พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา
ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2542
เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน


                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

                มาตรา 1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542"

                มาตรา 2* พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2542/81ก/18/14 กันยายน 2542]

                มาตรา 3 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงไว้ เป็นอย่างอื่น
                "ศาล" หมายความว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
                "คณะกรรมการ ป.ป.ช." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ
                "ประธาน ป.ป.ช." หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตแห่งชาติ
                "กรรมการ ป.ป.ช." หมายความว่า ประธานหรือกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ

                มาตรา 4 นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ พิจารณาพิพากษา

                มาตรา 5 ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็น หลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
                ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

                ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย
                เพื่อให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเที่ยงธรรม ให้บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ ใด ๆ ตามที่ศาลขอหรือมอบหมาย

                มาตรา 6 ศาลมีอำนาจออกหมายอาญาและหมายใด ๆ ตามที่ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติ

                มาตรา 7 ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

 

หมวด 1
บททั่วไป
________

 

                มาตรา 8 ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
                เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควรเป็นผู้พิพากษา ประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเพื่อปฏิบัติงานที่จำเป็นในระหว่าง ที่ยังไม่มีองค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา 13 สำหรับคดีใดคดีหนึ่ง

                มาตรา 9 ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือ ทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น (2) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตาม (1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (1) (3) คดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่ากรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ (4) คดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภา ท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติตกเป็นของแผ่นดิน

                มาตรา 10 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ากรณีมูลที่จะดำเนินคดีตามมาตรา 9 (1) (2) หรือ (4) ให้ประธาน ป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็น ไปยังอัยการสูงสุดภายในสิบสี่วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดี ีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ภายในระยะเวลาดังกล่าวอัยการสูงสุด มีความเห็นว่าเรื่องที่ส่งมานั้นยังมีข้อไม่สมบูรณ์ และได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์นั้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.

                มาตรา 11 ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 10 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนของแต่ละ ฝ่ายจำนวนฝ่ายละเท่ากันเป็นคณะทำงาน ให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่เป็นฝ่าย เลขานุการ คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยาน หลักฐานให้สมบูรณ์ แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป

                ในกรณีที่คณะทำงานไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีได้ภายในกำหนดเวลา สิบสี่วันนับแต่วันตั้งคณะทำงาน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช . มีอำนาจยื่นฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้ง ทนายความให้ฟ้องคดีแทนได้ แต่ต้องฟ้องภายในสิบสี่วับนับแต่วันครบกำหนด

                มาตรา 12 การยื่นฟ้องเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามมาตรา 10 และมาตรา 11 ย่อม กระทำได้ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความ

                มาตรา 13 เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะ ผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบสี่วันนับแต่วันยื่น ฟ้องคดี ผู้พิพากษาคนใดประสงค์จะขอถอนตัวจากการได้รับเลือกให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ ก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติว่าจะให้มีการถอนตัวหรือไม่ มติของที่ประชุมใหญ่ ่เป็นที่สุด การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ ให้ผู้พิพากษา ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนเก้าคนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะ ผู้พิพากษาสำหรับคดีนั้น ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกิน เก้าคน ให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา พิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และ ระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่น นอกศาลฎีกา

                มาตรา 14 ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาย่อมพ้นหน้าที่ในคดีเมื่อ
                (1) พ้นจากการเป็นข้าราชการตุลาการ
                (2) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ศาลอื่น
                (3) ถอนตัวเนื่องจากการคันค้านผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่ง ยอมรับตามคำคัดค้านในมาตรา 16
ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาแทนที่ตามวิธีการ ในมาตรา 13

                มาตรา 15 ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ที่ทำให้ไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะได้และองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า หากเลื่อนการไต่สวน พยานหลักฐานออกไปจะทำให้ล่าช้าและขาดความเที่ยงธรรม ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาแทนที่ตาม วิธีการในมาตรา 13 ในกรณีนี้ให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทนที่สิ้นสุดอำนาจหน้าที่ในคดี

                มาตรา 16 หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดที่ได้รับเลือก เป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้อง ต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็น สมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับหรือยกคำคัดค้าน คำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วย การคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

                การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านจะสามารถแสดงต่อศาลได้ว่ามีเหตุสมควรทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น

                มาตรา 17 ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา และ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาอีกสองคน มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ที่มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้

                มาตรา 18 ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีอำนาจ ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อใช้แก่การปฏิบัติงานของศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

                นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กระบวนพิจารณา ในศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับสำหรับคดีอาญา และบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับสำหรับคดีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยอนุโลม

                มาตรา 19 ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกัน ไปทุกวันทำการจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้

                มาตรา 20 การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษา ในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือพร้อมทั้งต้องแถลงด้วย วาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก ในการนี้ องค์คณะผู้พิพากษาอาจ มอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษา ตามมตินั้นก็ได้

                คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา ทุกคนให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด

                มาตรา 21 ความเห็นในการวินิจฉัยคดีอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
                (1) ชื่อคู่ความทุกฝ่าย
                (2) เรื่องที่ถูกกล่าวหา
                (3) ข้อกล่าวหาและคำให้การ
                (4) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา
                (5) เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
                (6) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
                (7) คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี มาตรา 22 เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมหรือคุมขังผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเนื่องจาก มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้น จะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรืออัยการสูงสุดอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายจับ หรือหมายขังผู้นั้นได้

                ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแล้ว ไม่ว่าจะมีการคุมขังจำเลยมาก่อนหรือไม่ ให้องค์คณะ ผู้พิพากษาพิจารณาถึงเหตุอันควรคุมขังจำเลยและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรหรือปล่อยชั่วคราว จำเลยนั้นได้

 

หมวด 2
การดำเนินคดีอาญา
________

 

                มาตรา 23 ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่
                (1) อัยการสูงสุด
                (2) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติตามมาตรา 11

                มาตรา 24 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อ กฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาข้อหา ความผิดบทอื่นไว้ด้วย

                มาตรา 25 การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้อง ไต่สวนมูลฟ้อง
                ในวันยื่นฟ้องให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาล เมื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน และศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

                มาตรา 26 การพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานให้กระทำโดยเปิดเผยเว้นแต่ มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับได้

                มาตรา 27 เมื่อได้มีคำสั่งประทับฟ้องแล้วให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย และนัด คู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก

                นับแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาฟ้องให้จำเลยมีสิทธิขอตรวจและขอคัดสำเนา เอกสารในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

                ในวันพิจารณาครั้งแรก เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และให้ศาลกำหนดวันตรวจ พยานหลักฐานโดยให้โจทก์และจำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

                มาตรา 28 ให้โจทก์จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่ เพียงพอก่อนวันพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
                การยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อ ได้รับอนุญาตจากองค์คณะผู้พิพากษา เมื่อสามารถแสดงเหตุผลสมควรว่าไม่สามารถทราบ ถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาส แก่จำเลยในการต่อสู้คดี

                มาตรา 29 ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้โจทก์จำเลยส่งพยานเอกสาร และพยานวัตถุต่อศาลเพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่ง เป็นอย่างอื่น เนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น หลังจากนั้นให้โจทก์ จำเลยแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะผู้พิพากษา
                ในกรณีที่มิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานใด องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่ง ให้รับฟังพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ แต่หากมีการโต้แย้งพยานหลักฐานใด หรือเมื่อศาลเห็นเอง ให้องค์คณะผู้พิพากษาดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นต่อไป

                มาตรา 30 ในกรณีที่ต้องมีการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษากำหนด วันเริ่มไต่สวนโดยให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

                มาตรา 31 ในการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษาสอบถามพยานบุคคลเอง โดย การแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งจะทำการไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความใน ข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล แล้วจึงให้โจทก์จำเลยถามเพิ่มเติมต่อไป

                มาตรา 32 เมื่อการไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้น โจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลง ปิดคดีของตนภายในเวลาที่ศาลกำหนด แล้วให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำพิพากษา และให้อ่าน คำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผยภายในเจ็ดวันนับแต่วันเสร็จการพิจารณา ถ้ามีเหตุสมควร จะเลื่อนการอ่านไปก่อนก็ได้แต่ต้องไม่เกินสิบสี่วันและต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ เว้นแต่ไม่อาจ ได้ตัวจำเลยมาศาลในวันอ่านคำพิพากษา

                ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยไม่อยู่หรือ ไม่มาฟังคำพิพากษาให้ศาลเลื่อนการอ่านไปและออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา เมื่อได้ออก หมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

 

หมวด 3
การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
________

 

                มาตรา 33 ในการพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 เว้นแต่ มาตรา 24 มาตรา 27 วรรคสาม และมาตรา 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                มาตรา 34 เมื่อได้รับคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลประกาศ คำร้องดังกล่าวในที่เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดตามมาตรา 18
                บุคคลภายนอกอาจร้องคัดค้านเข้ามาในคดีได้ แต่ต้องกระทำก่อนศาลมีคำพิพากษา

                มาตรา 35 ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้ ้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล
                ถ้าผู้มีภาระการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ ้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ศาล สั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

                ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนวิกลจริตไม่อยู่ในภาวะทำการพิสูจน์ต่อศาลได้ หรือผู้ที่กล่าวอ้างโดยโต้แย้งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถในการ พิสูจน์ของบุคคลดังกล่าวและพิจารณาพิพากษาตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม

 

หมวด 4
การดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช.
________

 

                มาตรา 36 ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 300 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ดำเนินการเลือกองค์คณะ ผู้พิพากษาตามมาตรา 13

                มาตรา 37 ให้องค์คณะผู้พิพากษาแต่งตั้งบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน เป็น คณะกรรมการไต่สวน ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีตาม คำร้องขอ ในการดำเนินการของคณะกรรมการไต่สวน ให้คณะกรรมการไต่สวนมีอำนาจ หน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต โดยอนุโลม

                มาตรา 38 คณะกรรมการไต่สวนให้แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการระดับ ไม่ต่ำกว่าชั้น 6 อย่างน้อยหนึ่งคน และข้าราชการอัยการระดับไม่ต่ำกว่าชั้น 6 อย่างน้อยหนึ่งคน และที่เหลือให้พิจารณาแต่งตั้งตามความเหมาะสมแก่คดีจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุ ไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีในวันแต่งตั้งและต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                (1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า
                (2) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าสิบปี
                (3) เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การบัญชี หรือวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องในคดี โดยเคยปฏิบัติงานด้านดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

                มาตรา 39 กรรมการไต่สวนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
                (1) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
                (2) เป็นผู้เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
                (3) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
                (4) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
                (5) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
                (6) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
                (7) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
                (8) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะ ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

                มาตรา 40 กรรมการไต่สวนจะได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

                มาตรา 41 คณะกรรมการไต่สวนมีอำนาจสั่งให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกกล่าวหา แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อประกอบ การไต่สวนตามรายการ วิธีการ และภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการไต่สวนกำหนด ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน

                มาตรา 42 คณะกรรมการไต่สวนต้องทำการไต่สวนและทำความเห็นให้เสร็จสิ้น ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้ง แต่องค์คณะผู้พิพากษาอาจขยายระยะเวลาให้เท่าที่จำเป็นได้

                ในกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนมีมติว่าข้อกล่าวหาอันเป็นคดีอาญาต่อกรรมการ ป.ป.ช. นั้นมีมูลหรือมีมติว่ากรณีมีมูลน่าเชื่อว่ากรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการไต่สวน ส่งรายงานพร้อมทั้งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล
                ให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง
                การยื่นฟ้องเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสาม ย่อมกระทำได้ ถ้าได้ฟ้องภายใน อายุความ
                ให้นำบทบัญญัติในหมวด 2 และหมวด 3 มาใช้บังคับในการดำเนินคดีตามหมวดนี้ ้ด้วยโดยอนุโลม

                มาตรา 43 ในกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้คณะกรรมการ ไต่สวนส่งรายงานพร้อมทั้งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อดำเนินการต่อไป
                หากองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าพยานหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนรวบรวมยังไม่ ่เพียงพอที่จะมีคำสั่งในเรื่องนี้ อาจกำหนดให้คณะกรรมการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ภายในระยะเวลาอันสมควรก่อนมีคำสั่งก็ได้
                หากองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้พิพากษายกคำร้องขอ แต่หาก องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล และ ให้นำมาตรา 42 วรรคสามถึงวรรคห้ามาใช้บังคับ โดยอนุโลม

                มาตรา 44 ในการพิจารณาพิพากษาให้องค์คณะผู้พิพากษาดำเนินการไต่สวน หาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร เพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงตามคำร้อง ขอให้ดำเนินคดีโดยไม่ผูกมัดกับเหตุผลหรือพยานหลักฐานที่ปรากฎในคำร้องขอให้ดำเนินคดี หรือในการไต่สวนหรือความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน หรือในการดำเนินคดีของอัยการ สูงสุด

 

หมวด 5
การบังคับคดี
________

 

                มาตรา 45 การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปตาม มาตรา 18 คำพิพากษาและคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด

 

บทเฉพาะกาล
________

                มาตรา 46 คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอื่น ในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คงพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จและ มิให้ถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลนี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

________________

หมายเหตุ:-

                เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในศาลฎีกา และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรง ตำแหน่งอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดถูกกล่าวหาว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวด้วย ดังนั้น จะต้องดำเนินการจัดตั้งแผนกคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีพิจารณา ตลอดจน การบังคับคดีในการดำเนินคดีดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี