พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ
พ.ศ. ๒๕๒๒


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน


              พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ ยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

              มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒"
              มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.๒๕๒๒/๖๓/๔๐พ./๒๗ เมษายน ๒๕๒๒]
              มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
                            (๑) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕
                            (๒) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๙
                            (๓) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๒
                            (๔) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔
                            (๕) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘
                            (๖) พระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช ๒๔๗๗
                            (๗) พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พุทธศักราช ๒๔๘๖

              มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
              "ยาเสพติดให้โทษ"* หมายความว่า สารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพ เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใด ๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อ ร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยา เมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไป จะทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับ ตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่
              *[นิยามคำว่า "ยาเสพติดให้โทษ" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘]
              "ผลิต" หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย
              "จำหน่าย" หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้
              "นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
              "ส่งออก" หมายความว่า นำหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร
              "เสพ"* หมายความว่า การรับยาเสพติดให้โทษเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด
              *[นิยามคำว่า "เสพ" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐] *
              "ติดยาเสพติดให้โทษ" หมายความว่า เสพเป็นประจำติดต่อกันและตกอยู่ ในสภาพที่จำเป็นต้องพึ่งยาเสพติดให้โทษนั้น โดยสามารถตรวจพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลัก วิชาการ *
              "การบำบัดรักษา" หมายความว่า การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ซึ่งรวมตลอดถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพและการติดตามผลหลังการบำบัดรักษาด้วย
              *[นิยามคำว่า "ติดยาเสพติดให้โทษ" และ "การบำบัดรักษา" เพิ่มความโดย พระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐]
              "สถานพยาบาล" หมายความว่า โรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานพักฟื้น เฉพาะที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสถานที่ทำการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ให้โทษ
              "เภสัชกร" หมายความว่า ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขา เภสัชกรรม
              "ตำรับยา" หมายความว่า สูตรของสิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มียาเสพติด ให้โทษรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ รวมทั้งยาเสพติดให้โทษที่ทีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรม ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้
              "ผู้รับอนุญาต" หมายความว่า ผู้ได้ใบรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
              "ผู้อนุญาต" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่ง ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
              "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษตาม พระราชบัญญัตินี้
              "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้
              "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
              "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

              มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แต่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รายงาน การรับ การจ่าย การเก็บรักษา และวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ให้คณะกรรมการทราบทุกหกเดือน แล้วให้คณะกรรมการเสนอพร้อมกับให้ความเห็นต่อรัฐมนตรี เพื่อสั่งการต่อไป

              มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตรา ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น กับออกประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
              กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

              มาตรา ๗ ยาเสพติดให้โทษแบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ
              (๑) ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
              (๒) ประเภท ๒ ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium)
              *(๓) ประเภท ๓ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติด ให้โทษในประเภท ๒ ผสมอยู่ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
              *[มาตรา ๗ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐]
              (๔) ประเภท ๔ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ หรือ ประเภท ๒ เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride)
              (๕) ประเภท ๕ ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท ๑ ถึงประเภท ๔ เช่น กัญชา พืชกระท่อม

              ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามมาตรา ๘ (๑)
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า ฝิ่นยา (Medicinal Opium) หมายถึง ฝิ่นที่ได้ ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา

              มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา
                            (๑) ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่า ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใด ตามมาตรา ๗
                            (๒) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษตาม (๑)
                            (๓) กำหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษ
                            (๔) กำหนดจำนวนและจำนวนเพิ่มเติมซึ่งยาเสพติดให้โทษที่จะต้องใช้ในทาง การแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจำปี
                            (๕) กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ผู้รับอนุญาต ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครองได้
                            *(๖) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตาม มาตรา ๗ (๓)
*[มาตรา ๘ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐]
                            (๗) จัดตั้งสถานพยาบาล
                            (๘) กำหนดระเบียบข้อบังคับ เพื่อควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัย สำหรับสถานพยาบาล

 

หมวด ๑
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

________

 

              มาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการควบคุม ยาเสพติดให้โทษ" ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ อธิบดี กรมการแพทย์หรือผู้แทน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือผู้แทน อธิบดีกรมอนามัย หรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมอัยการหรือผู้แทน อธิบดีกรมศุลกากรหรือ ผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามยาเสพติดหรือผู้แทน ผู้แทนกระทรวงกลาโหม และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็น

              กรรมการและเลขานุการ และหัวหน้ากองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

              มาตรา ๑๐ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

              มาตรา ๑๑ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อ
                            (๑) ตาย
                            (๒) ลาออก
                            (๓) รัฐมนตรีให้ออก
                            (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
                            (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
                            (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือ
                            (๗) ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ หรือใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่น เป็นกรรมการแทนได้
              ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระ อยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว

              มาตรา ๑๒ การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
              การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก
              กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

              มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่
                            (๑) ให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีตามมาตรา ๕
                            (๒) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติการตามมาตรา ๘
                            (๓) ให้ความเห็นชอบต่อผู้อนุญาตในการสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอน ใบอนุญาต
                            (๔) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีในการกำหนดตำแหน่งและระดับของพนักงาน เจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                            (๕) ให้ความเห็นต่อรัฐมนตรี เพื่อวางระเบียบปฏิบัติราชการในการประสานงาน กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกระทรวงทบวงกรมอื่น
                            (๖) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีในการอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ และในประเภท ๕
                            (๗) พิจารณาเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

              มาตรา ๑๔ คณะกรรมการอาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใด อย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการจะมอบหมายก็ได้
              การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๒
การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

___________

 

              มาตรา ๑๕ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เว้นแต่การมีไว้ในครอบครองในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ ของทางราชการตามที่รัฐมนตรีจะอนุญาตเป็นหนังสือเฉพาะรายหรือเฉพาะกรณีที่เห็นสมควร
              การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครองครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไปให้ถือว่าผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ใน ครอบครองเพื่อจำหน่าย

              มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๒

              มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๒ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต
              การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ตั้งแต่หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไปให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
              การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๑๘ บทบัญญัติมาตรา ๑๗ ไม่ใช้บังคับแก่ (๑) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวน ที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา (๒) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวน ที่จำเป็นสำหรับใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบินหรือ ยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักร แต่ถ้ายานพาหนะดังกล่าวจดทะเบียนในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอใบรับอนุญาตตามมาตรา ๑๗

              มาตรา ๑๙ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็น
                            (๑) กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรวมทั้งกรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย หรือองค์การเภสัชกรรม
                            (๒) ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ หรือ
                            (๓) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง ในสาขาเภสัชกรรมหรือทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง และ

                            (ก) มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

                            (ข) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก สำหรับความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่นหรือกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ

                            (ค) ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพ เวชกรรม ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ใบอนุญาตผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ หรือใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัตินี้

                            (ง) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความ สามารถ
              ในการพิจารณาอนุญาตแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้อนุญาตจะต้องคำนึงถึง ความจำเป็นในการมีไว้เพื่อจำหน่ายหรือมีไว้มีไว้ในครอบครอง ในการนี้ผู้อนุญาตจะกำหนด เงื่อนไขตามที่เห็นสมควรไว้ด้วยก็ได้

              มาตรา ๒๐* ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่
                            (๑) การจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมจำหน่ายเฉพาะผู้ป่วยซึ่งตนเป็น ผู้ให้การรักษา
                            (๒) การจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ชั้นหนึ่งจำหน่ายเฉพาะสัตว์ที่ตนบำบัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง สาขาทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ในมาตรา ๑๙ (๓)
              การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
              *[มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              มาตรา ๒๑ ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาต
                            (๑) ได้รับใบอนุญาตให้ผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา และ
                            (๒) มีเภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลาทำการ
              ให้ผู้รับอนุญาตผลิต หรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ จำหน่าย ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวที่ตนผลิตหรือนำเข้าได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาตจำหน่ายอีก

              มาตรา ๒๒ ในการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ของผู้ที่ ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๐ แต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออกจาก ผู้อนุญาตด้วย
              การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๒๓ ใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๐ ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอ ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้อนุญาตจะสั่ง ไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น
              ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตหรือผู้อนุญาตสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ ใบอนุญาตตามความในวรรคหนึ่ง บรรดายาเสพติดให้โทษที่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ขอต่อใบอนุญาต มีอยู่ในครอบครองให้ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขให้ค่าตอบแทน ตามที่เห็นสมควร
              การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๒๔ ใบอนุญาตตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๒ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือ ตัวแทนของผู้รับอนุญาตด้วย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า การกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่ได้ กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการกระทำของผู้รับอนุญาตด้วย

              มาตรา ๒๕ ผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ ตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีก

              มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือในประเภท ๕ เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตโดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการเป็นราย ๆ ไป
              การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือในประเภท ๕ ไว้ในครอบครอง มีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
              การขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวง

 

หมวด ๓
หน้าที่ของผู้รับอนุญาต

________

 

              มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๒ นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
มาตรา ๒๘ ให้ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดเก็บรักษายาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ไว้เป็นสัดส่วนในที่เก็บซึ่งมั่นคง แข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
                            (๒) ในกรณีที่ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ถูกโจรกรรม หรือสูญหายหรือ ถูกทำลาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า

              มาตรา ๒๙ ให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตแสดงว่าเป็นสถานที่ ผลิตยาเสพติดให้โทษ ลักษณะและขนาดของป้ายและข้อความที่แสดงในป้าย ให้เป็นไปตามที่ กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๒) จัดให้มีการวิเคราะห์ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผลิตขึ้นก่อนนำ ออกจากสถานที่ผลิต โดยต้องมีการวิเคราะห์ทุกครั้ง และมีหลักฐานแสดงรายละเอียดซึ่งต้องเก็บ รักษาไว้ไม่น้อยกว่าสามปีนับแต่วันวิเคราะห์
                            (๓) จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือคำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผลิตขึ้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๔) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ซึ่งใช้เพื่อการผลิตยาเสพติดให้โทษใน ประเภท ๓ ต้องเก็บรักษาไว้ให้เป็นสัดส่วนในที่เก็บซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้หรือ เครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
                            (๕) ในกรณีที่ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ตาม (๔) ถูกโจรกรรม หรือ สูญหาย หรือถูกทำลาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า

              มาตรา ๓๐ ให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการของผู้รับอนุญาต แสดงว่าเป็นสถานที่นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ลักษณะและขนาดของ ป้ายและข้อความที่แสดงในป้ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๒) จัดให้มีใบรับรองของผู้ผลิตแหล่งเดิม แสดงรายละเอียดผลการวิเคราะห์ คุณภาพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่นำเข้าหรือส่งออก
                            (๓) จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓
                            (๔) จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือคำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่นำเข้าหรือ ส่งออก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๓๑ ให้ผู้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่จำหน่ายแสดงว่าเป็น สถานที่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ลักษณะและขนาดของป้ายและข้อความที่แสดง ในป้ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๒) จัดให้มีการแยกเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ เป็นสัดส่วนจากยา หรือวัตถุอื่น
                            (๓) ดูแลให้มีฉลาก เอกสารกำกับ คำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๓ ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ มิให้ชำรุด บกพร่อง

              มาตรา ๓๒ ให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ผลิตแสดงว่าเป็นสถานที่ ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ลักษณะและขนาดของป้ายและข้อความที่แสดงในป้ายให้เป็น ไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๒) จัดให้มีการวิเคราะห์ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ที่ผลิตขึ้นก่อนนำออก จากสถานที่ผลิต โดยต้องมีการวิเคราะห์ทุกครั้ง และมีหลักฐานแสดงรายละเอียดซึ่งต้องเก็บ รักษาไว้ไม่น้อยกว่าสามปีนับแต่วันวิเคราะห์
                            (๓) จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือคำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ที่ผลิตขึ้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๔) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ซึ่งผลิตขึ้น ต้องเก็บรักษาไว้ให้เป็นสัดส่วน ในที่เก็บซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
                            (๕) ในกรณีที่ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ถูกโจรกรรม หรือสูญหาย หรือ ถูกทำลาย ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า

              มาตรา ๓๓ ให้ผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการของผู้รับอนุญาต แสดงว่าเป็นสถานที่นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ลักษณะและขนาดของ ป้ายและข้อความที่แสดงในป้ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๒) จัดให้มีใบรับรองของผู้ผลิตแหล่งเดิม แสดงรายละเอียดผลการวิเคราะห์ คุณภาพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ที่นำเข้าหรือส่งออก
                            (๓) จัดให้มีฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือ คำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ที่นำเข้า หรือส่งออก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๔) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ซึ่งนำเข้าหรือส่งออก ต้องเก็บรักษาไว้ให้ เป็นสัดส่วนในที่เก็บซึ่งมั่นคงแข็งแรงและมีกุญแจใส่ไว้หรือเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพ เท่าเทียมกัน
                            (๕) ในกรณีที่ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ถูกโจรกรรม หรือสูญหาย หรือถูกทำลายต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า

              มาตรา ๓๔ ให้ผู้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
                            (๑) จัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่จำหน่ายแสดงว่าเป็น สถานที่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ลักษณะและขนาดของป้ายและข้อความที่แสดง ในป้ายให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                            (๒) จัดให้มีการแยกเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ เป็นสัดส่วนจากยา หรือวัตถุอื่น
                            (๓) ดูแลให้มีฉลาก เอกสารกำกับ คำเตือน หรือข้อควรระวังการใช้ยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๔ ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ มิให้ชำรุดบกพร่อง (๔) ในกรณีที่ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ ถูกโจรกรรม หรือสูญหาย หรือถูก ทำลายต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อนุญาตทราบโดยมิชักช้า

              มาตรา ๓๕ ในกรณีใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้ผู้รับอนุญาตแจ้งต่อผู้อนุญาตและยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือลบเลือน
              การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

หมวด ๔
หน้าที่ของเภสัชกร

_______

 

              มาตรา ๓๖ ให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ควบคุมการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                            (๑) ควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
                            (๒) ควบคุมให้มีฉลากและเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตาม มาตรา ๒๙ (๓)
                            (๓) ควบคุมการบรรจุ และการปิดฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้
                            (๔) ควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ให้เป็นไปตาม มาตรา ๓๑
                            (๕) ต้องอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ

              มาตรา ๓๗ ให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ ปฏิบัติดังต่อไปนี้ (๑) ควบคุมการแยกเก็บยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตามมาตรา ๓๑ (๒) (๒) ควบคุมการปฏิบัติตามมาตรา ๓๑ (๓) (๓) ควบคุมการจำหน่ายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๔) ต้องอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ

              มาตรา ๓๘ ให้เภสัชกรผู้มีหน้าที่ควบคุมการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๓ ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                            (๑) ควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่นำเข้าหรือส่งออกให้ถูกต้องตาม ตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้
                            (๒) ควบคุมการปฏิบัติตามมาตรา ๓๐ (๓) และ (๔)
                            (๓) ควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ให้เป็นไปตาม มาตรา ๓๑
                            (๔) ต้องอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ

หมวด ๕
ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ

__________

 

              มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ ดังต่อไปนี้
                            (๑) ยาปลอมตามมาตรา ๔๐
                            (๒) ยาผิดมาตรฐานตามมาตรา ๔๑
                            (๓) ยาเสื่อมคุณภาพตามมาตรา ๔๒
                            (๔) ยาที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาตามมาตรา ๔๓
                            (๕) ยาที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาตามมาตรา ๔๖

              มาตรา ๔๐ ยาเสพติให้โทษในประเภท ๓ หรือสิ่งต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาปลอม
                            (๑) ยาหรือสิ่งที่ทำขึ้นโดยแสดงไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ โดยความจริงมิได้มียาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อยู่ด้วย
                            (๒) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่แสดงชื่อว่าเป็นยาเสพติดให้โทษอื่น หรือ แสดงเดือนปี ที่ยาเสพติดให้โทษสิ้นอายุเกินความจริง
                            (๓) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิต หรือ ที่ตั้งของสถานที่ผลิต ซึ่งมิใช่ความจริง
                            (๔) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือยาเสพติดให้โทษตามที่ระบุชื่อไว้ใน ประกาศของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘ (๑) หรือตามตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ได้ขึ้น ทะเบียนตำรับยาไว้ ซึ่งทั้งนี้มิใช่ความจริง
                            (๕) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ถึงขนาด สารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าร้อยละสิบของปริมาณที่กำหนดไว้จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดตามที่ กำหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘ (๓) หรือตามที่กำหนดไว้ในตำรับยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๓ ที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้

              มาตรา ๔๑ ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นยาเสพติด ให้โทษผิดมาตรฐาน
                            (๑) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน โดยสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดตามที่กำหนดไว้ ในประกาศของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘ (๓) หรือตามที่กำหนดไว้ในตำรับยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ ที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ แต่ไม่ถึงร้อยละสิบ
                            (๒) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่น ซึ่งมีความสำคัญต่อคุณภาพของสารออกฤทธิ์ผิดไปจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘ (๓) หรือตามที่กำหนดไว้ในตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ได้ขึ้นทะเบียน ตำรับยาไว้

              มาตรา ๔๒ ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นยาเสพติด ให้โทษเสื่อมคุณภาพ
                            (๑) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลากซึ่งขึ้น ทะเบียนตำรับยาไว้
                            (๒) ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกับ ยาปลอมตามมาตรา ๔๐ หรือยาเสพติดให้โทษผิดมาตรฐานตามมาตรา ๔๑

 

หมวด ๖
การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓

_________

 

              มาตรา ๔๓* ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ จะผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ต้องนำตำรับยาเสพติดให้โทษนั้นมาขอขึ้นทะเบียน ตำรับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และเมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับ ยาเสพติดให้โทษแล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษนั้นได้

              การขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการออกใบสำคัญ   การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              มาตรา ๔๔* ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษตามมาตรา ๔๓ แล้ว จะแก้ไขรายการ ทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ดังกล่าวได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก ผู้อนุญาต
              การขอแก้ไขรายการและการอนุญาตให้แก้ไขรายการทะเบียนตำรับยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๓ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
*[มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              มาตรา ๔๕ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญ ถ้าผู้รับใบสำคัญประสงค์จะขอต่ออายุใบสำคัญ จะต้องยื่น คำขอก่อนใบสำคัญสิ้นอายุและเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบกิจการต่อไปก็ได้จนกว่าผู้อนุญาต จะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญนั้น
              การขอต่ออายุใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๓ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๔๖ เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษใน ประเภท ๓ ใดที่ได้ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้น ทะเบียนตำรับยาไว้ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้หรือมีเหตุผลอันไม่สมควรที่จะอนุญาตให้ต่อไป ให้คณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๓ นั้นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

              มาตรา ๔๗ ในกรณีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษใน ประเภท ๓ สูญหาย ถูกทำลาย หรือลบเลือนในสาระสำคัญ ให้ผู้รับอนุญาตแจ้งต่อผู้อนุญาตและ ยื่นคำขอรับใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือลบเลือน การขอรับใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการออกใบแทนใบสำคัญดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน กฎกระทรวง

 

หมวด ๗
การโฆษณา

______

 

              มาตรา ๔๘ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเพื่อการค้าซึ่งยาเสพติดให้โทษ เว้นแต่
                            (๑) การโฆษณายาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ซึ่งกระทำโดยตรงต่อผู้ประกอบ วิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมหรือเภสัชกรรมหรือ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง หรือ
                            (๒) เป็นฉลากหรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือประเภท ๔

หมวด ๘
พนักงานเจ้าหน้าที่

_______

 

              มาตรา ๔๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
                            (๑) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะใด ๆ ในเวลากลางวัน ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจ ค้น ยึดยาเสพติดให้โทษที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย หรือที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ในกรณีที่มีเหตุ อันควรสงสัยว่ามียาเสพติดให้โทษซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับมีเหตุอันควร เชื่อว่าหากไม่ดำเนินการในทันที ยาเสพติดให้โทษนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลาย ก็ให้มีอำนาจเข้าไป ในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตกได้
                            (๒) ค้นเคหสถาน สถานที่ หรือบุคคลใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติด ให้โทษซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยึดยาเสพติดให้โทษหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือ จะใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้

              พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งใดและระดับใดจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด ด้วยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ โดยทำเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
              ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกตามสมควร

              มาตรา ๕๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวและ เอกสารมอบหมายตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
              บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๕๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตาม ประมวลกฎหมายอาญา

 

หมวด ๙
การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต

_________

 

              มาตรา ๕๒ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ กฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้โดยมีกำหนดครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ในกรณีที่มีการฟ้องผู้รับอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาต จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้รอคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้
              ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตอีกไม่ได้

              มาตรา ๕๓ ถ้าปรากฏว่าผู้รับอนุญาตผู้ใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ หรือ กระทำความผิดตามมาตรา ๓๙ ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
              ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

              มาตรา ๕๔ คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำเป็น หนังสือแจ้งให้ผู้รับอนุญาตทราบ ในกรณีไม่พบตัวผู้ถูกสั่งหรือผู้ถูกสั่งไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว ให้ปิดคำสั่งไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายที่สถานที่ซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต และให้ถือว่าผู้ถูกสั่ง ได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่รับหรือปิดคำสั่งแล้วแต่กรณี

              มาตรา ๕๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดยาเสพติดให้โทษที่เหลือของผู้ถูกสั่งพักใช้ ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต และใบอนุญาตที่ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนนั้นไปเก็บรักษาไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือในกรณีจำเป็นจะเก็บรักษาไว้ ที่อื่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก็ได้
              ในกรณีเพิกถอนใบอนุญาต ให้ยาเสพติดให้โทษที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่งตกเป็นของ กระทรวงสาธารณสุข

              มาตรา ๕๖ เมื่อพ้นกำหนดการพักใช้ใบอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คืน ยาเสพติดให้โทษและใบอนุญาตที่ยึดไว้ตามมาตรา ๕๕ ให้ผู้รับอนุญาต

 

หมวด ๑๐
มาตราการควบคุมพิเศษ

_______

 

              มาตรา ๕๗ ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๕
              มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ เว้นแต่ การเสพ นั้นเป็นการเสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบ โรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗

              มาตรา ๕๙ ให้รัฐมนตรีกำหนดจำนวนยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ที่จะต้อง ใช้ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจำปี โดยให้ประกาศในราชกิจจา นุเบกษาไม่ช้ากว่าเดือนมกราคมของแต่ละปี และให้กำหนดจำนวนเพิ่มเติมได้ในกรณีจำเป็น โดยให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน

              มาตรา ๖๐ ให้รัฐมนตรีกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ที่ผู้รับอนุญาตจะจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองได้ประจำปี ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตประสงค์ที่จะจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๒ เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นกรณี พิเศษ การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๒ ตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ให้ทายาทผู้ครอบครองหรือผู้จัดการมรดก แจ้งให้ผู้อนุญาตทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับอนุญาตตาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มี อำนาจยึดยาเสพติดให้โทษที่ผู้รับอนุญาตมีเหลือมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข ยาเสพติดให้โทษที่ยึดไว้นั้นให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่าตอบแทน ตามที่เห็นสมควร

              มาตรา ๖๒ ให้ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๖ จัดให้มี การทำบัญชีรับจ่ายยาเสพติดให้โทษและเสนอรายงานต่อเลขาธิการเป็นรายเดือนและรายปี บัญชี ดังกล่าวให้เก็บรักษาไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาในขณะเปิดทำการ ทั้งนี้ภายในห้าปีนับแต่วันที่ลงรายการครั้งสุดท้ายในบัญชี
              บัญชีรับจ่ายยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด ในกฎกระทรวง

              มาตรา ๖๓ เมื่อได้จัดตั้งสถานพยาบาลสำหรับบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา ๘ (๗) แล้ว ให้รัฐมนตรีกำหนดระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมการบำบัดรักษา และ ระเบียบวินัยสำหรับสถานพยาบาลดังกล่าวด้วย

หมวด ๑๑
การนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษ

_________

 

              มาตรา ๖๔ ในการนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ต้องมีใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมา พร้อมกับยาเสพติดให้โทษและต้องแสดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร กับต้องยินยอม ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษนั้นไว้

              ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ นั้นไว้ในที่สมควรจนกว่าผู้ที่นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษ จะนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
              ในกรณีที่ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ไม่นำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดเวลา สามสิบวันนับแต่วันนำเข้า ให้พนักงานศุลกากรรายงานให้เลขาธิการทราบ เลขาธิการมีอำนาจ ออกคำสั่งให้ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง ในกรณีผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ยาเสพติด ให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข

หมวด ๑๒
บทกำหนดโทษ

_______

              มาตรา ๖๕ ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต

              มาตรา ๖๖ ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๑ มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท
              ถ้ายาเสพติดให้โทษนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

              มาตรา ๖๗ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ มีปริมาณ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

              มาตรา ๖๘ ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท *ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นมอร์ฟีน ฝิ่น หรือ โคคาอีน ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองแสนบาท ถึงห้าแสนบาท *[มาตรา ๖๘ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘]

              มาตรา ๖๙ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ อันเป็น การฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
              ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษใน ประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับ ตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
              *ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นมอร์ฟีน ฝิ่น หรือ โคคาอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
              *ถ้ามอร์ฟีน ฝิ่น หรือโคคาอีนนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่า หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท ถึงห้าแสนบาท
              ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๗ กระทำการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
              *[มาตรา ๖๙ วรรคสามและวรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘]

              มาตรา ๗๐ ผู้ใดผลิต หรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อันเป็น การฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

              มาตรา ๗๑ ผู้ใดจำหน่าย หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อันเป็น การฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

              มาตรา ๗๒ ผู้ใดนำเข้า หรือส่งออกแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              มาตรา ๗๓ ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๔ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับ ตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

              มาตรา ๗๔ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ อันเป็น การฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
              ถ้ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

              มาตรา ๗๕* ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับ ตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
              ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดดังกล่าวมานั้นเป็น พืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
              *[มาตรา ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘]

              มาตรา ๗๖* ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ อันเป็น การฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
              ถ้ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
              ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดดังกล่าวมาในวรรคหนึ่ง นั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
              ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดดังกล่าวมาในวรรคสอง นั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
              *[มาตรา ๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘]

              มาตรา ๗๗ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท

              มาตรา ๗๘ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
              มาตรา ๗๙ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
              มาตรา ๘๐ ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
              มาตรา ๘๑ เภสัชกรผู้มีหน้าที่ควบคุมผู้ใดไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตาม มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
              มาตรา ๘๒ ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับ ตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
              มาตรา ๘๓ ผู้ใดจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ปลอม อันเป็นการ ฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
              มาตรา ๘๔ ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ผิดมาตรฐาน หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ เสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ (๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              มาตรา ๘๕ ผู้ใดจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ผิดมาตรฐานหรือ ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ เสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ (๒) หรือ (๓) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              มาตรา ๘๖ ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ต้อง ขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่รัฐมนตรี สั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

              มาตรา ๘๗ ผู้ใดจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่ต้องขึ้นทะเบียน ตำรับยาแต่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอน ทะเบียนตำรับยา อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

              มาตรา ๘๘ ผู้ใดแก้ไขรายการทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท

              มาตรา ๘๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              มาตรา ๙๐ ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              มาตรา ๙๑ ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๕๗ หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท
              มาตรา ๙๒* ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดดังกล่าวมานั้นเป็น พืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
*[มาตรา ๙๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘]
              มาตรา ๙๓ ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจ ครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
              ถ้าได้กระทำโดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสน ห้าหมื่นบาท

              ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทำต่อหญิงหรือต่อบุคคล ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทำความผิดทางอาญาหรือเพื่อ ประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทำความผิดทางอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สามปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท
              ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นมอร์ฟีนหรือโคคาอีน ผู้กระทำต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง และถ้าเป็นการกระทำต่อหญิงหรือบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุ นิติภาวะผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท
              ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๑ ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่า และถ้าเป็นการกระทำต่อหญิงหรือต่อบุคคล ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

              *มาตรา ๙๓ ทวิ ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท
              ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

              *[มาตรา ๙๓ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              มาตรา ๙๔ ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษและได้สมัครขอเข้ารับการบำบัดรักษา ในสถานพยาบาลก่อนความผิดจะปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีกทั้งได้ปฏิบัติครบถ้วนตาม ระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับสถานพยาบาลดังกล่าว จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกำหนดแล้ว ให้ได้รับการยกเว้น โทษสำหรับความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒

              *มาตรา ๙๔ ทวิ ผู้ใดบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้โทษเป็นปกติธุระโดยใช้ยา ตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมิได้กระทำในสถานพยาบาล ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              *[มาตรา ๙๔ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              มาตรา ๙๕ ทายาท ผู้ครอบครอง หรือผู้จัดการมรดกผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

              มาตรา ๙๖ ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่งต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าพันบาท
              มาตรา ๙๗ ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือ ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลง แก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง

              มาตรา ๙๘ ผู้ใดต้องโทษตามมาตรา ๙๑ หรือมาตรา ๙๒ เป็นครั้งที่สาม เมื่อพ้นโทษแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยคำสั่งรัฐมนตรีนำไปควบคุมไว้ ณ สถานพยาบาลที่ รัฐมนตรีประกาศจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ และให้ทำการบำบัดรักษาจนกว่าจะได้รับการรับรองเป็น หนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีกำหนดว่าเป็นผู้ได้รับการบำบัดรักษาครบถ้วนตาม ระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับสถานพยาบาลดังกล่าวแล้ว

              มาตรา ๙๙ ผู้ใดหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกควบคุมไว้ ณ สถานพยาบาล ตามมาตรา ๙๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

              มาตรา ๑๐๐ กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ ข้าราชการหรือพนักงานองค์การและหน่วยงานของรัฐผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือร่วมมือสนับสนุน ในการกระทำดังกล่าวไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่ กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

              มาตรา ๑๐๑* ในกรณีที่มีการยึดยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือ ประเภท ๓ ตามมาตรา ๔๙ (๒) หรือตามกฎหมายอื่นและไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล ถ้าไม่มีผู้ใด มาอ้างว่าเป็นเจ้าของภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ยึด ให้ยาเสพติดให้โทษนั้นตกเป็นของ กระทรวงสาธารณสุข
              *[มาตรา ๑๐๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              *มาตรา ๑๐๑ ทวิ ในกรณีที่มีการยึดยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือ ประเภท ๕ ตามมาตรา ๔๙ (๒) หรือตามกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทดังกล่าว โดยบันทึกรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด *[มาตรา ๑๐๑ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]

              มาตรา ๑๐๒ บรรดายาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ หรือประเภท ๕ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น

              *มาตรา ๑๐๒ ทวิ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๑ หรือในประเภท ๒ ต่อศาล และไม่ได้มีการโต้แย้งเรื่องประเภท จำนวน หรือน้ำหนัก ของยาเสพติดให้โทษ ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตาม มาตรา ๑๐๒ หรือตามกฎหมายอื่นและไม่มีคำเสนอว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ในการกระทำความผิดภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบ ยาเสพติดให้โทษนั้น ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทำลายหรือ นำไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
              *[มาตรา ๑๐๒ ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓]

 

บทเฉพาะกาล
_______

 

              มาตรา ๑๐๓ ในขณะที่ยังไม่มีประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตาม มาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้
                            (๑) เฮโรอีน หรือเกลือของเฮโรอีน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑
                            (๒) ยาเสพติดให้โทษที่มีชื่อในบัญชีท้ายกฎกระทรวง และประกาศกระทรวง สาธารณสุข ดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
                            (ก) ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความใน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕
                            (ข) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดรายชื่อยาเสพติดให้โทษ เพิ่มเติม ออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ ฉบับลงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ฉบับลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ฉบับลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ฉบับลงวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ฉบับลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ และฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
                            (๓) อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl chloride) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔
                            (๔) กัญชา ตามพระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช ๒๔๗๗ และพืชกระท่อม ตามพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พุทธศักราช ๒๔๘๖ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕

              มาตรา ๑๐๔ ให้ยายกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษซึ่งใช้อยู่ก่อน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตามความในพระราชบัญญัตินี้
              ให้ผู้ได้รับอนุญาตผลิต ขาย หรือนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยยา ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือนำเข้า ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตามมาตรา ๒๐ และในกรณีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ให้ยื่นคำขอ ขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตามมาตรา ๔๓ ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อย แปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตและคำขอ ขึ้นทะเบียนตำรับยาดังกล่าวแล้ว ให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินกิจการไปพลางก่อนได้ แต่ถ้าผู้อนุญาต มีคำสั่งเป็นหนังสือไม่ออกใบอนุญาตให้ หรือผู้นั้นไม่มายื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือ นำเข้า และขอขึ้นทะเบียนตำรับยาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เป็นอันหมดสิทธิตามมาตรานี้ นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง หรือวันที่พ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับแล้วแต่กรณีและให้นำความในมาตรา ๕๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

              มาตรา ๑๐๕ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตนำยายกเว้นเข้าในราชอาณาจักร ตามแบบ ย.ส. ๙ ท้ายกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๗๙ นำยายกเว้นเข้าในราชอาณาจักรได้ตามใบอนุญาตดังกล่าว แต่ต้องปฏิบัติ ตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๐๔ ด้วย

              มาตรา ๑๐๖ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ซื้อ มี และจ่ายยาเสพติดให้โทษ หรือ ใบอนุญาตพิเศษให้ซื้อ มี และจ่ายยาเสพติดให้โทษเพิ่มขึ้นกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ ตามความใน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงมียาเสพติด ให้โทษไว้ในครอบครองดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ และถ้าประสงค์ จะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ก่อนใบอนุญาตเดิม จะสิ้นอายุ แต่ถ้าผู้อนุญาตมีคำสั่งเป็นหนังสือไม่ออกใบอนุญาตให้ ผู้นั้นไม่มีสิทธิดำเนินกิจการ นับแต่วันที่ทราบคำสั่งเป็นต้นไป และให้นำความในมาตรา ๕๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม*
__________

              (๑) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
              (๒) ใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
              (๓) ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๒ ฉบับละ ๑๐๐ บาท
              (๔) ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๔ ฉบับละ ๑๐๐ บาท
              (๕) ใบอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท
              (๖) ใบอนุญาตนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ฉบับละ ๓,๐๐๐ บาท
              (๗) ใบอนุญาตส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ฉบับละ ๑๐๐ บาท
              (๘) ใบอนุญาตนำหรือส่งออกแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ ฉบับละ ๕๐ บาท
              (๙) ใบอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๒ เกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนด ตามมาตรา ๖๐ ฉบับละ ๑๐๐ บาท
              (๑๐) ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
              (๑๑) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ ๕๐ บาท
              (๑๒) ใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๓ ฉบับละ ๕๐ บาท
              (๑๓) การอนุญาตให้แก้ไขรายการทะเบียนตามมาตรา ๔๔ ฉบับละ ๕๐๐ บาท
              (๑๔) การต่ออายุใบอนุญาตหรือใบสำคัญการขึ้นทะเบียน
ตำรับยาเสพติดให้โทษ ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบสำคัญนั้น

*[อัตราค่าธรรมเนียมฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๐]


__________________________
หมายเหตุ:-

              เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วย ยาเสพติดให้โทษที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับมานานแล้ว และมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสม กับกาลสมัย สมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้การปราบปรามและควบคุมยาเสพติด ให้โทษเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย ยาเสพติดให้โทษซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
__________________________
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘

              มาตรา ๑๐ ในขณะที่ไม่มีประกาศให้ฝิ่น มูลฝิ่น หรือพันธุ์ฝิ่นเป็นยาเสพติด ให้โทษประเภทใดตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ (๑) ให้ฝิ่นหรือมูลฝิ่นตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่น เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ และพันธุ์ฝิ่นตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๕

__________________________
หมายเหตุ:-

              เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๗ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๑ ประกาศยกเลิกการเสพฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่น ทั่วราชอาณาจักร กฎหมายฝิ่นจึงยังคงใช้บังคับแต่เฉพาะเรื่องฐานความผิด และบทกำหนดโทษ เท่านั้น ฉะนั้นจึงเห็นสมควรยกเลิกพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช ๒๔๗๒ และฉบับแก้ไข เพิ่มเติมทั้งหมด โดยกำหนดให้ฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ ยาเสพติดให้โทษประเภทพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษที่มีอันตรายน้อยกว่ายาเสพติดให้โทษ ประเภทกัญชา จึงเห็นควรกำหนดบทลงโทษของยาเสพติดให้โทษประเภทพืชกระท่อมให้ต่ำลง เพื่อความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

[รก.๒๕๒๘/๑๕๔/๓๑พ/๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๘]
__________________________
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐
หมายเหตุL:-

              เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มิได้นิยามคำว่า "เสพ" ให้แตกต่างจากคำว่า "ติดยาเสพติด ให้โทษ" และมิได้นิยามคำว่า "บำบัดรักษา" ไว้ ซึ่งทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ และบทบัญญัติ บางประการเกี่ยวกับความหมายและการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการยึด ยาเสพติดให้โทษในประเภทต่าง ๆ ยังไม่เหมาะสมกับทางปฏิบัติในปัจจุบัน ตลอดจนยังไม่มี บทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ยุยงส่งเสริมหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือ ให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

หน้า 32 / 32
และไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้โทษเป็นปกติธุระโดยมิได้กระทำ ในสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัตินี้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยนิยามถ้อยคำดังกล่าวให้ชัดเจน และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับความหมายและ การจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการยึดยาเสพติดให้โทษให้เหมาะสมและตรงกับ ทางปฏิบัติยิ่งขึ้นตลอดจนเพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับกรณีเช่นว่านั้น และสมควรปรับปรุงอัตรา ค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ ฯ ด้วยเพื่อให้สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๔ ได้จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.๒๕๓๐/๒๖๙/๔๙พ/๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๐]
__________________________
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓

              มาตรา ๔ บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือ ในประเภท ๒ ที่ไม่ได้มีการโต้แย้งเรื่องประเภท จำนวน หรือน้ำหนักของยาเสพติดให้โทษ ถ้าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตามมาตรา ๑๐๒ หรือ ตามกฎหมายอื่น ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่มีคำเสนอว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริง ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาล มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบยาเสพติดให้โทษนั้น ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวง สาธารณสุขมอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
__________________________
หมายเหตุ:-
              เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันคดี ยาเสพติดให้โทษมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี และการพิจารณาคดีต้องใช้เวลานานกว่าคดีจะถึงที่สุด ในระหว่างนั้นถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ริบของกลางยาเสพติดให้โทษตาม มาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือตามกฎหมายอื่น พระราช บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังไม่มีบทบัญญัติให้กระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายมีอำนาจทำลายหรือนำของกลางยาเสพติดให้โทษไปใช้ประโยชน์ ได้ ส่งผลให้รัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อการเก็บรักษาและดูแล ของกลางยาเสพติดให้โทษไม่ให้สูญหาย ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ สมควรแก้ไข เพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายมีอำนาจทำลายยาเสพติดให้โทษที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมี คำสั่งให้ริบหรือนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.๒๕๔๓/๑๑๑ก/๓๕/๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓]

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี