เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์เมืองไทยบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ และนับวันดูจะยิ่งครึกโครม
กับกรณี "ไฮเทค" ต่าง ๆ ที่หลัง ๆ มีข่าวบ่อยครั้งว่าผู้ที่อยู่ในสถานะ
"พระภิกษุ-สามเณร" มีและใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ต-เว็บไซต์
โทรศัพท์มือถือ หรืออื่น ๆ
ชาวพุทธไทยเริ่มตั้งคำถามในเรื่องนี้กันหนาหูขึ้นเรื่อย
ๆ
และกับคำถามเรื่องของพระกรณีนี้...ก็ควรจะถามพระ
??
ทั้งนี้ พระเทพวิสุทธิกวี
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
(มมร.) ตอบโจทย์กรณีสงฆ์ใช้สื่อไฮเทค โดยระบุว่า... "อย่างการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น
ปัจจุบัน เมืองไทยในภาพรวมก็มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง และมีการใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ควรจะเป็น
มีการใช้ไปในทางที่จะเป็นปัญหาของสังคม หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต
แต่ถ้าจะพูดถึงพระกับเทคโนโลยี ก็ต้องบอกว่าไม่มีข้อห้ามในการใช้ และไม่มีกติกาในการควบคุมไม่ให้ใช้"
พระเทพวิสุทธิกวีมองว่า... "สิ่งสื่อสารนั้นพระสามารถใช้ได้ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ วอล์กกี้ทอล์กกี้ ซึ่งพระสงฆ์ใช้ทำงานในวัด
ไม่ต้องตามกันไปมา อย่างเวลาในวัดมีงานแล้วพระอยู่กันคนละมุม ในการสั่งงานหรือมีปัญหาติดขัดเรื่องงานตรงไหน
ก็ใช้เพื่อความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลา หรือบางครั้งญาติโยมมีปัญหาก็สามารถโทรฯ
มาสอบถามพระสงฆ์ได้ พระสงฆ์คือผู้บริการประชาชน ไม่ต้องเสียเงินในการเดินทางมาพบพระ"
"อาตมาว่า ที่จริงพระสงฆ์ควรจะมีสิ่งสื่อสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าประชาชน
เพราะเป็นหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรมะ ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็จะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้
ใฝ่ศึกษา"
รองอธิการบดี มมร. ระบุอีกว่า.. เครื่องมือสื่อสารและอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเผยแผ่ธรรมะ
เช่น คนอยู่ต่างประเทศอยากฟังธรรมะ ก็สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตฟังได้
เพียงแต่หากใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความรับผิดชอบของคนแต่ละคนห
ซึ่งถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์มันก็จะเป็นประโยชน์ กับตัวเองและส่วนรวม
ของแบบนี้เหมือนกับเหรียญ 2 ด้าน อย่างกัม มันตรังสีถ้านำไปใช้ทำประโยชน์ก็จะเกิดประโยชน์
แต่ถ้านำไปใช้ทำระเบิด มันก็ผิด หรือแม้แต่เงินที่ถูกกฎหมายหากนำไปใช้ในเรื่องผิดกฎหมายมันก็ผิด
เช่น จ้างฆ่าคน แต่ถ้านำไปซื้อเครื่องดำรงชีพ มันก็ถูก
"อาตมาอยากบอกว่าทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี
พระ-เณรวัยรุ่นยังไม่แก่วัดออกนอกลู่นอกทางตามนิสัยเดิมก็มี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความรับผิดชอบของบุคคลนั้น
ๆ ซึ่งหนทางแก้ไขที่ทำได้คือทุกคนต้องช่วยกันเฝ้าระวังดูแล อย่าให้เกิดสิ่งไม่ดีไม่งามขึ้น"...พระเทพวิสุทธิกวีกล่าว
ขณะที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะ เจ้าของนามปากกา
ว.วชิรเมธี ก็ระบุว่า... "ปัจจุบันพระภิกษุสามเณรมีความสนใจเว็บไซต์ธรรมะ
พระไตรปิฎก และคัมภีร์พุทธศาสนาต่าง ๆ แล้วมีการเสิร์ช หรือค้นหาข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าจากเว็บไซต์
นอกจากนี้ก็ยังมีการโหลดเสียงการบรรยายธรรมะของครูอาจารย์ดัง ๆ มาฟัง
รวมทั้งคลิปรายการทีวีของพระสงฆ์ชั้นนำ เช่น ท่านพุทธทาส, พระพรหมคุณากร
ฯลฯ แล้วส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ในพระเณรคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีการติดต่อสื่อสารกันทางมือถือและอีเมลด้วย
การที่พระภิกษุใช้อินเทอร์เน็ตในการหาความรู้ และเพื่อเผยแผ่ธรรมะ
ส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์
ก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ถ้าใช้เพื่อการแชตเกี้ยวพาราสีผู้หญิง หรือท่องเว็บลามก
ติดต่อสื่อสารในทางที่ไม่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย ก็เป็นสิ่งไม่สมควร
ซึ่งโลกปัจจุบันไม่ควรห้ามใช้อินเทอร์เน็ต เพราะเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
แต่สิ่งสำคัญคือการต้องถวายคำแนะนำให้พระสงฆ์รู้จักใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีคุณหรือโทษไม่ได้ด้วยตัวมันเอง สำคัญที่ผู้ใช้
"ถ้าใช้เป็น...อินเทอร์เน็ตก็จะเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก
เป็นตลาดวิชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในทางกลับกันถ้าใช้ไม่เป็น...ก็จะกลายเป็นแหล่งอบายมุข
แหล่งอันตราย เพราะมีคลิปโป๊, เว็บไซต์ลามก, คำแนะนำการฆ่าตัวตาย,
ช่องทางการซื้อขายอาวุธ แม้แต่กระทั่งวิธีการบรรลุนิพพานก็มีเช่นกัน
ดังนั้น อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้มีปัญญา คือสวรรค์ของการแสวงปัญญา แต่คนที่ด้อยปัญญาก็พลิกเป็นนรกได้เช่นกัน"...พระมหาวุฒิชัย
หรือท่าน ว.วชิรเมธีกล่าว
ด้าน พระมหาจิรพงศ์ จิรวัณธโณ พระเลขาฯ พระมหาสมปอง พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสร้อยทอง
เจ้าของแนวคิดธรรมะเดลิเวอรี่ บอกว่า... "ในเรื่องสื่อเทคโนโลยี
อันที่จริงเขาให้ยึดที่ตัวคน และให้บังคับภายในไม่ใช่บังคับจากภายนอก
ถ้าคิดให้ดี คนที่นำสื่อเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ดี ก็จะมีประโยชน์ ในทางกลับกันถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ดี
ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาส ก็จะไม่ดี อย่างไรก็ตาม สำหรับพระนั้นหากไม่รู้ข้อมูลในปัจจุบันก็นำมาสอนใครไม่ได้
เช่นถ้าห้ามพระใช้คอมพิวเตอร์ พระก็ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์
การเป็นครูต้องให้รู้ก่อนจึงสามารถสอนได้ เรื่องการใช้เทคโน โลยีทุกสิ่งอยู่ที่ใจและเจตนา
เรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการกระทำของคนไม่กี่คน แต่พอทำเสียสังคมก็พากันวิพากษ์วิจารณ์เสียหาย
ส่วนพระที่ใช้เทคโนโลยีทำประโยชน์ได้มากไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกัน"...พระมหาจิรพงศ์กล่าว
เรื่องของพระ...ก็ลองถามพระท่านดู
พระท่านก็ตอบมา...ดังนี้แล
!!!!!.
ขออนุโมทนาสาระประโยชน์จาก
http://www.dailynews.co.th/web/html/...e=2&Template=1
*******************
|