การปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน



            การจัดโครงสร้างการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ การตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เกิดจากความต้องการของรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มุ่ง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ให้สอดคล้องกับนโยบายการปกครองประเทศของจอมพลสฤษดิ์ ที่นิยมการรวบอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดไว้กับผู้นำที่เข้มแข็ง จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจ
กันนั้นนำมาซึ่ง ความล่าช้าและความขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงเห็นว่าการแยกอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ออกเป็น ๓ ทาง คือ สังฆสภาคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นระบบที่มีผลบั่นทอนประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ให้ต้องประสบอุปสรรคและล่าช้า
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อคณะกรรมการทำงานสำเร็จ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ
           “โดยที่การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่เป็นกิจการอันแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลอำนาจเช่นที่ เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการจึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ให้สมเด็จพระสังฆราช องค์สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคมตาม
อำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา”
            
            สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พอสรุปได้ดังนี้
            ๑. ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งหมาย รวมถึงการยกเลิกสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ส่วนอำนาจที่องค์กรทั้งสามเคยเป็นผู้ใช้แยกจากกันให้สมเด็จพระสังฆราช และมหาเถรสมาคมเป็นผู้ใช้
            ๒. ผลที่ตามมาก็คือ การยกเลิกตำแหน่งประธานสังฆสภา สังฆนายก และประธานคณะวินัยธร อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งทั้งสามถูกรวมกันเข้าและมอบให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นผู้ใช้
            ๓. อำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชาคณะสงฆ์เป็นของสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ใน ๒ ตำแหน่ง คือ
                ๓.๑ โดยตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก หรือประมุขสงฆ์ไทยทรงบัญชาการคณะสงฆ์เอง และทรงรับผิดชอบเองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ และ
                ๓.๒ โดยตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ และมาตรา ๑๘
            ๔. มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย
                ๔.๑ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ มหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
                ๔.๒ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ปัจจุบันมีสมเด็จพระราชาคณะทั้งสิ้น ๘ รูป
                ๔.๓ พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวน ไม่ต่ำกว่าสี่รูปและไม่เกินแปดรูปเป็นกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี ตามปกติสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการครบทั้ง ๘ รูป จึงทำให้จำนวนกรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละชุดมี ๑๗ รูป อันประกอบด้วย สมเด็จพระราชาคณะ ๘ รูป กรรมการที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้ง๘ รูป และสมเด็จพระสังฆราชในฐานะ ประธานกรรมการ ๑ รูป
            ๕. อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๘ มีความว่า 
                “มาตรา ๑๘ มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะ สงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมออกข้อบังคับ วางระเบียบหรือออกคำสั่งโดยไม่ขัดหรือ แย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้”
                 จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามมาตรานี้มีความหมายกว้างขวางมาก เพราะถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับอำนาจหน้าที่ของสังฆสภาคณะสังฆมนตรีและคณะวินัยธรตามที่บัญญัติแยกอำนาจกันไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.
๒๔๘๔ แล้วจะพบว่าอำนาจหน้าที่ต่างๆ ทั้งสามส่วนนั้นได้รวมกันเป็นอำนาจ หน้าที่ของมหาเถรสมาคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อำนาจหน้าที่ของสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธรในพระราชบัญญัติคณะ สงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รวมกันเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
                 ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ “ปกครองคณะสงฆ์” ของมหาเถรสมาคมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ นี้ จึงมิได้หมายถึงเฉพาะอำนาจหน้า ที่บริหารการคณะสงฆ์ของคณะสังฆมนตรีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอำนาจหน้าที่ตราสังฆาณัติของสังฆสภา และอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ของคณะวินัยธรชั้นฎีกาอีกด้วย
                 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นี้มีผลใช้บังคับเป็นเวลานานถึง ๓๐ ปี จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะรัฐสภา พระราชบัญญัติฉบับหลังนี้เพียงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์แต่อย่างใด ความข้อนี้ปรากฏชัดเจนอยู่ในเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะ สงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ คือ
                 “...โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จ พระสังฆราช ารแต่งตั้งถอดถอนสมณศักดิ์ของ
พระภิกษุ อำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคม การปกครอง การสละสมณเพศของคณะสงฆ์และคณะสงฆ์อื่น วัด การดูแลรักษาวัด ทรัพย์สินของวัด และศาสนสมบัติกลาง ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้”

                 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้ ดังนี้
                 ๑. มาตรา ๗ กำหนดให้คณะสงฆ์ไทยมีสมเด็จพระสังฆราช เพียงองค์เดียว ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช คำว่า “สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น
                 ๒. มาตรา ๑๒ เพิ่มจำนวนกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจาก ไม่เกินแปดรูปเป็นไม่เกินสิบสองรูป ดังนั้น คณะกรรมการมหาเถรสมาคมในปัจจุบันมีกรรมการทั้งสิ้น ๒๑ รูป ประกอบด้วย
                     สมเด็จพระราชาคณะผู้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ๘ รูป
                     กรรมการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง ๑๒ รูป
                     และสมเด็จพระสังฆราชในฐานะประธานกรรมการ ๑ รูป
                 ๓. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ ตรี กำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้ชัดเจน กว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้
                    “มาตรา ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
                    (๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
                    (๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
                    (๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษา สงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
                    (๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
                    (๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น
                     เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติ หรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุ รูปใดหรือคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้”

                     อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เกี่ยวข้องกับการควบคุม และส่งเสริมกิจการคณะสงฆ์ ที่เคยถูกจัดเป็นอำนาจหน้าที่ของสังฆมนตรีแห่งองค์การ ๔ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ อาจกล่าวได้ว่ามหาเถรสมาคมในปัจจุบันมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานคณะสงฆ์ ๖ ประเภท คือ
                    ๑) การปกครอง
                    ๒) การศาสนศึกษา
                    ๓) การศึกษาสงเคราะห์
                    ๔) การเผยแผ่
                    ๕) การสาธารณูปการ
                     ๖) การสาธารณสงเคราะห์

                     ถ้าตัดข้อ ๓ และข้อ ๖ ออกไป ที่เหลืออีก ๔ ข้อก็คืองานในความ รับผิดชอบของสังฆมนตรีแห่งองค์การทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ นั่นเอง
                     การบริหารงานของมหาเถรสมาคม เป็นไปในลักษณะที่ว่ากรรมการทั้งหมดร่วมกันรับผิดชอบงานทั้ง ๖ ประเภท โดยไม่มีการแบ่งเป็น “กระทรวง” ให้ชัดเจน แล้วมอบหมายให้กรรมการรูปใดรูปหนึ่งทำหน้าที่เป็น “รัฐมนตรี” เพื่อกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
                    อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานั้นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในส่วนที่เกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจทั้งสามคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการของมหาเถรสมาคมมีการแก้ไขเล็กน้อย
                    ต่อไปนี้ จะกล่าวถึงการใช้อำนาจทั้งสามของมหาเถรสมาคม ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
                    ๑. อำนาจนิติบัญญัติของมหาเถรสมาคม ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ของสังฆสภา มหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนี้
                       ๑.๑ ตรากฎมหาเถรสมาคม
                       ๑.๒ ออกข้อบังคับมหาเถรสมาคม
                       ๑.๓ วางระเบียบมหาเถรสมาคม
                       ๑.๔ ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม
                       ๑.๕ มีมติมหาเถรสมาคม
                       ๑.๖ ออกประกาศมหาเถรสมาคม
                    
               ๒. อำนาจบริหารของมหาเถรสมาคม
                                              
                       โดยที่อำนาจการปกครองและบริหารกิจการคณะสงฆ์ของคณะสังฆมนตรีเดิมได้ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ดังนั้นมหาเถรสมาคมจึงมีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหาร ดังต่อไปนี้
                       ๒.๑ จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์
                       ๒.๒ จัดแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
                       ๒.๓ จัดตำแหน่งผู้ปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค
                       ๒.๔ แต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองคณะสงฆ์
                       เนื่องจากปริมาณงานในความรับผิดชอบของมหาเถรสมาคม มีมาก เกินกว่าที่กรรมการมหาเถรสมาคมจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มหาเถรสมาคมได้ออกกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๖ ว่าด้วยระเบียบการประชุมมหาเถรสมาคม ให้อำนาจมหาเถรสมาคมแต่งตั้งคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการช่วยงานมหาเถรสมาคม ในลักษณะเดียวกับกรรมการเฉพาะกิจ เป็นกรรมการประจำหรือชั่วคราวก็ได้ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง คณะกรรมการหรืออนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย จากมหาเถรสมาคมในปัจจุบันมีคณะกรรมการหรือคณะอนุ- กรรมการที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งหลายคณะ เช่น
                      - คณะกรรมการการศึกษาของสงฆ์
                      - คณะกรรมการอำนวยการพระธรรมทูต
                      - คณะอนุกรรมการร่างกฎมหาเถรสมาคม
                      - คณะอนุกรรมการร่างกฎนิคหกรรม
                      - คณะอนุกรรมการศูนย์ควบคุมไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณร (ศตภ.)
                      - คณะอนุกรรมการจัดตั้งทุนสาธารณสงเคราะห์และศึกษาสงเคราะห์
                      อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ ให้อำนาจมหาเถรสมาคมแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการเพื่อช่วยงานมหาเถรสมาคม ดังนี้
                      “มาตรา ๑๙ สมเด็จพระสังฆาชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามมติมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อมหาเถรสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย โดยขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม”
                       บทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให่ผู่ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือตามกฎมหาเถรสมาคมยังคงดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือจนกว่า มหาเถรสมาคมจะมีมติเป็นประการอื่น
                       ส่วนการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคเป็น ไปตามความในมาตรา ๒๒ ของพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่กำหนด ตำแหน่งพระสังฆาธิการ หรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้นดังต่อไปนี้
                       - เจ้าคณะภาค
                       - เจ้าคณะจังหวัด
                       - เจ้าคณะอำเภอ
                       - เจ้าคณะตำบล
                       - เจ้าอาวาส
                      มีข้อน่าสังเกตว่า ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะ ใหญ่คณะเหนือ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง และเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งเคยรวมกันเป็นมหาเถรสมาคม ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ต่อมาตำแหน่งทั้งสี่ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคณะ สงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ทั้งนี้เพื่อรวมคณะสงฆ์มหานิกายกับคณะธรรม- ยุติกนิกายเข้าด้วยกัน ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่มีมาตราใดกล่าวถึงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้งสี่ แต่ก็ไม่ได้หมาย ความว่า ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในการจัดองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ทั้งสี่ยังคงมีอยู่ และนั่นก็หมายถึงว่า คณะสงฆ์มหานิกายกับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายยังแยกกันปกครองอย่างเป็นอิสระจากกันภายใต้รัฐบาลสงฆ์เดียวกันคือมหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ไทยจึงเปรียบเหมือนกับมังกรสองตัวที่มีหัวเดียวกัน
                      ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ คณะสงฆ์มหานิกายและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมีองค์กรปกครองสูงสุดร่วมกัน คือ มหาเถรสมาคม กรรมการมหาเถรสมาคมครึ่งหนึ่งมาจากคณะมหานิกาย และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง มาจากคณะธรรมยุติกนิกาย ทั้งหมดรวมกันเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมาย ดังนั้น ในระดับมหาเถรสมาคมเป็น การปกครองร่วมกันโดยถือนโยบายเดียวกันแต่แยกปกครองในระดับต่ำกว่ามหาเถรสมาคม ดังจะเห็นได้จากกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๐๖ ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๔ มีความว่า
                     “การปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้น ให้มีเจ้าคณะมหา นิกายและเจ้าคณะธรรมยุตปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุ สามเณรในนิกายนั้น ๆ”
                      ข้อนี้หมายความว่า ในขณะที่คณะสงฆ์มหานิกายแบ่งสาย การปกครอง บังคับบัญชาเป็นเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาสฝ่ายมหานิกายปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายก็แบ่งสายการปกครองทุกตำแหน่ง ตั้งแต่เจ้าคณะภาคถึงเจ้าอาวาสฝ่ายธรรมยุตปกครองดูแลกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตคู่ขนานกันไป
                      แม้ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ จะไม่ได้กล่าวถึง ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ไว้ก็จริง แต่กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๐๖ ข้อ ๖ ได้เพิ่มตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เข้ามาในองค์กรการปกครองคณะสงฆ์ และมีการแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ เรื่อยมาจนกระทั่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้บัญญัติให้มีตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ไว้ดังนี้
                     “มาตรา ๒๐ ทวิ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์
                      การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม”

                      เจ้าคณะใหญ่ปกครองบังคับบัญชาเจ้าคณะภาค แบ่งออกเป็น เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายมหานิกาย และเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุต มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในคณะสงฆ์แต่ละนิกาย ในสายการบังคับบัญชา เจ้าคณะใหญ่ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าคณะใหญ่มักเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมอีกตำแหนางหนึ่ง เจ้าคณะใหญาทั้งห้ามีเขตการปกครองดังนี้
                      (๑) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค ๑, ๒, ๓, ๑๓, ๑๔ และ ๑๕
                      (๒) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค ๔, ๕, ๖ และ ๗
                      (๓) เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครอง คณะสงฆ์ มหานิกาย ภาค ๑๖, ๑๗ และ ๑๘
                      (๔) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครอง  คณะสงฆ์มหานิกาย ภาค ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ และ ๑๒
                      (๕) เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตทุกภาค

                     เขตการปกครองคณะสงฆ์ทั้ง ๑๘ ภาค ประกอบด้วยจังหวัด ต่างๆ ดังนี้
                     ภาค ๑ มี ๔ จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
                     ภาค ๒ มี ๓ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และ สระบุรี
                     ภาค ๓ มี ๔ จังหวัด คือ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี
                     ภาค ๔ มี ๔ จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
                     ภาค ๕ มี ๔ จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก และอุตรดิตถ์
                     ภาค ๖ มี ๕ จังหวัด คือ ลำปาง พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน
                     ภาค ๗ มี ๓ จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และ แม่ฮ่องสอน
                     ภาค ๘ มี ๔ จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย และสกลนคร
                     ภาค ๙ มี ๔ จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
                     ภาค ๑๐ มี ๕ จังหวัด คือ อุบลราชธานี ยโสธร มุกดาหาร ศรีสะเกษ และนครพนม
                     ภาค ๑๑ มี ๔ จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์
                     ภาค ๑๒ มี ๓ จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา
                     ภาค ๑๓ มี ๔ จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
                     ภาค ๑๔ มี ๔ จังหวัด คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร
                     ภาค ๑๕ มี ๔ จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์
                     ภาค ๑๖ มี ๓ จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร
                     ภาค ๑๗ มี ๕ จังหวัด คือ ภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ และระนอง
                     ภาค ๑๘ มี ๖ จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

                 ๓.อำนาจตุลาการของมหาเถรสมาคม การพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์หรือคดีความในคณะสงฆ์ซึ่งเดิมเคยเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะวินัยธร ได้ตกเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามความพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๒๕ ที่บัญญัติให้มหาเถรสมาคม มีอำนาจ ตรากฎมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้การลงนิคหกรรม หรือการลงโทษเป็นไปโดยถูกต้องสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรม มหาเถรสมาคมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตรากฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ ว่าด้วยการลงนิคหกรรม กฎมหาเถรสมาคมนี้แบ่งอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ ออกเป็น ๓ ชั้น คือ
                     ๓.๑ การพิจารณาชั้นต้น เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสที่พระ ภิกษุผู้ถูกฟ้องสังกัดอยู่ ถ้าผู้ถูกฟ้องเป็นเจ้าอาวาสวัดหรือเจ้าคณะ ก็ให้เป็นอำนาจของเจ้าคณะหรือผู้ปกครองคณะสงฆ์เหนือขึ้นไป อีกชั้นหนึ่ง
                     ๓.๒ การพิจารณาชั้นอุทธรณ์ เป็นอำนาจของคณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะหรือผู้ปกครองเหนือชั้นขึ้นไปกว่าเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้พิจารณาในชั้นต้น
                     ๓.๓ การพิจารณาชั้นฎีกา เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการลงนิคหกรรมไม่ว่าในกรณีใดให้เป็นอันถึงที่สุด ในกรณีนี้มหาเถรสมาคมมีอำนาจเช่นเดียวกับคณะวินัยธรชั้นฎีกา แต่มหาเถรสมาคมมีอำนาจมากกว่าคณะวินัยธรชั้นฎีกา ตรงที่มีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในมือด้วยและในบางกรณี มหาเถรสมาคมมีอำนาจวินิจฉัยหรือออกคำสั่งโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่ว่า
                    “มาตรา ๒๗ พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้นหรือประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ หรือไม่สังกัดอยู่วัดใดวัดหนึ่งกับทั้งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มหาเถรสมาคม มีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามความในวรรคก่อน ต้องสึกภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น”
                     อย่างไรก็ตาม ความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะ สงฆ์พ.ศ. ๒๕๐๕ นี้ได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                    “มาตรา ๒๗ เมื่อพระภิกษุใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดัง ต่อไปนี้
                   (๑) ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
                   (๒) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ
                   (๓) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
                   (๔) ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
                     ให้ภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
                     พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น”
                     มาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ไม่ได้ให้อำนาจมหาเถรสมาคมในอันที่จะวินิจฉัยหรือออก คำสั่งให้พระภิกษุผู้ความผิดด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่งใน ๔ กรณี ข้างบนต้องสละสมณเพศ แต่มาตรา ๒๗ นี้ ให้อำนาจมหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการจัดการให้พระภิกษุผู้มีความผิดตามกรณี
ีข้างบนสละสมณเพศ คำวินิจฉัยให้สละสมณเพศไม่จำเป็นต้องออกมาจากมหาเถรสมาคม แต่คำวินิจฉัยนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคม
                     ยิ่งไปกว่านั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ จัตวา ให้อำนาจมหาเถรสมาคมตรากฎมหาเถรสมาคมเพื่อควบคุมความประพฤติของพระภิกษุสามเณร ดังนี้
                    “มาตรา ๑๕ จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความ เรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษ หรือวิธีลงโทษทางการปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนา และการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้ พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่งถึงขั้นให้สละสมณเพศ ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ”
                    ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร การที่ฝ่ายรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ออกบังคับใช้ได ้เป็นประจักษ์พยานอย่างดี ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร ด้วยการออกพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ รัฐบาลได้ชื่อว่าให้การอุปถัมภ์แก่คณะสงฆ์ ทั้งนี้ เพราะคณะสงฆ์ ไม่มีอำนาจลงโทษพระภิกษุผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยขั้นร้ายแรง และไม่ยอมสละสมณเพศ ทั้งไม่มีอำนาจลงโทษผู้ใส่ความคณะสงฆ์ หากคณะสงฆ์ปล่อยไว้ย่อมจะนำความ
เสื่อมเสียมาสู้วงการคณะสงฆ์ ในกรณีนี้คณะสงฆ์จำจะต้องพึ่งอำนาจรัฐเพื่อสร่างความศักดิ์สิทธิ์ ให้กับพระธรรมวินัยและความบริสุทธิ์แห่งพระศาสนา ดังจะเห็น ได้จากมาตรา ๔๒, ๔๓ และ ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งถูกยกเลิก ไปแล้วโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ใช้มาตราต่อไปนี้แทน
                   มาตรา ๔๒ ผู้ใดมิได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์ตามมาตรา ๒๓ แล้ว กระทำการ บรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
                   มาตรา ๔๓ ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ หรือไม่ก็ตาม แต่มารับบรรพชาอุปสมบทใหม่โดยกล่าวความเท็จหรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
                   มาตรา ๔๔ ทวิ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่ง ปี หรือปรับไม้เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                   มาตรา ๔๕ ตรี ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอัน อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

                   มาตราเหล่านี้แสดงถึงการที่คณะสงฆ์ไทยได้รับการคุ้มครองป้องกันจากอำนาจรัฐ 
                   แม้ว่ามหาเถรสมาคมมีอำนาจปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์มีอิสระจากการควบคุมของกลไกของรัฐ อำนาจฝ่ายรัฐสามารถตรวจสอบและควบคุมการบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้ตลอดเวลาในนามของการอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ดังจะเห็นได้จากข้อความบางมาตราแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังต่อไปนี้
                 (๑) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์
                 (๒) พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
                 (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง
                 (๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการสร้างวัด การบริหารศาสนสมบัติของวัด และวางระเบียบการปกครองคณะสงฆ์จีนนิกาย และอนัมนิกาย
                 (๕) ในการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
                  (๖) กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็น ศูนย์ประสานความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร ทั้งนี้เพราะอธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และกรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม

ที่มา.- สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระแก้ว
ทีมงานของเราพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ จึงขออนุญาตคัดมาเสนอ ผลดีที่เกิดขึ้นขอมอบให้เจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้

ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติม.-
        >>>>> การปกครองคณะสงฆ์ไทยสมัยต่างๆ

*******************

นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐
****************************************************************************************************