พระราชบัญญัติ คุ้มครองความลับในราชการ
พุทธศักราช 2483
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทร โยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2483
เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีกฎหมายคุ้มครองความลับใน ราชการเพื่อความมั่นคงสาธารณะ
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและ ยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครอง ความลับในราชการ
พุทธศักราช 2483
มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เป็นต้นไป
*[รก.2483/-/805/6 ธันวาคม 2483]
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ คำว่า
ที่สงวน หมายความดังนี้
(ก) สิ่งปลูกสร้างทุกชนิดสำหรับการป้องกันประเทศ ฐานทัพบก ฐานทัพเรือ
ฐานทัพอากาศ โรงงานทำอาวุธหรือยุทธภัณฑ์ โรงช่างแสง หรือ คลังอาวุธยุทธภัณฑ์
อู่เรือรบ ท่าเรืออันใช้เป็นฐานทัพเรือ สถานีวิทยุหรือ โทรเลขหรือสถานีส่งและรับอาณัติสัญญาณ
รวมทั้งสถานที่ใด ๆ ซึ่งใช้ในการ สร้างหรือซ่อมแซมเรือรบหรืออาวุธยุทธภัณฑ์
หรือวัตถุใด ๆ สำหรับใช้ในการ สงคราม
(ข) ชุมทางรถไฟ โรงงาน และสถานที่จ่ายน้ำหรือกระแสไฟฟ้าอัน เป็นการสาธารณูปโภค
(ค) ที่หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งรัฐมนตรีจะได้กำหนดไว้เป็นครั้งคราว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ที่สงวนตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือเป็นความลับ ผู้ใดมิได้มี
อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำการคัดลอก เขียน จำลอง หรือถ่ายภาพ ที่สงวนตามพระราชบัญญัตินี้
มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 5 การฟ้องขอให้ลงโทษผู้ใดซึ่งกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ไม่ลบล้างความผิดอันอาจมีได้ตามกฎหมายลักษณะอาญา
มาตรา 6 บทบัญญัติแห่งมาตรา 4 มิให้ใช้บังคับแก่บุคคลซึ่งกระทำการ
โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือบุคคลที่รัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการให้เป็น ไปตามพระราชบัญญัตินี้
และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็น ไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี