งานพระธรรมทูต
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ป.ธ.๕,นธ.เอก,ศษ.บ.,MPA.(นิด้า) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

พระธรรมทูต
     พระธรรมทูต (อ่านว่า -ทำมะทูด) พระธรรมจาริก หมายถึงภิกษุที่เดินทางไปแสดงธรรมในที่ต่างๆ ทำหน้าที่เหมือนทูตทางธรรมหรือทูตของพระศาสนา
     พระธรรมทูตเริ่มมีครั้งแรกเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจนมีพระสาวกมากรูปแล้วจึงส่งพระสาวกเหล่านั้นไปประกาศธรรมในทิศต่างๆ โดยตรัสว่า "เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชุมชน เพื่ออนุเคราะห์แก่ประชุมชน" ดังนี้เป็นต้น
     พระธรรมจาริก มีความหมายเดียวเช่นเดียวกันกับพระธรรมทูต แต่เป็นคำบัญญัติที่เกิดที่หลังคำว่าพระธรรมทูต
     ปัจจุบันแบ่งพระธรรมทูตออกเป็น 2 ประเภทคือ พระธรรมทูตในประเทศ กับ พระธรรมทูตต่างประเทศ

อ้างอิง : พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด,
วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘

งานพระธรรมทูตสมัยพุทธกาล

       เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา โดยทรงใช้เวลาตลอดหน้าฝนแรก รวบรวมพระสาวกได้ ๖๐ รูป แล้วทรงอบรมคุณธรรมแก่ท่านเหล่านั้นอย่างเพียงพอที่จะแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนา พอหมดหน้าฝน ดินฟ้าอากาศแห้ง ก็ได้ทรงเรียกพระสาวกเหล่านั้นมาประชุม แล้วรับสั่งให้แยกย้ายไปประกาศพระพุทธศาสนาในภูมิภาคต่างๆ การประชุมครั้งนั้น นับว่าเป็นการประชุมปฐมนิเทศสำหรับพระธรรมทูตรุ่นแรกในพระพุทธศาสนา โดยที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย(๖๐ รูป)นั้นว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์,แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์(เช่นกัน) พวกเธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์,พวกเธออย่าได้ไปรวมโดยทางเดียวกันสองรูป,จงแสดงธรรมงานในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด,จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อม ทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์, สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลีคือกิเลสน้อย มีอยู่,แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อม, ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”

       การประชุมครั้งนั้น นับว่าเป็นการประชุมปฐมนิเทศสำหรับพระธรรมทูตรุ่นแรกในพระพุทธศาสนา โดยที่พระพุทธองค์ทรงนัดหมายในเรื่องสำคัญ ๓ ประการคือ
       ๑. หลักการสอนประชาชน (ให้ทำการสอนเป็น ๓ ระดับ คือประโยชน์๓)
       ๒. เส้นทางจาริก โดยทรงแบ่งเป็น ๖๑ สายๆ ละรูป รวมทั้งพระพุทธองค์ โดยที่พระพุทธองค์เสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
       ๓. เรื่องอื่นๆ (เช่น ถ้ามีผู้จะขอบวชก็ให้นำมาเฝ้าพระพุทธองค์)

       การจัดพระธรรมทูตแบบนี้ ใช้วิธีกำหนดพื้นที่ที่จะปฏิบัติงานเป็นหลัก แล้วจัดวางกำลังพระธรรมทูตให้พอเหมาะ นอกจากเรื่องจำนวนแล้วยังทรงพิจารณาถึงสมรรถภาพของพระธรรมทูตด้วยว่า ท่านผู้ใดควรจะไปยังตำบลใด เพราะแต่ละที่มีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน


งานพระธรรมทูตสมัยหลังพุทธกาล

       เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว บุคคลผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาประเภทพระธรรมทูตก็ยังมีความจำเป็น และดูเหมือนจะจำเป็นมากขึ้น เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
       ๑. เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังประเทศที่ยังไม่มีพระพุทธศาสนา
       ๒. ได้มีคนแอบแฝงปลอมบวชในพระพุทธศาสนามาก แล้วประพฤติเสียหาย
       ๓. เกิดมีศาสนาต่างๆ ขึ้นอีกหลายศาสนา

ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ งานพระธรรมทูตจึงเป็นสิ่งจำเป็น
       การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เมื่อพระพุทธศาสนาได้รับการนับถือจากพระเจ้าอโศมหาราช ประชาชนก็ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พวกนักบวชในศาสนาอื่นๆ เห็นว่าพระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้ลาภสักการะต่างๆมาก ก็พากันปลอมบวชเข้าเป็นภิกษุเพื่ออาศัยกาสาวพัสตร์เป็นเครื่องเลี้ยงชีพ แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้สงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันนานถึง ๗ ปี เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงรับสั่งให้ไตร่สวน แล้วส่งทูตไปนิมนต์พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ มาเป็นประธานชำระความยุ่งเหยิงในพระศาสนา

       ผลของการชำระพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า มีพระปลอมถูกบังคับให้สึกถึง ๖๐,๐๐๐ รูป แล้วพระโมคคัลลีบุตรเถระให้ประชุมพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ รูป ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งที่ ๓ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ การสังคายนาได้ทำกันอยู่ถึง ๙ เดือน จึงสำเร็จ การส่งสมณทูตไปประกาศศาสนา เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกได้ทรงคัดเลือกพระเถระผู้มีความสามารถส่งไปเป็นสมณทูต ให้นำพระพุทธศาสนาไปสั่งสอนในต่างประเทศ หลายทิศ รายนามสมณทูตที่ปรากฎในปกรณ์บาลี มี ๙ สาย คือ

       สายที่ ๑ คณะพระมัชฌันติกะ ไปแคชเมียร์และคันธาระ คือ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือสุดของอินเดีย ปัจจุบันบางส่วนอยู่ในปากีสถาน บางส่วนอยู่ในอัฟกานิสถาน
       สายที่ ๒ คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสมณฑล ปัจจุบันได้แก่ รัฐไซเมอร์ อยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย แถบลุ่มแม่น้ำโคธาวารี
       สายที่ ๓ คณะพระรักขิต ไปวนวาสี ได้แก่ บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย
       สายที่ ๔ คณะพระธรรมรักขิต ท่านผู้นี้เป็นฝรั่งชาติกรีก และดูเหมือนจะเป็นฝรั่งคนแรกที่บวชในพระพุทธศาสนา ไปอปรันตชนบท แถวชายทะเลเหนือ เมืองบอมเบย์
       สายที่ ๕ คณะพระมหาธรรมรักขิต ไปแคว้นมหาราษฏร์ อยู่ทางตะวันออกของเมืองบอมเบย์
       สายที่ ๖ คณะพระมหารักขิต ไปประเทศโยนก คือ ประเทศกรีกในเอเชียกลาง
       สายที่ ๗ คณะพระมัชฌิมะ ไปทางเหนือแถบภูเขาหิมาลัย
       สายที่ ๘ คณะพระโสณะและพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า อาจเป็นดินแดนซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย หรือประเทศพม่าในปัจจุบัน
       สายที่ ๙ คณะพระมหินทะ พระโอรสของพระเจ้าอโศกเอง ไปเกาะลังกา คือ ประเทศศรีลังกา
พระมหินทเถระ เมื่อไปถึงเกาะลังกา ได้ประกาศพระศาสนา สามารถทำให้พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์ลังกาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคง

ความสามารถในการเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์ที่คนศาสนาอื่นมองเห็น
       มิชชันนารี ชาวโปรตุเกส ชื่อ กาสปาร์ ดาครูซ ได้บันทึกไว้ในปี ค.ศ.๑๕๕๖ (พ.ศ.๒๐๐๙) ว่k “มีความภาคภูมิใจและเย่อหยิ่งอย่างเหลือเกิน พวกเขาได้รับการบูชาสักการะราวกับเทพเจ้าเป็นๆ ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าในหมู่ภิกษุด้วยกัน ก็บูชาผู้อาวุโสกว่าดุจเทพเจ้า ทั้งสวดมนต์ภาวนาและกราบกราน ฉะนี้สามัญชนทั้งหลาย จึงเชื่อมั่นในพระภิกษุอย่างสูง ให้ความเคารพและกราบไหว้บูชา ไม่มีใครกล้าคัดค้านพระในเรื่องใดๆ บางครั้งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเทศน์อยู่ ผู้คนรอบข้างซึ่งได้ยินข้าพเจ้าพูดอย่างชัดเจนและพอใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าสอน ทันทีที่พระเหล่านี้เดินผ่านมา และพูดเปรยว่า “นั่นก็ดีอยู่หรอก แต่ของเราดีกว่า” พวกเขาก็จะเดินหนีไปหมด ทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ลำพัง”

หนังสืออ้างอิง
พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์,วงเดือน นาราสัจจ์ แปล. ประวัติศาสตร์กัมพูชา โดยเดวิด แชนด์เลอร์.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น.๑๒๓)


งานพระธรรมทูตในประเทศไทย

       งานพระธรรมทูตยุคเริ่มแรกในประเทศไทย กรมการศาสนาได้ฟื้นฟูจัดให้มีงานพระธรรมทูตขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ถึง ปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยมีความมุ่งหมายให้ประชาชนยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ให้มีศีลธรรมประจำใจ มีความเคารพรักต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชนที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้ทดลองดำเนินงานโดยอาราธนาพระเถระผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าคณะอำนวยการ จัดส่งพระสงฆ์ออกจาริกประกาศพระศาสนาในถิ่นต่างๆ

       มหาเถรสมาคม มีมติให้รับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบของ พระธรรมทูตนี้เป็นกิจกรรมถาวร โดยตั้งเป็นกองงานพระธรรมทูตขึ้น ดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นลำดับมา โดยมอบหมายให้
              สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น) เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต
              สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๑
              พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ธีร์) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒

       ครั้นต่อมา เมื่อสมเด็จพระวันรัต ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มรณภาพ มหาเถรสมาคมจึงมีมติมอบให้ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต และมอบให้ พระพุทธพจนวราภรณ์ (ทองเจือ) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๑ มอบให้ พระพรหมคุณาภรณ์ (เกี่ยว) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒

       ต่อมาพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี และได้มรณภาพ มหาเถรสมาคมจึงมีมติมอบให้พระพุทธพจนวราภรณ์ (ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี) เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต และมอบให้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ปัจจุบันได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ ) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๑ และมอบให้พระธรรมธีรราชมหามุนี (ต่อมาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นรองสมเด็จ ที่ พระธรรมปัญญาบดี และปัจจุบัน ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒

       การบริหารงานพระธรรมทูต ได้แผ่ขยายขอบข่ายงานเป็นหลายฝ่าย แต่ยังขาดระเบียบที่จะให้พระธรรมทูตได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ในการประชุมปัจฉิมนิเทศงานพระธรรมทูต ในที่ประชุมจึงมีมติให้วางระเบียบขึ้น เพื่อความสะดวกต่อการปฏิบัติงาน เพราะแต่เดิมมานั้น ยังไม่มีระเบียบเพื่อถือเป็นหลักปฏิบัติได้

       เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยคำสั่งแม่กองงานพระธรรมทูต ได้แบ่งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ออกเป็น ๒ คณะ ซึ่งคณะทำงานชุดแรกเรียกว่า คณะทำงานปรับปรุงงานพระธรรมทูต คณะทำงานชุดนี้ ได้ประชุมพิจารณายกร่างระเบียบแล้วนำเสนอที่ประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อพิจารณา

       ส่วนคณะทำงานชุดที่ ๒ เรียกว่า คณะทำงานพิจารณาร่างระเบียบกองงานพระธรรมทูต ซึ่งคณะทำงานชุดที่ ๒ นี้ ได้พิจารณากลั่นกรองระเบียบดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงงานพระธรรมทูตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
การบริหารงานพระธรรมทูตในประเทศไทย จึงได้ถือ “ระเบียบกองงานพระธรรมทูต” เป็นหลักปฏิบัติสืบมา

       ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เมื่อสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี ได้มรณภาพ มหาเถรสมาคมจึงมีมติมอบให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว ) เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต และมอบให้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๑ และมอบให้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร) เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒

*******************

เครดิต :ขอขอบคุณข้อมูลจาก งานพระธรรมทูตอำเภอโนนสูง จัดทำ/รายงานโครงการโดย พระสมุห์รุ่งอรุณ ปณฺฑิโต : เจ้าคณะตำบลใหม่


หน้าหลักพระธรรมทูต รุ่น ๕๒/๒๕๕๙