สมณศักดิ์
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น
แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด อาจกล่าวได้ว่า สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์
หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ
ให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย
เพราะการที่พระสงฆ์รูปใด ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย
ในสมัยพุทธกาล
พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้จิตวิทยาในการปกครองพระสงฆ์สาวก โดยการยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง
ป้องปรามผู้ที่ควรป้องปราม ดังจะเห็นได้จากทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวก
ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และทรงตั้งเอตทัคคะ กล่าวคือ ทรงยกย่องพระสาวกอีกส่วนหนึ่งว่ามีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังมิได้ถือว่าเป็นสมณศักดิ์
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว เพื่อสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา
พระประมุขแห่งประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์
โดยปรากฏหลักฐานว่ามีการพระราชทานสมณศักดิ์ และพัดยศพร้อมทั้งเครื่องประกอบสมณศักดิ์อื่นๆ
ได้รับแบบอย่างมาจากประเทศศรีลังกา
สำหรับประเทศไทยนั้นระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์
เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชลิไทย พระองค์ได้ทรงโปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาจากประเทศลังกาเพื่อให้ประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย
พระมหาสามีสังฆราชคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชาลิไททรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศลังกา
ระบบสมณศักดิ์ในสมัยสุโขทัยไม่สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง 2 ระดับชั้นเท่านั้น
คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น
3 ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระสังฆราชคณะหรือพระราชาคณะและพระครู
(รายละเอียดทั้งหมด)
ที่มา.- สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสระแก้ว
ทีมงานของเราพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ จึงขออนุญาตคัดมาเสนอ ผลดีที่เกิดขึ้นขอมอบให้เจ้าของบทความไว้
ณ ที่นี้
*******************
|