วิธีการแต่งตั้งผู้ปกครองวัด
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐


             วัดเป็นหน่วยงานปกครองและหน่วยดำเนินกิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาที่สำคัญที่สุด และเป็นฐานสำคัญยิ่งของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา หลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับวัด ทรงตราไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เกือบทั้งสิ้น เช่นเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยมหาเถรสมาคมอันเป็นสถาบันสูงสุด วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลคือบุคคลตามกฎหมาย ตามความในมาตรา ๓๑ และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๓๕) วัดจึงได้รับการคุ้มครองจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่น ๆ วัดทั้งหลายย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังเช่นบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดา แต่เพราะวัดมิใช่บุคคลธรรมดา แสดงเจตนาในการใช้สิทธิและหน้าที่เองมิได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้แทน ทรงตราไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา ๓๑ วรรค ๓ ว่า "เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดในกิจการทั่วไป"

             ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงเป็นทั้งผู้ปกครองวัดตามมาตรา ๓๖ และเป็นผู้แทนวัดตามมาตรา ๓๑ วรรค ๓ ทั้งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

             เจ้าอาวาสเป็นเหมือนวิญญาณของวัด ทุกวัดจะปราศจากเจ้าอาวาสมิได้ ในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ บัญญัติว่า "วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่งและถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้" และในมาตรา ๒๓ บัญญัติให้แต่งตั้งไวยาวัจกรเพื่อช่วยงานเจ้าอาวาสเกี่ยวกับการศาสนสมบัติของวัด

             จึงกล่าวได้ว่า เจ้าอาวาสคือผู้ปกครองบริหารกิจการทั้งมวลของวัด รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยการปกครองและการบริหารโดยทั่วไป และไวยาวัจกรเป็นผู้สนองงานการศาสนสมบัติ วิธีปฏิบัติในการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวนี้ย่อมแตกต่างกัน

วิธีแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์

             เจ้าอาวาส เป็นผู้ปกครองวัดตามมาตรา ๓๖ เป็นผู้แทนของวัดตามมาตรา ๓๑ วรรค ๓ เป็นเจ้าพนักงานวัดตามมาตรา ๔๕ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการคณะสงฆ์และการพระศาสนา เพราะเป็นศูนย์รวมงานการคณะสงฆ์และการพระศาสนา ในมาตรา ๓๗ และ ๓๘ ได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจเจ้าอาวาสไว้โดยชัดเจน และในมาตรา ๒๓ และ ๓๙ ได้บัญญัติบังคับให้การแต่งตั้งเจ้าอาวาสและผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ว่าโดยเฉพาะหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวง (วัดราษฎร์) บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ตามความในข้อ ๖, ๒๖ และ ๒๗ มีข้อควรทราบดังนี้

๑) หลักเกณฑ์ กล่าวคือคุณสมบัติ
             (๑) คุณสมบัติทั่วไปของพระสังฆาธิการ ตามความในข้อ ๖
             (๒) คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ตามความในข้อ ๒๖

๒) วิธีการแต่งตั้ง
             (๑) ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าสังกัด ร่วมกันพิจารณาคัดเลือก
             (๒) ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเจ้าคณะจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

๓) หากมีปัญหา
             (๑) ในกรณีที่ไม่มีรองเจ้าคณะอำเภอและรองเจ้าคณะตำบล ให้เจ้าคณะอำเภอเลือกเจ้าอาวาสในตำบลนั้นเข้าร่วมพิจารณาด้วย (องค์พิจารณาต้องไม่ต่ำกว่า ๓ รูป)
             (๒) ถ้าผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนั้น เป็นเจ้าคณะจังหวัดอยู่ด้วย ให้เจ้าคณะภาคเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง

 

ข้อมูลที่ควรดูเพิ่มเติม

           แบบเอกสารเพื่อรายงานขอแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี