วิธีร้องทุกข์
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐


                การร้องทุกข์ได้มีระเบียบมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติดังนี้.-

หลักเกณฑ์
                ๑. สิทธิร้องทุกข์ มีเพราะถูกคำสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง
                      ๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
                      ๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
                      ๓) ตำหนิโทษ
                      ๔) ภาคทัณฑ์
                ๒. ถูกสั่งพักหรือให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ไม่มีสิทธิร้องทุกข์
                ๓. ต้องร้องทุกข์ด้วยตนเอง และภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
                ๔. ถ้าปรากฏว่าร้องทุกข์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง

วิธีปฏิบัติสำหรับผู้ร้องทุกข์ การร้องทุกข์อาจมีได้ ๒ ระยะ

                ระยะที่ ๑ ถ้าผู้ถูกสั่งลงโทษเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่เป็นธรรม ประสงค์จะร้องทุกข์ ให้จัดทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือมีสำเนา ระบุสถานที่และวันเดือนปีที่ร้องทุกข์ ชี้แจงเหตุผลและข้อถูกผิดและลงลายมือชื่อ พร้อมสำเนาคำสั่งลงโทษ นำส่งผู้สั่งลงโทษเพื่อผ่านไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง อย่าส่งข้ามลำดับ จะเป็นการละเมิดจริยาชั้นที่ ๒

                ระยะที่ ๒ ถ้าผู้รับคำร้องทุกข์สั่งการให้เพิ่มโทษ ให้สิทธิร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งได้ โดยให้ปฏิบัติตามวิธีร้องทุกข์ระยะแรกโดยอนุโลม

วิธีปฏิบัติสำหรับผู้บังคับบัญชา

                ๑. ผู้สั่งลงโทษ ต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน จะกักเรื่องมิได้
                ๒. ผู้รับคำร้องทุกข์ มีวิธีปฏิบัติเป็น ๓ ระยะ
                      ๑) ในกรณีปกติ ต้องสั่งการให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ วัน
                      ๒) ในกรณีต้องชี้แจง ให้สั่งให้ผู้สั่งลงโทษชี้แจง และให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน ๗ วัน ผู้สั่งลงโทษต้องชี้แจงและหรือส่งเอกสารประกอบภายใน ๑๕ วัน และต้องสั่งการให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์
                      ๓) ในกรณีตั้งกรรมการ ถ้าเห็นควรตั้งกรรมการ ให้ตั้งกรรมการเสนอความเห็นไม่ต่ำกว่า ๓ รูป และไม่เกิน ๕ รูป และต้องสั่งการให้เสร็จสิ้นภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันได้รับคำร้องทุกข์ ในการสอบสวน กรรมการจะเชิญบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

                ๓. การแจ้งผลการพิจารณา เมื่อพิจารณาชี้ขาดแล้ว ให้แจ้งแก่ผู้สั่งลงโทษ และให้ผู้สั่งลงโทษแจ้งแก่ผู้ร้องทุกข์ ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งจากผู้สั่ง
                ๔. เหตุยุติการร้องทุกข์ ให้ยุติการร้องทุกข์ เพราะ
                      ๑) คำพิจารณายืนตามคำสั่งลงโทษเดิม หรือ
                      ๒) คำพิจารณาสั่งแก้การลงโทษให้เบากว่าเดิม
ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะคำพิจารณาให้เพิ่มโทษขึ้น

(ดูแบบประกอบ)

ข้อมูลหรือแบบพิมพ์ที่ควรดูเพิ่มเติม
                >> แบบเอกสารเกี่ยวกับการร้องทุกข์

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี