่นอยู่ใกล้ชายฝั่งมาก คลื่นก็อาจจะสูงได้มากกว่า ๓๐ เมตร

               อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งแต่ละแห่งอาจจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไปขึ้นกับลักษณะทางกายภาพหลายประการ เช่น ชายหาดมีความลาดชันแค่ไหน มีแนวหินโสโครกหรือไม่ และบริเวณดังกล่าวเป็นปากแม่น้ำหรือไม่ เป็นต้น หากสึนามิไม่พูกกีดขวางมากนัก ก็จะเปลี่ยนเป็น “ยักษ์ใหญ่ใจร้าย” พุ่งเข้ากวาดทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า

               น่าสนใจว่า ความลาดชันของชายฝั่งมีผลต่อรูปร่างของคลื่นที่พุ่งเข้ากระทบฝั่งด้วย โดยหากชายฝั่งมีความลาดชันต่ำ (เอียงน้อย) รูปร่างของคลื่นจะมีลักษณะคล้ายภูเขา คือเอียงขึ้นทางหนึ่งและลาดลงอีกทางหนึ่ง ยอดคลื่นจะค่อย ๆ แตกกระจายเป็นฟองและระลอกคลื่นเล็ก ๆ ต่อเนื่องกันไป เรียกว่า คลื่นหัวแตกยอดกระจาย (spilling breaker) แต่หากชายฝั่งชันมากขึ้นยอดคลื่นจะวิ่งแซงล้ำหน้าลูกคลื่นไปแล้วม้วนปลาย คล้าย ๆ กับที่เราเห็นนักโต้คลื่นฝรั่งเล่นตามชายหาด เรียกว่า คลื่นหัวแตกม้วนตัว (plunging breaker) อย่างไรก็ตามหากชายฝั่งมีความชันมากถึงจุดหนึ่ง ระลอกคลื่นจะรวมตัวกันจนมียอดสูงขึ้น แต่ยอดคลื่นจะไม่ม้วนตัวและไม่แตกกระจายเป็นฟองจนกว่าจะเข้าถึงหาด เรียกว่า คลื่นหัวแตกใกล้ฝั่ง (surging breaker)

ปัจจัยทางธรณีวิทยาที่เกียวข้องกับสึนามิ

               หากมองภาพรวมทั่วโลก ในแต่ละปีจะเกิดสึนามิประมาณสองครั้งโดยเฉลี่ย ทั้งนี้บริเวณที่เกิดสึนามิมากที่สุดจะอยู่ในเขตที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุด (ราว ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินไหวทั่วโลก) นั่นคือ แนวรอบแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก (Pacific Plate) ซึ่งเรียกว่า วงแหวนแห่งอัคคี (Ring of fire หรือ Girdle of Fire) เนื่องจากเป็นแนวที่เกิดของภูเขาไฟใหญ่น้อยทั่วไป

               ภูเขาไฟที่เกิดขึ้นตามแนววงแหวนแห่งอัคคีนี้ เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเบียดตัวเข้าหากัน เช่น แผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรชนกันเอง หรือชนกับแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป โดยแผ่นเปลือกโลกหนึ่งจะมุดตัวลงใต้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่งและจมลงสู่เปลือกโลกชั้นใน บริเวณที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในลักษณะนี้ จึงเรียกว่า เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนมามิได้

               สำหรับสึนามิที่ถล่มภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันของไทยในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ นั้นเป็นผลมากจากแผ่นดินไหวขนาด ๙.๐ ริคเตอร์ (เดิมระบุว่า ๘.๙ ริคเตอร์) ที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งด้านตะวันตกทางเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา ๗ : ๕๘ : ๕๐ น. (ตามเวลาในประเทศไทย) โดยจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ลึก ๑๐ กิโลเมตร ห่างจากเมืองบันดาอาเจะห์ ประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๑,๒๖๐ กิโลเมตร

               อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถิติการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดสึนามิในแถบนี้ย้อนกลับไปราว ๑๐๐ ปี (ค.ศ.๑๙๐๐–๒๐๐๓) ก็จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหวกับสึนามิชัดเจนขึ้น และอาจจะทำให้เข้าใจดียิ่งขึ้นว่า ทำไมในอดีตที่ผ่านมา (ประมาณ ๑๐๐ ปีเป็นอย่างน้อย) คนไทยแทบทุกคนจึงไม่เคยสนใจ (ยังไม่ต้องถึงขั้นเข้าใจ) เกี่ยวกับสึนมามิแม้แต่น้อย

รู้จักกับระบบ DART ซึ่งใช้ตรวจจับสึนามิ

               ระบบ DART ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดความกดดัน ณ พื้นทะเล (ลึกประมาณ ๖ กิโลเมตร) ซึ่งถูกถ่วงให้อยู่บนพื้นทะเลด้วยน้ำหนักราว ๓๒๗ กิโลกรัม และใกล้ ๆ ผิวน้ำบริเวณนั้นจะมีทุ่นลอยซึ่งถูกผูกยึดอยุ่กับสมอหนักราว ๓.๐ ตัน ข้อมูลความกดดันจากอุปกรณ์ที่พื้นจะเลจะถูกส่งไปยังอุปกรณ์รับบนทุ่นลอยด้วยสัญญาณเสียงโดยทุ่นลอยติดต่อกับดาวเทียม GOES ซึ่งรับสัญญาณกับสถานีภาคพื้นดินอีกต่อหนึ่ง

               ในปัจจุบัน มีระบบนี้ติดตั้งอยู่ที่นอกชายฝั่งรัฐอะแลสกาและรัฐออริกอนของสหรัฐฯ อย่างน้อยสองแห่ง (และมีแผนติดตั้งเพิ่มเติมในอนาคต)

ระบบเตือนภัยสึนามิ

               ประเด็นหนึ่งที่สงสัยและถามกันมากก็คือ ระบบเตือนภัยจากสึนามิมีหรือไม่ ? หากมี-ทำงานอย่างไร? ลองมากดูข้อเท็จจริงเบื้องต้นกันก่อนดังนี้

               ในปี ค.ศ.๑๙๔๖ (พ.ศ.๒๔๘๙) เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงขนาด ๖-๙ เมตร ถล่มฮาวาย และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง ๑๕๙ คน ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น สหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งศูนย์ทำนายและเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นสองแห่ง ได้แก่ ศูนย์เตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิแห่งแปซิฟิก ( The Pacific Tsunami Warning Center – ย่อว่า PTWC ) ซึ่งตั้งอยู่ที่หาดอีวา (Ewa beach) ในฮาวาย และศูนย์เตือนภัยคลื่นยักษ์แห่งอะแลสกา (The Alaska Tsunami Warning Center- ย่อว่า ATWC)

               ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ได้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ (The Tsunami Warning System ย่อว่า TWS ) เพื่อเตือนสมาชิกที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน ๒๖ แห่ง เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ รวมทั้งไทยด้วย โดยหัวใจของระบบนี้ คือ ศูนย์เตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิแห่งแปซิฟิก PTWC ที่อาวาย ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อทำนายว่าจะมีคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวหรือไม่ และถ้ามีโอกาสก็จะออกประกาศเตือนไปยังบรรดาสมาชิกในกลุ่ม โดยเน้นในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (พูดง่าย ๆ คือ ภายในวงแหวนแห่งอัคคีนั่นเอง)

               ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิแห่งแปซิฟิกจะใช้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีที่ดำเนินการโดยศูนย์ PTWC เอง หรือโดยศูนย์เตือนภัยฯ ที่อะแลสกา (ATWC) รวมทั้งศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติ (ของสหรัฐฯ) เป็นต้น

               แต่ที่ว่ามานี้เป็นข้อมูลทางด้านธรณีวิทยา เพราะถ้าจะวัดคลื่นสึนามิโดยตรงที่อยู่ในน้ำก็ต้องใช้ระบบประเมินและรายงานคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรระดับลึก (Deep-ocean Assessment and Reporting of Tsunamis Mooring System ย่อว่า DART system)

               ระบบเตือนภัยสึนามิที่ฮาวายนี้สามารถออกประกาศเตือนได้ภายใน ๑ ชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว โดยชายฝั่งที่อาจจะได้รับผลกระทบจะต้องอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวไกลเกินกว่า ๗๕๐ กิโลเมตรถึงจะสั่งอพยพประชาชนได้ทันการ (เพราะความเร็วของคลื่นสึนามิประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงอ่ยางที่กล่าวไปแล้ว แต่หากเป็นระบบพิเศษอื่น ๆ เช่น ในรัฐอะแลสกา ในรัฐฮาวายเอง ญี่ปุ่น รัสเซีย และเฟรนซ์โปลินีเซีย ก็อาจจะออกคำเตือนได้ภายใน ๑๐ นาทีหากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ในระยะ ๑๐๐–๗๕๐ กิโลเมตรจากชายฝั่ง

               นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาสึนามิโดยการจำลองเหตุการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปประกอบกับข้อมูลที่ได้การตรวจวัดแบบเวลาจริง (real-time measurement) ซึ่งจะช่วยในการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น จะเกิดสึนามิกระทบชายฝั่งหรือเกาะแก่งต่าง ๆ ที่ไหน และเมื่อไร

คุณควรทำตัวอย่างไรเมื่อเจอภัยสึนามิ

               -เมื่ออยู่ที่ชายฝั่ง หากรู้สึกถึงแผ่นดินไหว หรือได้รับสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ให้ตั้งสติแลหนีไปอยู่บนที่สูงและห่งออกไป (เช่น ในอาคารคอนกรีตหลายชั้นที่มั่นคง) อย่าเข้าไปหลบในอาคารที่อยู่ในที่ต่ำเป็นอันขาด
               -หากอยู่ในเรือและมีเวลาเพียงพอ ให้หันหัวเรือออกไปยังน้ำลึก (อย่างน้อย ๑๐๐ ฟาทอม = ๑๘๓ เมตร โดยประมาณ
               -ก่อนสึนามิจะมาถึงฝั่ง น้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่มองเห็นได้ อย่างลงไปชมชายหาดเป็นอันขาด จำไว้ว่า สึนามิพุ่งเข้าหาฝั่งเร็วเกินที่คนจะวิ่งหนีทัน
               -ก่อนจะเกิดสึนามิขนาดใหญ่มักจะมีเสียงดังสนั่น (คล้ายเสียงเครื่องหรือรถไฟ) นำมาก่อน ดังนั้นหากเป็นช่วงเวลากลางคืนที่มองไม่เห็นทะเล นี่คือสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติที่ได้ยินได้
               -เนื่องจากสึนามิเป็นคลื่นที่มาเป็นขบวน ไม่ได้มาเพียงลูกเดียว ดังนั้นอย่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจนกว่าเหตุการณ์จะจบลงอย่างสมบูรณ์
               -หลังจากอาคารบ้านเรือนโดนสึนามิถล่ม ให้ระวังโครงสร้างเสียหายและอาจพังทลายลงมาได้

สึนามิในอดีต

               ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ได้พบหลักฐานว่าได้เกิดแผ่นดินถล่มลงทะเลที่มานา ลัว หมู่เกาะฮาวาย ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ซึนามิสูงถึง ๕๐๐ เมตร ซัดถล่มชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
               เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๙๐๘ มีการบันทึกว่าเกิดคลื่นยักษ์ถล่มเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
               พ.ศ. ๒๒๙๘ เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรแอตแลนติกเกิคลื่นซึนามิซัดเข้าถล่มเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกสมีผู้เสียชีวิตประมาณ ๖ หมื่นคน
               พ.ศ. ๒๔๒๖ การระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นซึนามิซัดเข้าถล่มชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๓๖,๐๐๐ คน
               ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เกิดแผ่นดินไหวในอะแลสกา ๕ ชั่วโมงต่อมาคลื่นซึนามิถึงเมืองฮิโล รัฐฮาวาย ที่อยู่ห่างไปหลายพันกิโลเมตรทำให้มีคนตาย ๑๕๙ คน เสียหายหลายร้อยล้านดอลลาร์
               ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓ เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในโลกวัดได้ ๙.๕ ริคเตอร์ส่งผลให้เกิดคลื่นซึนามิสูง ๑๑ เมตร ฆ่าชาวชิลีตายไป ๕,๐๐๐ กว่าคน และคลื่นส่งผลกระทบถึงฮาวาย ญี่ปุ่น และฟิลิปินส์
               ๒๘ มีนาคม ๒๕๐๘ แผ่นดินไหวในอะแลสกาก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ มีคนตาย ๑๐๗ คนในอะแลสกาและส่งผลกระทบถึงชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย
               ๑๖ สิงหาคม ๒๕๑๙ คลื่นซึนามิทำลายชีวิผู้คนมากกว่า ๕,๐๐๐ บริเวณอ่าวโมโร ประเทศฟิลิปินส์
               ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑ แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งปาปัวนิวกีนี ก่อให้เกิดคลื่นซึนามิคร่าชีวิตผู้คน ๒,๐๐๐ กว่าคน เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวออกมาพยากรณ์ว่า มีโอกาสที่จะเกิดคลื่นซึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันทางตอนใต้ของประเทศไทย

ข้อเสนอเพื่อการป้องกันภัยสึนามิในอนาคต

               ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ ๆ สื่อสารมวลชลได้นำเสนอความเห็นต่าง ๆ จากผู้รู้หลากหลายสาขาโดยความเห็นที่หลากหลายนี้สะท้อนมุมมองและความชำนาญในวิชาชีพของแต่ละท่าน ซึ่งพอจะประมวลเบื้องต้นเป็นตัวอย่างได้ดังนี้
               -เสนอให้ติดตั้งระบบและเครื่อข่ายเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมีการให้ความรู้ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยให้แก่ประชาชน (นักวิทยาศาสตร์)
               -เสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร และจัดทำแผนที่ความเสี่ยงในการเกิดซึนามิ ในทำนองเดียวกับแผนที่แสดงความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวและดินถล่ม (วิศวกร)
               -เสนอให้มีการฝึกซ้อมการรับมือ และสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวัง (ผู้บริหารองค์กร)
               -เสนอให้มีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น บริเวณไหนมีความเสี่ยงสูงก็ไม่ควรเป็นแหล่งที่พักอาศัยหรือสถานที่ท่องเที่ยว (นักรัฐศาสตร์)
               ส่วนภาพที่ใหญ่กว่านั้น ยังมีผู้เสนอว่าควรมี “การสังคายนา” หรือ “ยกเครื่อง” ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งมวลของประเทศเสียใหม่ เพราะหากเกิดเหตุการเศร้าสลดขึ้นมา สิ่งที่สูญเสียไปย่อมไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้
               มหันตภัยคลื่นยักษ์ครั้งนี้ ได้ให้บทเรียนและประสบการณ์กับเราหลายด้าน แต่ที่สำคัญก็คือ เราต้องเรียนรู้เพื่อแก้ไขและหาทางป้องกัน และไม่เฉยเมย (หรือหัวเราะเยาะใคร) หากมีคนเปิดประเด็น (ที่อาจจะเป็นไปได้) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยขึ้นมา แม้ประเด็นดังกล่าวนั้น จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยนิดเพียงใด หรือดูเหมือนจะไม่มีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจโดยตรงก็ตามที

เหตุใดบริเวณเขาหลัก จังหวัดพังงา จึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่าจังหวัดภูเก็ต

               เหตุผลคือ เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบริเวณเขาหลัก เป็นพื้นที่มีความกว้างของชายหาดแคบมาก ทำให้คลื่นที่ซัดมาจากทะเลกระทบเข้าหาฝั่งอย่างแรง จนทำให้คนและสิ่งก่อสร้างที่อยู่บริเวณนั้นถูกซัดเข้าไปกระทบกับภูเขาหินแกรนิตที่อยู่ด้านหลัง ในขณะที่บริเวณชายหาดในภูเก็ตได้รับความรุนแรงน้อยกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ชายหาดค่อนข้างกว้าง อีกทั้งมีแนวปะการังเป็นปราการตามธรรมชาติดูดซับความรุนแรงของคลื่นทะเลไว้ ทำให้คลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่งไม่รุนแรงนัก
               อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวทั้งสองแห่ง มาจากการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ตอยู่ใกล้ชายฝั่งเพียง ๒๐ เมตร ซึ่งถือว่าใกล้ทะเลมากเกินไป (ในต่างประเทศมีข้อกำหนดให้ก่อสร้างอาคารและบ้านพักอาศัยห่างจากทะเลถึง ๒๐๐ เมตร) ดังนั้นเมื่อเกิดคลื่นสูง ๑๐ เมตรซัดเข้าหาฝั่งด้วยความเร็ว ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงทำให้เกิดหายนะตามมา

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวหรือไม่

               รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และคณะผู้ศึกษา “โครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย” ได้วิเคราะห์ว่า
               ในประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวอย่างชัดเจน คือบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวขนาดกลาง (ประมาณ ๕-๕.๙ ริคเตอร์) เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
               พื้นที่อีกแห่งที่มีความเสี่ยง คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่นี้อยู่นอกบริเวณแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ดังนั้นความเสี่ยงจึงมิได้เกิดจากแผ่นดินไหวในระยะใกล้ แต่เป็นผลจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในระยะไกล เช่น ประเทศพม่า กาญจนบุรีหรือในทะเลอันดามัน ซึ่งแม้จะห่างจากกรุงเทพฯหลายร้อยกิโลเมตร แต่สภาพดินอ่อนในบริเวณกรุงเทพฯ สามารถขยายระดับการสั่นสะเทือนของพื้นดินได้ถึงประมาณ ๓-๔ เท่า ของระดับปกติ อีกทั้งการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกขยายตัว ยังมีลักษณะการสั่นที่มีจังหวะค่อนข้างชัดเจน เป็นจังหวะช้า ๆ ประมาณ ๑ รอบต่อวินาที ส่งผลให้อาคารสูงที่มีความถี่ธรรมชาติใกล้เคียงกับจังหวะนี้เกิดการโยกตัวที่รุนแรงเป็นพิเศษ
               ปรากฎการณ์ในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายเมือง แต่ที่เด่นชัดและรุนแรงที่สุด เกิดขึ้นที่กรุงแมกซิโก ซิตี้ ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ๘.๑ ริคเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางห่างจากกรุงแมคซิโก ซิตี้ ถึง ๓๕๐ กิโลเมตร แต่สงผลให้เกิดการพังทะลายของอาคารประมาณ ๕๐๐ หลัง และมีผู้เสียชีวิตถึง ๑๐,๐๐๐ คน เนื่องจากการขยายคลื่นแผ่นดินไหวของชั้นดินอ่อน ในกรุงแมกซิโก ซิตี้
               ดังนั้น การสั่นสะเทือนของพื้นดินที่มีระดับความรุนแรง ถึงขั้นทำให้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมากเสียหาย พังทลาย แบบในกรุงแมกซิโก ซิตี้นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นที่กรุงเทพ ถึงแม้ว่าภัยพิบัติในรูปแบบนี้จะยังไม่เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ๒๒๐ ปีของกรุงเทพ แต่ผลการวิเคราะห์ได้แสดงว่า ภัยพิบัติในรูปแบบนี้มีคาบกำเนิดซ้ำที่ยาวนานถึงประมาณ ๕๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีต่อครั้ง ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดภัยพิบัติขึ้นในช่วงชีวิตของเรา (ประมาณ ๗๕ ปี) แม้จะมีอัตราเสี่ยงเพียงแค่ ๓ - ๑๕ เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
               และถ้าเกิดขึ้นโดยไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือ เราก็อาจได้เห็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดให้มีการออกแบบอาคารต้านแรงแผ่นดินไหว อาคารส่วนใหญ่จึงได้รับการออกแบบก่อสร้างโดยไม่คำนึงถึงแผ่นดินไหว ไม่สามารถทนต่อแรงโยกของแผ่นดินไหวได้มาก ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง ๆ ก็เป็นไปได้ว่า จะมีอาคารจำนวนมากแตกร้าว เสียหายรุนแรง จนถึงขั้นถล่มลงมา เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ

ภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด

สถานที่

สาเหตุ

ปีที่เกิดเหตุ

จำนวนผู้เสียชีวิต

๑.แม่น้ำฮวงโห จีน

น้ำท่วม

ส.ค. ๒๔๗๕

๓,๗๐๐,๐๐๐

๒.แม่น้ำฮวงโห จีน

น้ำท่วม

๒๔๓๐

๙๐๐,๐๐๐

๓.เมืองฉานซี / เหอหนาน จีน

แผ่นดินไหว

๒๐๙๙

๘๐๐,๐๐๐

๔.บังคลาเทศ

น้ำท่วม

๑๓ พ.ย. ๒๕๑๓

๓๐๐ - ๕๐๐,๐๐๐

๕.เมืองถังฉาน จีน

แผ่นดินไหว

๒๘ ก.ค. ๒๕๑๙

๒๔๐ - ๗๕๐,๐๐๐

๖.เมืองเหอหนาน จีน

น้ำท่วม

ก.ย. ๒๔๘๑

>๒๐๐,๐๐๐

๗.เมืองหนานฉาน จีน

แผ่นดินไหว

๒๒ พ.ค. ๒๔๗๐

๒๐๐,๐๐๐

๘.กานสู จีน

แผ่นดินไหว

๑๖ ธ.ค. ๒๔๖๓

๑๘๐,๐๐๐

๙.เมสซิน่า อิตาลี

แผ่นดินไหว

๒๘ ธ.ค. ๒๔๕๑

๑๖๐,๐๐๐

๑๐.อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย

คลื่นสึนามิ

๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๗

๑๕๐,๐๐๐