พระสังฆาธิการ
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐
****************************************************************************************************

             "พระสังฆาธิการ" เป็นคำรวมตำแหน่งพระภิกษุผู้ปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เริ่มใช้มาแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ จนถึงปัจจุบัน โดยมีกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ กำหนดนามเป็นครั้งแรก โดยเปลี่ยนคำว่า "พระคณาธิการ" มาเป็น "พระสังฆาธิการ" ให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ รวมคำว่า "พระ" "สังฆ" และ "อธิการ" เป็น "พระสังฆาธิการ" แปลตามรูปศัพท์ว่า "พระภิกษุผู้ทำงานโดยสิทธิขาดในทางคณะสงฆ์" "พระภิกษุผู้ทำงานคณะสงฆ์โดยมีอำนาจเต็มตามตำแหน่ง" ซึ่งในแม่บทท่านบัญญัติว่า หมายถึง "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์" มีตำแหน่งดังนี้
              ๑) เจ้าคณะใหญ่
             ๒) เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค
             ๓) เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด
             ๔) เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ
             ๕) เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล
             ๖) เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
เจ้าคณะและเจ้าอาวาสดังกล่าวนี้ เป็นผู้ทำงานคณะสงฆ์อย่างมีอำนาจเต็มตามกฎหมาย และครอบคลุมงานทุกส่วนในเขตปกครองหรือในวัด ส่วนรองเจ้าคณะ รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส จะมีอำนาจหน้าที่เต็มตามตำแหน่ง ก็เพราะได้รับการมอบหมาย จึงบัญญัตินามว่า "พระสังฆาธิการ" ซึ่งเทียบได้กับข้าราชการของฝ่ายราชอาณาจักร ส่วนเลขานุการเจ้าคณะและเลขานุการรองเจ้าคณะ หาได้เป็นพระสังฆาธิการไม่ เพราะเป็นเพียงผู้ทำการเลขานุการ

ความต่างแห่งพระคณาธิการ กับ พระสังฆาธิการ

พระคณาธิการ
       
      "พระคณาธิการ" เป็นนามบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการบริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดในองค์การทั้ง ๔ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ
             ในส่วนภูมิภาค เจ้าคณะตรวจการและเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาคต่าง ๆ ก็เพียงทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ และแนะนำ ชี้แจง กิจการอันเกี่ยวกับการบริหารการคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ
             ในชั้นจังหวัดและชั้นอำเภอ ได้แยกหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์เป็นองค์การ มีกรรมการสงฆ์ประจำองค์การ โดยเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด
เจ้าคณะอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ
             แม้ในตอนสุดท้ายแห่งการใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ในชั้นภาค ก็ได้กำหนดให้มีเจ้าคณะตรวจการประจำองค์การดังเช่นชั้นจังหวัดและอำเภอ แต่ยังมิได้แต่งตั้งเจ้าคณะตรวจการประจำองค์การตามที่กำหนดขึ้นใหม่ ก็ถูกยกเลิกเสีย
             ในชั้นตำบลและชั้นวัด เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาส คงรับปฏิบัติหน้าที่งานของทุกองค์การ

พระสังฆาธิการ
       
      "พระสังฆาธิการ" เป็นนามบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ในเขตปกครองของตน คือ บริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดใน ๔ องค์การเดิม แต่มิได้จัดเป็นองค์การ ซึ่งเป็นตัวองค์กรบริหาร คงยึดเอาเฉพาะลักษณะงานในองค์การนั้น ๆ เปลี่ยนเรียกว่า "การ" กล่าวคือ
             ๑.การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (เดิมคืองานในองค์การปกครอง)
             ๒.การศาสนศึกษา (เดิมคืองานในองค์การศึกษา)
             ๓.การเผยแผ่พระพุทธศาสนา (เดิมคืองานในองค์การเผยแผ่)
             ๔.การสาธารณูปการ และ
             ๕. เพิ่มการศึกษาสงเคราะห์และการสาธารสงเคราะห์เข้า พร้อมทั้งเอาการนิคหกรรม (เดิมคือการวินิจฉัยอธิกรณ์) รวมเข้าอยู่ในอำนาจหน้าที่เจ้าคณะชั้นนั้น ๆ เพื่อมิให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจดังเช่นกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ได้กำหนดให้มีรองเจ้าคณะ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะในชั้นนั้น ๆ อีกส่วนหนึ่ง แม้ในส่วนวัด ก็ให้มีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ

คุณสมบัติพระสังฆาธิการ

             คุณความดีเฉพาะตัวของผู้จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการก็ดี ของผู้จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการต่อไปก็ดี เรียกว่า "คุณสมบัติพระสังฆาธิการ" แยกเป็น ๒ คือ
             ๑. คุณสมบัติทั่วไป กำหนดไว้ ๗ ได้แก่
             ๑) มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
             ๒) มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
             ๓) มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
             ๔) เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
             ๕) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่
สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
             ๖) ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
             ๗) ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน
             
๒. คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง มีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังความในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ ๗, ๑๐, ๑๔, ๑๘, ๒๒,๒๖, ๒๙, และ ๓๐ คุณสมบัติดังกล่าวนี้ คงกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สูงไปกว่าที่กำหนดไว้เป็นการดียิ่ง และกำหนดตายตัวเฉพาะพรรษา นอกนั้นหากมีความจำเป็นผ่อนผันได้เฉพาะกรณี

จริยาพระสังฆาธิการ

             จริยาพระสังฆาธิการ หมายถึง ข้อที่พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตาม บัญญัติไว้เพื่อเป็นหลักควบคุมพระสังฆาธิการ โดยมีบทบัญญัติดังนี้

             ๑. จริยา
       
     "ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
             ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น ให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
             ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว
       
      ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร
       
     ข้อ ๔๗ พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร
       
     ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
       
     ข้อ ๔๙ พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
       
     ข้อ ๕๐ พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
       
     ข้อ ๕๑ พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย"
ทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นตัวจริยาอันพระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะละเมิดแล้ว ย่อมได้รับโทษฐานละเมิดจริยา

             ๒. การรักษาจริยา
             นอกจากจะบัญญัติให้พระสังฆาธิการต้องรับปฏิบัติตามกล่าว คือต้องรักษาจริยาสำหรับตัวเองแล้ว ยังบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับคอยควบคุมและพิจารณาลงโทษในเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาละเมิดจริยา ดังบทบัญญัติข้อ ๕๒ และ ๕๓
       
      "ข้อ ๕๒ ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีหน้าที่ควบคุม ดูแล แนะนำ ชี้แจง หรือสั่งให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาปฏิบัติตามจริยาโดยเคร่งครัด

             ถ้าผู้บังคับบัญชารู้อยู่ว่า ผู้อยู่ในบังคับบัญชาละเมิดจริยา ต้องพิจารณาว่า ความละเมิดของผู้อยู่ในบังคับบัญชานั้น อยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้ ก็ให้สั่งลงโทษ แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้น ควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนมีอำนาจที่จะสั่งลงโทษได้ ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษตามควร

             ผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาหรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา
       
     ข้อ ๕๓ พระสังฆาธิการรูปใด ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยาต้องปฏิบัติตามทันที ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง"

             ๓. โทษฐานละเมิดจริยา
             โทษที่พระสังฆาธิการจะพึงได้รับ เพราะละเมิดจริยา มีหนักเบากว่ากันตามความละเมิด ตามความในข้อ ๕๔ ดังนี้
             "ข้อ ๕๔ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                  (๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
                  (๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
                  (๓) ตำหนิโทษ
                  (๔) ภาคทัณฑ์"
             
๔. การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ต้องยึดหลักเกณฑ์และวิธีการตามความในข้อ ๕๕ ดังนี้
       
     "ข้อ ๕๕ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
       
     (๑) ทุจริตต่อหน้าที่
       
     (๒) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า ๓๐ วัน
       
     (๓) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
       
     (๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
       
     (๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้"

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี