ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
เป็นต้นมา พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานด้านการศึกษาที่เด่นชัด
ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทซึ่งได้พระราชทานไว้ในวโรกาสต่าง
ๆ และพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในที่นี้จะนำเสนอเพียงพระราชปณิธานที่สำคัญๆ
ดังต่อไปนี้
-
พระราชปณิธานที่จะพระราชทานการศึกษา เพื่อพัฒนาชีวิตราษฎร ทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพด้วยการให้การศึกษา
เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้และมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและประเทศชาติ
ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาบางตอนที่ได้พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน
ณ ศาลาดุสิดาลัยเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ว่า
"
การศึกษาเป็นปัจจัยในการสร้างและพัฒนาความรู้
ความคิด ความประพฤติและคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้ยอ่างครบถ้วนพอเหมาะกันทุก
ๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ตลอด"
-
พระราชปณิธานที่จะจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้แก่กระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนราชวินิตขึ้น
ทรงอุปถัมภ์ โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๘
ทรงส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน พระราชทานพระราชดำริและพระบรมราชานุเคราะห์ให้จัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
โรงเรียนร่มเกล้าโรงเรียนชาวเขาและประชาชนที่อยู่ห่างไกลการคมนาคม
ให้จัดสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนประถมศึกษาในท้องที่ห่างไกลและทุรกันดาร
พระราชทานเครื่องเขียนแบบเรียน เสื้อผ้าแก่เด็กนักเรียน เครื่องอุปโภคบริโภคแก่ครูและพระราชทานพระราชทรัพย์ประเดิมตั้งมูลนิธิต่าง
ๆ
-
พระราชปณิธานที่จะให้เด็กได้เล่าเรียนต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่ก่อนระดับประถมศึกษา
ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ทุกแห่งก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งโรงเรียนในลักษณะเดียวกัน พร้อมด้วยห้องสมุดที่ทันสมัย เพื่อบุตรหลานของประชาชนในศูนย์พัฒนาที่ดินฯ
นั้น ๆ จะได้เข้าศึกษาเล่าเรียนทุกแห่ง และเพื่อให้การศึกษาของเด็กในชั้นประถมศึกษาเป็นไปด้วยดี
ผู้ปกครองเด็กได้มีเวลาในการประกอบอาชีพเต็มที่ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนขึ้นในโรงเรียนวังไกลกังวลและในศูนย์พัฒนาที่ดินอื่น
ๆ ตลอดจนตำบลต่าง ๆ ใกล้ ๆ พระราชฐาน สำหรับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในรัชสนมัยได้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ
มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ไปถึงระดับอำเภอและระดับตำบล
โรงเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น บางโรงมีนักเรียนในโรงเรียนถึงสามพันคน มีครูอาจารย์เป็นร้อยคน
หลักสูตรการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะมีการสอนวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมเพิ่มขึ้น
และพระราชกรณียกิจที่สนับสนุนพระราชปณิธานของพระองค์ในส่วนที่เกี่ยวกับการมัธยมศึกษา
ได้แก่ การพระราชทานที่ดินสร้างโรงเรียน การเสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียน
และพระราชทานพระราชดำริในการดำเนินกิจการของโรงเรียน เป็นต้น
-
พระราชปณิธานในการส่งเสริมการพัฒนาการฝึกหัดครู ครู และผู้บริหารการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยการฝึกหัดครูเป็นอันมาก ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะข้าราชการที่รับผิดชอบต่อการฝึกหัดครูและคณะข้าราชการกรมการฝึกหัดครูที่เข้าเฝ้าฯ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓
ตอนหนึ่งว่า
"
โดยที่ครูต่างทำตัวให้เป็นครูที่น่าเคารพ
แม้จะฝืดเคืองก็ยังกัดฟันสอนและแจกจ่ายความรู้ออกไป ดังนี้ก็จะได้ความเคารพจากศิษย์และการสอนก็จะง่ายขึ้น
แต่ว่าต้องวางตัวให้เป็นครูที่แท้ การฝึกหัดครูจะต้องย้ำในข้อนี้ว่า
ถ้าครุทำตัวเป็นครูจะทำให้ลูกศิษย์นับถือเป็นทุน แต่ว่าถ้าทิ้งความเป็นครูโดยที่ท้อใจ
โดยที่ยอมแพ้สถานการณ์ก็ทำให้ลูกศิษย์มีความเคารพไม่ได้และสอนไม่ได้
ขอให้ทุกคนพยายามรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นครูแล้วถ่ายทอดให้แก่ครกูที่ฝึกหัดอยู่เท่าที่จะทำได้
เพื่อให้บ้านเมืองเป็นบ้านเมือง ให้ประชาชนพลเมืองเป็นคน คือมีความรู้และมีจิตใจที่สูง
ไม่เบียดเบียนกัน จะทำให้ส่วนรวมอยู่ได้เป็นปึกแผ่น ทั้งครูทั้งหลายก็จะนับว่าได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ
อย่างฉลาดและจะเป็นความดีเป็นส่วนรวมของคณะครู
หน้าที่ที่ไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับเงินเดือนตอบแทน
แต่หน้าที่ในฐานะมนุษยชน เมื่อทำแล้วจะมีความพอใจได้ใช้ชีวิตในทางที่ถูก
ก็การใช้ชีวิตที่ถูกนั้นอาจไม่รวยแต่จิตใจรวย
"
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงในในความเป็นอยู่ทรงห่วงในในความเป็นอยู่
และการปฏิบัติหน้าที่ของครูอาจารย์เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการให้มีพระราชบัญญัติครู
พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้บัญญัติให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า คุรุสภา
มีฐานะเป็นนิติบุคคลกำหนดให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกของคุรุสภา ให้คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไป
ควบคุมและสอดส่องจรรยา มารยาท และวินัยของครู พิทักษ์สิทธิครู รักษาผลประโยชน์และส่งเสริมให้ครูได้รับสวัสดิการต่าง
ๆ และพัฒนาความรู้ความสามารถแปละประสิทธิภาพของครู และยังได้กำหนดให้การบริหารบุคคลของข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการข้าราชการครู
(ก.ค.) เป็นต้น
-
พระราชปณิธานที่จะส่งเสริมการอาชีวศึกษาให้แพร่หลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงสนพระราชหฤทัยการอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัส
และพระบรมราโชวาสที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ได้ทรงกล่าวถึงความสำคัญ
ความจำเป็นของการอาชีวศึกษา ให้ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีวศึกษาและส่งเสริมให้การอาชีวศึกษาแพร่หลายให้ได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าเทียมกับสามัญศึกษา
ได้เสด็จฯ เปิดงานและทอดพระเนตรการจัดแสดงศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนเกือบทุกปีที่มีการจัดในกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ในด้านการสนับสนุนส่งเสริมวิชาช่างฝีมือ มีพระราชดำรัสแนะนำไว้
๓ ประการ คือ
"ประการแรก
ต้องให้ความรุ้ทางหลักวิบาการและความรู้ทางการออกดแบบ เพราะสิ่งนี้เป็นหัวใจของงานฝีมือในอันที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่
ๆ ขึ้น ศิลปินและนักออกแบบจะเป็นผู้ให้ความคิด จากนั้นจึงใช้ความรู้ทางหลักวิชาการทำความคิดนั้นมาประดิษฐ์ผลงานต่อไป
ประการที่สอง จะต้องปรับปรุงฝีมือให้มีความประณีตและมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง
ๆ ในยามที่ประชาชาติต่าง ๆ ในโลกกำลังขวนขวายยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตน
มนุษย์เจริญขึ้นก็ใฝ่หาสินค้าและบริการได้มาตรฐานสูงขึ้นด้วย ประการที่สาม
จะต้องมีการจ้างงานและหาตลาดเพื่อช่วยให้ช่างฝีมือได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าไปจำหน่ายการทำงานของช่างฝีมือขึ้นอยู่กับความต้องการของผลิตผลและบริการในตลาด
เมื่อปรับปรุงรูปแบบคุณภาพและฝีมือดีขึ้น ย่อมทำให้เกิดความต้องการตามมาอันจะเป็นผลให้เผยแพร่ได้สะดวกยิ่งขัน
เพราะสินค้าดีใคร ๆ ก็ย่อมนิยมใช้ แต่ถ้าราคาและคุณภาพไม่ได้มาตรฐานแล้ว
ก็ยากที่ประชาชนจะนิยมตาม
"
-
พระราชปณิธานในการขยายการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วทั้งประเทศ หม่อมหลวงปิ่น
มาลากุล ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณเกี่ยวกับการขยายการศึกษาภาคบังคับ
ไว้ตอนหนึ่งว่า
"
มีข้อสังเกตในเรื่องนี้
คือ โรงเรียนเพิ่มขึ้น ตลอดจนในท้องที่ไกลคมนาคม เช่น โรงเรียนชายแดนของตำรวจชายแดน
เป็นต้น อยู่ห่างไกลมาจนแม้ผู้ตรวจการศึกษาก็ไปไม่ถึง ผู้ที่เยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้บ่อยครั้ง
คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี
พระราชกรณียกิจเช่นนี้ นับว่าเป็นการส่งเสริมการศึกษา ณ ที่ที่ต้องการมากที่สุด
นอกจากที่ได้ทรงเยี่ยมเยียน ทำให้ครูนักเรียน ตลอดจนผู้ปกครองปลื้มปิติแล้ว
ยังได้พระราชทานอุปกรณีการศึกษา เสื้อผ้า และอาหารด้วย เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น
นอกเหนือไปจากนี้ เมื่อท้องที่แห่งใดแห่งหนึ่งประสบภัยธรรมชาติ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนด้วยความห่วงใย ในกรณีจังหวัดในภาคใต้ประสบวาตภัยครั้งร้ายแรง
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ โรงเรียนพังทลาย ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ไปสร้างโรงเรียนกว่า
๑๐ หลัง จากเงินซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินซึ่งประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบเป็นจำนวนมาก
วิธีการเพิ่มโรงเรียนที่ใช้อยู่วิธีหนึ่ง คือ รับความช่วยเหลือจากประชาชนในท้องที่
ถ้าผู้ใดบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนจำนวนเท่าใด รัฐบาลจะออกเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง
มากบ้าง น้อยบ้าง ตามความจำเป็นและกำลังงบประมาณ ในทำนองเดียวกันนี้
แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งทางทิศใต้ของพระราชวังดุสิต และพระราชทานทรัพย์จำนวนหนึ่ง
เพื่อจัดสร้างและดำเนินการโรงเรียนประถมศึกษา พระราชทานชื่อว่า โรงเรียนราชวินิต
เสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนนี้เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๐"
และในพุทธศักราช
๒๕๓๐ อันเป็นปีที่มีการเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ
กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินการเพื่อขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น
๙ ปี คือ จะขยายไปในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยให้นักเรียนในท้องที่ชนบทยากจน
๓๘ จังหวัดได้เล่าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยไม่ต้องเสียเงินบำรุงการศึกษา
หรือ ค่าเล่าเรียน และยังจะได้รับบริการจากรัฐในด้านแบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษาอื่น
ๆ ตามกำลังงบประมาณด้วย
- พระราชปณิธานที่จะให้วัดและพระสงฆ์ได้มีส่วนช่วยเหลือการศึกษาของชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้าอนาถาขึ้นในวัด
โดยอาราธนาพระสงฆ์มาเป็นครูอบรมศีลธรรมและช่วยสอนวิชาสามัญที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยเพื่อให้วัดและพระสงฆ์ได้มีส่วนช่วยเหลือการศึกษาของประเทศชาติ
โรงเรียนวัดที่ตั้งขึ้นในช่วงแรก ๔ โรง ได้แก่ โรงเรียนวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์
โรงเรียนวัดสันติการาม โรงเรียนวัดป่าไก่ และโรงเรียน นันทบุรีวิทยา
เป็นต้น
-
พระราชปณิธานในการให้การศึกษาแก่เด็กที่ประสบภัยธรรมชาติ และประชาชนที่ยากไร้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้จัดตั้งกองทุนสำหรับสงเคราะห์เด็กยากจนอนาถาขาดบิดามารดาเนื่องจากการประสบภัยธรรมชาติ
โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อว่า "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์"
นอกจากผุ้ประสบภัยแล้วในท้องที่บางจังหวัดในภาคใต้ที่มีประชาชนยากจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รายได้จากดอกผลของมูลนิธิฯ ไปก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น
และพระราชทานชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์"
-
พระราชปณิธานที่จะให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี
ยะลา และนราธิวาส สามารถพูดภาษาไทยได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานพระราชดำรัสในคราวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดยะลา ณ คุรุสัมมนาคาร
ภาคศึกษา ๒ (สำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา ๒ ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่
๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ ตอนหนึ่งว่า
"
การศึกษาที่นี่สำคัญมาก
ให้พยายามจัดให้ดี ให้พลเมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนักเพียงแต่พอรู้เรื่องกันก็ยังดี
เท่าที่ผ่านมาคราวนี้มีผู้ไม่รู้ภาษาไทย ต้องใช้ล่ามแปลควรให้พูดเข้าใจกันได้
เพื่อสะดวกในการติดต่อซึ่งกันและกัน
"
ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามะลายูท้องถิ่นในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่
ในการติดต่อกับทางราชการหรือทางราชการจะให้ข่าวสารไปถึงประชาชน ก็ต้องใช้การแปลกันเป็นเรื่องสำคัญ
กระทรวงศึกษา ธิการจึงได้ถือพระราชดำรัสที่ได้เชิญมานี้เป็นเป้าหมายในการจัดและพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือในท้องที่ที่ได้จัดเป็นเขตการศึกษา
๒ ซึ่งได้แก่ท้องที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ตั้งแต่พุทธศักราช
๒๕๐๒ เป็นต้นมา
-
พระราชปณิธานในการจัดการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับการศึกษาโดยทั่วถึง
โดยเฉพาะเด็กพิการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนปกติ มีชีวิตที่เป็นสุข
ช่วยตัวเองได้ และสามารถทำประโยชน์แก่สังคมได้ จากพระราชปณิธานจึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับคนหูหนวก
คนตาบอด ขึ้น นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกินนอนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้นที่โรงเรียนราชประชาสมาสัย
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗
-
พระราชปณิธานที่จะให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่เยาวชนให้กว้างขวาง นอกเหนือจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน
จากพระราชปณิธานนี้ จึงทำให้เกิดโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชนขึ้น
โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า
"
สารานุกรมนี้จุดประสงค์อันแรก
อันสำคัญที่สุดคือ ให้ผู้ใช้สารานุกรมนี้ได้เกิดความรู้สึกว่าโลกนี้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โลกหมายถึงโลกความรู้ โลกกลม โลกของวิทยาศาสตร์และโลกของวิชาการต่าง
ๆ อันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็ในเวลาเดียวกัน
ทำให้เห็นว่าในชาติบ้านเมืองหรือในเมืองอื่น ๆ ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
ถ้าได้ความคิดอันนี้อย่างหนึ่ง ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตของคนจะต้องอยู่ในส่วนรวมและจะต้องพยายามปฏิบัติเพื่อส่วนรวมศิลปดนตรีก็ต้องรวมกับวิทยาศาสตร์
ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่เข้าใจ แต่ว่าถ้าสารานุกรมแล้วก็จะเข้าใจ ก็เกิดความเชื่อถือ
"
นำร่อง
ที่มา.-
http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:YLo694VsC1wJ:www.abhakara.com/webboard/index.php
*******************
|