พระราชบัญญัติ ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
พ.ศ. 2493
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2493
เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่เป็นการสมควรควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและเหมาะสม และให้ใช้ภาษาไทยในการโฆษณา พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
จึงมี พระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า
"พระราชบัญญัติควบคุมการ โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.
2493"
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับในจังหวัดพระนครและ
จังหวัดธนบุรีตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ส่วนที่ จะใช้ที่อื่นเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
*[รก.2493/8/178/7 กุมภาพันธ์ 2493]
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
คำว่า "โฆษณา" หมายความว่า การบอกกล่าว แจ้งความ ชี้แจง
แนะนำ หรือแสดงความคิดเห็น แก่ประชาชน
มาตรา 4 ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลัง
ไฟฟ้า จะต้องขอรับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึง
ทำการโฆษณาได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับอนุญาต
และให้มี อำนาจกำหนดเงื่อนไขลงในใบอนุญาตว่าด้วยเวลา สถานที่ และเครื่องอุปกรณ์
ขยายเสียง และผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดนั้น
มาตรา 5 ใบอนุญาตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกให้แก่ผู้ทำการ
โฆษณาตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้คุ้มครองถึงผู้ใช้เสียงและผู้ควบคุม
เครื่องขยายเสียงในการโฆษณา และบุคคลเช่นว่านี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่
กำหนดในใบอนุญาตด้วย
มาตรา 6 พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจสั่งผู้ใช้เสียงหรือ
ผู้ควบคุมเครื่องขยายเสียงให้ลดเสียงลงได้ เมื่อปรากฏว่าเสียงที่โฆษณานั้น
ก่อความรำคาญแก่ประชาชน
ถ้าการโฆษณากระทำผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
ของเจ้าพนักงานที่สั่งตามความในวรรคก่อน ให้เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอำนาจ
สั่งให้หยุดโฆษณาได้
มาตรา 7 การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงจะต้องโฆษณาเป็น
ภาษาไทย คำว่า ภาษาไทย นั้น ให้หมายความรวมถึงภาษาพื้นเมืองบางแห่ง
ในประเทศไทยด้วย
มาตรา 8 พระราชบัญญัตินี้
ไม่ใช้บังคับแก่การโฆษณา
1. คำสอนในทางศาสนา
2. ของหน่วยราชการของรัฐ
3. หาเสียงเพื่อประโยชน์แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
สมาชิก สภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งโฆษณาเป็นภาษาไทย
4. กิจการของสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งโฆษณาด้วยตนเองเป็นภาษาไทย
5. กิจการเกี่ยวกับการมหรสพ
เฉพาะในโรงมหรสพ และในระหว่าง เวลาที่แสดงมหรสพ
6. กิจการของนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอันเป็นสาธารณะกุศล
ซึ่งนิติบุคคลนั้นโฆษณาเป็นภาษาไทย
มาตรา 9 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา
4 มาตรา 5 หรือคำสั่งของเจ้าพนักงาน ที่สั่งตามความในมาตรา 6 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ด้วย
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา
7 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่ง เพิกถอนใบอนุญาตเสียด้วย
มาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และ
ออกกฎกระทรวง
1. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตซึ่งต้องไม่เกินฉบับละ
100 บาท
2. กำหนดกิจการอื่น
ๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ให้ใช้ บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี