พระราชบัญญัติ กำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ พุทธศักราช 2484


ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2484
เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

                โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรกำหนดหน้าที่ของคนไทย ในขณะที่ประเทศไทยต้องเข้าทำการรบขึ้นไว้ เพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้อง ตามแผนการของราชการและเพื่อยังความเป็นไทยให้คงอยู่ตลอดไป
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

                มาตรา 1 พระราชบัญญัติฉบับนี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกำหนด หน้าที่ของคนไทยในเวลารบ พุทธศักราช 2484"

                มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจา นุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2484/63/1143/11 กันยายน 2484]

                มาตรา 3 เมื่อประเทศไทยต้องทำการรบกับประเทศหนึ่งประเทศใด ประชาชนชาวไทยทั้งมวล มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในทุก ๆ ทางที่เป็นประโยชน์แก่ ประเทศไทยและที่ขัดต่อประโยชน์ของประเทศที่ทำการรบประเทศไทย
นอกจากหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติ หน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้อีกด้วย

                มาตรา 4 คนไทยคนใดล่วงรู้แผนการ ฐานที่ตั้ง การเคลื่อนไหว
เกี่ยวกับกำลังคน กำลังอาวุธ การเงินหรือการอื่นใดทำนองที่กล่าวมานี้ ของข้าศึก ให้ผู้นั้นรายงานต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือฝ่ายปกครองโดยมิชักช้า

                มาตรา 5 คนไทยทุกคนต้องทำการต่อต้านข้าศึกทุกวิถีทางด้วยกำลัง อาวุธ กำลังทรัพย์ หรือกำลังอื่นใดตามคำสั่งของราชการ แต่เมื่อตกอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถทราบคำสั่งของราชการได้ ก็ต้อง จัดการต่อต้านต่อไปตามวิถีทางที่ทำได้จนถึงที่สุด ถ้าไม่สามารถต่อต้าน ไว้ได้ ให้ทำการขัดขวางหรือก่ออุปสรรคต่าง ๆ เพื่อมิให้ข้าศึกได้รับความสะดวก และให้ทำลายเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สัตว์พาหนะ และสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของตน ของผู้อื่นหรือ ของราชการอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ข้าศึกนั้นเสียให้สิ้น

                มาตรา 6 ในการปฏิบัติการต่อต้าน หรือการป้องกันมิให้ข้าศึกได้รับ ความสะดวก หรือประโยชน์นั้น ให้พึงถือว่าเป็นกรณีที่ข้าศึกได้บังอาจกระทำการ อันไม่เป็นธรรมต่อประเทศไทย ฉะนั้นสิ่งใด ๆ ที่สามารถเป็นประโยชน์ในการ ทำลายข้าศึกผู้อธรรมได้แล้ว ย่อมชอบที่จะใช้สิ่งนั้น ๆ ได้

                มาตรา 7 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 4 หรือ มาตรา 5 มีความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ทรัพย์สมบัติส่วนตัวของผู้กระทำความผิดตามวรรคก่อนให้ริบเสียสิ้น

                มาตรา 8 การฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ลบล้างความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาหรือกฎหมายอื่น

                มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
                กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี