ปฏิรูปประเทศไทย: พระสงฆ์กับการถูกรอนสิทธิ์ทางการเมือง
โดย... ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์


 

เกริ่นนำ
            บทความนี้ครอบคลุมเรื่องราวของพระสงฆ์ไทยกับสิทธิทางกฎหมายในประเด็นต่างๆ กล่าวคือ สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการถือบัตรประจำตัวประชาชน และสิทธิในการได้รับหนังสือเดินทางตามขั้นตอนปรกติ รวมทั้งเรื่องราวของภิกษุณี สามเณรี และแม่ชีกับสิทธิทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการตีความทั้งในเชิงกฎหมาย (ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ. 2540) และพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง

            โดยในที่นี้จะชี้ให้เห็นถึงความลักลั่นของการตีความสิทธิและหน้าที่แห่งคณะสงฆ์ไทยที่ขัดแย้งกันเอง ระหว่างกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงคมนาคม, และกระทรวงสาธารณสุข, นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบกับสิทธิทางกฎหมายของคณะสงฆ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอีกด้วย และเนื่องจากบทความนี้ประกอบขึ้นจากข้อเขียนที่เขียนขึ้นในวาระต่างๆ จึงมีทั้งบันทึกวันเดือนปี และบรรยากาศทางการเมืองกับสังคมที่ผ่านมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย อันอาจถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งก็ว่าได้

สำหรับบทความชิ้นนี้ประกอบด้วย

            1. พระสงฆ์ไทยกับสิทธิในการเลือกตั้ง
            2. บัตรประจำตัวของพระสงฆ์
            3. หนังสือเดินทางของพระสงฆ์
            4. สามเณรีกับสิทธิทางกฎหมาย

1. พระสงฆ์ไทยกับสิทธิในการเลือกตั้ง
            ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรใกล้จะสิ้นสุดวาระ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อันเป็นองค์กรอิสระตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ(2540) ได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ประชาชนทั่วประเทศต่างก็จะได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

            ในอีกมุมหนึ่งของสังคมไทย ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อยถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านั้นถูกเรียกว่า "พระสงฆ์" ในแง่หนึ่งพระสงฆ์คือสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา แต่ในอีกแง่หนึ่งพระสงฆ์ก็คือประชาชนที่มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังมาตรา 5 ที่ว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"

            กระทรวงกลาโหมกำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหารในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง แต่กระทรวงมหาดไทยกลับปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของพระสงฆ์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การตีความสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะประชาชน ของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยจึงขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่ต่างก็เป็นหน่วยงานของรัฐทั้งคู่

            รัฐธรรมนูญมาตรา 26 ระบุว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ในเมื่อพระสงฆ์เป็นทั้งนักบวชในพระพุทธศาสนาและประชาชนในเวลาเดียวกัน การตีความของกระทรวงกลาโหมน่าจะถูกต้องกว่ากระทรวงมหาดไทย กฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและมิชอบด้วยกฎหมาย, ดังมาตรา 6 ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

            ข้ออ้างโดยทั่วไปที่ห้ามมิให้พระสงฆ์ไปใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งก็คือ พระสงฆ์ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ส่วนการเมืองเป็นเรื่องสกปรก พระสงฆ์จึงไม่ควรเข้าไปแปดเปื้อนกับความสกปรกของการเมือง. ถ้าหากข้อสมมติฐานที่ว่า การเมืองคือสิ่งสกปรก (ไร้จริยธรรม) เป็นจริงแล้ว พระสงฆ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจริยธรรม ก็ยิ่งจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้มาก เพื่อที่จะชำระล้างการเมืองที่สกปรกให้เป็นการเมืองที่สะอาดให้ได้ อาจถือเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์ด้วยซ้ำไป

            ในฐานะผู้นำทางจริยธรรม พระสงฆ์มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน รวมทั้งแก่นักการเมืองด้วย ปัจจุบันการสั่งสอนอบรมทางวาจาอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักการเมือง จำเป็นจะต้องสั่งสอนอบรมด้วยการปฏิบัติในเชิงโครงสร้างด้วย การที่พระสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองต้องฟังพระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์ซึ่งมีอำนาจทางจริยธรรมอยู่ในมือ ก็จะมีส่วนช่วยให้การเมืองมีจริยธรรมมากขึ้น ในฐานะผู้นำชุมชน พระสงฆ์อาจใช้ความรู้ทางจริยธรรมของตน ช่วยแก้ปัญหาการซื้อเสียง หรือการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ เมื่อพระสงฆ์และชุมชนรวมตัวกันและมีพลังในเชิงจริยธรรม นักการเมืองก็จะนึกถึงจริยธรรมมากขึ้น และการเมืองก็จะพลอยมีจริยธรรมเพิ่มขึ้นด้วย

            ในสังคมไทยนั้นศาสนากับการเมืองสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกมาโดยตลอด ในอดีตรัฐเข้าไปจัดการปัญหาของคณะสงฆ์ เช่น รัฐเป็นผู้แต่งตั้งผู้นำคณะสงฆ์ ตรวจสอบพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ และจับผู้ปลอมปนมาบวชให้สึกออกไป เป็นต้น. ปัจจุบันนักการเมืองเป็นฝ่ายเข้าไปควบคุมกิจการของคณะสงฆ์ เช่น นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยตรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลกรมการศาสนา เป็นต้น เมื่อนักการเมืองเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการของคณะสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ก็ควรจะมีสิทธิเลือกนักการเมืองเหล่านั้นด้วยโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

            อีกประการหนึ่งนักบวชหรือเจ้าหน้าที่ในศาสนาอื่น แม้จะทำหน้าที่นักบวช เช่น บาทหลวงในศาสนาคริสต์ หรือโต๊ะอิหม่านในศาสนาอิสลาม เป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งสิ้น ทำให้นักการเมืองมีความเกรงใจนักบวชหรือเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเหล่านั้น ตรงกันข้ามพระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาของคนไทยส่วนใหญ่ กลับถูกละเลยสิทธิอันชอบธรรมนี้ไป ทำให้นักการเมืองไม่เกรงใจหรือไม่ฟังเสียงของทางฝ่ายพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ไม่มีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบนักการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง

            การใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นคนละสิ่งกับการเล่นการเมือง การที่พระสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (ดังเช่นในประเทศพม่า) มิได้หมายความว่าพระสงฆ์จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แม้ว่าประเทศพระพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา พระสงฆ์มีสิทธิทั้งลงคะแนนเลือกตั้งและสมัครผู้แทนราษฎร และเวลานี้ก็มีพระสงฆ์ศรีลังกานั่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ด้วยก็ตาม) ถ้าหากพระสงฆ์จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็อาจกระทำได้โดยการสึกหาลาเพศก่อน แล้วจึงลงสมัครเลือกตั้ง ดังเช่นที่ข้าราชการมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน แต่ไม่มีสิทธิสมัครผู้แทนราษฎร ข้าราชการจะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้ก็ต่อเมื่อลาออกจากราชการแล้วเท่านั้น

            นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยควรจะทบทวนสิทธิของแม่ชีไทยด้วย เพราะแม่ชีไทยถือบัตรประชาชนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด นับเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะมาตรา 38 ที่ว่า "...บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น" หากพระสงฆ์และแม่ชีได้รับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว เสียงแห่งมโนธรรมและจริยธรรมน่าจะเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

2. บัตรประจำตัวของพระสงฆ์
            ก่อนหน้ารัฐประหารของ คปค.(คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549, ภายใต้การนำของ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก อันทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลงนั้น มีข่าวจากพระวินยาธิการ หรือ "ตำรวจพระ" ว่า จะมีการออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" ให้แก่พระสงฆ์ทุกรูปในคณะสงฆ์ไทย นอกเหนือจากใบสุทธิที่พระสงฆ์ถืออยู่ในปัจจุบัน

            ถ้ามองตามเจตนารมณ์ของพระวินยาธิการที่ว่า การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" ที่บรรจุข้อมูลส่วนตัวของพระสงฆ์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับบัตรประชาชน เพื่อควบคุมมิให้พระสงฆ์ออกไปเรี่ยไรหรือประพฤติในทางอื่นที่ผิดไปจากสมณวิสัยนั้นนับว่าเป็นเจตนาที่ดี แต่ประเด็นปัญหาที่ตามมาก็คือ การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" ที่มีลักษณะคล้ายบัตรประชาชนแต่ไม่ใช่บัตรประชาชน จะทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย) แม้จะอยู่ในประเทศเดียวกัน ภายใต้กฎหมายสูงสุดฉบับเดียวกัน ถือบัตรประจำตัวที่แตกต่างไปจากคนไทยส่วนใหญ่ และได้รับสิทธิทางกฎหมายไม่เท่าเทียมกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ

            แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี พ.ศ. 2540 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และจะจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ พร้อมไปกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จใน 1 ปี หลังจากนั้นจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยตามปรกติต่อไป ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เราก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกครั้งหนึ่ง ภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้

            ถ้าหากว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ภายในปี 2550 บทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาก็คงจะเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ เพราะมิใช่เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ และถ้าหากว่าบทบัญญัติทางด้านศาสนายังคงสาระเดิมไว้ ก็จะมีประเด็นที่น่าคิดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะพลเมืองไทยอย่างหนึ่ง และพระสงฆ์ในฐานะสมาชิกของคณะสงฆ์ไทยอีกอย่างหนึ่ง

            หน่วยงานของรัฐบาลตีความสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ไม่ตรงกัน การตีความที่ไม่ตรงกันนี้น่าจะทำให้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐ ตีความขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมตีความว่าพระสงฆ์คือประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่เข้ารายงานตัวและเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบเกณฑ์ แม้จะมีการผ่อนผันให้ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการผ่อนผันแล้ว พระสงฆ์รูปนั้นก็ต้องเข้าเกณฑ์ทหารอยู่ดี ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ซึ่งต้องทำหน้าที่รับใช้ชาติในการป้องกันประเทศ

            แต่กระทรวงมหาดไทยตีความอีกอย่างหนึ่งว่า พระสงฆ์มิได้อยู่ในสถานะประชาชนไทยทั่วไปคนหนึ่ง ดังนั้นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพระสงฆ์ในฐานะประชาชนก็มิควรได้รับ กล่าวคือ พระสงฆ์ไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือรับสมัครเลือกตั้ง พระสงฆ์ไม่มีสิทธิได้รับบัตรประจำตัวประชาชน และสิทธิอื่นๆ อันเกิดขึ้นจากการถือบัตรประชาชน เช่น การได้รับหนังสือเดินทางตามขั้นตอนปรกติของประชาชนทั่วไป เป็นต้น

            นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังออกกฎระเบียบ อันน่าจะขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศว่า ถ้าหากพระสงฆ์รูปใดเข้าไปในหน่วยราชการ เพื่อขอยื่นเรื่องให้ออกบัตรประชาชนให้ พระสงฆ์รูปนั้นจะต้องถูกจับสึกในทันที ระเบียบข้อนี้น่าจะขัดต่อกฎหมายสูงสุดอย่างร้ายแรง พระสงฆ์ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ต้องการถือบัตรประชาชนในฐานะพลเมืองของประเทศ มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องให้ลาสิกขาบท อันเป็นความผิดร้ายแรงเทียบเท่ากับปาราชิก

            ความลักหลั่นของการตีความสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะพลเมืองไทยนั้น ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นบุคคลชั้นสามของประเทศ (สิทธิอันไม่เสมอภาคของสตรีเมื่อเทียบกับบุรุษ ทำให้สตรีกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้) โดยพระสงฆ์มิได้รับสิทธิใดๆ ในฐานะพลเมืองไทยแต่ประการใด แต่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเท่ากับคนไทยทุกคน (ดังเช่นการเกณฑ์ทหาร) พระสงฆ์จึงมีแต่หน้าที่แต่ขาดสิทธิในฐานะพลเมืองไทย

            รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 38 (รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องมีมาตรานี้ด้วยอย่างแน่นอน) ระบุว่า "...บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น"

            นักบวชในศาสนาอื่นๆ ที่เป็นพลเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวงในศาสนาคริสต์ หรือเจ้าหน้าที่ในศาสนาอิสลาม (เช่น อิหม่าม โต๊ะครู ฯลฯ) หรือผู้ประกาศศาสนาฮินดูหรือศาสนาสิกข์ อันเป็นศาสนาที่เป็นทางการของไทย ล้วนแล้วแต่ได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการถือบัตรประชาชน และสิทธิอื่นๆ ที่ตามมาจากการถือบัตรประชาชน แต่ทำไมพระสงฆ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย จึงมิได้รับสิทธิเทียบเท่ากับนักบวชในศาสนาอื่นของไทย ทั้งที่เป็นศาสนาที่เป็นทางการเช่นเดียวกัน เรื่องนี้จะมิเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวหรือไม่

            ประเทศที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 5 ประเทศคือ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ในประเทศพุทธศาสนาเถรวาทดังกล่าวทั้งหมด ยกเว้นไทยเพียงประเทศเดียว พระสงฆ์มีสิทธิเทียบเท่ากับพลเมืองของประเทศทุกประการ กล่าวคือ พระสงฆ์มีสิทธิถือบัตรประชาชน และมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อันทำให้พุทธศาสนามีบทบาทในการควบคุมกำกับจริยธรรมของนักการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ความข้อนี้ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยล้าหลังกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด

            การถือใบสุทธิของพระสงฆ์นั้นเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องอยู่แล้ว เพราะใบสุทธิก็คือบัตรที่แสดงความเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ไทย เช่นเดียวกับบัตรข้าราชการที่แสดงความเป็นสมาชิกของราชการไทย ขณะที่ข้าราชการไทยมีสิทธิในการถือบัตรข้าราชการและบัตรประชาชนในเวลาเดียวกัน พระสงฆ์ไทยก็ควรจะมีสิทธิในการถือใบสุทธิและบัตรประชาชนเช่นเดียวกัน

            การออกบัตร "สมาร์ทการ์ด" แก่พระสงฆ์ตามข้อเสนอของพระวินยาธิการนั้น จึงน่าจะเป็นการออกทดแทนใบสุทธิ อันจะทำให้ใบสุทธิเป็นบัตรที่ทันสมัย (บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกคณะสงฆ์ไทยอย่างครบถ้วน) ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ควรมีสิทธิถือบัตรประชาชนในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งด้วย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

3. หนังสือเดินทางของพระสงฆ์
            ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยปี พ.ศ. 2540 ประชาชนได้รับสิทธิและเสรีภาพค่อนข้างกว้างขวางและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศ. คนไทยที่ถือสัญชาติไทยทุกคนเพียงแต่มีบัตรประจำตัวประชาชน และเงินค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ก็สามารถไปยื่นเรื่องเพื่อขอรับหนังสือเดินทางที่มีอายุ 5 ปีได้จากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันบุคคลนั้น ก็จะได้รับหนังสือเดินทางอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

            ที่น่าแปลกใจก็คือ ขณะนี้ยังมีประชาชนไทยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ไป ด้วยเหตุผลเพียงว่าบุคคลเหล่านี้เป็น "พระสงฆ์" ในพระพุทธศาสนา จึงต้องทำตามกฎข้อบังคับพิเศษของคณะสงฆ์ไทย ก่อนที่จะไปยื่นเรื่องขอหนังสือเดินทางจากกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวคือ พระสงฆ์ที่จะขอหนังสือเดินทางจะต้องยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติจากเจ้าอาวาสในวัดที่ตนสังกัดอยู่ หลังจากนั้นต้องยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติจากเจ้าคณะตำบล, เจ้าคณะอำเภอ, เจ้าคณะจังหวัด, และเจ้าคณะภาคฯตามลำดับ, ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลานานหลายเดือน เนื่องจากตำแหน่งเจ้าคณะทั้งหมดนี้เป็นตัวบุคคล มิได้มีสำนักงานที่ชัดเจน การเสนอเพื่อขอลายเซ็นอนุมัติจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

            และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกปฏิเสธในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ถ้าหากพระสงฆ์รูปนั้นไม่เป็นที่ต้องอัธยาศัยของเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะรูปใดรูปหนึ่งดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ที่มีทัศนะที่ก้าวหน้า ต้องการเห็นการปฏิรูปคณะสงฆ์ไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ หรือพระสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของเจ้าอาวาส หรือผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ระดับใดระดับหนึ่ง หรือพระสงฆ์ที่ออกมาเปิดโปงความประพฤติมิชอบ หรือความฉ้อฉลบางประการของผู้มีอำนาจบางรูปในคณะสงฆ์ ก็จะถูกปฏิเสธในการขอหนังสือเดินทาง. ขั้นตอนการอนุมัติเพื่อขอหนังสือเดินทางจึงกลายเป็นอีกกลไกหนึ่ง ของผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์ที่จะควบคุมพระสงฆ์ทั้งหลายให้อยู่ในอำนาจของตน

            พระสงฆ์ที่ผ่านความยุ่งยากในการขอหนังสือเดินทางดังกล่าว และได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว ยังประสบกับความยุ่งยากในการต่อหนังสือเดินทางอีกด้วย โดยปรกติแล้วคนไทยในต่างประเทศ เมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุลง ก็สามารถยื่นเรื่องขอต่ออายุหนังสือเดินทางไปอีก 5 ปีได้ที่สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ สำหรับพระภิกษุสามเณรแล้ว หนังสือเดินทางมีอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น เมื่อใกล้หมดอายุแล้วไม่สามารถต่ออายุที่สถานฑูตหรือกงสุลไทยในต่างประเทศได้ ต้องเดินทางกลับมาต่ออายุในประเทศไทยเพียงสถานเดียว และต้องมาเริ่มต้นกระบวนการอันยุ่งยากซับซ้อนนั้นใหม่ทั้งหมด นับเป็นความสูญเสียทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและในด้านโอกาสอย่างใหญ่หลวงทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับอีกรอบ ต้องเสียเวลา และต้องเสี่ยงต่อการไม่ได้รับอนุมัติให้เดินทางกลับไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว

            เหตุผลที่มหาเถรสมาคมนำมาใช้กล่าวอ้าง เพื่ออธิบายกฎข้อบังคับการขอหนังสือเดินทางที่สลับซับซ้อนของพระสงฆ์ไทยก็คือ เพื่อป้องกันมิให้พระสงฆ์ไปทำความเสื่อมเสียแก่พระศาสนาในต่างประเทศ เหตุผลดังกล่าวไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะนำมาใช้ในการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพระสงฆ์ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

            กฎของมหาเถรสมาคมว่าด้วย"เรื่องการทำหนังสือเดินทางของพระสงฆ์" จึงน่าจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมิชอบด้วยกฎหมาย มหาเถรสมาคมควรจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ ในการป้องกันปัญหาพระสงฆ์ไทยในต่างประเทศที่ประพฤติตนเสื่อมเสีย ปัญหาพื้นฐานอันหนึ่งของคณะสงฆ์ไทยก็คือ คุณภาพของพระภิกษุสงฆ์ทั้งในด้านปริยัติ (การศึกษาเชิงทฤษฎี) ปฏิบัติ (การปฏิบัติธรรม) และปฏิเวธ (มรรคผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรม) ถ้าหากมหาเถรสมาคมจะมาเข้มงวดกวดขันคณะสงฆ์ไทยในเรื่องที่เป็นเนื้อหาสาระเช่นนี้แล้ว สังคมไทยก็จะมีพระภิกษุสามเณร (รวมทั้งภิกษุณีและสามเณรี) ที่มีคุณภาพ ปัญหาพระสงฆ์ที่จะประพฤติเสื่อมเสียในต่างแดนก็จะหมดไป

            หากกระทำได้เช่นนี้ กฎข้อบังคับอันขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะหมดความจำเป็นและยุติลง กฎระเบียบของคณะสงฆ์ไทยก็จะสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์

4. สามเณรีกับสิทธิทางกฎหมาย
            เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2547 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ณ บ้านเลขที่ 9/24 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อาจจะนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของไทย ที่พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ประกอบโดยคณะสงฆ์ฝ่ายหญิงล้วน กล่าวคือ ภิกษุณี 1 รูปเป็นองค์ประธานในพิธี และสามเณรีอีก 4 รูปเป็นผู้ร่วมสวดมนต์ในพิธี มีการอาราธนาศีลและให้ศีล การวงด้ายสายสินธุ์ การประพรมน้ำมนต์ การเจิมหน้าประตูทุกบานในบ้าน และการสาธยายธรรม พิธีจบลงด้วยการถวายภัตตาหารเพล

            จากนั้นข้าพเจ้าและภิกษุณีซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ได้พาคณะสามเณรีไปยังสำนักงานฝ่ายหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ชั้น 8 ของอาคารสำนักงานเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เพื่อทำหนังสือเดินทาง อันเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการเดินทางไปรับการฝึกอบรมธรรม ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาทที่ประเทศศรีลังกา คณะสามเณรีได้เดินเรื่องตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานทุกประการในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง แต่แล้ววาทกรรมร่วมสมัยก็ได้บังเกิดขึ้นตามที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

            เมื่อคณะสามเณรีมาถึงฝ่ายตรวจสอบหลักฐาน เจ้าหน้าที่ได้ซักถามว่า "มาจากวัดไหน" คณะสามเณรีมิได้ถือหนังสือสุทธิ แต่ถือบัตรประชาชนมาทำหนังสือเดินทางในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามดังกล่าวของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะทำหนังสือเดินทางให้ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องสวมเสื้อผ้าของฆราวาสทับจีวรพระในเวลาถ่ายรูปจึงจะอนุญาต ข้าพเจ้าและภิกษุณีได้ซักถามเจ้าหน้าที่ถึงเหตุผล ก็ได้รับคำตอบว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำตามระเบียบ แต่เมื่อข้าพเจ้าและภิกษุณีขอดูระเบียบดังกล่าวที่เป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีให้

            ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ถึงวุฒิสมาชิก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช และ ดร. สุธีรา วิจิตรานนท์ นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีแห่งประเทศไทย โดยได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญไทยที่ได้ประกันสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน คนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิแสดงออกถึงความเชื่อในทางศาสนาของตนได้โดยสงบและอย่างสันติ การล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าวย่อมขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

            ในแง่ข้อเท็จจริงทางสังคมแล้ว คนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ต่างก็แต่งกายตามความเชื่อทางศาสนาของตนในการทำหนังสือเดินทาง เช่น เครื่องแบบของบาทหลวงชาวคริสต์คาทอลิก เครื่องแต่งกายของชาวมุสลิมชายที่สวมหมวกและไว้หนวดเครา และมุสลิมหญิงที่มีผ้าคลุมศีรษะ ชาวซิกข์ที่โพกศีรษะตามความเชื่อทางศาสนาของตน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่เห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศไปบังคับกะเกณฑ์อะไรกับบุคคลเหล่านั้น แต่เมื่อมาถึงภิกษุณีหรือสามเณรีในพุทธศาสนา กลับไม่ยินยอมให้นุ่งห่มตามความเชื่อทางศาสนาของตน นับเป็นการเลือกปฏิบัติอันขัดกับกฎหมายบ้านเมือง

            อีกประการหนึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศเพื่อลักลอบประกอบอาชีพโสเภณี กระทรวงการต่างประเทศก็คงออกหนังสือเดินทางให้ตามปรกติ ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ แต่สำหรับผู้หญิงไทยที่นุ่งห่มชุดผู้ทรงศีล อันเป็นชุดของผู้ต้องการทำคุณงามความดี กลับมีการตั้งข้อรังเกียจ จนถึงกับจะกะเกณฑ์ให้นำชุดของฆราวาสผู้ยังอยู่ในโลกียะมาสวมทับชุดอันเป็นสัญญลักษณ์ของโลกุตตระ ถามว่าเหมาะสมเพียงใด และการที่สตรีนุ่งห่มชุดผู้ทรงศีลเดินทางออกนอกประเทศ จะนำความอัปยศอดสูมาสู่ประเทศชาติหรือ การกีดกันสิทธิสตรีทางศาสนาต่างหาก ที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ชื่อเสียงของประเทศไทย

            เมื่อข้าพเจ้าได้พูดคุยโทรศัพท์ด้วยเสียงอันดังฟังชัดดังนี้แล้ว ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ตามหาหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางให้มาแก้ไขสถานการณ์ เมื่อหัวหน้ามาถึง ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างเคร่งเครียดพักใหญ่ แล้วในที่สุดประวัติศาสตร์บทใหม่ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางแห่งนั้นมีคำสั่งด้วยวาจา อนุญาตให้สามเณรีถ่ายรูปติดบัตรหนังสือเดินทางด้วยชุดจีวรในพระพุทธศาสนา นับได้ว่าหัวหน้าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายออกหนังสือเดินทางทุกท่าน รวมทั้งคณะภิกษุณีและสามเณรี ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

            ตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของไทย สถานภาพของสตรีในทางศาสนาไม่เคยได้รับการยอมรับใดๆ ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติจากหน่วยงานราชการต่างๆ แม้จะมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า แม่ชีมีความเป็นมาในสังคมไทยอย่างน้อยนับได้กว่า 300 ปีก็ตาม แต่วัฒนธรรมเถรวาทของไทยและกฎหมาย ก็ไม่เคยรับรองสถานภาพความเป็นนักบวชของแม่ชีแม้แต่ครั้งเดียว แม่ชีไม่มีสิทธิบิณฑบาตร ไม่มีสิทธิรับเครื่องไทยทานที่มีผู้นำไปถวายที่วัด (แม้ว่ากว่า 80% ของผู้ที่ไปทำบุญที่วัดจะเป็นผู้หญิงก็ตาม) แม่ชีจึงพึ่งตนเองไม่ได้ในด้านปัจจัยสี่เครื่องยังชีพ ต้องพึ่งพิงพระภิกษุและรับใช้พระภิกษุ แม่ชีจึงอยู่ในวัดในฐานะเพียงเป็นผู้ขออาศัยเท่านั้น ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ ทั้งสิ้น

            แม่ชีต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด

            - กระทรวงคมนาคมตีความว่า แม่ชีมิได้เป็นนักบวช จึงต้องเสียค่าโดยสารทุกประเภทเต็มราคา (ทั้งๆที่ไม่มีรายได้),
            - กระทรวงมหาดไทยตีความว่า แม่ชีเป็นผู้ที่สละบ้านเรือน (แต่ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นนักบวช) จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง,
            - กระทรวงสาธารณสุขตีความว่าแม่ชีมิได้เป็นนักบวช จึงไม่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่าในโรงพยาบาลของรัฐ แต่แม่ชีส่วนใหญ่ไม่มีเงินรักษา จึงมักถูกจัดให้อยู่ในประเภทคนไข้อนาถา

            ปัจจุบันมีแม่ชีในประเทศไทยจำนวนกว่า 10,000 รูป แม่ชีเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานของความปรารถนาอันแรงกล้า ของสตรีไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการออกบวช เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            ความตื่นตัวด้านสิทธิสตรีในทางสากล และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "ภิกษุณี" ในสังคมไทยที่มีเพิ่มขึ้น ได้จุดประกายให้ผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่ง แม้จะน้อยนิด แต่ก็เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญในทางจริยธรรม และกล้าหาญต่อหนทางแห่งสัจจะ ได้ตัดสินใจออกบวชอย่างเต็มรูปแบบในฐานะ "สามเณรี" และ "ภิกษุณี" เพื่อให้พุทธบริษัทสี่ อันได้แก่ ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา, ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ดังเช่นในครั้งพุทธกาล สตรีเหล่านี้เปรียบเหมือนอิฐก้อนแรก ที่ยอมเสียสละเพื่อปูทางให้อนุชนรุ่นหลังได้ก้าวเดินอย่างสะดวกยิ่งขึ้น สตรีเหล่านี้จึงเป็นผู้กล้าหาญโดยแท้ สมควรแก่การยกย่องและอุปัฏฐากบำรุงในฐานะ "เนื้อนาบุญ" ของโลกเคียงคู่กับภิกษุ

            วันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2547 คณะสามเณรีได้รับหนังสือเดินทาง ที่มีรูปถ่ายในสมณเพศอย่างเต็มภาคภูมิ สามเณรีเหล่านี้ได้นำดอกกุหลาบไปมอบให้กับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่สำนักงานหนังสือเดินทางทุกท่านเพื่อแสดงความขอบคุณ นับได้ว่าคณะสามเณรีได้แสดงออกถึงความเข้มแข็งและความอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน

บทสรุป
            ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี พ.ศ. 2540 ถูกยกเลิกโดย "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่กระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐบาลแต่งตั้งของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้สัญญากับประชาคมโลกในการประชุมเอเปค (APEC) เมื่อวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2549 ที่เวียดนามว่า ไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2550. ถ้าคำมั่นสัญญานี้เป็นจริง ก็จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

            เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีโครงสร้างคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 โดยแก้ไขจุดอ่อนในประเด็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และประเด็นการแทรกแซงองค์กรอิสระจากรัฐ ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนานั้นควรจะระบุให้ชัดเจนว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" อันสะท้อนข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย (ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ล้วนแล้วแต่ปกป้องพระพุทธศาสนาโดยระบุข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญของตนทั้งสิ้น)

            แต่ถ้าหากข้อความดังกล่าวมิได้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทยก็ควรจะแยกรัฐและศาสนาออกจากกันให้ชัดเจน โดยการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และพระราชบัญญัติอิสลามเสีย เพื่อให้ศาสนากลับคืนสู่ประชาชนและชุมชน โดยพระมหากษัตริย์ (สัญลักษณ์ของรัฐในประวัติศาสตร์) จะทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกที่จะคอยดูแลและอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาจักรดังเช่นครั้งในอดีต ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างพระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ และประชาชน ซึ่งยังความเข้มแข็งแก่พระพุทธศาสนาของไทยมาตลอด 2,000 กว่าปี ก็จะหวนกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้สิทธิทางกฎหมายของพระสงฆ์และสามเณร ตลอดทั้งภิกษุณี สามเณรี และแม่ชี ก็จะกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งโดยปริยาย

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2552


ที่มา.-http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=khunz&date=15-11-2009&group=10&gblog=10

*******************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี