ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบัน
ประชาชนได้รับสิทธิ และเสรีภาพค่อนข้างกว้างขวาง และครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศ
คนไทยที่ถือสัญชาติไทยทุกคนเพียงแต่มีบัตรประจำตัวประชาชน และเงินค่าธรรมเนียม
๑,๐๐๐ บาท ก็สามารถไปยื่นเรื่องเพื่อขอรับหนังสือเดินทางที่มีอายุ
๕ ปีได้จากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันบุคคลนั้นก็จะได้รับหนังสือเดินทางอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ที่น่าแปลกใจก็คือ ขณะนี้ยังมีประชาชนไทยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อย
ถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ไป ด้วยเหตุผลเพียงว่าบุคคลเหล่านี้เป็น
"พระสงฆ์" ในพระพุทธศาสนา จึงต้องทำตามกฎข้อบังคับพิเศษของคณะสงฆ์ไทย
ก่อนที่จะไปยื่นเรื่องขอหนังสือเดินทางจากกระทรวงการต่างประเทศ
กล่าวคือ พระสงฆ์ที่จะขอหนังสือเดินทางจะต้องยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติจากเจ้าอาวาสในวัดที่ตนสังกัดอยู่
หลังจากนั้นต้องยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติจากเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ
เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะภาคตามลำดับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลานานหลายเดือน
เนื่องจากตำแหน่งเจ้าคณะทั้งหมดนี้เป็นตัวบุคคล มิได้มีสำนักงานที่ชัดเจน
การเสนอเพื่อขอลายเซ็นอนุมัติจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกปฏิเสธในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง
ถ้าหากพระสงฆ์รูปนั้นไม่เป็นที่ต้องอัธยาศัยของเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะรูปใดรูปหนึ่งดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ที่มีทรรศนะที่ก้าวหน้า ต้องการเห็นการปฏิรูปคณะสงฆ์ไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น
กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ หรือพระสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของเจ้าอาวาส
หรือผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ระดับใดระดับหนึ่ง หรือพระสงฆ์ที่ออกมาเปิดโปงความประพฤติมิชอบ
หรือความฉ้อฉลบางประการของผู้มีอำนาจบางรูปในคณะสงฆ์ ก็จะถูกปฏิเสธในการขอหนังสือเดินทาง
ขั้นตอนการอนุมัติเพื่อขอหนังสือเดินทางจึงกลายเป็นอีกกลไกหนึ่ง
ของผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ที่จะควบคุมพระสงฆ์ทั้งหลายให้อยู่ในอำนาจของตน
พระสงฆ์ที่ผ่านความยุ่งยากในการขอหนังสือเดินทางดังกล่าว
และได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว ยังประสบกับความยุ่งยากในการต่อหนังสือเดินทางอีกด้วย
โดยปรกติแล้วคนไทยในต่างประเทศ เมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุลงก็สามารถยื่นเรื่องขอต่ออายุหนังสือเดินทางไปอีก
๕ ปีได้ที่สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ สำหรับพระภิกษุสามเณรแล้ว
หนังสือเดินทางมีอายุเพียง ๒ ปีเท่านั้น เมื่อใกล้หมดอายุแล้ว
ไม่สามารถต่ออายุที่สถานทูตหรือกงสุลไทยในต่างประเทศได้ ต้องเดินทางกลับมาต่ออายุในประเทศไทยเพียงสถานเดียว
และต้องมาเริ่มต้นกระบวนการอันยุ่งยากซับซ้อนนั้นใหม่ทั้งหมด นับเป็นความสูญเสียทั้งในด้านค่าใช้จ่าย
และในด้านโอกาสอย่างใหญ่หลวงทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ
ต้องเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับอีกรอบ ต้องเสียเวลา และต้องเสี่ยงต่อการไม่ได้รับอนุมัติให้เดินทางกลับไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว
เหตุผลที่มหาเถรสมาคมนำมาใช้กล่าวอ้าง
เพื่ออธิบายกฎข้อบังคับการขอหนังสือเดินทางที่สลับซับซ้อนของพระสงฆ์ไทยก็คือ
เพื่อป้องกันมิให้พระสงฆ์ไปทำความเสื่อมเสียแก่พระศาสนาในต่างประเทศ
เหตุผลดังกล่าวไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะนำมาใช้ในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพระสงฆ์
ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๖ ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย
กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"
กฎของมหาเถรสมาคมว่าด้วยเรื่องการทำหนังสือเดินทางของพระสงฆ์
จึงน่าจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมิชอบด้วยกฎหมาย
มหาเถรสมาคมน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ ในการป้องกันปัญหาพระสงฆ์ไทยในต่างประเทศที่ประพฤติตนเสื่อมเสีย
ปัญหาพื้นฐานอันหนึ่งของคณะสงฆ์ไทยก็คือ คุณภาพของพระภิกษุสงฆ์ทั้งในด้านปริยัติ
(การศึกษาเชิงทฤษฎี) ปฏิบัติ (การปฏิบัติธรรม) และปฏิเวธ (มรรคผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรม)
ถ้าหากมหาเถรสมาคมจะมาเข้มงวดกวดขันคณะสงฆ์ไทยในเรื่องที่เป็นเนื้อหาสาระเช่นนี้แล้ว
สังคมไทยก็จะมีพระภิกษุสามเณร (รวมทั้งภิกษุณี และสามเณรี) ที่มีคุณภาพ
ปัญหาพระสงฆ์ที่จะประพฤติเสื่อมเสียในต่างแดนก็จะหมดไป
อีกประการหนึ่งผู้ที่บวชเรียนเป็นพระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย
ในทางหนึ่งก็คือ "พระสงฆ์" ในพระพุทธศาสนา แต่ในอีกทางหนึ่งก็คือ
"ประชาชน" ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
เช่น เมื่ออายุครบเกณฑ์พระสงฆ์มีหน้าที่ต้องไปรายงานตัว และขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารกับทางราชการ
และพระสงฆ์มีสิทธิที่จะศึกษาต่อในคณะหรือสาขาวิชาที่เหมาะสมของมหาวิทยาลัยทางโลก
เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้พระสงฆ์จึงควรจะมีสิทธิถือ "ใบสุทธิ"
ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวของพระสงฆ์ และ "บัตรประชาชน" ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวของคนไทยทุกคนในขณะเดียวกัน
เช่นเดียวกับที่ข้าราชการมีสิทธิที่จะถือ "บัตรข้าราชการ"
และ "บัตรประชาชน" ในเวลาเดียวกัน
หากกระทำได้เช่นนี้ กฎข้อบังคับอันขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะหมดความจำเป็นและยุติลง
กฎระเบียบของคณะสงฆ์ไทยก็จะสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา
และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน.
ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่
๙๖๖๘. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า ๖.
กลับไปหน้า
Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค
๑๖
ไป
Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป
Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี
|