วัดประจำรัชกาล โดย นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา


             ในการนำชาวต่างประเทศชมความงดงามของบ้านเมืองในประเทศไทย รายการสำคัญที่จะขาดมิได้คือ การนำชมวัดต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะวัดถือเป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และงานช่างศิลป์ทั้งปวง แม้แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ต้องเดินทางโดยเรือ เมื่อผ่านปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามา ก็จะพบพระสมุทรเจดีย์ก่อนสิ่งก่อสร้างใหญ่ ๆ อย่างอื่น จนเข้ามาถึงใจกลางพระนครก็จะเห็นพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามสูงเด่นเป็นสง่าและงดงามยิ่ง จนเป็นที่ยอมรับนับถือกันว่า พระพุทธปรางค์องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย

                การสร้างวัดในสมัยแรกนั้น สืบเนื่องมาจากการถวายที่ดินซึ่งเป็นป่าเป็นสวน ให้เป็นที่พักของพระภิกษุสงฆ์ และเพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์แห่งพุทธศาสนา ด้วยการสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ หรืออัฐิบุคคลสำคัญในพุทธศาสนา ต่อมา วัตถุประสงค์ของการสร้างวัดได้เน้นหนักไปในทางสร้างให้เป็นวัดประจำตระกูล สำหับเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและบรรจุอัฐิธาตุของคนในวงศ์ตระกูล หรือเป็นการสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์ หรือบุคคล ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือล่วงลับไปแล้ว และที่สำคัญ ส่วนใหญ่มักสร้างวัดด้วยความศรัทธา และความเชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรม โดยถือว่าการสร้างวัดนั้นได้กุศลสูงยิ่ง

                ต่อมา วัดในพระพุทธศาสนาได้มีความสำคัญในด้านการปกครองและสังคมมากขึ้นตามลำดับ โดยทางด้านการปกครองก็ต้องอาศัยการอบรมสั่งสอนและชี้นำของพระภิกษุสงฆ์ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนเป็นผู้นำของชุมชนในเรื่องศิลปวิทยาต่าง ๆ รวมไปถึงการศึกษา และการสาธารณสุข ดังนั้น จึงถือว่า เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ที่จะต้องสร้างหรือทะนุบำรุงวัดให้เจริญมั่นคง

                คตินิยมที่ว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จะต้องสร้างวัดประจำรัชกาล ได้ปรากฏชัดเจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏชื่อวัดดังนี้

                วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

                วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

                วัดราชโอรสาราม เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

                วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                ส่วนในรัชกาลต่อมานั้น ไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า ทรงถือว่าวัดใดเป็นวัดประจำรัชกาล ยิ่งไปกว่านั้น มีพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงไว้อย่างชัดเจนว่ามีพระราชดำริว่าพระอารามหลวงในกรุงรัตนโกสินทร์มีจำนวนมากแล้ว ต้องเป็นพระราชภาระในการอุปถัมภ์บำรุงมิใช่น้อย และพระอารามต่าง ๆ นั้นก็ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนอยู่แล้ว จึงทรงสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรวมโรงเรียนราชวิทย์วิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สำหรับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ จึงมิได้ทรงสร้างพระอารามหลวงขึ้นใหม่ แต่ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ซ่อมแซมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นงานใหญ่ ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงมิได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ประการใด ดังนั้น จึงขอกล่าวถึงวัดประจำรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕ ตามสมควรดังนี้

                วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

                วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

                วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

                วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

                วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

                การสถาปนาวัดประจำรัชกาลที่มีหลักฐานเป็นทางราชการก็มีเพียง ๕ วัดดังกล่าว แต่ตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไปได้ถือว่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเมื่อทรงพระผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร มาบรรจุที่ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นงานใหญ่ และต่อมาได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ท่าน มาบรรจุที่ฐานชุกชีพระพุทธอังคีรสในพระอุโบสถ จึงทำให้เข้าใจกันว่า วัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๗

                ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จเสวยสิริราชสมบัติในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าได้ถวายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘

                อนึ่ง มีความเข้าใจสับสนในเรื่องวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทั้งนี้เพราะเป็นวัดที่โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นอย่างใหญ่โตวิจิตรงดงามมาก นอกจากนั้น ยังได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาประดิษฐานไว้ภายใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่ตามพระบรมราชโองการสร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นการสร้างวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี

                ราชประเพณีการสร้างวัดประจำรัชการ จึงเป็นการยืนยันว่า พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ว่า

                                “ตั้งใจจะอุปถัมภก

                                ยอยกพระพุทธศาสนา

                                จะป้องกันขอบขัณฑสีมา

                                รักษาประชาชนแลมนตรี”

บรรณานุกรม

                ศิลปากร, กรม, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ยูไนเตดโปรดักชั่น, ๒๕๒๙

                คัดจาก “อนุสารมูลนิธิ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)” วัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ฉบับที่ ๒๑ ประจำเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๑ - มิถุนายน ๒๕๔๒

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี