หลังจาก
"คม ชัด ลึก" ได้นำเสนอเรื่องราวพระนิสิตแห่สอน ธรรมะบันเทิง
เชื่อมพุทธศาสนาโดนใจวัยกิ๊ก โดยคณะ พระนิสิต แผนกพระธรรมวิทยากรจาก
ม.มหามกุฎราชวิทยาลัย ออกตระเวนสอนวิชาพระพุทธศาสนาตามสถานศึกษาต่างๆ
ล่าสุดกรมการศาสนาได้ประกาศขอร่วมอุดมการณ์ด้วย ตั้งเป้าปี 2549
จะผลิต "ครูพระสอนศีลธรรม" ให้ได้ 1 ตำบล 1 รูป โดยใช้หลักสูตร
"ธรรมศึกษา" ป้องเด็กไทยไร้ศีลธรรม
ยุทธศาสตร์สำคัญของกรมการศาสนา
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ข้อหนึ่งคือ การส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนนำหลักธรรมพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระ สวดมนต์ ประพฤติตนเป็นคนดี นายปรีชา กันธิยะ
อธิบดีกรมการศาสนา จึงเห็นว่า การที่พระสงฆ์เข้าไปสอนวิชาพุทธศาสนาให้เด็กตามโรงเรียน
จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคำสอนกับเด็กได้เป็นอย่างดี ให้ "โรงเรียน
บ้าน วัด" เป็นแหล่งเรียนรู้พุทธศาสนาของชุมชน
ภายใต้การดูแลของศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม
ซึ่งเป็นแหล่งรวมครูพระสอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา โดยอนาคตจะพัฒนาให้เป็นศูนย์พระสอนศีลธรรมแห่งประเทศไทย
และนำเสนอให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างกองทัพครูพระสอนศีลธรรมให้มีบทบาทพัฒนาจิตใจเด็กและเยาวชน
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอาชีวศึกษาที่ตีกัน ขี่รถซิ่ง ให้เกิดสำนึกอยากเป็นคนดีของสังคม
พระครูวิสุทธินพคุณ
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ เปิดเผยในฐานะประธานศูนย์ว่า
ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม ก่อตั้งเมื่อวันที่
14 มี.ค. 2545 โดยเจตนารมณ์ของคณะพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่อยากทำงานเพื่อสังคม
โดยให้ความสำคัญในโครงการอบรมศีลธรรมจริยธรรมและสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษาเป็นหลัก
ปัจจุบัน พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการ
มีสมาชิกประมาณ 600 รูป
สำหรับหลักสูตรการสอนนั้นอาศัยตามหลักสูตร
"ธรรมศึกษา" ของพระสงฆ์ แบ่งเป็น หลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี ได้แก่
วิชากระทู้ วิชาธรรมวิภาค วิชาพุทธประวัติ-ศาสนพิธี วิชาเบญจศีล-เบญจธรรม
หลักสูตรธรรมศึกษาชั้นโท ได้แก่ วิชากระทู้ วิชาธรรมวิภาคปริเฉทที่
2 วิชาอนุพุทธประวัติ-ศาสนพิธี วิชาวินัย (อุโบสถศีล) หลักสูตรนักธรรมศึกษาชั้นเอก
ได้แก่ วิชากระทู้ วิชาธรรมวิจารณ์ วิชาพุทธานุพุทธประวัติ วิชาวินัย
(กรรมบถ)
รวมทั้งมีการอบรมภาคปฏิบัติ
ฝึกสติ และสมาชิกเพื่อให้เกิดปัญญาและสันติสุข ทั้งก่อนและหลังการเรียนตามความเหมาะสม
และภาคอบรมพิเศษ อาทิ โครงการเทศนาวาไรตี้ในวันธรรมสวนะ (วันพระ)
บรรยายธรรมในวันสำคัญต่างๆ และอบรมเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น ทางศูนย์จะจัดส่งพระธรรมวิทยากรไปสอนตามหลักสูตรและให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดตามตารางเวลาที่แต่ละโรงเรียนกำหนด
อย่างน้อยห้องละ 2 คาบต่อเดือน
"ที่ผ่านมามีโรงเรียนเข้าร่วม
18 แห่ง รวม 13,779 คน อาทิ โรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน-ธนบุรี
โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม โรงเรียนมัธยมสาธิตสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ซึ่งจากการประเมินผู้เรียนพบว่าส่วนใหญ่พฤติกรรมดี มีศีลธรรม เป็นผลดีในการศึกษาต่อหรือสมัครงาน
โดยการสอบธรรมะสนามหลวงปี 2546 ส่งนักเรียนเข้าสอบ 7,000 คน สอบได้
4,000 คน สูงถึงร้อยละ 62 แต่ยังมีปัญหาบ้าง เช่น ทางโรงเรียนให้เวลาสอนจำกัดและขาดงบประมาณในการจัดพิมพ์หลักสูตร
ตำราสำหรับแจกนักเรียน" พระครูวิสุทธินพคุณ กล่าว
ส่วนคุณสมบัติของ
"ครูพระสอนศีลธรรม" นอกจากเป็นผู้มีความรู้และอุดมการณ์ทำงานเพื่อสังคมด้วยความเสียสละแล้ว
จะต้องครองตนใน "สมณสารูป" คือ สำรวมในการใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่พูดเสียงดัง
ไม่สูบบุหรี่ ระมัดระวังในการนุ่งห่มและความสัมพันธ์กับนักเรียน
นักศึกษา อย่าให้เกินเลยขอบเขตจนเกิดข้อครหาในทางไม่ดี อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างศรัทธาแก่ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง
ความร่วมมือระหว่างกรมการศาสนาและศูนย์มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี
2547 จะมีเครือข่ายพระสอนศีลธรรมเพิ่มเป็น 800 รูป ปี 2548 เพิ่มเป็น
3,000 รูป และปี 2549 จะต้องมี 1 ตำบล 1 รูป รวมแล้วกว่า 7,000
รูป โดยจะให้งบอุดหนุนครูพระสอนศีลธรรมรูปละ 12,000 บาทต่อปี โดยหวังให้ครูพระเหล่านี้เป็นกำลังหลักบ่มสอนเด็กไทยให้จิตใจดี
มีศีลธรรม ไม่ใช่เก่งเฉพาะวิชาการอย่างเดียวแต่เอาตัวไม่รอดอย่างที่ผ่านมา
โรงเรียนไหนต้องการครูพระสอนศีลธรรม สอบถามได้ที่ โทร.0-2437-3268,
0-7979-5820
|