ุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เปี่ยมด้วยเมตตาและภักดีต่อสถาบันหลัก
โดย...สมาน สุดโต

11 มกราคม 2553 เวลา 18:36 น.

          สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นพระมหาเถระไม่กี่รูป ที่รับนิมนต์ไปเป็นประธานในงานมงคล และพิธีต่างๆ ทั้งของพระสงฆ์ องค์กรต่างๆ และของพุทธศาสนิกชนทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะเกือบทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ แม้ว่าเจ้าประคุณจะสูงด้วยสมณศักดิ์มีฐานะเป็นถึงประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอายุพรรษาสูงถึง 82 ปีก็ตาม ที่เป็นดังนี้เพราะไม่ขัดศรัทธา มีเมตตาต่อคณะสงฆ์ และประชาชนทั่วไป ส่วนการถวายความภักดีนั้นจะเห็นว่าทุกครั้งที่ให้โอวาทท่ามกลางสงฆ์จบแล้วจะต้องให้ที่ประชุมตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพรชัยมงคลสถาบันพระมหากษัตริย์เสมอ

 

 

เลี้ยงพระ 1,000 รูป
          วันทำบุญอายุวัฒนมงคล 82 ปีของเจ้าประคุณสมเด็จฯ วันที่ 11 ม.ค. 2553 แม้จะไม่ได้จัดงานขึ้นเป็นพิเศษ แต่คณะศิษยานุศิษย์ก็จัดถวายอย่างสมเกียรติ โดยช่วงเช้าจะเลี้ยงพระสงฆ์ประมาณ 300 รูป ที่บริเวณตำหนักสมเด็จฯ และเวลา 10.30 น. พระเถระที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมสวดพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งเลี้ยงพระเพลอีกประมาณ 700 รูป ที่บริเวณวิหารคตรอบพระอุโบสถ ในเวลาเดียวกันจะมีประชาชนและคณะศิษย์นำอาหาร และเครื่องไทยทานไปร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก เพราะตลอดเวลาการครองสมณเพศกว่า 61 พรรษา พุทธศาสนิกชนทั่วไปตระหนักดีว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีผลงานและคุณสมบัติต่างๆ ที่ได้รับยกย่องเชิดชูมากมาย

          ปัจจุบันเจ้าประคุณสมเด็จฯ สิริอายุ 82 ปี พรรษา 61 ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก แม่กองงานพระธรรมทูต และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          ท่านมีนามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ปีพ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 6 คน ของนายฮุ้ยเลี้ยน แซ่โหย้ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย้ (ยี โชคชัย) มีอาชีพทำสวน

บวชแก้บนแล้วบวชเลย
          เรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน จากนั้นเตรียมตัวจะไปเรียนต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี แต่เกิดป่วย บิดามารดาจึงบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า จะให้บวชเป็นสามเณรถ้าหายป่วย ดังนั้นเมื่อหายป่วยบิดามารดาจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณรเป็นการแก้บน เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ปีพ.ศ. 2484 ณ วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยจะบวชเพียง 7 วันเท่านั้น แต่เมื่อบวชแล้วเกิดเปลี่ยนใจ ไม่คิดจะลาสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

          ต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำมาฝากไว้กับพระอาจารย์เกตุ คณะ 5 ณ วัดสระเกศ กรุงเทพฯ ช่วงเดียวกันกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวกลับไปสุราษฎร์ธานีพาไปฝากท่านอาจารย์มหากลั่น ที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา

          ครั้นเมื่อสงครามสงบลง หลวงพ่อพริ้งได้พากลับมาที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง แต่ท่านอาจารย์เกตุที่เคยรับไว้ตอนแรก ได้ลาสิกขาไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงพาไปฝากกับพระครูปลัดเทียบ ที่ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

          เมื่อเป็นสามเณรศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 5 ประโยค และอุปสมบท เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ปีพ.ศ. 2492 ณ วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

          การศึกษาภาษาบาลีก้าวหน้ามาก สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด ในปีพ.ศ. 2497 ผู้ที่สอบได้พร้อมกับท่านในครั้งนั้นมี 2 รูป (อีกรูปคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) ทั้งสองรูปนี้อยู่ในกลุ่มพระเจ้าห้าพระองค์ที่เป็นศิษย์เอกของ น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง ป.ธ. 9 อนุศาสนาจารย์กองทัพอากาศ อาจารย์ผู้สอนบาลีชั้นนำอีกด้วย
ผู้ที่สอบได้ประโยค 9 และได้รับฉายา พระเจ้าห้าพระองค์ จากอาจารย์แย้มผู้สอนประโยค 9 นั้นมีชื่อเดิมว่า เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง แต่ละรูปเจริญเติบโตในสมณศักดิ์สูงทุกรูป คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว ได้ประโยค 9 พ.ศ. 2497) สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสโร ได้ประโยค 9 พ.ศ. 2498) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ได้ประโยค 9 พ.ศ. 2497) พระวิสุทธิวงศาจารย์ (พลอย ญาณสํวโร ได้ประโยค 9 พ.ศ. 2496 มรณภาพปี 2547 อายุ 84 ปี ขณะที่เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ เจ้าอาวาสวัดเทพธิดาราม) ส่วนพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย ได้ประโยค 9 พ.ศ. 2500 เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และรองเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี มรณภาพเมื่อปีพ.ศ. 2547 อายุ 69 ปี)

สมณศักดิ์
          เจ้าประคุณสมเด็จฯ เติบโตในสมณศักดิ์รวดเร็ว เป็นราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ. 2501 เป็นชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ. 2505 ป็นชั้นเทพที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ. 2507 เป็นชั้นธรรมที่ พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ. 2514 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมคุณาภรณ์ พ.ศ. 2516 และได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พ.ศ. 2533 เมื่ออายุ 62 ปีเท่านั้น

งานด้านวิชาการและการบริหาร
          สมเด็จพระพุฒาจารย์เริ่มงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2494 เริ่มจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมก่อน จากนั้นเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฎก ฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์ และได้ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคายนา ณ ประเทศพม่า ในปีพ.ศ. 2498 ด้วย

          หน้าที่การงานที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านดำรงตำแหน่งและหน้าที่มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 โดยเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาบาลี ต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกภาษาบาลี และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ เป็นผู้ช่วยอธิการบดี และเป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย จนกระทั่งเป็นเลขาธิการ

          ด้านการปกครองเคยดำรงเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด) และเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครพนม ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ)

          พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พ.ศ. 2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ. 2532 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

ปฏิบัติหน้าที่สังฆราช
          เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2545 ทำให้ทรงงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคมจึงมีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เมื่อต้นปี 2547
เมื่อเวลาการแต่งตั้งได้สิ้นสุดลง ที่ประชุมมหาเถรสมาคมจึงมีมติให้มีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ในฐานะพระเถระที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ได้รับเลือกให้ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช


ประทานโอวาท

           ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีเมตตาไปเป็นประธานในงานและพิธีที่สำคัญๆ ท่านจะประทานโอวาทเพื่อชี้แนะแนวทางปฏิบัติเสมอ ส่วนโอวาทที่ให้จะสอดคล้องกับความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ผู้เข้าประชุม เช่น ในงานมอบพัดและเกียรติบัตรยกย่องสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่นของประเทศ 82 แห่ง เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2552 ที่วัดพิชยญาติการาม ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คัดเลือกมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษานั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ กล่าวในที่ประชุมว่า เจ้าสำนักที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้แสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อกันและกันสูงยิ่ง บางสำนักทำงานมา 3040 ปี เจ้าสำนักมีสมณศักดิ์สูง เช่น พระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อทอง) วัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ หรือบางท่านเป็นมหาเถระ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (พระพรหมวชิรญาณ) บางท่านเป็นเจ้าคณะภาค (พระธรรมปริยัติเวที วัดพระปฐมเจดีย์) แต่ละท่านต่างมาด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน น่าชื่นใจมาก

          เจ้าประคุณสมเด็จฯ กล่าวว่า มหาเถรสมาคมประกาศระเบียบว่าด้วยสำนักปฏิบัติธรรมเมื่อปีพ.ศ. 2543 นั้น บรรดาสำนักต่างๆ เข้าใจเป็นอันดีว่าเป็นเรื่องอันหนึ่งอันเดียวกันของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นไปตามพุทธประสงค์ที่ต้องการให้พระอยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง และอาศัยกันและกันโดยไม่แก่งแย่งกัน ดังที่สวดในท้ายปาฏิโมกข์ทุกวันพระ 15 ค่ำนั่นเอง

          เจ้าประคุณสมเด็จฯ กล่าวว่า ประเทศไทยเรายังมีระเบียบแบบแผนต่างๆ ส่งเสริมพระศาสนา ยกย่องพระสงฆ์ให้ปรากฏในสังคมโดยสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ ลำดับชั้นเจ้าคณะผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติ โดยมิต้องการให้เหนือกว่า ดีกว่า หรือน้อยกว่า ถ้าดูตามประสงค์พื้นๆ ธรรมดา ก็กล่าวได้ว่าเพื่อยกย่อง มิใช่เพื่อแสดงความสูงต่ำจนกระทั่งเกิดอาการ (ไม่ดี) เข้ามาแทนที่ ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้ว เพราะพระเถระผู้ใหญ่ต่างมาประชุมที่เดียวกัน โดยไม่ถือชั้นนั้นชั้นนี้ แต่แสดงความเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่า โดยความรู้สึกแล้ว ท่านดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นปรากฏการณ์อย่างนี้

ความภักดี
          ส่วนที่เป็นวัตรปฏิบัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ คือ การแสดงความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นว่าทุกครั้งหลังจากจบโอวาท เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะขอให้ที่ประชุมตั้งใจถวายพระราชกุศลแด่องค์พระมหากษัตริย์ โดยจะขอให้ที่ประชุมตั้งใจถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภกพระพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงพระองค์ปัจจุบัน และขอให้อธิษฐานใจร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงมีพระราชประสงค์สิ่งใดขอให้สัมฤทธิ์โดยเร็วพลัน ดังนั้น อายุวัฒนมงคล 82 ปีของสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงเป็น 82 ปีที่เป็นตัวอย่างแห่งความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์ พระธรรมวินัย พระสงฆ์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สาธุชน และพระสงฆ์สามเณรควรจะเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา: นสพ.โพสท์ทูเดย์ 11 มกราคม 2553 เวลา 18:36 น.
ข้อมูลที่ควคดูเพิ่มเติม.-
      >>>"สมเด็จพระพุฒาจารย์" สอนให้นำหลักธรรม ๔ข้อมาดำเนินชีวิต

*******************

นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐
****************************************************************************************************