วิธีตำหนิโทษและภาคทัณฑ์
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐


ตำหนิโทษ

                ตามความในข้อ ๕๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ กำหนดโทษฐานละเมิดจริยาไว้ ๔ อย่าง เฉพาะการตำหนิโทษ เป็นการลงโทษอย่างที่ ๓ จัดเป็นโทษสถานเบา มีไว้เพื่อลงโทษแก่ผู้ละเมิดจริยาซึ่งไม่ควรลงโทษถึงถอดถอน หรือปลดจากตำแหน่งหน้าที่ มีข้อควรศึกษาดังนี้

๑. ความผิดอันเป็นเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง
                ๑.๑ ความผิดฐานละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรง
                ๑.๒ ความผิดฐานละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงแต่มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี

๒. ผู้สั่งลงโทษ
                ๒.๑ ความผิดใน ๑.๑ ผู้บังคับบัญชา
                ๒.๒ ความผิดใน ๑.๒ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

๓. วิธีปฏิบัติ
                ๓.๑ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นผู้ใต้บังคับบัญชาละเมิดจริยาอย่างไม่ร้ายแรงถึงกับต้องถอดถอน ให้สั่งตำหนิโทษได้
                ๓.๒ ถ้าพระสังฆาธิการรูปใดรูปหนึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า รูปนั้นละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงจริง แต่ผู้บังคับบัญชาเห็นเหตุอันควรปรานี ให้สั่งตำหนิโทษได้
                ๓.๓ การสั่งตำหนิโทษนั้น ให้แสดงความผิดเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีกำหนดไม่เกิน ๓ ปี และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
                ๓.๔ ให้อำนาจดำเนินการในระหว่าง
                      ๓.๔.๑ ถ้ากลับประพฤติดีในทางคณะสงฆ์พอควรแล้ว ให้สั่งลบล้างตำหนิโทษก่อนกำหนดได้
                      ๓.๔.๒ ถ้าละเมิดฐานเดิมหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ให้ถือว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ในเมื่อมีการละเมิดฐานเดิมหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดต้องรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เพื่อพิจารณาลงโทษฐานละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง

 

ภาคทัณฑ์

                ส่วนการลงโทษภาคทัณฑ์นั้น ภาคทัณฑ์เป็นการลงโทษฐานละเมิดจริยาอย่างเบาที่สุด ซึ่งมีกำหนดไม่เกิน ๑ ปี ใช้ลงโทษแก่พระสังฆาธิการผู้ละเมิดจริยาซึ่งผู้บังคับบัญชาเห็นว่ายังไม่ควรลงโทษถึงตำหนิโทษ ในระหว่างที่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์นั้น ถ้า

                ๑. หากกลับประพฤติดีในทางคณะสงฆ์พอควรแล้ว ให้สั่งลบล้างภาคทัณฑ์ก่อนกำหนดได้
                ๒. ถ้าละเมิดจริยาอีก ให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไปโดยควรแก่กรณี
ในเมื่อมีการละเมิดจริยาอีก ให้สั่งลงโทษถัดขึ้นไป อาจเป็นตำหนิโทษหรือถอดถอนก็ได้ อยู่ที่การละเมิด
อนึ่ง การสั่งตำหนิโทษหรือสั่งลบล้างการตำหนิโทษ และการสั่งภาคทัณฑ์หรือสั่งลบล้างการภาคทัณฑ์นั้น เมื่อสั่งการแล้วต้องรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตน

 

ข้อมูลหรือแบบพิมพ์ที่ควรดูเพิ่มเติม
                >> แบบเอกสารเกี่ยวกับการตำหนิโทษและภาคทัณฑ์พระสังฆาธิการ

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี