สภาคริสตจักรรับคริสเตียนบางกลุ่ม ช่วยสึนามิบังหน้า


                ผญบ.บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ยื่นมือช่วยน้องปอน เด็กกำพร้าสึนามิ วัย 12 ขวบ เผยได้รับการประสานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลา เหตุดูแลเหยื่อสึนามิกว่า 4 พันชีวิต ส่วนหนุ่มอีสานลูกน้ำเค็ม นายอำเภอชี้ต้องมีญาติมายืนยันอย่างเดียวเท่านั้น ด้าน สภาคริสตจักรยอมรับคริสเตียนจาก ตปท.บางกลุ่ม ช่วยเหยื่อสึนามิบังหน้า

                 ความคืบหน้าตามที่ "คม ชัด ลึก" นำเสนอเรื่องราวของเหยื่อสึนามิตกหล่นที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากติดปัญหาไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยจริงหรือไม่ เช่น กรณีของ นายสำราญ สุกาพร อายุ 44 ปี ชาวมุกดาหาร ที่ไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะพ่อแม่ตายตั้งแต่ยังเล็ก แถมพี่สาว 4 คน อพยพตามสามีฝรั่งไปอยู่ต่างประเทศ ย้ายถิ่นฐานมาก่อร่างสร้างตัวมีครอบครัวอยู่ที่ ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และ ด.ช.อานันท์ ศรียาภัย หรือน้องปอน อายุ 12 ขวบ เด็กกำพร้าที่ไม่มีใบแจ้งเกิด เมื่อเกิดสึนามิทั้งสองคนจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ แตกต่างจากผู้ประสบภัยคนอื่นๆ

                 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายชลอศักดิ์ วานิชย์เจริญ นายอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าวถึงเหยื่อกำพร้าสึนามิที่ไม่มีบัตรประชาชนแล้วยังไม่ได้รับความช่วยเหลือว่า ที่ผ่านมาอำเภอได้จัดงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิทุกคน ทั้งที่มีบัตรประจำตัวประชาชนและไม่มี สำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนจะต้องไปยื่นเรื่องที่อำเภอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสอบปากคำทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ขณะเดียวกัน ยังต้องมีหลักฐานการรับรองจากคนในชุมชนด้วย ที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือชาวอีสานที่ย้ายมาทำกินใน จ.พังงา แล้วเกือบ 200 คน

                 สำหรับกรณีของ นายสำราญ สุกาพร หนุ่มกำพร้าที่ไร้ญาติขาดมิตรนั้น นายชลอศักดิ์ กล่าวว่า คงต้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และหาหลักฐานเพิ่มเติมต่อไปว่าเป็นคนไทยจริงหรือไม่ สำหรับ ด.ช.อานันท์ ศรียาภัย ที่ชุมชนมอแกนเลี้ยงดูมาตั้งแต่ลืมตาดูโลกได้เพียง 7 วันนั้น ต้องให้ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนมารับรองว่าเป็นลูกคนไทยจริง

                 นายทวิช จิตร์ประสานต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า ยอมรับว่า หลังเกิดสึนามิได้ให้ทุนการศึกษานักเรียนไปแล้วกว่า 400 ทุน ซึ่ง ด.ช.อานันท์ เป็นนักเรียนกำพร้าคนเดียวที่ยังไม่ได้รับทุนการศึกษา เพราะไม่มีหลักฐานการแจ้งเกิด เด็กที่ได้รับทุนการศึกษาจะต้องมีหลักฐานสำคัญ เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ใบแจ้งความทรัพย์สินเสียหาย ดังนั้นญาติของ ด.ช.อานันท์ ต้องไปติดต่ออำเภอก่อน เมื่อมีหลักฐานจากอำเภอชัดเจนแล้ว โรงเรียนก็จะจัดหาทุนการศึกษาให้ทันที

                 ด้าน นายเสถียร เพชรเกลี้ยง ผู้ใหญ่บ้านน้ำเค็ม กล่าวว่า เคยไดัรับการติดต่อจากญาติของ ด.ช.อานันท์ แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปติดต่อที่อำเภอแต่อย่างใด เนื่องจากหลังเกิดสึนามิต้องดูแลชาวบ้านที่เดือดร้อนกว่า 4,000 คน นอกจาก ด.ช.อานันท์ แล้วยังมีคนไทยตกหล่นที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตนจะต้องไปช่วยยืนยันบันทึกถ้อยคำที่อำเภอให้ คาดว่ากรณีของ ด.ช.อานันท์ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะตนรู้สึกเป็นห่วงชาวบ้านกลุ่มนี้เช่นกัน

                 สำหรับความคืบหน้าองค์กรที่แอบอ้างว่าเป็นคริสเตียนเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ จ.พังงา โดยใช้เงินชักจูงใจให้เปลี่ยนศาสนาแลกกับการช่วยเหลือตามที่ "คม ชัด ลึก" นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น วันเดียวกันนี้ ศ.ดร.บุญรัตน์ บัวเย็น ประธานสภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวในการแถลงผลประชุมศาสนิกสัมพันธ์สัญจรครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาคริสตจักรในประเทศไทยว่า องค์กรคริสต์ทั้งหมดที่มาทำงานในประเทศไทย สภาคริสตจักรจะมีรายชื่อทั้งหมด แต่มีบางกลุ่มที่มาจากต่างประเทศ ไม่ได้ติดต่อกับสภาคริสตจักร โดยใช้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิบังหน้า เพื่อบอกกับต้นสังกัดว่ามีผลงานช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสภาคริสตจักรไม่ได้รับรู้ด้วย

                 "ในส่วนของสภาคริสตจักรพยายามฟื้นฟูจิตใจ และสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยสึนามิ ที่ผ่านมาได้มอบเรือ 12 ลำ และเครื่องมือดักปลาให้ชาวบ้านหมู่เกาะลันตา 3 แห่ง คือ บ้านสังกระฮู้ บ้านท้ายไร่ บ้านคลองดาว รวมถึงสอนให้ชาวบ้านรู้จักการออมทรัพย์และเรื่องศาสนา แต่ไม่ได้โน้มน้าวให้ชาวบ้านเปลี่ยนศาสนาหรือเชื่อตามศาสนา หากจะเปลี่ยนศาสนาขึ้นอยู่กับชาวบ้านเอง นอกจากนั้น สภาคริสตจักรไทยยังร่วมกับสภาคริสตจักรเกาหลี สร้างศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เขาหลัก จ.พังงา เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพด้วย" ศ.ดร.บุญรัตน์ กล่าว

                 ด้าน นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ.ได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วยังไม่พบว่า มีการทำผิดเพี้ยนคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตัวแทนศาสนาคริสต์ยังให้ความช่วยเหลือ เช่น สร้างบ้าน รวมถึงที่มีโบสถ์เกิดขึ้น 18 แห่ง เพราะชาวต่างชาติเสียชีวิตในประเทศไทย เมื่อพี่น้องผู้เสียชีวิตเข้ามาดูสถานที่ จึงสร้างโบสถ์หรือศาสนถานขึ้นชั่วคราว เพื่อมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เมื่อเสร็จภารกิจศาสนาสถานเหล่านี้จะยุบหรือคงไว้ก็ได้ แต่ต้องมีผู้มาประกอบศาสนกิจ

                 "ศาสนาที่จะเข้ามาในไทยจะต้องเป็นศาสนาที่รัฐบาลสนับสนุนและให้การรับรอง หากศาสนาใดก่อปัญหาจะต้องว่ากล่าวตักเตือน ในฐานะตัวแทนรัฐบาล วธ.ได้ออกมาตรวจสอบ โดยให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช่วยกันสอดส่องดูแลว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ รวมถึงอยากให้ประชาชนช่วยกันดูแลสอดส่อง หากพบเห็นสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล ก็ให้ร้องเรียนมาที่ศูนย์เฝ้าระหวังหรือเวบไซต์ วธ." นายปรีชา กล่าว


ที่มา : นสพ.คมชัดลึก 15 พ.ย.48

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี