พระราชบัญญัติ ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487


ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480
และวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2484)
อาทิตย์ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2487
เป็นปีที่ 11 ในรัชกาลปัจจุบัน

              โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายควบคุมการ เรี่ยไรให้รัดกุมยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

              มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติควบคุมการ เรี่ยไร พุทธศักราช 2487"

              มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2487/6/117/18 มกราคม 2487]

              มาตรา 3 นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2480 และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ ซึ่งขัดแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

              มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

              "การเรี่ยไร" หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สิน ที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
              "ยุทธภัณฑ์" หมายความว่า ยุทธภัณฑ์ตามความหมายแห่งกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ "สิ่งพิมพ์" หมายความว่า สิ่งพิมพ์ตามความหมายแห่งกฎหมาย ว่าด้วยการพิมพ์

              มาตรา 5 ห้ามมิให้จัดให้มีการเรี่ยไรหรือทำการเรี่ยไรดังต่อไปนี้
              (1) การเรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้หรือชดใช้แก่จำเลย เพื่อใช้เป็นค่าปรับ เว้นแต่จะเป็นการเรี่ยไรในระหว่างวงศ์ญาติของจำเลย
              (2) การเรี่ยไรโดยกำหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นอัตรา โดยคำนวณตามเกณฑ์ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์หรือวัตถุอย่างอื่น
              (3) การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมทรามแก่ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
              (4) การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงถึงทาง สัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
              (5) การเรี่ยไรเพื่อจัดหายุทธภัณฑ์ให้แก่ต่างประเทศ

              มาตรา 6 การเรี่ยไรซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการเทศบาล หรือสาธารณะประโยชน์จะจัดให้มีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ควบคุมการเรี่ยไรแล้ว ความในวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับแก่การเรี่ยไรซึ่งกระทรวงทบวงหรือ กรมเป็นผู้จัดให้มี

              มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นคือ ผู้แทนกระทรวงกลาโหมหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการหนึ่งคน ผู้แทน กระทรวงการสาธารณสุขหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทน กรมตำรวจหนึ่งคน และผู้แทนกรมมหาดไทยหนึ่งคน กรรมการต้องมาประชุม ไม่น้อยกว่าสี่คนจึงเป็นองค์ประชุม

              มาตรา 8 การเรี่ยไรในถนนหลวงหรือในที่สาธารณะ การเรี่ยไร โดยโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ ด้วยวิทยุกระจายเสียง หรือด้วยเครื่องเปล่งเสียง จะจัดให้มีหรือทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

              ข้อความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับแก่
              (1) การเรี่ยไรซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับยกเว้นตามมาตรา 6
              (2) การเรี่ยไรเพื่อกุศลสงเคราะห์ในโอกาสที่บุคคลชุมนุมกัน ประกอบศาสนกิจ
              (3) การเรี่ยไรโดยขายสิ่งของในงานออกร้าน หรือในที่นัดประชุม เฉพาะแห่งอันได้จัดให้ขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งผู้ได้รับอนุญาตให้มีการ ออกร้าน หรือผู้จัดให้มีการนัดประชุมเป็นผู้จัดให้มีขึ้น

              มาตรา 9 เมื่อมีผู้ขอรับอนุญาตตามมาตรา 6 คณะกรรมการควบคุม การเรี่ยไรมีอำนาจสั่งไม่อนุญาต หรือสั่งอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไข

              (1) จำนวนเงินหรือทรัพย์สินอื่นอย่างสูงที่ให้เรี่ยไรได้
              (2) เขตหรือสถานที่และเวลาที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไร
              (3) วิธีการเก็บรักษาและทำบัญชีเงิน หรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้
              (4) วิธีทำการเรี่ยไร

              ในกรณีที่สั่งอนุญาต ให้คณะกรรมการกำหนดวันสิ้นอายุแห่งใบอนุญาต ไว้ด้วย และในกรณีที่สั่งไม่อนุญาต ให้แจ้งและแสดงเหตุผลให้ผู้ขออนุญาต ทราบ .

              มาตรา 10 เมื่อมีผู้ขอรับอนุญาตตามมาตรา 8 ให้นำความใน มาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าสั่งไม่อนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ แจ้งและแสดงเหตุผลให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในกำหนดสิบวัน นับแต่วัน ได้รับคำร้องขอ ในกรณีที่สั่งไม่อนุญาต ผู้ขออนุญาตมีสิทธิยื่นอุธรณ์คำสั่งของ พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันได้ทราบคำสั่งไม่อนุญาต

              การยื่นอุทธรณ์ในจังหวัดพระนครและธนบุรีให้ยื่นต่อคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้น ในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อคณะกรมการจังหวัด คำชี้ขาดของคณะกรรมการ หรือคณะกรมการจังหวัดแล้วแต่กรณีให้เป็นที่สุด

              มาตรา 11 ห้ามมิให้อนุญาตให้บุคคลดังต่อไปนี้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือทำการเรี่ยไร
              (1) บุคคลมีอายุต่ำกว่า 16 ปี
              (2) บุคคลผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือ เสมือนไร้ความสามารถ (3) บุคคลเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ (4) บุคคลผู้เคยต้องโทษฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริต ต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปี (5) บุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐาน ไม่น่าไว้ใจ

              มาตรา 12 บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรต้องมีใบอนุญาต ติดตัวอยู่ในขณะทำการเรี่ยไร และต้องให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้ประสงค์ จะเข้าส่วนในการเรี่ยไรตรวจดู เมื่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลนั้นเรียกร้อง
              ในกรณีการเรี่ยไรซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดทำประจำที่ ผู้รับอนุญาตต้อง แสดงใบอนุญาตไว้ ณ ที่ทำการเรี่ยไรให้เห็นได้โดยชัดเจน

              มาตรา 13 ในการรับเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้ ต้องออก ใบรับให้แก่ผู้บริจาคกับมีต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐานและให้ผู้จัดให้มีการ เรี่ยไรประกาศยอดรับและจ่ายเงินและทรัพย์สินให้ประชาชนทราบเป็น ครั้งคราวตามสมควร และเมื่อได้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินนั้นหมดไปแล้ว ให้ประกาศยอดบัญชีอีกครั้งหนึ่ง

              มาตรา 14 ห้ามมิให้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้นใน กิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้แสดงไว้ เว้นแต่ จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง

              มาตรา 15 เงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้น ถ้าไม่ต้องจ่าย เพราะไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไรตามที่ได้แสดงไว้ หรือเหลือจ่ายเพราะเหตุใด ๆ ให้ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรรายงานให้ คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่กรณีทราบ และให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ส่งเงินหรือทรัพย์สิน ดังกล่าวแล้วไปประกอบการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ตามแต่เห็นควร

              ถ้าผู้จัดให้มีการเรี่ยไรตายลงเสียก่อน ให้หน้าที่ของผู้จัดให้มีการ เรี่ยไรดังกล่าวในวรรคก่อน ตกเป็นของผู้ครอบครองเงินและทรัพย์สิน ดังกล่าวแล้ว

              มาตรา 16 ในการเรี่ยไรห้ามมิให้ใช้ถ้อยคำหรือวิธีการใด ๆ ซึ่งเป็นการบังคับผู้ถูกเรี่ยไรโดยตรงหรือโดยปริยาย หรือซึ่งจะทำให้ ผู้ถูกเรี่ยไรเกิดความหวาดหวั่นหรือเกรงกลัว

              มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคแรก มาตรา 8 วรรคแรก มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

              มาตรา 18 ผู้ใดทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการ ควบคุมการเรี่ยไรกำหนดตามมาตรา 9 หรือพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดตาม

              มาตรา 10 หรือฝ่าฝืนมาตรา 12 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งร้อยบาท

              มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

              มาตรา 20 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ มาตรา 21 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงแต่งตั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่และกิจการอย่างอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับได้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี