อาตมภาพได้รับหนังสือ
"นิติกรสงฆ์" กฎหมายที่พระสงฆ์ควรทราบ ฉบับธรรมบรรณาการ
พิมพ์ครั้งที่ ๔ เขียนโดยคุณโยมสนิท ศรีสำแดง ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยดี
แต่ได้ฝากงานคิดงานเขียนที่มีคุณค่าแก่พระพุทธศาสนาไว้มากมาย ในโอกาสนี้ก็ขออนุโมทนาบุญ
และขอให้ดวงวิญญาณของคุณโยมสนิท ศรีสำแดงจงประแต่ความสุขสงบเย็น
"นิติกรสงฆ์"
ปราชญ์ได้สรุปสาเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อม
และสูญสลายจากประเทศต่างๆ ที่พระพุทธศาสนาเคยประดิษฐานอย่างมั่นคงไว้หลายสาเหตุ
สาเหตุที่สำคัญคือ
๑.ศาสนาพุทธมีอุดมการณ์ไม่ล้มล้าง
๒.ไม่กล่าวร้ายศาสนาอื่น
๓.ไม่บีบบังคับให้นักปกครองและประชาชนต้องเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธ
พระมหากษัตริย์ อย่างพระเจ้าอโศกก็ทรงยึดมั่นพุทธจริยวัตร
ให้เสรีภาพในการถือศาสนาแก่ประชาชน ทำให้พระพุทธศาสนาไม่มีอำนาจทางการเมือง
และไม่ใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับประชาชน เพื่อฝังรากพระพุทธศาสนาให้มั่นคง
ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในแต่ละประเทศจึงไม่ถาวร
เมื่อนักปกครองระดับสูงสุดที่เป็นชาวพุทธสิ้นอำนาจ และขาดผู้นำขององค์กรสงฆ์ที่เข้มแข็ง
ศาสนาพุทธก็เสื่อมจากประเทศนั้นๆ ในบางประเทศพระไตรปิฎกถูกเผาทิ้ง
พระพุทธรูปถูกทำลาย ไม่จำต้องกล่าวถึง พระภิกษุและวัด
เมื่อประเทศนั้นๆ ถูกครอบงำจากนักการเมืองศาสนาอื่น
ซึ่งกีดกันเสรีภาพทางศาสนา ศาสนาพุทธก็ถูกกำจัด ไม่เหลือแม้แต่ซากอย่างในอัฟกานิสถานปัจจุบัน
ซึ่งอดีตพระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรือง
เหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง
ของการล่มสลายของพระพุทธศาสนาคือ ความประพฤติย่อหย่อน และความแตกแยกของคณะสงฆ์เอง
ต่างแบ่งพวกแบ่งหมู่ทะเลาะกัน ขาดความเป็นเอกภาพเข้าใจปรปักษ์เป็นมิตร
จากเหตุผลข้างต้น เราพออนุมานได้ว่าศาสนาพุทธจะมั่นคงต่อเนื่องเมื่อ
๑.นักปกครองในประเทศนั้น
โดยเฉพาะนักปกครองที่มีอำนาจจริงต้องเป็นพุทธศาสนิกชน และเป็นพุทธศาสนิกที่เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้
๒.พระภิกษุและคฤหัสถ์ต้องเข้มแข็ง
มีความรู้ ความสามารถ ถึงขั้นพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นองค์กรหลักต้องมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน
ไม่แตกต่างกัน ทั้งด้านความเห็น และความประพฤติ
ประเทศไทยเรานับว่าโชคดี
ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นต้นมา
จนถึงปัจจุบันนักปกครองไทยระดับสูงนับถือพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้อิทธิพลทางการเมืองไม่เบียดเบียนล้มล้างทำลายศาสนาพุทธ
จะมีก็แต่ความประพฤติเลอะเทอะ และความไม่มีเอกภาพของพระภิกษุสงฆ์เองในบางยุคบางสมัย
แต่ก็เป็นส่วนน้อย ภาพรวมของพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ดีมาตลอด แต่ก็ไม่น่าประมาท
เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเสมือนแผ่นดิน เป็นที่อาศัยของสัตว์โลก ทั้งที่น่ารัก
และน่ารังเกียจ
คนชั่วไม่น้อยที่เข้ามาอาศัยพระพุทธศาสนา
และก่อความเสื่อมเสียขึ้นในวงการสงฆ์ รวมถึงคฤหัสถ์มีเจตนาร้ายแฝงตัวมาในรูปของชาวพุทธ
ผู้ทำเป็นรักพระพุทธศาสนา
พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแม้จะดีเลิศ
นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้ ก็ได้เฉพาะ"สัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยเท่านั้น"
คนโง่คนเขลายากแก่การพัฒนาให้ดีได้ ในยามประเทศเกิดวิกฤตจากภัยสงคราม
จากภัยเศรษฐกิจ ศาสนาพุทธก็เป็นที่แอบแฝงหาประโยชน์ทางลัด ทำให้ศาสนามัวหมอง
พระธรรมวินัยจึงไม่มีกำลังที่จะกำราบคนชั่วผู้ไม่หวังดีต่อศาสนา ดังพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า
"คณะสงฆ์แม้จะมีสิกขาวินัยเป็นข้อบังคับ แต่เมื่อไม่มีใครว่ากล่าว
ไม่มีการลงโทษอย่างแรง ก็ทำให้พระภิกษุสามเณร ประพฤติหละหลวม...ปล่อยไว้การคณะสงฆ์ก็จะเลวลง"
นี้คือมูลเหตุของการมีกฎหมายคณะสงฆ์
ในรัชสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงโปรดเกล้าฯ ออกกฎหมายเกี่ยวกับ คณะสงฆ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.
๒๓๒๕ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ถึง ๑๐ ฉบับ แต่ละฉบับว่าด้วยข้อห้ามและการกำหนดโทษเกี่ยวกับความประพฤติเสียหายของพระภิกษุ
ตกมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ออกประกาศสำหรับพระภิกษุสามเณรรวมทั้งหมด ๑๔ ฉบับ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) พ.ร.บ.
ฉบับนี้ได้มีการจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นเอกภาพเป็นครั้งแรก
รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ
ให้วางระเบียบเกี่ยวกับอุปัชฌาย์ ๑๘ ข้อ บางข้อใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน
เช่น การห้ามให้การบรรพชาและอุปสมบทนอกเขต ห้ามผู้ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร
นอกจาก นี้ยังได้มีการตราระเบียบให้สึกพระผู้ต้องคดีอาญา
ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัว
อานันทมหิดล สภาผู้แทนราษฎร ได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช
๒๔๘๔ เลียนแบบ การปกครองฝ่ายบ้านเมือง มีสมเด็จพระสังฆราช, สังฆสภา,
คณะสังฆมนตรี, คณะวินัยธร.
ครั้นตกมาถึงปี ๒๕๐๕ บ้านเมืองอยูในยุคเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
สภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาได้ตรา พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ โดยเลียนแบบ
พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ให้สอดคล้องกับการปกครองของบ้านเมือง
พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย
พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕
ผมเก็บเอาเรื่อง พ.ร.บ.
คณะสงฆ์ในรูปแบบของวิวัฒนาการมาลำดับความไว้ เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพกว้างๆ
ของความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับราชอาณาจักร ซึ่งถ้าไม่มองในแง่ร้ายก็จะพบความจริงว่า
ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องการเข้ามามีส่วนดูแล และประกันความมั่นคงคณะสงฆ์
ในฐานะองค์กรสำคัญที่จะสืบภาระรับผิดชอบพระพุทธศาสนา โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาเสริม
เพื่อกำจัดคนชั่ว ยกย่องคนดีให้อยู่อย่างผาสุก
พ.ร.บ. คณะสงฆ์แต่ละฉบับ
ต้องการช่วยรักษาพระธรรมวินัย และความมั่นคงของคณะสงฆ์ไทยตามยุคตามสมัย
สาเหตุนี้เองทำให้คณะสงฆ์ในประเทศยืดยาว โดยมีเอกภาพมาถึงปัจจุบัน
จนประเทศไทยได้นามว่า แดนกาสาวพัสตร์ ที่การคณะสงฆ์มีการดูแลกันเป็นระบบระเบียบและ
มีเอกภาพตลอดมา พ.ร.บ. คณะสงฆ์เป็นเกราะป้องกันพระธรรมวินัย
กฎหมายบ้านเมือง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์
จึงเป็นไปตามหลัก "วินยานุเคราะห์" (The monastic discipline
assistance) คือตราขึ้นเพื่อส่งเสริมช่วยเหลือรักษาพระวินัย ให้วินัยสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีผลในทางปฏิบัติ ไม่ถูกละเลย เพิกเฉย หรือเหยียบย่ำโดยคนบางคน บางพวก
กฎหมายคณะสงฆ์แต่ละฉบับ
ล้วนปรารภความประพฤติผิดพระวินัย และผู้ตราก็ระมัดระวังมิให้ขัดต่อพระธรรมวินัย
เช่น ความตอนหนึ่งในกฎหมายฉบับที่ ๒ (ออกใช้ในรัชกาลที่ ๑) ว่า "พระภิกษุทุกวันนี้
(แม้) ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐ แล้วมิด้รักษาพระปาฏิโมกข์ตามอรุยวงศ์ประเพณีปฏิบัติ
เข้าระคนคบหาฆราวาส ด้วยเบญจกามคุณ มิได้เห็นแก่พระศาสนา"
ความตามกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดว่า
พระภิกษุแม้จะอยู่ในฐานะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ (เป็นพระ
มาจากคำว่า วระ แปลว่า ประเสริฐ) มิได้รักษาพระปาฏิโมกข์ ได้แก่ ปาฏิโมกข์สังวรศีล
คือ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย
ตัวอย่างของการไม่รักษาพระปาฏิโมกข์คือ การคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยเบญจกามคุณ
๕ เป็นความประพฤติที่ไม่เห็นแก่พระศาสนา
แสดงชัดว่า
การตรากฎหมายเพื่อรักษาพระวินัย
เนื่องจากคณะสงฆ์ในบ้านเรา
มิได้ถูกตัดขาดจากสังคม พระภิกษุสามเณรยังเป็นพลเมืองของรัฐ ยังมีชื่ออยู่ในสำมะโนประชากร
ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้รัฐธรรมนูญไทยจะตัดสิทธิบางอย่าง
เช่น
- การใช้สิทธิเลือกตั้ง
ตามมาตรา ๑๐๖(๒)
- สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ตามมาตรา ๑๐๙(๓)
- สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ตามมาตรา ๑๒๖(๔)
-สิทธิในการเป็นกรรมการการเลือกตั้ง
ตามมาตรา ๑๓๗(๔)
-การเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา
๒๐๖(๔)
-การเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ตามาตรา ๒๕๖(๔)
- การร้องขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย
ตามมาตรา ๑๗๐ และ
-การร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา
๓๐๔ ประกอบมาตรา ๓๐๓ เป็นต้น
การตัดสิทธิดังกล่าว มีเจตนารมณ์ป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองและต้องการให้ดำรงตนเป็นกลาง
ในฐานะเป็นบุคคลที่คนทุกฝ่ายให้ความเคารพ และรัฐบาลเองก็ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของสงฆ์
การตรากฎหมายปกครองสงฆ์
ปกติจะไม่เรียกว่า กฎหมายปกครอง แต่นิยมใช้คำว่า กฎหมายคณะสงฆ์แทน
มีแต่กฎหมาย ร.ศ.๑๒๑ เท่านั้นที่ให้ถือว่า ลักษณะปกครองคณะสงฆ์กฎหมายนี้ก็มิใช่
กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ เป็นเพียงการออกกฎหมาย เพื่อกำหนดลักษณะของการปกครองในวงการสงฆ์ให้ทราบกันว่ามีระบบเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ที่จะดูแลกันเอง โดยมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ บ้านเมืองไม่เข้าไปควบคุมหรือแทรกแซง
แม้แต่ยุคที่ประเทศไทยปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ก็มิได้ทรงดำรงพระองค์เหนือพระภิกษุสงฆ์
ทรงดำรงพระองค์ในฐานะเป็นองค์อุปถัมภกเท่านั้น จะเห็นได้จากพระบรมราชโองการ
ประกาศเจตนารมณ์ของการจัดให้มีพระราชบัญญัติปกครองสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ว่า
"มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระ
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระดำรัสเหนือเกล้าให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
ทุกวันนี้การปกครองข้างฝ่ายรพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไข
และจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อย เจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นหลายประการแล้ว
และฝ่ายพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล
ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย
ถ้าการปกครองสังฆมณฑล เป็นไปตามแบบแผนกันเรียบร้อย พระศาสนาก็จะรุ่งเรื่องถาวร
และจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติ
และร่ำเรียนวิชาคุณในสังฆสำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงสังฆมณฑล
ให้เจริญคุณสมบัติ มั่นคงสืบไปในพระศาสนาจึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้สืบต่อไปดังนี้ว่า..."
ตามนัยนี้แสดงว่า
๑).กฎหมายคณะสงฆ์ เป็นการกำหนดรูปแบบการปกครองในสังฆมณฑล
มิใช่คฤหัสถ์ปกครองพระภิกษุ และมิใช่ให้ภิกษุรูปใดใช้อำนาจปกครอง แต่ให้สงฆ์ปกครองกันเอง
ตามหลักธรรมวินัย การปกครองที่มีแบบแผน ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญถาวร
และเป็นบ่อเกิดของความศรัทธาของประชาชน
๒).การจัดรูปของการปกครองที่ดี
ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และประโยชน์แก่ราชอาณาจักร
๓).การตรากฎหมายมีวัตถุประสงค์หลักคือ
ทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญมั่นคง
ในประเทศไทยนี้ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขัดต่อพระธรรมวินัย
มุ่งทำลายศาสนา มีแต่มุ่งหวังรักษาพระธรรมวินัย ยิ่งการจะตรากฎหมายที่พระมหาเถระมีส่วนร่วมยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ท่านเหล่านั้น
จะคิดตรากฎหมายทำลายศาสนา ซึ่งท่านได้รักษามาเกือบตลอดชีวิต มีแต่คนชั่วร้ายเท่านั้นที่เที่ยวกล่าวหาว่า
กฎหมายคณะสงฆ์ขัดต่อธรรมวินัยเป็นกฎหมายมหาโจร ดังที่คนกลุ่มหนึ่งออกมาตะโกนกล่าวหาอยู่ในขณะนี้
เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนขาดศรัทธาในสถาบันสงฆ์
ความเป็นเอกภาพในสถาบันสงฆ์ไม่มี และอำนาจรัฐตกเป็นของฝ่ายของผู้เป็นปรปักษ์พระพุทธศาสนาก็ล่มสลายจากประเทศนั้นๆ
ผู้ต้องการทำลายจึงมักแฝงตัวเข้ามาอยู่ในศาสนา
พวกเขาอ้างความเคร่งครัดว่า
อย่างพระเทวทัตเคยกระทำมาแล้วในยุคพุทธกาล พระเทวทัตได้อ้างความเคร่งครัด
เสนอหลักปฏิบัติ ๕ ประการ ยื่นคำขาดต่อพระพุทธองค์ให้ทรงรับไปปฏิบัติในปีที่
๓๗ ของการตรัสรู้ พระเทวทัตบวชหลังพระพุทธเจ้าหนึ่งพรรษา เริ่มคิดการใหญ่อยู่เงียบๆ
วางแผนเข้าถึงมวลชน ชาวไร่ชาวนา ออกเยี่ยมเยือนชาวไร่ชาวนาทุกฤดูกาล
ครั้งหนึ่งชาวนาจะถวายข้าวใหม่แก่พระภิกษุ สภาเกษตรกรท้องถิ่นโต้เถียงกันว่าจะนิมนต์พระภิกษุรูปใดเป็นผู้รับ
เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ประชุมสภาลงมติให้โหวตคะแนนเทให้พระเทวทัตท่วมท้น
นำพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะอย่างทิ้งห่าง นอกจากนี้พระเทวทัตยังพยายามสร้างนักการเมือง
โดยการเข้าถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ปั่นให้เป็นผู้นำจนสำเร็จสมใจอยาก ดีที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบเสียก่อน
และยังมีพระพุทธเจ้าเป็นหลัก มิฉะนั้นพระพุทธศาสนาอาจสิ้นสุด พระเทวทัตเป็นผู้นำศาสนจักร
พระพุทธศาสนาในบ้านเราขณะนี้
มีทั้งเทวทัต และอชาตศัตรูกลับชาติมาเกิด คบคิดกันทำลายสถาบันสงฆ์
เทวทัตวางแผนการมานาน จนถูกคณะสงฆ์อัปเปหิ ส่วนอชาตศัตรูหลงกลเทวทัต
ยุแหย่และอาศัยบุญคุณต่อกันทางการเมือง ถึงกับบังอาจกล่าวหา มหาเถรสมาคม
ผู้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับร่างว่า กระทำการไม่รอบคอบ และขัดต่อพระธรรมวินัย
เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายกาจและรุนแรง
เทวทัตคงกลับสู่อเวจีมหานรกตามเดิม
ส่วนอชาตศัตรูจะกลับใจมาทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ
เราชาวพุทธต้องคอยดูกันต่อไป
!
นี่คืองานเขียนที่มีคุณค่า
และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยนักปราชญ์ผู้รู้ทางพระพุทธศาสนา และมีความชำนาญเป็นอย่างยิ่งในกฎหมาย
เพราะคุณโยมสนิท นั้นเคยบวชเรียนเป็นพระมหาเปรียญ ๙ ประโยคมาก่อนและยังได้ศึกษาเพิ่มเติมทางกฎหมายจนสำเร็จ
และได้ช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนามาโดยตลอดชีวิตของคุณโยม
ความดีใดๆ ที่คุณโยมได้มอบไว้แก่พระพุทธศาสนา
ขอให้คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น จงเป็นบุญกุศลค้ำชูดวงวิญญาณให้คุณโยมได้ประสบสุขสงบเย็นเทอญ
หมวดหมู่:
ข้อคิดชีวิต ปรัชญา
ศาสนา
คำสำคัญ: กฎหมายสงฆ์
ที่มา.-http://learners.in.th/blog/forest-dhamma/211815
หมายเหตุ.- คณะผู้จัดทำเห็นว่า เป็นข้อเขียนที่มีประโยชน์ จึงได้ขออนุญาตนำมาเสนอ
ส่วนที่ดีที่เกิดขึ้น ขอมอบให้แก่เจ้าของบทความ
|