พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540

 


พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2540
เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลปัจจุบัน

                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุดลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

                มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540"

                มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2540/51ก/24/1 ตุลาคม 2540]

                มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติ ไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน

                มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
                "มหาวิทยาลัย" หมายความว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
                "สภามหาวิทยาลัย" หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย
                 "สภาวิชาการ" หมายความว่า สภาวิชาการมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
                "วิทยาเขต" หมายความว่า เขตการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ตั้งแต่สองส่วนงานขึ้นไปตั้งอยู่ในเขตนั้น ตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด
                "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

                มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้

หมวด 1
การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่
_______

 

                มาตรา 6 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่งเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นนิติบุคคล
ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ รวมทั้งการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

                มาตรา 7 ให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ

                มาตรา 8 มหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนงานดังนี้
                                (1) สำนักงานอธิการบดี
                                (2) สำนักงานวิทยาเขต
                                (3) บัณฑิตวิทยาลัย
                                (4) คณะ
                                (5) สถาบัน
                                (6) สำนัก
                                (7) ศูนย์
                                (8) วิทยาลัย
                มหาวิทยาลัยอาจให้มีหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุ ไว้ในมาตรา 6 เป็นส่วนงานในมหาวิทยาลัยอีกได้
                สำนักงานอธิการบดีและสำนักงานวิทยาเขต อาจแบ่งส่วนงานเป็นกอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง
                บัณฑิตวิทยาลัย อาจแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานคณบดี กอง หรือ หน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง
                คณะ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ อาจแบ่ง ส่วนงานเป็นสำนักงานคณบดี ภาควิชา กอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มี ฐานะเทียบเท่าภาควิชาหรือกอง
                สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย อาจแบ่งส่วนงานเป็นสำนักงานบริหาร กอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง

                มาตรา 9 การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ให้ทำเป็น ข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การแบ่งส่วนงานเป็นกอง สำนักงานคณบดี ภาควิชา สำนักงานบริหาร หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าส่วนงานดังกล่าว ให้ทำเป็น ประกาศของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                มาตรา 10 ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 มหาวิทยาลัยจะ รับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนาเข้าสมทบใน มหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอำนาจให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใด ชั้นหนึ่งแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้าน พระพุทธศาสนานั้นได้
                การรับเข้าสมทบหรือยกเลิกการสมทบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตาม ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยโดยประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา
                การควบคุมสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนา ที่รับเข้าสมทบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 11 กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการ ประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยต้อง ได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

                ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันหนี้เงินกู้ หรือหนี้ใด ๆ ของ มหาวิทยาลัยได้เสมือนมหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการ ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการค้ำประกัน

                มาตรา 12 มหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ภายในวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 และอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ ให้รวมถึง
                 (1) ซื้อ สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สิน และจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุดหนุนหรืออุทิศให้ การจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยให้กระทำ ได้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตามมาตรา 13 วรรคสาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ให้จำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนได้
                (2) รับค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการ ในการให้บริการภายในอำนาจและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งทำความตกลง และกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าบริการนั้น
                (3) ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชนใน กิจการที่เกี่ยวกับการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนา แก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                (4) กู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินหรือ ลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่ กำหนดในมาตรา 6
                (5) ร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนา แก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
                 (6) จัดให้มีทุนการศึกษาและทุนการวิจัยในสาขาวิชาต่าง ๆ

                มาตรา 13 รายได้ของมหาวิทยาลัยมีดังนี้
                (1) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี
                (2) เงินอุดหนุนและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย
                (3) เงินอุดหนุนจากศาสนสมบัติกลาง เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
                (4) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนและจากทรัพย์สินของ มหาวิทยาลัย
                (5) รายได้หรือผลประโยชน์อย่างอื่น เงินอุดหนุนทั่วไปตาม (1) นั้น รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัย โดยตรง โดยการเสนอแนะของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดใน มาตรา 6

                ให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือซื้อด้วยเงิน รายได้ของมหาวิทยาลัย หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย เป็นกรรมสิทธิ์ ของมหาวิทยาลัย
                ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหา ประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
                รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตาม กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ในกรณีรายได้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ของมหาวิทยาลัยและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม และมหาวิทยาลัยไม่สามารถ หาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐบาลพึงจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้แก่มหาวิทยาลัย เท่าจำนวนที่จำเป็น

                มาตรา 14 ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการ บังคับคดี และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่อง ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้

                มาตรา 15 บรรดารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะต้องจัดการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดในมาตรา 6 หรือตามวัตถุ ประสงค์ซึ่งผู้อุทิศทรัพย์สินให้แก่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้

                มาตรา 16 ภายใต้บังคับของมาตรา 12 (1) กรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยจะจำหน่ายหรือโอนได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ

หมวด 2
การดำเนินการ
_____

 

                มาตรา 17 ให้มีสภามหาวิทยาลัยประกอบด้วย
                (1) นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจาก พระเถระ
                (2) กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิการบดี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการศาสนา   ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
                (3) กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนเจ็ดรูป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีหรือคณบดี โดยคำแนะนำ ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง

                (4) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าหกรูป หรือคน แต่ไม่เกินแปดรูปหรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุ หรือคฤหัสถ์ โดยคำแนะนำของกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง และ ในจำนวนนี้จะต้องเป็นพระภิกษุไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
                ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็น พระภิกษุรูปหนึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
                ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็น เลขานุการสภามหาวิทยาลัยโดยคำแนะนำของอธิการบดี

                มาตรา 18 นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามมาตรา 17 (3) และ (4) มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี แต่สมเด็จ พระสังฆราชจะทรงแต่งตั้งใหม่อีกได้
                นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง นายกสภา มหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 17 (3) และ (4) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                (1) มรณภาพหรือตาย
                (2) ลาออก
                (3) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
                (4) สมเด็จพระสังฆราชทรงถอดถอน
                (5) ขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยใน ประเภทนั้น
                (6) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิด อันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
                (7) เป็นบุคคลล้มละลาย
                (8) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
                ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม มาตรา 17 (3) และ (4) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และสมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ที่ได้ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
                ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้น ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ สภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
                ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม มาตรา 17 (3) และ (4) พ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้ทรงแต่งตั้ง นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ ให้นายกสภา

                มหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งพ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้ทรงแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัย ขึ้นใหม่

                มาตรา 19 สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการ ทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

                (1) วางนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การ ให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

                (2) วางระเบียบ ออกข้อบังคับ ข้อกำหนด และประกาศของ มหาวิทยาลัย และอาจมอบหมายให้ส่วนงานใดในมหาวิทยาลัยเป็นผู้วางระเบียบ และออกประกาศสำหรับส่วนงานดังกล่าวก็ได้

                (3) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร

                (4) อนุมัติการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย รวมทั้งการ แบ่งส่วนงานของหน่วยงานดังกล่าว

                (5) อนุมัติการรับเข้าสมทบ หรือการยกเลิกการสมทบของสถาบัน การศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนา

                (6) อนุมัติการเปิดสอนและหลักสูตรการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย รวมทั้งการยุบ รวม และยกเลิกหลักสูตรและ สาขาวิชา

                (7) พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และ พิจารณาถอดถอนอธิการบดี

                (8) พิจารณาดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และพิจารณาถอดถอนศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ

                (9) แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์

                (10) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง การกำหนดอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการและประโยชน์อย่างอื่น การบรรจุและแต่งตั้ง การรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง การออกจากงาน การรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์การลงโทษ ของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง

                (11) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดหารายได้ ออกข้อบังคับและวาง ระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

                (12) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายของมหาวิทยาลัย

                (13) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย

                (14) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย

                (15) ปฏิบัติหน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็น หน้าที่ของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ

                มาตรา 20 ให้มีสภาวิชาการประกอบด้วย
                (1) ประธานสภาวิชาการ ได้แก่ อธิการบดี
                (2) กรรมการสภาวิชาการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รองอธิการบดีที่เป็น พระภิกษุ คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย และศาสตราจารย์
                
(3) กรรมการสภาวิชาการ ซึ่งคณาจารย์ประจำเลือกจากคณาจารย์ ประจำคณะ คณะละสามคน
                คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสภาวิชาการตาม (3) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
                ให้สภาวิชาการแต่งตั้งรองอธิการบดีซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเลขานุการ สภาวิชาการโดยคำแนะนำของอธิการบดี

                มาตรา 21 กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา 20 (3) มีวาระ การดำรงตำแหน่งสองปี แต่อาจได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกได้

                นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง กรรมการ สภาวิชาการตามมาตรา 20 (3) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                (1) มรณภาพหรือตาย
                (2) ลาออก
                (3) ขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการสภาวิชาการในประเภทนั้น

                ในกรณีที่กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา 20 (3) พ้นจากตำแหน่ง ก่อนวาระ และได้มีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ที่ได้รับเลือกนั้นอยู่ใน ตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
                ในกรณีที่กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา 20 (3) พ้นจากตำแหน่ง ตามวาระ แต่ยังมิได้เลือกกรรมการสภาวิชาการขึ้นใหม่ ให้กรรมการสภา วิชาการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการเลือกกรรมการ สภาวิชาการขึ้นใหม่

                มาตรา 22 สภาวิชาการมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
                (1) พิจารณากำหนดหลักสูตร การสอน และการวัดผลการศึกษา
                (2) เสนอการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร
                (3) เสนอการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย รวมทั้ง การแบ่งส่วนงานในหน่วยงานดังกล่าว
                (4) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามพระบาลีในพระไตรปิฎก
                (5) พิจารณาการรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธ ศาสนาเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย
                (6) พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอน ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อสภามหาวิทยาลัย
                (7) พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษ
                (8) พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชา และหัวหน้า หน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา
                (9) จัดหาวิธีการอันจะทำให้การศึกษา การวิจัย การให้บริการทาง วิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเจริญยิ่งขึ้น
                (10) พิจารณาให้ความเห็นแก่สภามหาวิทยาลัยในเรื่องเกี่ยวกับ วิชาการพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย
                (11) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภาวิชาการ
                (12) ให้คำปรึกษาแก่อธิการบดีและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภามหาวิทยาลัย หรืออธิการบดีมอบหมาย

                มาตรา 23 การประชุมของสภามหาวิทยาลัยและสภาวิชาการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 24 ให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการ บริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีหรือ จะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด ก็ได้ เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย

                มาตรา 25 อธิการบดีนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งจาก พระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 โดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย
                อธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และสมเด็จพระสังฆราชจะทรง แต่งตั้งใหม่อีกได้
                รองอธิการบดี ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของอธิการบดี จากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 และให้มีรองอธิการบดีเป็นคฤหัสถ์อย่างน้อยหนึ่งคน
                ผู้ช่วยอธิการบดี ให้อธิการบดีแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 34
                นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
                (1) มรณภาพ
                (2) ลาออก
                (3) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
                (4) สมเด็จพระสังฆราชทรงถอดถอนโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย
                เมื่ออธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี พ้นจากตำแหน่งด้วย

                มาตรา 26 อธิการบดีและรองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติได้รับปริญญา ชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหา วิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีในมหาวิทยาลัย หรือ ในสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือมีประสบการณ์ด้านการ บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

                มาตรา 27 อธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
                (1) บริหารงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนด รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
                (2) ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน พัสดุ สถานที่และทรัพย์สินอื่นของ มหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของ มหาวิทยาลัย
                (3) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการนิสิต
                (4) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอนอาจารย์ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมทั้ง ดำเนินการบริหารงานบุคคลตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
                (5) เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั่วไป
                (6) จัดทำและเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัยและมหาเถรสมาคม
                (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือ ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

                มาตรา 28 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย อธิการบดีอาจมอบอำนาจเกี่ยวกับการทำนิติกรรมสัญญาและการดำเนินคดีให้ ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีหรือผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งเป็นคฤหัสถ์ปฏิบัติการแทน อธิการบดีได้

                มาตรา 29 ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีซึ่งเป็นพระภิกษุและได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากอธิการบดี เป็นผู้รักษาการแทน
                ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือไม่มีผู้รักษาการแทน อธิการบดีตามวรรคหนึ่งหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี

                มาตรา 30 ในวิทยาเขตหนึ่ง ให้มีสำนักงานวิทยาเขต โดยมีรองอธิการบดี ซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงาน ของวิทยาเขตตามที่อธิการบดีมอบหมาย
                ในกรณีที่รองอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ หรือผู้อำนวยการ วิทยาลัย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรองอธิการบดีเป็นผู้รักษาการแทน ถ้ารอง อธิการบดีมิได้มอบหมายให้ผู้ช่วยอธิการบดี ซึ่งเป็นพระภิกษุ คณบดี ผู้อำนวยการ สถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ หรือผู้อำนวยการวิทยาลัย ที่มีอาวุโส สูงสุดเป็นผู้รักษาการแทน
                ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี หรือไม่มีผู้รักษาการแทน รองอธิการบดีตามวรรคสองหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อธิการบดีแต่งตั้ง ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26 เป็นผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี
                ในวิทยาเขต อาจให้มีผู้ช่วยอธิการบดีเป็นคฤหัสถ์คนหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตามที่อธิการบดีมอบหมายตามมาตรา 28 ก็ได้

                มาตรา 31 ในวิทยาเขตหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการประจำวิทยาเขต ประกอบด้วย รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตเป็นประธานกรรมการ ผู้ช่วย อธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

                สถาบัน สำนัก ศูนย์หรือวิทยาลัยในวิทยาเขตนั้น เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากคณาจารย์ประจำในวิทยาเขตนั้น มีจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการโดยตำแหน่ง แต่ไม่น้อยกว่าสามคน
                ให้คณะกรรมการประจำวิทยาเขตแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น เลขานุการของคณะกรรมการ
                กรรมการซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
                การประชุมของคณะกรรมการประจำวิทยาเขต ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 32 คณะกรรมการประจำวิทยาเขตมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
                (1) ให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการดำเนินกิจการต่าง ๆ ภายใน วิทยาเขตต่ออธิการบดี
                (2) ประสานงานระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย และหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ภายในวิทยาเขต
                (3) พิจารณาเสนอการออกระเบียบปฏิบัติของวิทยาเขตต่ออธิการบดี และวางระเบียบหรือออกข้อบังคับอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
                 (4) พิจารณาเสนอแผนพัฒนา แผนงานและงบประมาณประจำปีของ หน่วยงานต่าง ๆ ของวิทยาเขต ต่อรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต
                (5) ปฏิบัติงานอื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย

                มาตรา 33 ในบัณฑิตวิทยาลัย คณะ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้มีคณบดีซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชาและ รับผิดชอบการบริหารงานของบัณฑิตวิทยาลัย คณะ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และให้มีรองคณบดีซึ่งเป็นพระภิกษุตามจำนวน ที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่คณบดีมอบหมาย
                บัณฑิตวิทยาลัย คณะ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ อาจมีรองคณบดีเป็นคฤหัสถ์คนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่คณบดี มอบหมายก็ได้
                คณบดีนั้น ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 34
                รองคณบดีนั้น ให้อธิการบดีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณบดีจากผู้มี คุณสมบัติตามมาตรา 34
                คณบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
                เมื่อคณบดีพ้นจากตำแหน่ง ให้รองคณบดีพ้นจากตำแหน่งด้วย

                มาตรา 34 ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี และรองคณบดีต้องมีคุณสมบัติได้รับ ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภา มหาวิทยาลัยรับรอง และได้ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีในมหาวิทยาลัย หรือในสถาบันอุดมศึกษาอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือมีประสบการณ์ด้านการ บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

                มาตรา 35 การจัดให้มีคณะกรรมการประจำและการจัดระบบบริหาร งานในบัณฑิตวิทยาลัย คณะ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 36 ในกรณีที่มีการแบ่งภาควิชาหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาในคณะหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ ให้มีหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ภาควิชาเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของภาควิชาหรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา และอาจมีรองหัวหน้าภาควิชาหรือรองหัวหน้า หน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัย กำหนดก็ได้ เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน ที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชามอบหมาย การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และคุณสมบัติ ของหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ภาควิชา รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองของตำแหน่งดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 37 ในสถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ให้มีผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของหน่วยงานดังกล่าวและอาจ มีรองผู้อำนวยการหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดก็ได้ เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย มอบหมาย
                การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และคุณสมบัติ ของผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการ วิทยาลัย หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองของตำแหน่งดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 33 และมาตรา 34 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                มาตรา 38 การจัดให้มีคณะกรรมการประจำและการจัดระบบ บริหารงานในสถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับ ของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 39 หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณบดี ผู้อำนวยการ สถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย หรือ หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 40 ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วย อธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย รองผู้อำนวยการวิทยาลัย หัวหน้าภาควิชา รอง หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าและรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือภาควิชา จะดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งในขณะเดียวกันมิได้ ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งอยู่หนึ่งตำแหน่งแล้ว จะรักษาการแทน ตำแหน่งดังกล่าวเกินหนึ่งตำแหน่งก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน

                มาตรา 41 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานในบัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย ภาควิชา และกอง หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย ภาควิชา หรือ กองอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติการที่อธิการบดี จะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของ คณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของ คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น อธิการบดีจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ผู้อำนวยการ สถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย หัวหน้า ภาควิชา หัวหน้ากอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย ภาควิชา หรือกอง ปฏิบัติการแทนอธิการบดี เฉพาะในงานของส่วนงานนั้น ๆ ก็ได้
                ให้ผู้ปฏิบัติการแทนตามวรรคหนึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามที่อธิการบดี กำหนด

                มาตรา 42 ให้ผู้ปฏิบัติการแทนหรือผู้รักษาการแทนตามมาตรา 24 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 33 มาตรา 36 และมาตรา 37 มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
                ในกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติของคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้ ปฏิบัติการแทนหรือผู้รักษาการแทนทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียว กับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นในระหว่างที่ปฏิบัติการแทนหรือรักษาการแทนด้วย แล้วแต่กรณี

หมวด 3
การบัญชีและการตรวจสอบ
______

 

                มาตรา 43 ให้มหาวิทยาลัยวางและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามที่ควร ตามประเภท

                งานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชี ภายในเป็นประจำ

                มาตรา 44 ให้มหาวิทยาลัยจัดทำงบดุลและบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชี ของมหาวิทยาลัยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

                มาตรา 45 ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของ มหาวิทยาลัย และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของ มหาวิทยาลัยทุกรอบปี

                มาตรา 46 ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามอธิการบดี รอง อธิการบดี เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของมหาวิทยาลัย และเรียกร้องให้ส่งสรรพสมุด บัญชี และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความจำเป็น

                มาตรา 47 ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอ ต่อสภามหาวิทยาลัยภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี เพื่อสภามหาวิทยาลัย เสนอต่อรัฐมนตรี
                ให้มหาวิทยาลัยเผยแพร่รายงานประจำปีของปีที่สิ้นไปนั้น แสดงบัญชี งบดุลและบัญชีทำการที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว พร้อมทั้งแสดงผลงาน ของมหาวิทยาลัยในปีที่ล่วงมาและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป ภายในหนึ่งร้อย ห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

 

หมวด 4
การกำกับและดูแล
______

 

                มาตรา 48 รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ ของมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา 6 และให้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

หมวด 5
ตำแหน่งทางวิชาการ
______

 

                มาตรา 49 คณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้
                (1) ศาสตราจารย์
                (2) รองศาตราจารย์
                (3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
                (4) อาจารย์
                คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนคณาจารย์ประจำ ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์นั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดย คำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย

                มาตรา 50 ศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไป ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 51 อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภาวิชาการอาจแต่งตั้ง ผู้ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมและมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย เป็นรอง ศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษได้โดยคำแนะนำ ของคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการ วิทยาลัย หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย
                คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของ มหาวิทยาลัย

                มาตรา 52 ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถและความชำนาญ พิเศษและพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภามหาวิทยาลัยโดยคำแนะนำของ สภาวิชาการอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์ ผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้
                คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ ให้เป็นไป ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

หมวด 6
ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
_____

 

                มาตรา 53 ปริญญามีสามชั้น คือ
                ปริญญาเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.
                ปริญญาโท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.
                ปริญญาตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.


                มาตรา 54 มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอน ในมหาวิทยาลัย
การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะใช้อักษรย่อสำหรับ สาขาวิชานั้นอย่างไร ให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจา นุเบกษา

                มาตรา 55 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้ผู้สำเร็จ การศึกษาชั้นปริญญาตรี ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับสองก็ได้

                มาตรา 56 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีประกาศนีย บัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตรสำหรับสาขาวิชาใดได้ดังนี้
                (1) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขา วิชาใดสาขาวิชาหนึ่งภายหลังที่ได้รับปริญญาแล้ว
                (2) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขา วิชาใดสาขาวิชาหนึ่งก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี
                (3) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา

                มาตรา 57 มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่ง สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ แต่จะให้ปริญญาดังกล่าว แก่คณาจารย์ประจำ ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภา มหาวิทยาลัยในขณะนั้นไม่ได้
ชั้น สาขาของปริญญา และหลักเกณฑ์การให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไป ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 58 มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีพัดวิทยฐานะเป็นเครื่องหมาย แสดงวิทยฐานะสำหรับพระภิกษุสามเณรผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร และครุยวิทยฐานะหรือเข็มวิทยฐานะเป็น เครื่องหมายแสดงวิทยฐานะ สำหรับคฤหัสถ์ผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่งกรรมการ สภามหาวิทยาลัย ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหาร หรือครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยสำหรับคฤหัสถ์ก็ได้
                การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของพัดวิทยฐานะ ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                พัดวิทยฐานะ ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง จะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

                มาตรา 59 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนิสิตสำหรับคฤหัสถ์ได้ โดยประกาศในราชกิจจา นุเบกษา

หมวด 7
บทกำหนดโทษ
_____

 

                มาตรา 60 ผู้ใดใช้พัดวิทยฐานะ ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนิสิตของ มหาวิทยาลัยโดยไม่มีสิทธิจะใช้หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือตำแหน่งของมหาวิทยาลัย โดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิจะใช้ หรือมี วิทยฐานะ หรือตำแหน่งเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล
_____

                มาตรา 61 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง และเงินอุดหนุนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ของมูลนิธิมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ไปเป็นของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

                มาตรา 62 ส่วนงานของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรม ราชูปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้คง อยู่ต่อไปจนกว่าจะได้ออกข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยจัดตั้งส่วนงานตามพระราช บัญญัตินี้

                มาตรา 63 ให้อธิการบดีและรองอธิการบดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและ รับผิดชอบการบริหารงานของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจนกว่าจะได้มีการ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรองอธิการบดีขึ้นใหม่ตามมาตรา 25 ซึ่งต้อง ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                มาตรา 64 ในระยะเริ่มแรก ให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการ สภามหาวิทยาลัย และเลขานุการสภามหาวิทยาลัยของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และเลขานุการ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจนกว่าจะได้มีสภามหาวิทยาลัยตาม มาตรา 17 ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                มาตรา 65 ให้คณะกรรมการสภาวิทยาเขต คณะกรรมการประจำ บัณฑิตวิทยาลัย คณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการประจำสถาบัน คณะกรรมการประจำสำนัก และคณะกรรมการประจำศูนย์ ของมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีคณะกรรมการประจำวิทยาเขต คณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัย คณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการ ประจำสถาบัน คณะกรรมการประจำสำนัก และคณะกรรมการประจำศูนย์ตาม พระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ

                มาตรา 66 ให้ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการ สถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าภาควิชาและรองหัวหน้าภาควิชา ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการ ศูนย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าภาควิชาและรองหัวหน้าภาควิชาตามพระราช บัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                มาตรา 67 ผู้ใดดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการ สำนัก รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้า ภาควิชา หรือรองหัวหน้าภาควิชา เกินกว่าหนึ่งตำแหน่งในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้นั้นเลือกดำรงตำแหน่งได้เพียงตำแหน่งเดียว ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                มาตรา 68 ให้ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษของ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษต่อไปตาม พระราชบัญญัตินี้หรือจนครบกำหนดเวลาที่ได้รับแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี

                มาตรา 69 ให้ผู้ซึ่งได้รับประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญา ตามหลักสูตรของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ได้รับ ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้

                มาตรา 70 ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และ ข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรม ราชูปถัมภ์ที่ใช้อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาใช้ บังคับโดยอนุโลม

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี

__________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากใน ปัจจุบันมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาสำหรับพระภิกษุ สามเณรมีขอบเขต ในการให้การศึกษาอย่างจำกัดและยังไม่มีระเบียบการบริหารงานที่ชัดเจนและ เหมาะสม ทำให้ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาและการผลิต บุคลากรทางศาสนาของประเทศ สมควรขยายขอบเขตการให้การศึกษาของ สถาบันการศึกษาดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และจัดระเบียบการบริหารงาน ให้ชัดเจนและเหมาะสม โดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาดังกล่าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินงานด้านการศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธ ศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


*******************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี