รู้จักพุทธมณฑล
ก่อน "พศ" ย้ายไปประจำการ



              ทยอยย้ายสิ่งของเครื่องใช้สำนักงานออกจากฐานที่ตั้งเดิมกันอย่างขะมักเขม้น สำหรับข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อไปปักหลักทำงานกันต่อที่พุทธมณฑล ช่วงนี้ท่านที่ต้องไปติดต่อประสานงานที่สำนักงานพระพุทธฯ แม้ไม่ต้องสังเกตก็คงเห็น ว่าสำนักงานพระพุทธฯ ตอนนี้ฝุ่นตลบอบอวลไม่จาง เจ้าหน้าที่แต่ละคนยังง่วนอยู่กับการเก็บข้าวของส่วนรวมและส่วนตัว ภาพที่เห็นภายในห้องทำงานจึงเหต็มไปด้วยกำแพงกล่องบรรจุสิ่งของที่พะเนินเทินทึกเพื่อรอการขนย้าย แต่อีกไม่นานหลังจากที่ไปอยู่พุทธมณฑลแล้ว ทุกอย่างจะต้องเข้าที่เข้าทางอย่างเป็นระบบที่สุด ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง มาทำความรู้จักกับ "พุทธมณฑล" กันก่อน
              ผ่านไปบนถนนพุทธมณฑลสาย ๔ แม้จะมองเข้าไปใน "สำนักงานพุทธมณฑล" แบบไม่มีวัตถุประสงค์แน่ชัดในการมองก็คงรู้สึกได้ว่ามีเขียวฉ่ำ ๆ ผ่านตาเป็นทางยาว แต่หากตั้งใจมองสักนิดก็ไม่ยากเลยที่จะเห็นพระปฏิมาปางลีลาขนาดสูงใหญ่สีเข้มขลังตัดสีท้องฟ้า นั่นคือพระประธานพุทธมณฑลนามพระราชทานว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธทั่วทุกสารทิศ
              ย้อนรอยพุทธมณฑล เริ่มต้นจากดำริการจัดสร้างของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการให้มีอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นสัญลักษณ์ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ คือ กึ่งหนึ่งของพุทธกาล เพราะเชื่อกันว่า ในกัลป์นี้พระพุทธศาสนาเรามีอายุห้าพันปี จึงต้องการที่จะจัดสร้างพุทธมณฑลให้เสร็จทัน พ.ศ. ๒๕๐๐ ในกาลนั้น ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงประกอบพิธีก่อพระฤกษ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ คือเตรียมการก่อน ๒ ปี ช่วงนั้นมีปัญหาในเรื่องงบประมาณ ที่ดินสำหรับก่อสร้างเพื่อให้พุทธมณฑลมีพื้นที่ ๒,๕๐๐ ไร่
               ดังนั้นที่ดินส่วนใหญ่ที่ได้จึงเป็นพื้นที่ พระราชทาน เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศเวนคืนและจัดซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดรวมแล้วครบ ๒,๕๐๐ ไร่ ตาม จำนวนปี พ.ศ. จึงได้ออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๒ ก.ม. ยาว ๒ ก.ม. จากนั้นเริ่มวางผัง โดยในระยะแรกรัฐบาลได้ร่วมมือกับประชาชน มีหัวเรือใหญ่คือกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ แต่เนื่องจากขาดแคลนเรื่องบประมาณ จึงชะงักงันไประยะหนึ่ง โครงการนี้ฟื้นขึ้นมาใหม่หลังจากนั้นเกือบ ๒๐ ปี คือเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ สมัยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เปิดฉากเร่งระดมทุกหน่วยงานและประชาสัมพันธ์ไปทั่วในนามรัฐบาลเพื่อที่จะสร้างพุทธมณฑลให้สำเร็จให้ได้ เริ่มขุดดินขึ้นมาถมเพื่อปรับสภาพพื้นที่จากเดิมเคยเป็นที่ลุ่มและเป็นนาข้าวทำผัง เพื่อขุดคูคลองโอบล้อมรอบพุทธมณฑล กว้าง ๕๐ เมตร ลึก ๕ เมตร ยาว ๗ ก.ม. มีการออกแบบสวนที่สวยงามสำหรับพุทธมณฑล ระดมการปลูกต้นไม้ จนมีสภาพร่มรื่นอย่างผิดหูผิดตา               จากนั้นกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการได้พิจารณาว่าพุทธมณฑลเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา จึงน่าจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้นเข้าไปดูแล ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผลให้พุทธมณฑลเปลี่ยนมาอยู่ในการดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งในปัจจุบัน

              พุทธมณฑลในแนวดำริของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย และหวังลึก ๆ ว่าอยากให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาของโลก มั่นใจเช่นนั้นเพราะไม่มีดินแดนในโลกที่จะมีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธอยู่อย่างหนาแน่นถึง ๙๕ % อย่างประเทศไทย ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นศูนย์กลางของโลกได้
              
นอกจากนั้นพุทธมณฑลยังจะต้องเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการพระพุทธศาสนา เห็นได้ว่ามีการก่อสร้างหอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ สร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ ตำบลประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันปรินิพพาน มีศาสนสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล หอพระไตรปิฎกหินอ่อน ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ที่พนักสงฆ์อาคันตุกะ ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น
              
นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์รวมจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น งานมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เป็นประจำทุกปี เป็นสถานที่ระดมความคิดจากการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ พระพุทธศาสนา


              ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพุทธมณฑลเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาในรูปแบบบูรณาการใต้หลังคาและใต้ร่มไม้เข้าด้วยกัน ที่สำคัญไม่น้อยคือเป็นปอดของคนจำนวนมากที่เข้าไปใช้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
              
กล่าวได้ไม่หมดสำหรับคุณค่าของพุทธมณฑล แต่นี่คือความหลากหลายและความเป็นมาพอสังเขป เพื่อฉายรวม ๆ ของพุทธมณฑลให้ผู้คนมองเห็น ก่อนจะได้เห็นหน้าค่าตาเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่นั้น

หนังสือพิมพ์ข่าวสด
วันศุกร์ที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๑

หมายเหตุ.-ภาพประกอบจาก อินเตอร์เนต
กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี