ที่ดินวัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดตามกฎหมายของสงฆ์มี
๓ ประเภท
๑
ที่วัด หมายถึงที่ดินที่ตัววัดตั้งอยู่มีอาณาเขตเห็นชัด
๒
ที่ธรณีสงฆ์ หมายถึงที่อันเป็นสมบัติของวัดจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
๓
ที่กัลปนา ที่ดินนี้ไม่ถวายตัวผืนดินถวายแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา
วัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้นท่านย่อมมีสิทธิในการ หาประโยชน์จากที่ดินของวัดได้ แต่มิใช่ว่าพระคุณท่านจะสามารถจัดผลประโยชน์ในที่ดินวัดได้อย่างอิสระเสรี
ทั้งนี้เพราะคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมมีมาตรการป้องกันผลเสียหายอันจักเกิดขึ้นแก่พระศาสนาตามมาภายหลัง
เจ้าอาวาสจึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับของคณะสงฆ์ และต้องเพื่อการสงเคราะห์กับประชาชนทั่วไปเพื่อประโยชน์กับพระศาสนา
ที่ดินของวัดจะทำการซื้อขายไม่ได้
และหรือจะนำความขึ้นฟ้องร้องให้บังคับที่ดินของวัดมาเป็นของตนเองก็กระทำไม่ได้
แต่วัดสามารถจัดให้เช่าได้ทั้งที่ตั้งวัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่กัลปนา
ในระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 3 ปี ถ้าเกินกว่านี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ซึ่งการเช่าที่ดินจะต้องไม่ใช้การเช่าเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้เช่า
และไม่ว่าใครขอเช่าที่ดินวัดก็ต้องเก็บค่าตอบแทนทุกราย การให้เช่าที่ดินวัดโดยไม่มีค่าตอบแทนไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย
(เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนไว้)
ปัญหาอันเกิดกับที่ดินวัดมีมากมาย
บางเรื่องยังหาข้อยุติไม่ได้ เช่น บอกว่าจะยกที่ให้วัดแต่ไม่มีการโอนให้วัด
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าถ้ามีเจตนาก็ถือว่าที่ดินนั้นเป็นของวัดแล้ว อีกฝ่ายบอกว่าถึงมีเจตนาแต่ถ้าหากไม่เป็นพินัยกรรมหรือยังไม่โอนที่ดินถวายวัดก็ถือว่าที่ดินนั้นยังไม่ใช่ที่ดินวัด
ลูกหลานก็เลยนำไปขายทอดตลาดหรือบุคคลที่ไปอยู่อาศัยในที่ดินวัดอยู่ไปนาน
ๆ กลับฟ้องร้องต่อศาลขอออกโฉนดนำที่วัดมาเป็นของตนเอง
เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับวัด
วัดเป็นสถาบันที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาแต่โบราณกาล
เป็นสถาบันที่มีบทบาทต่อชีวิตสังคมไทยเป็นอย่างมากข้อเขียนที่ท่านผู้อ่านจะได้เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับวัดในบางแง่มุมเท่านั้น
เพราะถ้าจะพูดหรือเขียนเรื่องเกี่ยวกับวัดให้ละเอียดจริง ๆ จะต้องใช้เวลามิใช่น้อยและจะต้องเป็นเอกสารได้หลายสิบหน้ากระดาษ
ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเลย ข้อเขียนนี้แม้จะได้อ้างหลักฐานในเชิงวิชาการอยู่บ้าง
แต่มีความประสงค์ที่จะให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากกว่าถือเป็นหลักสูตรหรือตำรา
๑.
วัดคืออะไร ?
(
๑. ) วัดตามความหมายของสามัญสำนึกทั่วไปได้แก่
๑. สถานที่ทางศาสนาอันประกอบไปด้วยอุโบสถ
กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ ฯ
๒. สถานที่เคารพสักการะสำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง
ๆ
๓. สถานที่อยู่อาศัยของบรรพชิต
นักพรตหรือนักบวชหรือผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม
( ๒. ) วัดตามความหมายของพระราชบัญญัติหรือกฎหมาย
๑.
มาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๓๕
บัญญัติไว้ว่า วัดมีสองอย่างคือ
(
๑. ) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ได้แก่วัดที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว
ซึ่งจะได้ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตแล้วหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแต่ถ้าได้ทำ
สังฆกรรมผูกพัทธสีมาแล้วถือว่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จัดเป็นวัดประเภทพัทธสีมา
(
๒. ) สำนักสงฆ์ ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สำนักสงฆ์ ก็คือวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นเอง
เพียงแต่ว่าวัดนั้น ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเท่านั้น
ที่นี้ ควรจะได้ทำความเข้าใจคำว่า วัดถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย
เพราะมีความเข้าใจสับสนกันอยู่มาก ถึงกับนำมาเป็นสาเหตุโต้เถียงทะเลาะวิวาทกันใหญ่โต
หลักเกณฑ์ที่ถือว่าวัดถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือ
๑. ถ้ามีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่า
วัดใดสร้างหรือมีมาก่อน พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้ถือว่าวัดนั้นเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย
โดยยอมรับว่าเป็นวัดมีนานหรือมีมาก่อนกฎหมาย แต่ทั้งนี้ต้องมีหลักฐานอ้างอิงยืนยันได้จริง
ๆ จะมาอ้างว่าวัดนั้นวัดนี้สร้างขึ้นหรือตั้งขึ้นก่อนกฎหมาย (
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ) ขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้
๒. ถ้าวัดใดสร้างหรือตั้งขึ้นหลัง
พ.ศ.๒๔๘๔ วัดนั้นจะต้องได้รับอนุญาตสร้างและตั้งวัดเสียก่อน
จึงจะถือว่าเป็นวัดถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการขออนุญาตสร้างและตั้งวัดนี้
ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง คือกฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๗
ปัญหามีว่า
ในกรณีวัดทั่วไปที่สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๘๔ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตสร้างและตั้งวัดให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงดังกล่าวนั้นจะเรียกว่าอะไร
? อันนี้ไม่มีศัพท์เรียกในภาษากฎหมายเอาไว้ จึงบัญญัติศัพท์เรียกกันเองว่า
ที่พักสงฆ์ เพราะถ้าจะเรียกว่า วัดเถื่อน มันก็ออกจะรุนแรงไปและวัดประเภทที่พักสงฆ์นี้แหละสร้างปัญหาให้แก่เจ้าคณะผู้ปกครองมิใช่น้อย
เพราะปัจจุบันนี้ที่พักสงฆ์อยู่ตามดงตามป่ากระจัดกระจายทั่วไป
๓. นิติบุคคล มาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ดี และตามมาตรา ๗๒ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ดี
บัญญัติให้วัดที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วเป็นนิติบุคคล คือเป็นบุคคลตามกฎหมาย
เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวงกรมหรือ บริษัท ห้างร้าน ที่ได้จดทะเบียนแล้ว
๒.
ที่วัดและที่ขึ้นต่อวัด
มาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ว่า ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดมีดังนี้
๑.
ที่วัด คือ ที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น
๒.
ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
๓.
ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศผลประโยชน์แก่วัดหรือพระศาสนา
ที่วัด
คงไม่มีปัญหาสงสัย เพราะโดยปกติกำหนดเอาเขตรั้วหรือกำแพงวัดอาจจะกำหนดเอาแนวต้นไม้
แนวป่า แนวแม่น้ำลำคลอง หรือ เสาหลักปักเป็นเขตวัดได้ เพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นเขตวัด
ที่ธรณีสงฆ์ ความจริงก็คือที่ดินของวัดนั้นเอง
เพียงแต่แนวรั้วหรือกำแพงวัดคลุมไปไม่ถึง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า
ที่ธรณีสงฆ์คือที่ดินของวัดที่อยู่นอกรั้วหรือกำแพงวัดหรืออยู่นอกวัด
ซึ่งทางวัดอาจจะใช้เป็นที่จัดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สร้างอาคารห้องแถวให้คนเช่า
ถ้าที่ดินเป็นที่สวนหรือที่ไร่ที่นา ก็ให้คนเช่าทำสวนไร่ทำนาได้กฎหมายจึงใช้คำว่า
ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
ที่กัลปนา ไม่ใช่ที่ดินของวัด กรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของคนอื่นอยู่
แต่เจ้าของที่ดินนั้น มีจิตศรัทธา อุทิศยกผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินนั้นให้แก่วัดใดวัดหนึ่ง
หรือแก่พระศาสนา เช่น นาย ก. มีที่นาอยู่ ๒๐ ไร่ให้คนเช่าทำนาปีละ
๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาท) นั้น ให้แก่วัดใดวัดหนึ่งหรือแก่พระศาสนา
แต่ที่ดินนั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ก. อยู่
๓.
การคุ้มครองที่ดินวัด
ที่ดินของวัดนั้นมีกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน
ใคร ๆ จะเขาครอบครองยึดถือเอาที่ดินวัดโดยพลการไม่ได้เด็ดขาด ดังต่อไปนี้
๑.มาตรา
๓๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๓๕ บัญญัติไว้ว่า
การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือ ที่ศาสนสมบัติกลางให้ทำได้แต่โดยพระราชบัญญัติ
เว้นแต่กรณีตามวรรคสอง
การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์
หรือ ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องและได้รับค่าผาติกรรม จากส่วนราชการ
รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือกรมการศาสนาในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด
ที่ธรณีสงฆ์ หรือศาสนสมบัติกลาง
จากข้อความตามบทบัญญัติข้างต้น
หมายความว่า ถ้าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลางให้แก่บุคคลอื่น(เอกชน)
จะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น คือ ต้องออกเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภา
(สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาผู้แทนราษฎร) จะออกเพียงแค่เป็น
กฎ ระเบียบ หรือ คำสั่ง ไม่ได้ เช่น เจ้าอาวาสหรือใคร ๆ ก็ตาม
จะไปทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ให้แก่บุคคลหนึ่งไม่ได้เด็ดขาด
ซึ่งเจ้าอาวาสต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ อย่าได้เผลอไปยกที่ดินวัดให้ใครเป็นอันขาด
ที่นี้ ในกรณีที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด
ที่ธรณีสงฆ์ หรือ ที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสารกิจ
หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐเช่น จะโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดวิบูลธรรมารามให้แก่กรมทางหลวง
ซึ่งจำเป็นต้องตัดผ่านวัดส่วนหนึ่ง อย่างนี้จะทำได้เมื่อ
ก.
มหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องหรือเห็นชอบแล้ว
ข.ได้รับเงินค่าผาติกรรม
(ค่าเวนคืนที่ดิน)แล้ว
ค.
ต้องออกหรือตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
อันว่า พระราชกฤษฎีกา นั้น ก็คือกฎหมายอย่างหนึ่งนั้นเองเพียงแต่ว่ามีขั้นตอนในการออกพระราชบัญญัตินั้นต้องเสนอผ่านรัฐสภามีการพิจาณาและอภิปรายชี้แจงเหตุผลกันกว้างขว้าง
ต้องผ่านวาระหนึ่งสองสาม กว่าจะออกพระราชบัญญัติแต่ละฉบับได้ยากเย็นพอสมควร
ส่วนพระราชกฤษฎีกานั้นเพียงผ่านมติ คณะรัฐมนตรีก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ก็คือ ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือกรมศาสนา
ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือ ที่ศาสนสมบัติกลาง
เช่น ที่ดินวัดหรือที่ธรณีสงฆ์วัดใดวัดหนึ่งซึ่งมีเอกสารหลักฐานครบอยู่แล้ว
ถึงจะมีใคร ๆ เข้าไปอยู่ครอบครองนานกี่ปีก็ตาม แต่ที่ดินหรือที่ธรณีสงฆ์ของวัดนั้น
จะไม่ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของคนนั้นเลย จะยกความขึ้นต่อสู้กับวัดว่า
ได้เข้าครอบครองโดยปรปักษ์มานานไม่ได้
๒. มาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติไว้ว่าที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง
เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ข้อกฎหมายข้างต้นนี้หมายความว่า
ใครจะฟ้องร้องบังคับคดียึดเอาที่ดิน ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางไม่ได้เด็ดขาด
เช่น สมมุติว่า เจ้าอาวาสหรือ ไวยาวัจกร หรือ มรรคนายก เอาที่ดินวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ฝากขายหรือเอาไปจำนอง
เพื่อกู้ยืมเงินจากใครก็ตามในวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาท)
ทำสัญญาถูกต้องอายุสัญญาหนึ่งปี ครั้นหมดหรือสิ้นสุดอายุสัญญาทางวัดไม่สามารถเอาเงินไปไถ่ถอนที่ดินได้
คือ ทางวัดผิดสัญญานั้นเอง อย่างนี้เขาต้องฟ้องร้องวัดแน่ เขาชนะคดีอย่างไม่มีปัญหาเพราะทางวัดเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง
กรณีเช่นที่กล่าวข้างต้นนี้ เขาจะบังคับยึดเอาที่ดินวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้
เพราะที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความผิดแห่งการบังคับคดี
ดังกล่าวแล้ว แต่เชื่อว่าไม่มีใครโง่รับจำนองที่ดินวัดดอก
๓. มาตรา ๓๒ ทวิ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่าวัดใดเป็นวัดร้างไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย
ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด ให้กรมการศาสนามีหน้าที่ในการปกครองดูแลรักษา
รวมทั้งที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และ ทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย
ที่วัดร้างใคร ๆ อย่าเข้าใจผิดว่าไม่สำคัญ
เพราะมีกฎหมายคุ้มครองเหมือนกัน ดังที่บัญญัติไว้ข้างต้นนั้น คือ
ถ้าวัดนั้นยังไม่ได้ประกาศยุบเลิกวัดเป็นทางการ ชั่วระยะเวลาที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัยนั้น
กรมการศาสนามีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาอยู่ แต่ถ้าประกาศยุบเลิกวัดไปแล้ว
ที่ดินวัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ของวัดก็ดี ทรัพย์สินของวัดก็ดี จะตกกลายเป็นศาสนสมบัติกลาง
ซึ่งกรมการศาสนาก็จะมีหน้าที่ดูแลรักษารับผิดชอบต่อไปอีก ดังนั้น
ใคร ๆ อย่าคิดว่าที่วัดร้างจะเข้ายึดครองเอาง่าย ๆ ไม่มีทางดอก
อย่าคิดอยากได้สมบัติของแผ่นดินเลย มันบาปกรรมแก่ตนเองเปล่า ๆ
๔.
เจ้าอาวาสหรือผู้แทนวัด
๑.
มาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ว่าวัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาส
๑ รูป และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็ได้
ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่า
ผู้ปกครองหรือผู้บริหารระดับวัดจะมี ดังนี้
๑. เจ้าอาวาส มีได้เพียงรูปเดียวจะตั้งซ้อนกันไม่ได้
๒. รองเจ้าอาวาสอาจจะมีได้ ๑ หรือ
๒ รูป
๓. ผู้ช่วยเจ้าอาวาส อาจมีได้หลายรูป
ส่วนตำแหน่งผู้ปกครองตำบลนั้นจะมีเพียง
เจ้าคณะตำบลกับรองเจ้าคณะตำบลเท่านั้นไม่มีตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะตำบล
ที่สูงขึ้นไปกว่านี้ก็มีตำแหน่ง คือ รองเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะจังหวัด
รองเจ้าคณะภาค ไม่มีตำแหน่งผู้ช่วยแต่อย่างใด ระวังอย่าเข้าใจและเรียกให้สับสนเรื่องนี้
๒. ผู้แทนวัด
ตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕วรรคท้าย
บัญญัติไว้ว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป ทั้งนี้
เพราะวัดเป็นนิติบุคคลดังที่ได้ทราบมาแล้ว แต่ว่าที่ดินวัดก็ดี
หรือที่ธรณีสงฆ์ก็ดี หรือ อาคารสถานที่ของวัดก็ดี ไม่มีชีวิตวิญญาณที่จะไปทำหรือก่อนิติกรรมใด
ๆ ได้ จึงต้องมีผู้แทนไปทำแทน ผู้แทนของนิติบุคคลวัดก็คือเจ้าอาวาสจะปฏิเสธไม่ได้เลย
จากที่กล่าวข้างต้น เจ้าอาวาสจะทำการใด
ๆ ต้องด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อเจ้าอาวาสไปทำหรือก่อนิติกรรมสัญญาใด
ๆ ไม่ว่าจะว่าจ้าง แจ้งความ ฟ้องร้อง มันมีผลทางกฎหมายต่อวัดทั้งนั้น
ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่ใช่เจ้าอาวาส แต่บังอาจไปทำนิติกรรมใด
ๆ ในนามวัด จะไม่มีผลในทางกฎหมายแต่อย่างใดเลย
๕.การแต่งตั้งเจ้าอาวาส
โดยที่วัดเป็นสถาบันที่สำคัญและเป็นบุคคลดังกล่าวแล้ว
วัดจึงว่างเจ้าอาวาสไม่ได้ หรือ จะปล่อยให้วัดว่างเจ้าอาวาสนานไม่ได้มันจะเกิดความเสียหายแก่วัดยิ่งวัดใหญ่
ๆ ที่มีผลประโยชน์มาก ๆ มีกิจกรรมมาก ๆ ต้องรีบดำเนินการ ถ้าจะแต่งตั้งเจ้าอาวาสในทันทีมิได้
ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสไปก่อน
การดำเนินการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนั้น
ให้ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
(แต่เดิมใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖)แต่ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
โดยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๓๕) ดังกล่าว) ดังจะชี้แจงพอเป็นแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
ข้อ ๒๖ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๓๕) บัญญัติว่า
ในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดใด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลนั้นกับเจ้าคณะอำเภอ
ปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัดนั้น เพื่อคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้
โดยการจดบันทึกลงในเอกสารตามแบบฟอร์มที่กำหนดขึ้นอย่างถูกต้องเรียบร้อย
แล้วรายงานขอแต่งตั้งไปยังเจ้าคณะจังหวัด เมื่อเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาแล้วจะมีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
ข้อที่จะต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องในการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
คือ
(๑)
เจ้าคณะตำบลนั้นกับเจ้าคณะอำเภอ ต้องปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัดนั้น
เจ้าคณะตำบลหรือเจ้าคณะอำเภอ จะทำรายงานเสนอขึ้นไปลอย ๆ ไม่มีเอกสารหลักฐานการปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาส่งขึ้นไปไม่ได้
ต้องทำตามแบบฟอร์มยื่นเจ้าคณะจังหวัดเรื่องนี้ ห้ามทำมุบมิบเป็นอันขาด
(๒)
กฎหมายเถรสมาคมใช้ศัพท์ว่า ปรึกษา คือ ปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัดนั้น
ไม่ได้ช้ำว่า ประชุม ทั้งนี้เพราะในการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
เจ้าคณะจังหวัดผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งตามเสียงมากเสมอไป
ถ้าใช้ศัพท์ว่า ประชุม จึงถือเอาตามมติเสียงข้างมาก
(๓)
เจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
เจ้าคณะตำบลกับเจ้าคณะอำเภอ เป็นเพียงผู้ดำเนินการเท่านั้น
เมื่อรวบรวมเอกสารเสนอเจ้าคณะจังหวัดแล้ว เจ้าคณะจังหวัดจะแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดหรือไม่
เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งเจ้าคณะจะแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดนั้นนอกจากพิจารณาถึงคุณสมบัติแล้ว
ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย
ปัญหาที่ไม่เข้าใจกันก็คือว่า คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่า
พระภิกษุรูปที่ได้รับคะแนนสนับสนุนมาก ต้องได้แต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
ซึ่งมันไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เช่น พระภิกษุ ก.มีผู้สนับสนุนเป็นพระภิกษุสามเณร
๒๐ รูป และเป็นทายกทายิกา ๖๐ คน พระภิกษุ ข.มีผู้สนับสนุนเป็นพระภิกษุ
๑๑ รูป เป็นทายกทายิกา ๒๕ คน ถ้าเจ้าคณะจังหวัดเห็นว่า พระภิกษุ
ข.เป็นผู้มีความเหมาะสมกว่า ก็แต่งตั้งพระภิกษุ ข.เป็นเจ้าอาวาสได้
และถือว่ายุติ
อนึ่ง ผู้ที่รักการแทนเจ้าอาวาส
อย่าเข้าใจว่าจะได้รับแต่งตั้งเจ้าอาวาสเสมอไป เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่า
ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเป็นเจ้าอาวาส มันขึ้นอยู่ที่ความจำเป็นและความเหมาะสมของวัดนั้น ๆ เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาเป็นกรณีไป
๒.แต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
การดำเนินการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดหลวงหรือพระอารามหลวงนั้นจะไม่ค่อย
มีปัญหายุ่งยากมากนัก เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่า พระอารามชั้นใดชนิดไหนในส่วนกลางหรือภูมิภาคต้องแต่งตั้งพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ชั้นใด
ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัด ที่จะพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุที่มีคุณสมบัติและมีความเหมาะสม
ทำบัญชีเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคม เมื่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเห็นชอบหรืออนุมัติแล้วสมเด็จพระสังฆราชจะทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง
ไม่มีการปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัดนั้นแต่อย่างใด
๓.ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ได้กล่าวแล้วว่า
ถ้าจะแต่งตั้งเจ้าอาวาสในทันทีมิได้ ให้ผู้มรอำนาจหน้าที่สั่งแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสไปพลางก่อน
และ ผู้มีอำนาจหน้าที่สั่งแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสนั้น
คือ
๑. วัดราษฎร์ เจ้าคณะตำบลสั่งแต่งตั้ง
เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดสั่งแต่งตั้งไม่ได้
๒. พระอารามหลวง เจ้าคณะจังหวัดสั่งแต่งตั้ง
แต่ในกรณีจำเป็นต้องแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ให้เจ้าคณะภาคสั่งแต่งตั้ง
ข้อควรตระหนักในการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ก็คือว่าถ้าวัดนั้นมีรองเจ้า-อาวาส ให้แต่งตั้งรองเจ้าอาวาส เว้นแต่รองเจ้าอาวาส
เว้นแต่รองเจ้าอาวาสนั้นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้แต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาส
เว้นแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสไม่มีหรือมีแต่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
คือ ให้พิจารณาจากรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส จนถึงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
และที่ต้องเข้าใจอีก คือ
๑. อย่าแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
เพราะผิดมติมหาเถรสมาคม เช่น เจ้าคณะตำบลจะแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดราษฎร์วัดใดวัดหนึ่งไม่ได้
หรือ เจ้าคณะจังหวัดจะแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดใดวัดหนึ่งไม่ได้
๒.
ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส
แต่ต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยังไม่ได้การยอมรับอย่างแท้จริง
เช่น อย่าไปเสนอแต่งตั้งรองหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสเหตุว่าเมื่อตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส
มันจะทำให้เจ้าอาวาสรูปใหม่หนักใจ
การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
ให้ไปอ่านศึกษาดูกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๑๓) และการแต่งตั้งรองเจ้าอาวาสผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ให้ไปอ่านศึกษาหรือดำเนินการตามความในข้อ ๒๗ แห่งกฎมหาเถรสมาคม
ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๕๓๕) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
๖.สถานภาพเจ้าอาวาส
๑.หน้าที่เจ้าอาวาส
มาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ บัญญัติไว้ว่าเจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้
๑. บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
๒.ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัด
ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับหรือคำสั่งของเถรสมาคม
๓. เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
๔. ให้ความสะอาดตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
๒. อำนาจเจ้าอาวาส มาตรา๓๘
แห่งมาตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ว่าเจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้
๑. ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่ได้อนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
๒. สั่งบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
๓. สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีอยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัด
ทำงานภายในวัดหรือทำทัณฑ์บนหรือขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งของเจ้า-อาวาสซึ่งสั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย
กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
๓.เจ้าพนักงาน มาตรา ๔๕
แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ว่า
พระภิกษุผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในทางการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร
เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงถือว่าเป็นพนักงานด้วย
และเป็นเจ้าพนักงานแบบเบ็ดเสร็จเสียด้วย คือ
๑.เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลรับผิดชอบในกิจการวัดทั่วไป
พูดง่าย ๆ ว่าภายในวัดไม่มีใครใหญ่กว่าเจ้าอาวาส
๒.เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายยุติธรรม
เมื่อมีอธิกรณ์หรือมีความผิดเกิดขึ้นในวัด เจ้าอาวาสมีอำนาจหน้าที่สืบสวน
สอบสวน และมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยลงโทษได้ด้วย
๔.พระสังฆาธิการ
สถานภาพของเจ้าอาวาสอีกอย่างหนึ่ง คือ พระสังฆาธิการ หมายความว่า
เป็นพระเจ้าหน้าที่ นั้นเอง จะเรียกตามภาษาตลอดว่า พระเจ้านาย
ก็ได้ ถ้าเทียบเทียบกับทางฝ่ายบ้านเมืองก็คงเหมือน ข้าราชการ กระมัง?
พระสังฆาธิการจึงต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าพระภิกษุธรรมดาทั่วไป
นอกจากพระธรรมวินัยแล้ว ยังมีจริยาพระสังฆาธิการกำกับไว้อีกโสดหนึ่งด้วย
การเรียกหรือการเขียนชื่อเจ้าอาวาสนั้น
ถ้าไม่มียศหรือสมณฐานันดรศักดิ์เป็นอย่างอื่น เรียกว่า พระอธิการ
เช่นพระอธิการทองสุข สุขวโร พระอธิการประยูร ปยูตฺโต ถ้ามียศหรือฐานันดรศักดิ์ก็ให้เรียกตามนั้น
เช่น พระสมุห์สุนทร อภิชาโต พระครูสิริปัญญาภรณ์ พระปลัดสำราญ
เขมญาโณ เป็นต้น ส่วนเจ้าคณะตำบลนั้น ถ้าไม่มียศหรือสมณฐานันดรศักดิ์อย่างอื่น
เรียกว่า เจ้าอธิการ ถ้ามียศหรือสมฐานันดรศักดิ์ก็ให้เขียนหรือเรียกตามยศนั้น
ๆ เช่นเดียวกับเจ้าอาวาสดังที่กล่าวข้างต้น
๗.การปกครองวัด
การปกครองหรือการบริหารวัดนั้น
ถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุดก็คือ การบำรุงรักษาและการพัฒนาวัด นั้นเอง
ซึ่งโดยตรงนั้นเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าอาวาส รวมไปถึงพระภิกษุสามเณรภายในวัดตลอดจนกรรมการและทายกทายิกาแห่งวัดนั้น
ๆ ดังจะขอเสนอแนะดังต่อไปนี้
๑. การทำป้ายชื่อวัด วัดทุกวัดต้องทำป้ายชื่อวัดเอาไว้เขียนข้อความบอกตำบลที่อยู่ให้ชัดเจน
ควรทำด้วยวัสดุที่มั่นคงถาวร ถ้าวัดสร้างซุ้มประตูก็ควรทำป้ายชื่อวัดไว้ที่ซุ้มนั้น
ถ้าเห็นสมควรก็ควรทำป้ายชื่อวัดไว้หลาย ๆ ด้าน เพื่อคนผ่านไปมาในด้านไหนจะมองเห็นได้สะดวก
จะเป็นประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร บางวัดแม้จะผ่านทุกมุมแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าชื่อวัดอะไร
เพราะไม่มีป้ายชื่อ วัดไว้เลย เรื่องนี้มันไม่หนักหนาอะไรเลย แต่เจ้าอาวาสไม่เอาใจใส่
สำหรับวัดเล็ก ๆ ตามชนบทบ้านนอก ลงทุนทำป้ายเพียง ๑,๐๐๐ บาทก็พอแล้ว
อย่างอื่นทำไมจึงยอมเสียได้ ซื้อหวยเบอร์งวดละพัน ๆ บาทไม่เห็นเสียดายเลย
๒. จัดทำแผนผังวัด วัดทุกวัดควรจัดทำแผนผังวัดไว้ให้เป็นที่แน่นอน
โดยขอความร่วมมือช่วยเหลือให้ท่านผู้มีความเชี่ยวชาญด้านแผนที่ทำให้ในการจัดทำแผนผังวัดนี้ให้พิจารณาขนาดพื้นที่และรูปที่ดินของวัดว่า
กว้างยาวเท่าไร มีรูปผืนดินเป็นทรงอะไร แล้วกำหนดเป็นเขตพุทธาวาส
สังฆาวาส เขียนแผนผังไว้เลย กุฏิอยู่แถวไหน อุโบสถ ศาลาการเปรียญ
หอระฆัง เมรุเผาศพ อยู่ตรงไหน สนามบริเวณหรือลานวัดอยู่ที่ใด เวลาจะก่อสร้างเสนาสนะใดก็สร้างตามแผนผังที่ทำไว้นั้น
เพื่อให้มันเป็นแถวเป็นแนว เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม และที่สำคัญต้องคำนึงถึงการควบคุมดูคนในวัดด้วย
ดังที่เราจะเห็นว่า มีวัดหลายวัดสร้างเสนาสนะแบบไม่มีแผนผังวัด
สร้างกุฏิไปทั่วบริเวณวัด มุมนี้หลังหนึ่ง มุมโน้นหลังหนึ่ง มุมโน้นหลังหนึ่ง
กระจัดกระจายไปทุกด้านทุกมุมของวัด สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณวัด
เนื้อที่วัดกว้าง ๆ แต่หาที่ดูพอเจริญตาเจริญใจไม่ได้ เจ้าอาวาสรูปเดิมสร้างตรงนี้
เจ้าอาวาสรูปใหม่สร้างตรงโน้น บางวัดอุตริไปสร้างห้องน้ำ ห้องส้วม
ตรงทางออกของวัดนั้นแหละโดยไม่คิดว่ามันควรหรือไม่ควรอย่างไร ทั้งนี้เพราะไม่มีแผนผังนั้นเอง
๓. การทำประวัติวัด โดยที่วัดเป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางปะวัติศาสตร์และสังคม
วัดทุกวัดจึงควรมีสมุดเล่มใหญ่ จดบันทึกประวัติและเหตุการณ์ของวัดไว้ทุกขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่ วัน เดือน ปี ที่ก่อสร้างหรือตั้งวัด เนื้อที่ดินวัดครั้งแรกมีเท่าไร
ต่อมามีเพิ่มขึ้นอย่างไรได้มาอย่างไร มีที่ธรณีสงฆ์หรืกัลปนาหรือไม่อย่างไร
มีเจ้าอาวาสผ่านมาแล้วจนถึงปัจจุบันกี่รูป ชื่ออะไร เป็นเจ้าอาวาสจาก
พ.ศ. ไหน ถึง พ.ศ. ไหน กุฏินี้สร้างเมื่อไหร่ สิ้นเงินไปเท่าไร
ศาลาการเปรียญมีขนาดกว้างยาวเท่าไร สร้างขึ้นเมื่อไร อุโบสถมีขนาดกว้างยาวเท่าไร
สร้างขึ้นและสำเร็จ พ.ศ.ไหน สิ้นเงินไปเท่าไร ลงรายละเอียดไปกระทั้งว่าใครทอดกฐินปีใด
ได้เงินบำรุงวัดเท่าไรมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมวัดหรือมาประกอบกิจกรรมในวัด
ชื่ออะไร เมื่อไร บันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นไว้ทุกขั้นตอน
อนึ่ง วัดจะต้องมีสมุดบัญชีทะเบียนต่าง
ๆ เช่น บัญชีสำรวจพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด บัญชีรายชื่อและสถิติจำนวนนักเรียน
ทั้งแผนกธรรมและบาลีและแผนกอื่น ๆ เพื่อจะได้ทราบว่าแต่ละปีหรือแต่ละพรรษาที่แล้ว
ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ มีจำนวนเท่าไร มีนักเรียนส่งเข้าสอบชั้นต่าง
ๆ จำนวนเท่าไร สอบได้ สอบตก จำนวนเท่าไร ต้องทำไว้ตลอด
๔. สร้างเสนาสนะเหมาะสม
ก่อนที่จะตกลงสร้างเสนาสนะอะไร เจ้าอาวาสต้องคิดดูให้คิดดูให้ดีเสีย
ต้องปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเสียก่อนว่า จะสร้างขนาดใด
ตรงไหน มีแบบแปลนแผนผังอย่างไร มีทุนทรัพย์อยู่แล้วเท่าไร จะต้องหาอีกเท่าไรจะได้จากแหล่งไหนบ้าง
กะระยะเวลาในการต่อสร้างนานเท่าไรและที่สำคัญคือต้องคำนึงว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะใช้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่
เจ้าอาวาสบางรูปคิดผิด คิดว่าตัวเองจะไม่รู้จักตาย
ถือว่าตัวเองมีบุญบารมีมากมีคนศรัทธาเลื่อมใสมาก คิดอยากจะสร้างสิ่งใด
ตรงไหน ก็ทำลงไปเลย อ้างว่าฉันหาเงินสร้างเองได้ ฉันจะสร้างอย่างนี้ใครจะทำไม
ไม่คิดว่ามันจะมีปัญหาภายหลัง เพราะเมื่อสร้างลงไปแล้วมันรื้อถอนยาก
ความจริงนั้นเจ้าอาวาสตายได้หรือเปลี่ยนได้ แต่วัดไม่รู้จักตายและเปลี่ยนแปลงไม่ได้
เจ้าอาวาสอย่าคิดสร้างภาระหนี้สินแก่วัดและคนภายหลัง เจ้าอาวาสบางรูปอ้างเอาการก่อสร้างหรือสิ่งที่ก่อสร้างบิณฑบาตเรี่ยไรเงินทั้งปีทั้งชาติ
สร้างอันนี้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย เอ้า ...สร้างสิ่งโน้นอีกแล้ว
บางที่สิ่งที่สร้างขึ้นก็ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า สร้างกระท่อมกระต๊อบกระแต๊บไว้ทั่วมุมวัด
อนึ่ง การสร้างเสนาสนะในวัดนั้น
ต้องคำนึงถึงศิลปวัฒนธรรมของไทยให้มาก ๆ เพราะศิลปวัฒนธรรมเป็นเอกราชอย่างหนึ่งของชาติมีหลายวัดสร้างอุโบสถ
กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ แบบรูปทรงแปลก ๆ หลังคาแบบอาคารร้านค้าบ้าง
ดัดแปลงทรงไทยให้เป็นฝรั่งบ้าง คงนึกว่ามันโก้เก๋อะไรทำนองนั้น
หารู้ไม่ว่ามันเสียเอกลักษณ์ไทยไปแล้ว บางวัดสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กองค์ใหญ่เอาเอง
แบบไม่มีพุทธศิลป์สร้างเป็นปางโน้นปางนี้แบบลวก ๆ ตั้งไว้ตามโคนต้นไม้ทั่ววัดทั่ววาไปหมด
ไม่มีคนปรนนิบัติรักษา ปล่อยให้สกปรกเศร้าหมอง มองดูแล้วเหมือนกับตุ๊กตาที่คนเขาไม่ต้องการ
ของสูงศักดิ์ สิทธิ์ก็เลยกลายเป็นของต่ำไป ที่จริงนั้น พระพุทธรูปต้องประดิษฐานไว้ในอุโบสถ
หรือในวิหาร ศาลาการเปรียญ เท่านั้น บางวัดยิ่งไปกันใหญ่เลย เที่ยวได้สร้าง
รูปยักษ์ รูปมาร รูปสัตว์ต่าง ๆ รูปโยนี รูปศิวลึงค์ เต็มวัดไปหมด
โดยไม่คิดว่ามันสมควรหรือเหมาะสมอย่างไรหรือไม่ ?
๕. พัฒนาวัดให้เป็นอาราม
วัดทั่วไปนอกจากจะถือว่าเป็นบุญสถานและปูชนียสถานแล้ว ยังเป็นสาธารณะสถานด้วย
และต้องจัดให้เป็นรมณียสถาน สมกับคำว่า อาราม แปลว่า สถานที่น่ารื่นรมย์หรือสถานที่น่าชื่นชม
ยินดี ต้องมีความเงียบสงบ ไม่พลุกพล่านวุ่นวาย ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม
นอกจากจะสร้างเสนาสนะเป็นแถวเป็นแนว เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว
ต้องปลูกต้นไม้มีความร่มรื่นด้วย ควรแบ่งเนื้อที่วัดออกเป็นเขตสนามหรือลานวัดไว้ส่วนหนึ่ง
เพื่อเป็นแหล่งอากาศบริสุทธิ์หรือปอดของชุมชน ต้องพยายามทำวัดให้เป็นแดนสงบ
ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งภายในและภายนอก การปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก
ไม้ผล ไม้ประดับ ต้องพิจารณาให้ดี บางวัดปลูกต้นไม้มากจริงแต่ไม่เป็นระเบียบ
ไม่เป็นที่เป็นทาง และไม่มีการดูแลรักษา ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังจนหาความร่มรื่นไม่ได้
จะเข้าไปอาศัยร่มเงาของต้นไม้ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีความสะอาดสะอ้าน
เราจะสังเกตเห็นบางวัด ตลอดปีตลอดชาติมีแต่วัสดุก่อสร้างสนามบริเวณวัดเต็มไปด้วยกองหินกรวดทรายเต็มไปด้วยไม้แบบไม้นั่งร้าน
อิฐ เหล็ก ปูน สนามบริเวณวัดกว้าง ๆ หาที่เดินแทบไม่ได้ อย่างนี้ไม่ใช่พัฒนาวัดให้เป็นอาราม
แต่ทำวัดเป็นสลัมมากกว่า เพราะมันแออัดยัดเยียดจนกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม
บางวัดกลายกลายเป็นสนามกีฬาสมัครเล่น มีการเล่นฟุตบอล ตระกร้อ
ขี่จักรยาน และอะไรต่ออะไรทั้งพระทั้งเณรและเด็กวัดส่งเสียงเกรียวกราวไปเลย
บางวัดกลายเป็นโรงมหรสพกลางแจ้ง มีฉายภาพยนตร์ทุกอาทิตย์ มีการเล่นหมอลำหมู่เกือบทุกคืน
มีการแสดงลามกอนาจาร บางวัดเป็นที่มั่วสุมของพวกยาเสพติดให้โทษวัดก็เลยกลายเป็นวิคที่ประชาชนเขาพากันนิยมไปวัดป่ามากขึ้น
ๆ นั้นก็เพราะวัดในบ้านในเมืองกลายเป็นวิคนี้แหละ
๖. การดูแลทรัพย์สินของวัด
ทรัพย์สินของวัดไม่ว่าจะเป็นประเภท ครุภัณฑ์หรือลหุ-ภัณฑ์ ทางวัดต้องมีสมุดบัญชีลงรายการเอาไว้อย่างถูกต้อง
โดยให้ลงรายละเอียดประเภท จำนวน สิ่งของนั้น ๆ ว่าได้มาอย่างไร
แต่เมื่อไรและจำหน่ายออกไปอย่างไร สิ่งของนั้น ๆ ว่าได้มาอย่างไร
สิ่งของใดควรเก็บรักษาไว้ที่ใดและอย่างไร ต้องมอบหมายให้มีผู้ดูแลรับผิดชอบ
สิ่งของอันใดควรนำออกมาใช้ในงานอย่างไร ถ้าเป็นวัดใหญ่ ๆ จะมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง
ๆ เรียกว่า เจ้าอธิการฝ่ายนั้น ๆ เพื่อให้ดูรักษาทรัพย์สินของวัด
เป็นการแบ่งเบาภาระเจ้าอาวาส
เกี่ยวกับการเงินของวัดนั้น ถ้ามีเงินสงฆ์เกินจำนวน
๓,๐๐๐ บาท (สามพัน) ต้องนำฝากธนาคารที่เชื่อถือได้ และ ต้องฝากในนามบัญชีวัด
โดยมีเจ้าอาวาสและกรรมการตามสมควรลงชื่อในการฝากและเบิกถอน ซึ่งแล้วแต่จะตั้งเงื่อนไขกับธนาคาร
ข้อสำคัญ เจ้าอาวาสอย่าฝากเงินวัดในนามชื่อเจ้าของเอง ต้องฝากในนามวัดจะเบิกถอนต้องมีกรรมการเซ็นชื่อตามเงื่อนไข
เช่น ๒ ใน ๓ หรือ ๓ ใน ๔ โดยมีเจ้าอาวาสรับรู้ด้วยทุกครั้ง
มีบางวัดที่เจ้าอาวาสร่วมกับกรรมการวัดบางคนเอาเงินไปใช้ในทางไม่ถูกต้องในรูปแบบต่าง
ๆ คือ ให้คนกู้ยืมเพื่อหวังได้ดอกเบี้ยสูง ๆ บ้าง เอาไปเข้าหุ้นลงทุนกิจการต่าง
ๆ บ้าง เอาไปรับจำนำจำนองสิ่งของบ้าง อย่างนี้เป็นความเสียหายมาก
มันกลายเป็นว่าวัดเป็นนายทุนเงินกู้ วัดเป็นนักธุรกิจ วัดเป็นพ่อค้าวาณิชย์อะไรไปเสียอย่างนั้น
ในที่สุดเงินสูญหายทั้งต้นทั้งดอกอย่าคิดทำเป็นเด็ดขาด
๗. การพัฒนาศาสนบุคคล คำว่า
ศาสนบุคคลในที่นี้หมายเอาคนที่อยู่ในวัด ได้แก่พระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด
ต้องมีการฝึกหัดอบรมและควบคุมดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้ความรู้ความฉลาดและประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย
ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนพระธรรมวินัยและวิชาการอื่นที่สมควร
อย่าปล่อยให้พระภิกษุสามเณรเป็นคนโง่ทุกวัดต้องจัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีพระเณรบวชเข้ามาจะได้มีความรู้ความฉลาด
ต้องฝึกหัดอบรมให้พระเณรมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ต้องให้รักษาสมณสารูปอย่างเคร่งครัดต้องสวดมนต์ไหว้พระได้ถูกต้อง
ต้องสามารถเทศน์หรือแสดงธรรมได้ต้องเป็นผู้นำในทางศาสนพิธีต่าง
ๆ ได้
ปัจจุบันวัดส่วนมากมักจะมุ่งพัฒนาแต่ในด้านศาสนวัตถุ
เพราะอยากได้รับการยกย่องสรรเสริญจากประชาชน แต่ไม่สนใจการพัฒนาศาสนบุคคลเลย
พระภิกษุสามเณรจะได้ศึกษาเล่าเรียนหรือไม่ไม่ได้คิด พระภิกษุสามเณรจะมีความรู้ความฉลาดหรือไม่ไม่ได้คำนึงถึงจึงเห็นทั่วไปว่าหลายวัดมากด้วยวัตถุ
แต่พระภิกษุสามเณรอยู่เพียงไม่กี่รูปและประเภทหลวงตา สวดมนต์ถูก
ๆ ผิด ๆ จะเทศน์หรือแสดงธรรมให้ญาติโยมฟังก็ไม่ได้ สร้างอุโบสถ
วิหาร ศาลาการเปรียญใหญ่โต แต่เอาไว้ให้ค้างคาว นกพิราบ จิ้งจก
ตุ๊กแก อยู่
ความจริงนั้น ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาได้เขียนไว้ชัดว่า
มหาวิหารตั้งพัน มหาเจดีย์ตั้งพัน ก็ไม่สามารถจะทรงพระพุทธศาสนาไว้ได้
ที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากประเทศอินเดียนั้นเพราะยุคหลัง ๆ พระสงฆ์มุ่งแต่ในด้านก่อสร้างวัตถุและมุ่งแต่ในด้านลาภสักการมหาวิทยาลัยนาลันทามีอาคารสถานที่เป็นพัน
ๆ หลังถูกเผาวอดวายหมดศาสนวัตถุในประเทศเขมรช่วยประเทศชาติบ้านเมืองอะไรได้บ้าง
? การให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ความสามารถมีความรู้ความฉลาดและประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยนั้นแล
จึงทรงหรือรักษาพระศาสนาไว้ได้
สรุปว่า การพัฒนาศาสนวัตถุต้องให้ควบคู่กันไปกับการพัฒนาศาสนบุคคล
ถ้าไม่พัฒนาศาสนบุคคลวัดจะไปไม่รอดอย่างแน่นอน บางวัดแต่ละปีลงทุนด้านศาสนวัตถุเป็นแสนเป็นล้านแต่การลงทุนด้านพัฒนาศาสนบุคคลเกือบไม่มีเยอย่างนี้บุคลากรของศาสนาจะมีคุณภาพได้อย่างไรพระสงฆ์จะช่วยสังคมและชาติบ้านเมืองได้อย่างไรเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มากและต้องขวนขวายดำเนินการ
๘. บ้านกับวัดวัดกับบ้าน
บ้านกับวัดหรือวัดกับบ้านเป็นของคู่กัน เพราะมีบ้านแล้วจึงมีวัด
วัดจะอยู่ได้และมีความเจริญมั่นคงต่อไปต้องอาศัยบ้าน ในขณะเดียวกันชาวบ้านจะมีศีลธรรมอยู่กันด้วยความสงบสุขก็ต้องอาศัยวัด
ความสัมพันธ์ ระหว่างบ้านกับวัด จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดทำความเข้าใจกันและต้อง
สร้างสรรค์ให้มีขึ้นให้จงได้ ดังต่อไปนี้
ฝ่ายวัด
๑.
พระภิกษุสามเณรต้องมีการศึกษาเล่าเรียน ต้องมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย
ต้องมีกิริยามรรยาทเรียบร้อยต้องรักษาสมณสารูปให้เคร่งครัด ต้องอยู่กันด้วยความสงบสงัดและมีความสามัครสมานสามัคคี
ต้องมีจิตใจเป็นนักบวชอย่างแท้จริง อย่าคิดอาศัยหรือผ้าเหลืองบังหน้าหาเลี้ยงชีพ
ต้องเคร่งครัดในสิกขาบทวินัยต้องทำตนให้สมกับคำว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก
ต้องทำตนให้ชาวบ้านเคารพกราบไหว้อย่างสนิทใจต่อจากนี้ เจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรต้องมีความปรารถนาดีต่อชาวบ้าน
พยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นในวัด เพื่อชักชวนให้ชาวบ้าน พยายามจัดกิจกรรมต่าง
ๆ ขึ้นในวัด เพื่อชักชวนให้ชาวบ้านได้ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์
เป็นประจำ เห็นชาวบ้านมีความทุกข์ความเดือดร้อน ก็ให้คิดหาทางช่วยเหลือ
เห็นชาวบ้านหลงใหลในทางที่ผิดก็หาทางแนะนำสั่งสอนในทางที่ถูก เห็นชาวบ้านแตกสามัคคีก็หาทางปรับปรุงแก้ไข
กิจกรรมบางอย่างที่ชาวบ้านจัดขึ้น ถ้าไม่ขัดต่อสมณวิสัยแล้วอย่าได้ปฏิเสธ
ข้อที่สำคัญที่สุด คือ พระสงฆ์อย่าไปทะเลาะกับชาวบ้านพออดต้องอด
พอทนต้องทน ชาวบ้านสู้พระเณรไม่ได้อยู่แล้ว พระเณรได้รับการยกย่องนับถือมากกว่าอย่างแน่นอน
ขอให้รักษาความเป็นพระเป็นเณรให้ได้จริง ๆ ชาวบ้านจะยอมรับเอง
พวกชาวบ้านมีศีลน้อยกว่าพระเณรจะไปทะเลาะกับเขาให้มันเสียศักดิ์ศรีทำไม
? เว้นแต่จะเหลืออดเหลือทนจริง ๆ
๒. ทางวัดต้องให้ความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลตามสมควร
คือให้เหมาะสมกับฐานะของชาวบ้านคนนั้น ๆ เขาจะขอใช้สถานที่เขาจะยืมเครื่องใช้ไม้สอย
เขาจะขอคำปรึกษาหารือ เขาจะบวชลูกบวชหลานก็ต้องให้ความสงเคราะห์อนุเคราะห์ตามสมควร
เจ้าอาวาสบางวัดไม่มีความเอื้อเฟื้อเรื่องนี้เลย
ชาวบ้านจะขออาศัยวัดทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อศีลธรรมก็ไม่ได้
จะขอยืมสิ่งของเครื่องใช้ก็ไม่ให้ ชาวบ้านจะเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่รับรู้
ไม่มีอัธยาศัยต่อชาวบ้าน ตระหนี่จนกระทั่งเสื่อสาดหมอนขาด ๆ หวงแหนก็ทั้งข้าวแห้ง
อย่างนี้เป็นการหันหลังให้ชาวบ้านชัด ๆ ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
๓. เวลาชาวบ้านประสบความสูญเสีย
เช่น เวลาตาย ทางวัดต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเจ้าทุกข์ต้องให้ความอบอุ่นใจแก่ชาวบ้านเห็นชาวบ้านทำอะไรไม่ถูกต้องตามประเพณีต้องช่วยแนะนำช่วยเหลือเพราะเวลาตายชาวบ้านมักจะเสียใจทำอะไรไม่ถูกต้องทางวัดต้องช่วยเหลือเป็นกำลังใจ
อย่าคอยแต่จะไปสวดมาติกาบังสุกุลเท่านั้นที่น่าเกลียดที่สุด คือ
เจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรบางวัดเจ้าภาพนิมนต์แล้วสามครั้งยังไม่ยอมไป
อ้างว่าคนตายหรือญาติของคนตายเคยเป็นศัตรูกับวัดบ้างละ อ้างว่าคนตายไม่เคยมีบุญคุณอะไรต่อวัดบ้าง
ละ อย่างนี้ เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะคนตายแล้วถือว่าสิ้นสุดหรือจบกันแค่นั้น
จะไปถือกันอะไรนักหนา ขอให้เข้าใจว่าชาวบ้านเขาต้องการพึ่งพระมากที่สุดก็ตอนเวลาตายนี้แหละ
พิธีการจัดการทำเกี่ยวกับศพเขาต้องพึ่งพาอาศัยพระเณร เขาต้องพึ่งพาศัยวัดไม่ควรนิ่งดูดายเป็นอันขาด
ฝ่ายบ้าน
๑.
ชาวบ้านต้องเคารพยำเกรงต่อวัด ต้องเกรงอกเกรงใจต่อพระภิกษุสามเณร
ต้องคิดเสมอว่าวัดคือสถานที่เคารพสักการะวัดมีผู้ปกครองดูแล มีเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรรับผิดชอบ
จะไปทำหรือเกี่ยวข้องอะไรในวัด ต้องบอกกล่าวให้ทางวัดทราบ ต้องขออนุญาต
ต้องมีความละอายแก่ใจ จะต้องไม่เป็นการล่วงเกินวัด จะต้องไม่ล่วงละเมิดอำนาจหน้าที่เจ้าอาวาสชาวบ้านบางคนหรอบางหมู่บ้านไม่ค่อยคิดเรื่องนี้
โดยมักจะถือว่าวัดเป็นสาธารณสถานจะเข้าไปยุ่มย่ามหรือทำอะไรก็ได้
จึงทำตนใหญ่กว่าพระภิกษุสามเณรในวัด อยากได้อยากเอาอะไรก็เอาไปเลย
อยากทำอะไรหรืออยากกินอะไรก็ทำไปโดยพลการ การเงินการทองของวัดไม่ยอมให้เจ้าอาวาสหรือทางวัดรู้เห็นด้วย
เข้าทำนองที่ว่า สมภารอยู่วัด เจ้าอาวาสอยู่บ้าน ลักษณะอย่างนี้บ้านกับวัดไปด้วยกันยาก
๒. ชาวบ้านต้องช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงวัด
ต้องอุปัฏฐากพระภิกษุสามเณรด้วยปัจจัยสี่ ภัตตาหารเช้าเพล พระภิกษุสามเณรเป็นอยู่อย่างไร
ชาวบ้านต้องคอยดูแลสอบถาม เพราะพระภิกษุสามเณร อาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้าน
เมื่อรวบรวมจตุปัจจัยได้จากงานทำบุญใด ๆ แล้ว ต้องพิจารณาจัดแบ่งถวายพระภิกษุสามเณรใช้สอยบ้าง
เพราะต้องใช้ค่าน้ำค่าไฟ ค่าสบู่ยาสีฟัน ค่าหยูกยารักษาโรค ค่าอะไรต่อมิอะไรจิปาถะอย่าแต่ว่าเงินทองอะไร
ๆ จะต้องเป็นเงินกลางสงฆ์เสมอไปทุกบาททุกสตางค์
ชาวบ้านบางหมู่บ้านทำไม่ถูกในเรื่องนี้
นอกจากจะไม่สนใจหรือเอาใจใส่ในการอุปถัมภ์บำรุงวัดและพระภิกษุสามเณรแล้ว
ยังชอบเข้าไปยุ่มย่ามสร้างความวุ่นวายให้ทางวัดด้วย บางวัดจะเห็นหน้าผู้ใหญ่บ้านกรรมการวัดก็ต่อเมื่อมีงานทำบุญทอดกฐิน
ทอดผ้าป่า เท่านั้น เพื่อจะไปตรวจนับเงิน เงินขายข้าวแห้ง เงินขายมะพร้าวแห้ง
เงินที่เขาบูชาเสื่อหมอนเก่า ๆ ทุกบาททุกสตางค์ไปไล่เบี้ยพระเณร
เอาไปเป็นเงินกลางสงฆ์หมด ในที่สุดวัดนั้นไม่มีพระเณรอยู่อาศัย
เลยไม่มีสงฆ์ให้เงินกลางสงฆ์อีกต่อไป เพราะพระเณรทนอยู่ไม่ได้
แล้วใครเขาจะทอดกฐินผ้าป่าวัดของชาวบ้านจึงล้มลุกคลุกคลานมาตลอดกลายเป็นวัดร้างมามากต่อมากแล้ว
จะเข้าพรรษาทีก็วิ่งวุ่นหานิมนต์พระเณรไปอยู่ที อย่างนี้เพราะชาวบ้านทำไม่ดีเอง
๓.ชาวบ้านที่ดีต้องไม่เข้าไม่ยุ่งเกี่ยววุ่นวายในกิจการของสงฆ์
อย่าเข้าไปสอดแทรกหรือแทรกแทรงเรื่องภายในวัด อย่าเข้าไปปลุกระดมให้พระเณรแตกสามัคคีกัน
มันจะเป็นสังฆเภททำลายสงฆ์ให้แตกกัน ถ้าเห็นอะไรไม่ดีไม่งามอย่านำไปโพนทนา
ให้บอกหรือแจ้งแก่เจ้าอาวาสหรือผู้ปกครองวัด เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขต่อไป
อย่าคิดเข้าไปหาเศษหาเลยจากวัด มันบาปกรรมแก่ตัวเองเปล่า ๆ
ชาวบ้านบางคน พยายามหาเรื่องโจมตีพระเณรอยู่เรื่อย
เจ้าอาวาสไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ พระรูปนั้นเสียอย่างนั้นอย่างนี้
ยุยงพระรูปนี้ให้เกลียดชังพระรูปนั้น เรื่องแค่คืบเอาไปพูดเป็นวา
ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่เคยอุปถัมภ์บำรุงวัด ไม่เคยมีอุปการคุณต่อวัด
ศีลห้าข้อตัวเองก็รักษาไม่ได้ แต่ชอบวิพากษ์วิจารณ์พระเณรแบบเสีย
ๆ หาย ๆ พระบางรูปก็ชอบคบหาสมาคมกับคนประเภทนี้เสียด้วยชาวบ้านต้องดูพระเณรให้ถูกให้เป็น
ถ้าท่านไม่ทำผิดพระธรรมวินัยถือว่าใช้ได้ อย่าคิดหาบาปแก่ตัวเองเลย
วัดกับบ้านจึงไปกันได้ด้วยดี
๙. ประโยชน์ของวัด
๑. เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระรัตนตรัย
พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือเป็นหลักสำคัญของพระศาสนาและพระรัตนตรัยนี้แยกกันไม่ได้เมื่อสร้างวัดขึ้นมาแล้ว
นิมนต์พระเณรเข้าอยู่ พระเณรมีอยู่ที่ใด พระพุทธ พระธรรม ก็ชื่อว่าอยู่ที่นั่นด้วย
การสร้างวัดขึ้นมาจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้สถาบันพระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง
อย่าได้เข้าใจว่าวัดมีมากเกินไป ความจริง เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนกับจำนวนพุทธศาสนิกชนแล้ว
ปัจจุบันวัดในประเทศไทยยังมีไม่มาก
๒. เพื่อเป็นที่ให้การศึกษาเล่าเรียน
ในอดีตนั้น สถานที่ให้การศึกษาเล่าเรียนของไทยมีอยู่ ๒ แห่ง คือ
วัดกับวัง วัดเป็นที่ให้การศึกษาเล่าเรียนแก่พลเมืองทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าคนในสมัยโบราณจะอ่านออกเขียนได้
หรือมีความรู้ด้านต่าง ๆ ต้องอาศัยการบวชเรียน โรงเรียนตั้งอยู่ในวัด
บางทีก็พระภิกษุสามเณรในวัดนั้นเองเป็นครูแม้เวลานี้จะย้ายโรงเรียนออกไปนอกวัด
แต่วัดทั่วไปยังมีบทบาทต่อการศึกษาของชาติอยู่ไม่น้อย เช่น มีการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม
การเทศนาอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนประจำ ส่วนในพระราชวังนั้น ส่วนมากให้การศึกษาเล่าเรียนแก่ลูกหลานเจ้านาย
๓. เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน
วัดทั่วไปนอกจากเป็นบุญสถานและปูชนียสถานแล้ว ยังถือว่าเป็นสาธารณสถาน
ที่ประชาชนให้ประโยชน์ร่วมกันด้วย โดยเฉพาะวัดในชนบทจัดว่าเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านอย่างแท้จริง
คือชาวบ้านจะประชุมอบรมอะไรกัน ก็มักไปประชุมที่วัด ชาวบ้านมักจะได้พบปะสนทนากันในงานทำบุญตามประเพณีที่วัด
ทางราชการเวลาออกไปประชุมชาวบ้านเรื่องใด ๆ ก็มักจะใช้สถานที่วัด
หน่วยเลือกตั้งระดับต่าง ๆ ก็มักใช้วัด
๔. เพื่อเป็นสถานที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
ข้อนี้เห็นได้ชัดมาก เช่น การก่อสร้างศาสนาวัตถุต่าง ๆ ทางวัดจะพยายามรักษาเอกลักษณ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยเอาไว้
ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ วิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ จะทำแบบไทย หรือทรงไทย
พวกต่างชาติไปเห็นจะรู้ได้ทันทีว่านี้คือชาวพุทธไทย นอกจากนี้
ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทย ได้จากวัดเกือบทั้งนั้น การตั้งโต๊ะหมู่บูชา
ศาสนพิธีต่าง ๆ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุได้จากวัดทั้งนั้น
๕. เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน
ข้อนี้อาจจะกล่าวได้ว่า วัดคือสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่ง ที่มีส่วนให้ความช่วยเหลือแก่สังคมไม่น้อย
เช่น ชาวบ้านจะทำบุญให้ทานหรือประกอบกิจกรรมทางศาสนาใด ๆ ก็จะไปขอยืมของเครื่องใช้ไม้สอยจากวัด
เริ่มตั้งแต่ ถ้วย จาน เสื่อสาด อาสนะ กระโถน กาน้ำ พระพุทธรูป
โต๊ะหมู่บูชา และอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งปกติทางวัดจะให้ยืมฟรี ๆ
ที่สำคัญที่สุดคือเป็นที่พึ่งทางจิตใจ
เวลาชาวบ้านมีความไม่สบายใจ หรือ มีความทุกข์ร้อนในทางจิตใจ มักจะเข้าไปวัดไปกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปบ้าง
ไปหาความสงบใจบ้าง ไปปรึกษาหารือรับคำแนะนำสั่งสอนจากพระสงฆ์บ้าง
หรือ ไปทำบุญให้ทานรักษาศีล ฟังเทศน์ จิตใจจะได้สงบสุข คลายความทุกข์ทางใจลงไปหรือ
หักห้ามจิตใจไว้ได้ และในที่สุดเวลาตายก็เอาไปเผาที่วัด เหลือแต่กระดูกก็ยังพึ่งวัดเลย
วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย
บ้านกับวัดผลัดกันช่วยอวยชัย
ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง ฯ
โดยพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ
ที่มา.-http://trt.onab.go.th
กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค
๑๖
ไป
Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป
Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี
|