ระยะสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
มีข่าวดังสองข่าวที่ทำให้สื่อโฟกัสปัญหาจริยธรรม คือ ข่าวเกี่ยวกับผลวิจัยเรื่อง
"เด็กไทยใกล้เป็นโจร" ของ อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ กับข่าวเรื่อง
"หมอฆ่าหมอ"
ที่น่าสังเกตคือข่าวเรื่อง
"ปุ๋ยปลอม" สื่อจะมองเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองมากว่าปัญหาทางจริยธรรม
ยิ่งผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่ชี้ว่าเอ็นจีโอ และสื่อมวลชนได้รับความเชื่อถือจากสังคมในระดับท้ายๆ
ยิ่งไม่มีใครมองว่าเป็นปัญหาทางจริยธรรมกันเลย
บทความนี้ต้องการวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ในเชิงจริยธรรม
และต้องการชี้ให้เห็นว่าที่ปัญหาจริยธรรมในบ้านเรารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
กำลังกลายเป็นปัญหาที่มองไม่เห็นทางออกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะทรรศนะเรื่องจริยธรรมของสังคมเราแคบและคลุมเครือ
สังคมไทยมักมองจริยธรรมในสามลักษณะคือ
มองว่าเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของปัจเจกบุคคล
และเน้นจริยธรรมเชิงลบ
ทำไมจึงไม่เคยมีรัฐบาลใดถือว่าปัญหาจริยธรรมเป็นปัญหาหลักของสังคมเหมือนปัญหาทางเศรษฐกิจการเมือง
ถ้าไม่ใช่เพราะมองเรื่องจริยธรรมเป็นนามธรรมที่มองผลลัพธ์ที่เกิดแก่สังคมได้ไม่ชัดเจน
และสังคมก็ยินดีที่จะเลือก "ประสิทธิภาพ" มากกว่าที่จะเลือก
"ความซื่อสัตย์"
ทำไมกรณีหมอฆ่าหมอสังคมจึงมองว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล
ไม่เกี่ยวกับสถาบัน ไม่ใช่เพราะมองว่าจริยธรรมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล
แล้วถามต่อว่าทำไมกรณีหมอฆ่าหมอที่มีการวางแผนอย่างแยบยลจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สถาบันผลิตหมอจะไม่ตรวจสอบเรื่องการปลูกฝังจริยธรรมแก่คนที่มาเป็นหมอเลยหรือ
และถ้าเหตุผลที่คนในสังคมไม่เชื่อถือสื่อและเอ็นจีโอ
เป็นเพราะการทำงานตรวจสอบของสื่อและเอ็นจีโอก่อให้เกิดความขัดแย้ง
จะเป็นไปได้ไหมว่าสังคมยังรับไม่ได้กับ "จริยธรรมตรวจสอบ"
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมเชิงบวก
น่าแปลกที่สังคมไทยเป็นสังคมพุทธแต่มีมุมมองเรื่องจริยธรรมต่างจากหลักการของพุทธศาสนาค่อนข้างมาก
ในหลักคำสอนของพุทธศาสนา
"จริยธรรม" หมายถึง "ความประพฤติในแนวทางที่ถูกต้องดีงาม"
ซึ่งแสดงออกทางกาย วาจา ใจ จะเห็นได้ว่าความประพฤติที่แสดงออกสองทางแรกนั้นเป็นรูปธรรมมีผลต่อตัวผู้ประพฤติ
คนอื่น และสังคมที่สามารถวัดได้ การประกาศสงครามกับคอร์รัปชั่นเป็นจริยธรรมทางวาจาที่ส่งผลดีในทางจิตวิทยาสังคม
ถ้าปราบคอร์รัปชั่นได้จริงตามที่พูดผลดียิ่งจะเกิดต่อสังคมอย่างมหาศาล
ทั้งในแง่รักษาเงินภาษีของประชาชนและการสร้างแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน
สำนึกทางจริยธรรมแม้จะเกิดในจิตของแต่ละบุคคล
แต่พุทธศาสนามองว่าสรรพสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัย สำนึกทางจริยธรรมจึงไม่ได้เกิดในสุญญากาศ
แต่เป็นผลมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม กรณีหมอฆ่าหมอ เด็กไทยใกล้เป็นโจร
หรือแม้แต่ปุ๋ยปลอม เราจะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผลผลิตของสังคมไทยไม่ได้เลย
เพราะในที่สุดมันโยงถึงกระบวนการขัดเกลาทางสังคมทั้งหมด นับตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น
การจัดการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน มุ่งชัยชนะจนแพ้ไม่เป็น เป็นการศึกษาเพื่อมีอาชีพ
มีเงินทอง มีหน้ามีตาทางสังคมมากกว่าที่จะช่วยให้เข้าใจคุณค่าความหมายของความเป็นมนุษย์
รวมถึงกระบวนการตรวจสอบทางสังคมที่พิกลพิการ
หลักการทางจริยธรรมทางพุทธมีสองส่วนคือ
การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นจริยธรรมเชิงลบ และการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นหรือส่วนรวม
ซึ่งเป็นจริยธรรมเชิงบวก
เรื่องของศีลต่างๆ
เช่น ศีล 5 เป็นต้น ก็เป็นเรื่องของการประพฤติที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
ซึ่งเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม หรือเป็นข้อเรียกร้องให้เคารพต่อสิทธิ
ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
โดยทั่วไปสังคมไทยจะคุ้นเคยกับจริยธรรมเชิงลบมากกว่า
ทั้งโดยการอบรมสั่งสอน และการมองภาพของคนที่มีจริยธรรม เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องจริยธรรม(หรือศีลธรรม)
เรามักจะพูดถึงการงดเว้น กฎ หรือข้อห้าม แต่ไม่ค่อยเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขต่อส่วนรวม
และภาพของคนมีจริยธรรมหรือคนธรรมะธัมโมในความรู้สึกของเราคือคนดีในความหมายแบบปัจเจก
เช่น ซื่อสัตย์ ขยันทำมาหากิจ ไม่มีเรื่องทะเลาะกับใคร ประสบผลสำเร็จในชีวิตการงานและครอบครัว
แต่ไม่มองคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมในภาพของคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม
ที่น่าเศร้าคือ
สังคมเรายังรู้สึกแปลกแยกต่อคนที่มีอุดมการณ์อุทิศตนเพื่อส่วนร่วม
ดังประวัติศาสตร์บอกว่า คนมีอุดมการณ์ในบ้านเราถูกทำลายไปคนแล้วคนเหล่า
จนส่งผลต่อการทำลายจิตวิญญาณแห่งอุดมการณ์ให้หมดสิ้นไปในสังคมปัจจุบัน
คนในสังคมจึงรู้สึกแปลกแยกกับบทบาทการตรวจสอบของสื่อมวลชนและเอ็นจีโอ
ทั้งที่บทบาทการตรวจสอบคือจริยธรรมเชิงบวกที่เป็นการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขต่อสังคมตามนัยแห่งหลักจริยธรรมของศาสนาพุทธซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องหันมาทบทวนทรรศนะทางจริยธรรมเสียใหม่
เราต้องถือว่าปัญหาจริยธรรมเป็นปัญหาหลักของสังคมที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาเศรษฐกิจการเมืองและต้องหันไปหาความหมายและหลักการทางจริยธรรมแบบพุทธแท้ๆ
ให้ความสำคัญกับการพัฒนาจริยธรรมเชิงบวกมากขึ้น(เช่น ความซื่อสัตย์
ความเมตตากรุณา ความเสียสละ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ฯลฯ) และบูรณาการกับจริยธรรมสากล(เช่น
จริยธรรมตรวจสอบ การเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ)
ไม่ควรมองเรื่องจริยธรรมเพียงในมิติของนามธรรม
หรือเพียงจิตสำนึกของปัจเจกเท่านั้น แต่ต้องมองจริยธรรมในรูปของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
ซึ่งมีองค์ประกอบในการพัฒนาจริยธรรมที่หลากหลายซับซ้อน มากกว่าการอบรมสั่งสอนในห้องเรียนหรือในวัด
ที่มา: นสพ.มติชน
23 พ.ย.45
*******************
|