รายงานพิเศษ
เร่งฟื้นฟูกิจการคณะสงฆ์ หลังคลื่นยักษ์ ‘สึนามิ’ ผ่านพ้น
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2548 15:51 น.
 

 

               ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเล บริเวณเกาะสุมาตรา ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พัดเข้าฝั่งประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต,พังงา,ระนอง,กระบี่,ตรัง และสตูล เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ที่ผ่านมานั้น ได้คร่าชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
       
       ธารน้ำใจไทยหลั่งไหลช่วยเหลือ
               ทันที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป ธารน้ำใจจากพี่น้องชาวไทยทั่วทุกสารทิศก็หลั่งไหลลงไปช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ทั้งในรูปของการบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงการบริจาคแรงกายเข้าไปช่วยงานด้านต่างๆอย่างมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งมิใช่เพียงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศที่ระดมกำลังกันเข้าช่วยเหลือในส่วนที่สามารถกระทำได้
               ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์กว่า 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้
               สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดประทานเงินจำนวน 2 ล้านบาท ให้กับรองนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อนำไปช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย โดยได้มีพิธีรับมอบไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา
               ส่วนทางมหาเถรสมาคมนั้นเบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ขึ้น โดยมีพระพรหมเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธาน และมีกรรมการทั้งหมด 15 รูป เพื่อทำหน้าที่รวบรวมเงินบริจาคที่วัดและประชาชนร่วมใจกันบริจาคมา โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในนามกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ได้เป็นประธานมอบเงินจำนวน 1,100,000 บาท ให้กับรัฐบาล โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลรับมอบเงินจำนวนดังกล่าว
       
       สรุปความเสียหายเบื้องต้น
       พระ/ที่พักสงฆ์/วัด

               ขณะที่พระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะภาค 17 เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ได้เดินทางไปตรวจการณ์คณะสงฆ์หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์นั้น ด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่กอง พุทธศาสนสถาน โดยมี นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน นำทีมลงสำรวจพื้นที่ความเสียหายของวัด ที่พักสงฆ์ และจำนวนพระสงฆ์มรณภาพ รวมทั้งสำรวจวัดที่ประชาชนใช้เป็นที่พักพิง วัดที่ให้การสงเคราะห์ศพ จากกรณีเกิดธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ ซึ่งผลการตรวจการณ์ของเจ้าคณะภาค 17 และผลสำรวจของเจ้าหน้าที่กองพุทธศาสนสถานได้พบความเสียหายเบื้องต้นที่พอสรุปได้ดังนี้
               จังหวัดระนอง ตรัง สตูล ไม่มีความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของพระภิกษุและวัด/สำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์
              ในจังหวัดระนองนั้น
คณะสงฆ์ได้ให้การสงเคราะห์ต่อการฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตให้การดูแลที่พักและอาหารต่อผู้ประสบภัย 2 แห่ง คือ วัดสถิตธรรมาราม ต.กำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ เป็นสถานที่ในการรับและฌาปนกิจศพ เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิต และวัดสุวรรณคีรีวิหาร ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง เป็นสถานที่ให้การดูแลให้ที่พักและอาหารต่อผู้ประสบภัย
               จังหวัดกระบี่ ไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินของวัด/สำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์ แต่คณะสงฆ์ในจังหวัดได้แจ้งให้วัดต่างๆ ให้ความอนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน กว่า 200 คน เช่น วัดเกาะลันตา รวมทั้งการสงเคราะห์ต่อการณาปนกิจศพผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะการช่วยรับศพจากจังหวัดพังงาซึ่งมีจำนวนมากมาดำเนินการ
       
       ภูเก็ตเสียหายมาก ส่วนพังงามากที่สุด
       จังหวัดภูเก็ต มีรายงานความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพระภิกษุสงฆ์และที่พักสงฆ์ค่อนข้างมาก คือ
               - ที่พักสงฆ์กมลา ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต (สังกัดวัดอนุภาษกฤษฎาราม) มีพระสงฆ์มรณภาพ 3 รูป ได้แก่ พระเต็กก้วน ปสนฺนจิตฺโต อายุ 67 ปี พระนพ เขมจาโร อายุ 74 ปี และพระวันทา อาภากโร อายุ 68 ปี ส่วนพระสงฆ์ที่ได้รับบาดเจ็บ มี 2 รูป ได้แก่ พระพูนสวัสดิ์ ฐานวุฑฺโฒ และพระพิทักษ์ กะตะภิญโญ ส่วนทรัพย์สินของที่พักสงฆ์กมลาที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ซุ้มประตู ศาลาบำเพ็ญกุศล วิหาร ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิ โรงครัว ฯลฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,209,900 บาท
               - ที่พักสงฆ์แหลมพระ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีความเสียหายของทรัพย์สิน อาทิ หอฉัน ห้องน้ำ รั้ว ฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 885,000 บาท
       จังหวัดพังงา พบความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพระภิกษุ วัด และที่พักสงฆ์ มากที่สุด ดังนี้
               - ที่พักสงฆ์เจริญธรรม(ธ) บ้านปากจบ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี มีพระภิกษุมรณภาพ 2 รูป คือ พระปัญญา ธีรปญฺโญ และพระสุวัฒน์ ทีปโก
               - ที่พักสงฆ์ทุ่งหว้า ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า พบอาคารเสนาสนะเสียหาย และบริเวณวัดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง
               - ที่พักสงฆ์นอกนา ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า อาคารเสนาสนะเสียหาย และบริเวณวัดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง
               - ที่พักสงฆ์ป่าโพธิวาส ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า อาคารเสนาสนะ เช่น กุฏิ เสียหายทั้งหมด พระพุทธรูปเสียหายและสูญหาย และบริเวณวัดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง
               - ที่พักสงฆ์ทุ่งตึก ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า อาคารเสนาสนะและบริเวณวัดได้รับความเสียหาย อาทิ กุฏิ 10 หลัง ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูปประจำวัน ห้องน้ำห้องส้วม ฯลฯ และบริเวณวัดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง
               - วัดพนัสนิคม ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า อาคารเสนาสนะ อาทิ ศาลาการเปรียญ วิหาร กุฏิ 7 หลัง ห้องน้ำ กำแพงวัด ซุ้มประตูวัด หอฉัน โรงครัว หอระฆัง รวมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ได้รับความเสียหายมาก และคัมภีร์โบราณสูญหาย บริเวณวัดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง รวมทั้งศพผู้เสียชีวิตขณะน้ำพัดพามา รวมค่าความเสียหายทั้งสิ้น 3,460,000 บาท
               - ที่พักสงฆ์ท่าไทร(ธ) ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง อาคารเสนาสนะและบริเวณวัดได้รับความเสียหาย อาทิ ศาลาพักผ่อน ถนนทางเข้าวัด เป็นต้น
               - วัดหลักแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ปล่องควันเมรุระเบิด เนื่องจากการเผาศพอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางวัดต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีเผาด้วยยางรถยนต์
       
       วัดที่ไม่เสียหายอุทิศตนเป็นผู้ช่วยเหลือ
       นอกจากนี้ ยังมีวัดในพังงาที่มิได้ประสบความเสียหาย แต่ให้ความอนุเคราะห์ในด้านต่าง คือ
               - วัดคมนียเขต ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า ได้รับศพเพื่อรอการพิสูจน์กว่า 100 ศพ อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่อาสาสมัครที่มาปฏิบัติงานกว่า 300 คน
               - วัดราษฎร์นิรมิต ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ได้รับศพเพื่อรอการพิสูจน์กว่า 1,400 ศพ รวมทั้งอนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 1,000 คน
               - วัดนิกรวราราม(วัดย่านยาว) ต.ย่านยาว อ.ตะกั่วป่า ได้รับศพเพื่อรอการพิสูจน์กว่า 1,900 ศพ อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 1,500 คน
               - วัดคงคาภิมุข ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า ได้รับศพเพื่อรอการพิสูจน์กว่า 50 ศพ อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 100 คน
               - วัดพระธาตุคีรีเขต ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า ได้รับศพเพื่อรอการพิสูจน์กว่า 50 ศพ อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 300 คน
               - วัดสามัคคีธรรม ต.คุระ อ.คุระบุรี ได้รับศพเพื่อรอการพิสูจน์กว่า 100 ศพ อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 1,000 คน
               - วัดบ้านเตรียม ต.คุระ อ.คุระบุรี ได้อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 200 คน
               - ที่พักสงฆ์บางครั่ง ต.บางวัน อ.คุระบุรี ได้อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 200 คน
               - วัดประชุมโยธี ต.ท้ายช้าง อ.เมือง ได้อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยและอื่นๆให้แก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร 100 คน
               ส่วนวัดในจังหวัดภูเก็ต เช่น วัดกิตติสังฆาราม อ.เมือง ได้อนุเคราะห์ที่อยู่อาศัยให้ประชาชนราว 3,000 คน สำนักสงฆ์ในทาน อ.เมือง ได้ทำอาหารและซื้อสิ่งของแจกจ่ายผู้ประสบภัยรวมกว่าสามแสนบาท
               โดยในเบื้องต้นทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มอบเงิน 400,000 บาทให้แก่วัดที่เป็นหลักในการให้ความอนุเคราะห์การรับและฌาปนกิจ ตลอดจนให้ที่พักอาศัยแก่ผู้ประสบภัย คือ วัดสถิตย์ธรรมาราม ต.กำพวด กิ่งอำเภอสุขสำราญ จ.ระนอง และวัดสุวรรณคีรีวิหาร ต.เขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จ.ระนอง วัดละ 50,000 บาท และวัดหลักแก่น ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา, วัดราษฎร์นิรมิต ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และวัดนิกรวราราม ต.ย่านยาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา วัดละ 100,000 บาท รวมทั้งได้นำสิ่งของ อาหาร และยารักษาโรค ไปมอบ ให้วัดสุวรรณคีรีวิหาร ต.เขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จ.ระนอง และวัดประชุมโยธี ต.ท้ายช้าง อ.เมือง จ.พังงา เพื่อเป็นศูนย์กลางการสงเคราะห์แจกจ่ายต่อไป
       
       คณะสงฆ์-สำนักพุทธฯทำแผนฟื้นฟู
       เร่งช่วยเหลือพระ/วัด ที่เดือดร้อน

               นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน เปิดเผยว่าจากการที่มีการนำศพมาไว้ยังวัดต่างๆในจังหวัดพังงา เพื่อการพิสูจน์และฌาปนกิจเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อพระภิกษุสงฆ์ในวัดดังกล่าวที่จะต้องรับภาระในการสวดบังสุกุล การต่อประกอบโลง การจัดสถานที่เก็บ และฌาปนกิจ ก่อให้เกิดปัญหาในสถานภาพความเป็นอยู่และภาวะจิตใจของพระภิกษุสงฆ์ จึงได้ขอให้พระภิกษุสงฆ์ในวัดที่ให้ความอนุเคราะห์ในการรับและฌาปนกิจศพ ได้มีการผลัดเปลี่ยนหมุน เวียนพำนักในวัดอื่นๆ เพื่อมิให้เกิดปัญหาจากสภาพแวดล้อม และกลิ่น เพื่อเป็นการลดความเครียด
               นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุสงฆ์ในภาค 16 คือจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จำนวน 50 รูป ในการเข้าไปในพื้นที่เยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจประชาชน การบำเพ็ญกุศลศพ และร่วมกับวัดต่างๆในการปฏิบัติงานอีกด้วย
               พระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะภาค 17 ซึ่งปกครองดูแลวัดในจังหวัดภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง และพังงา ได้ลงไป ตรวจการณ์คณะสงฆ์ หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิและพบเห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกิจการคณะสงฆ์ จึงได้ให้ข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยในครั้งนี้ว่า ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อบูรณะวัดและสำนักสงฆ์อย่างเร่งด่วน และช่วยเหลือวัดที่ทางราชการนำศพไปพิสูจน์ เพื่อปรับปรุงวัดให้สะอาดและปลอดโรค หลังจากที่นำศพออกจากวัดหมดแล้ว รวมทั้งจัดเบิกเงินจากกองทุนวัดช่วยวัด เป็นค่าภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรในเขตที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถออกรับบิณฑบาตได้ พร้อมทั้งจัดงบสนับสนุนพระธรรมทูตเฉพาะกิจออกเยี่ยมปลอบขวัญประชาชนในเขตภัยพิบัติ ทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปี และสมควรที่รัฐบาล มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะได้จัดบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในวาระครบ 50 วัน ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมีกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธี ส่วนวัดที่สงเคราะห์ประชาชนในกรณีนี้ เจ้าอาวาสควรได้รับการพิจารณาตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้พระสังฆาธิการได้มีส่วนช่วยเหลือประชาชนในยามมีภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคต และสุดท้ายควรมีงบสนับสนุนพระสังฆาธิการระดับบริหารออกตรวจการณ์และร่วมแก้ไขปัญหาในกรณีเช่นนี้ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือวัดได้ทันท่วงที
               สำหรับแผนฟื้นฟูที่ทางกองพุทธสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กำหนดแผนและรูปแบบเบื้องต้นไว้ โดยยึดกรอบและหลักการ ดังนี้
               ประการแรก ได้ทำการสำรวจข้อมูลและรายละเอียดความเสียหายของทรัพย์สินของวัดสำนักสงฆ์และที่พักสงฆ์ เพื่อจัดสรรงบประมาณในการบูรณะปฏิสังขรณ์ ทั้งนี้จะต้องมีการพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของอาคารเสนาสนะที่เหมาะสมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการใช้พื้นที่ตามที่ทางราชการกำหนด
               ประการที่สอง จัดกลุ่มตำแหน่งพื้นที่เป้าหมายในชุมชน เพื่อการตรวจเยี่ยมปลอบขวัญและสร้างกำลังใจโดยคณะสงฆ์ ทั้งนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการกำหนดแผน และรูปแบบการดำเนินการ
               ประการที่สาม การบริหารเงินบริจาคที่ได้รับผ่านคณะสงฆ์ จะมีการตั้งคณะกรรมการในแต่ละจังหวัด โดยมีพระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะภาคที่ 17 เป็นที่ปรึกษา เจ้าคณะ จังหวัดเป็นประธาน เจ้าคณะอำเภอต่างๆ เป็นกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธ-ศาสนาจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบ และหลักเกณฑ์ ทั้งนี้จะรวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนโดยไม่จำแนกศาสนา
       
       ของบ 46 ล้านฟื้นฟูกิจการคณะสงฆ์ใน 6 จังหวัดภาคใต้
               ขณะที่ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า สังคมโดยทั่วไปยังมีการพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัดและพระสงฆ์น้อยมาก อาจเป็นเพราะไม่ทราบว่า พระสงฆ์กับวัดได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด ทั้งที่ก็ได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น กรรมการมหาเถรสมาคมจึงได้มีมติ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีพระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน และมีพระเถระผู้ใหญ่อีกหลายรูป เพื่อพิจารณาว่าจะฟื้นฟูกิจการคณะสงฆ์ใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยครั้งนี้กันอย่างไร โดยตนได้เสนอของบประมาณไป 46 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในกิจการคณะสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อน การช่วยเหลือฟื้นฟูบูรณะวัด สำนักสงฆ์ เตาเผาศพต่างๆ และเป็นเงินชดเชยให้กับพระสงฆ์ที่มรณภาพด้วย

********************.....
       

       อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งคณะทำงานในส่วนของคณะสงฆ์และสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ คงจะได้ติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระสงฆ์และพุทธศาสนสถานที่ประสบภัยอย่างรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

 
ที่มา...
ผู้จัดการออนไลน์
1 กุมภาพันธ์ 2548 15:51 น.

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี