พระราชบัญญัติ
การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2540
เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลปัจจุบัน

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

           โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมัสยิดอิสลามและ กฎหมายว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

           มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการบริหาร องค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540"

           มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2540/65ก/3/9 พฤศจิกายน 2540]

           มาตรา 3 ให้ยกเลิก
          
           (1) พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490
          
           (2) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488
          
           (3) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491

           มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ "มัสยิด" หมายความว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดย จะต้องมีละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม "สัปปุรุษประจำมัสยิด" หมายความว่า มุสลิมที่คณะกรรมการอิสลาม ประจำมัสยิดมีมติรับเข้าเป็นสัปปุรุษมัสยิด และมีชื่ออยู่ในทะเบียนสัปปุรุษประจำมัสยิด แต่ผู้นั้นจะเป็นสัปปุรุษเกินกว่าหนึ่งมัสยิดในเวลาเดียวกันไม่ได้ "อิหม่าม" หมายความว่า ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด "คอเต็บ" หมายความว่า ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด "บิหลั่น" หมายความว่า ผู้ประกาศเชิญชวนในมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตาม เวลา

           มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง เพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด 1
บททั่วไป
_______

 

           มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่งเพื่อเป็น ผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งได้รับ ความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศขึ้นทูลเกล้า ฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาจุฬาราชมนตรีตามวรรคสอง ให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

           มาตรา 7 จุฬาราชมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          
           (1) เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
          
           (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์
          
           (3) เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี
          
           (4) เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด
          
           (5) เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา
          
           (6) เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          
           (7) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
          
           (8) ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
          
           (9) ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          
           (10) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

           มาตรา 8 จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          
           (1) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการ ศาสนาอิสลาม
          
           (2) แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนา อิสลาม
          
           (3) ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา 35 (11) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
          
           (4) ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

           มาตรา 9 จุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          
           (1) ตาย
          
           (2) ลาออก
          
           (3) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะ ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7

           มาตรา 10 จุฬาราชมนตรีกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีสิทธิ สวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยการนั้น

           มาตรา 11 เมื่อเห็นสมควร กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดตั้ง "อิสลามวิทยาลัย" ขึ้นเพื่อให้การศึกษาและอบรมทางวิชาการศาสนา วิชาการ ทั่วไป และวิชาชีพได้

 

หมวด 2
การจัดตั้งและการเลิกมัสยิด
_______

 

           มาตรา 12 การสร้าง การจัดตั้ง การย้าย การรวม การเลิก และการจดทะเบียนมัสยิด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง การจัดตั้ง การรวม และการเลิกมัสยิด ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

           มาตรา 13 ให้มัสยิดที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเป็นผู้แทนของมัสยิด ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอาจ มอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้

           มาตรา 14 มัสยิดที่เป็นนิติบุคคลอาจเลิกได้โดยการจดทะเบียน เลิกมัสยิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บรรดาทรัพย์สินของมัสยิดที่เลิกตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปยังมัสยิด ที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ใกล้ที่สุด ถ้าไม่อาจทำได้ให้โอนไปยังมัสยิดที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ ในลำดับถัดไป เว้นแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ และผู้อุทิศให้ได้แสดง เจตนาไว้เป็นอย่างอื่น

           มาตรา 15 มัสยิดที่ได้จดทะเบียนแล้วให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการ อิสลามประจำมัสยิดตามหมวด 5 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันจดทะเบียน

 

หมวด 3
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
________

 

           มาตรา 16 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการ กลางอิสลามแห่งประเทศไทย" ประกอบด้วยจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำ จังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และ จากกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีมีจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถ้ามีเศษให้ปัดทิ้ง การคัดเลือกผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และการ คัดเลือกกรรมการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น

           มาตรา 17 กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          
           (1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ยกเว้น
          
           (2) และ (10) (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์

           มาตรา 18 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจ หน้าที่ ดังต่อไปนี้
          
           (1) ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
          
           (2) ให้คำปรึกษาหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่คณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
          
           (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการกลาง อิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย
          
           (4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผล ประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและมัสยิด
          
           (5) ออกระเบียบวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงาน ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
          
           (6) ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัด ที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทยจะมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ใกล้เคียงปฏิบัติ หน้าที่แทนก็ได้
          
           (7) พิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามมาตรา 41
          
           (8) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับรายจ่ายของ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
          
           (9) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
          
           (10) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนา และการศึกษา ศาสนาอิสลาม
          
           (11) ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในกิจการที่เกี่ยวกับ ศาสนาอิสลาม
          
           (12) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

           มาตรา 19 กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้มีการคัดเลือกเพื่อ ดำเนินการแต่งตั้งใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบกำหนดตามวาระ ในระหว่าง ที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่

           มาตรา 20 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 19 กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          
           (1) ตาย
          
           (2) ลาออก
          
           (3) คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17

           ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราว ออกตามวาระให้มีการคัดเลือกและดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎกระทรวง เว้นแต่ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ว่างเหลือไม่เกินหนึ่งร้อย แปดสิบวันจะไม่คัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง แทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทยที่พ้นจากตำแหน่งในราชกิจจานุเบกษา

           มาตรา 21 ในการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธาน กรรมการปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่หรือ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน ในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้น อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด แต่ถ้าเป็นมติให้กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ้นจากตำแหน่ง มติดังกล่าวต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการ ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

           มาตรา 22 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทนของ สำนักงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการกลางอิสลาม แห่งประเทศไทยอาจมีมติมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทน ก็ได้ และให้เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ในกิจการของสำนักงาน

 

หมวด 4
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
__________

 

           มาตรา 23 จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดตาม มาตรา 13 ไม่น้อยกว่าสามมัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่งประกอบด้วย กรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสามสิบคน การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้กระทรวงหมาดไทย ดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการและตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธาน กรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในราชกิจจานุเบกษา

           มาตรา 24 กรรมการอิสลามประจำจังหวัดต้องมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          
           (1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามตามมาตรา 17
          
           (2) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ก่อนวันคัดเลือก
          
           (3) มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวัน คัดเลือก

           มาตรา 25 กรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่ง หกปี เมื่อตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลงให้มีการคัดเลือกกรรมการ แทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดตามวาระไม่เกินหนึ่ง ร้อยแปดสิบวัน และยังมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่ ได้รับการคัดเลือก จะไม่ให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการ ที่ได้รับการคัดเลือกแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

           มาตรา 26 ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          
           (1) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัด
          
           (2) กำกับดูแลและตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำ มัสยิดในจังหวัดและจังหวัดอื่นตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มอบหมาย
          
           (3) ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์ของสัปปุรุษประจำมัสยิด ซึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
          
           (4) กำกับดูแลการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดให้เป็นไป โดยเรียบร้อย
          
           (5) พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
          
           (6) สอบสวนพิจารณาให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจาก ตำแหน่งตามมาตรา 40 (4)
          
           (7) สั่งให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพักหน้าที่ระหว่างถูกสอบสวน
          
           (8) พิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้ง การย้าย การรวม และการเลิก มัสยิด
          
           (9) แต่งตั้งผู้รักษาการแทนในตำแหน่ง อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลง
          
           (10) ออกหนังสือรับรองการสมรสและการหย่าตามบัญญัติแห่ง ศาสนาอิสลาม
          
           (11) ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกตาม บัญญัติแห่งศาสนาอิสลามเมื่อได้รับการร้องขอ
          
           (12) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับ รายจ่าย ของ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบัน และรายงานผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินและทรัพย์สินให้คณะกรรมการกลาง อิสลามแห่งประเทศไทยทราบปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
          
           (13) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม ในจังหวัด

           มาตรา 27 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 25 กรรมการอิสลามประจำจังหวัดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          
           (1) ตาย
          
           (2) ลาออก
          
           (3) คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติให้พ้นจาก ตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่พ้นจากตำแหน่งในราชกิจจานุเบกษา

           มาตรา 28 การประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้นำ มาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

           มาตรา 29 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมี ฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการที่เกี่ยวกับ บุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอาจมีมติมอบหมายให้ กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ และให้เลขานุการคณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของสำนักงาน

 

หมวด 5
คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
________

 

           มาตรา 30 ให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

                      (1) อิหม่ามเป็นประธานกรรมการ
          
           (2) คอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ
          
           (3) บิหลั่นเป็นรองประธานกรรมการ และ
          
           (4) กรรมการอื่นตามจำนวนที่ที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นกำหนด จำนวนไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ให้สัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ประชุมกัน คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเลือกกรรมการตาม (4) เป็น เลขานุการหนึ่งคน นายทะเบียนหนึ่งคน เหรัญญิกหนึ่งคน และตำแหน่งอื่นตาม ความจำเป็น ให้ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดที่ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นประธานใน ที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิด เพื่อดำเนินการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิด แล้วเสนอคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบ ที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด

           มาตรา 31 อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ ต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          
           (1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17
          
           (2) อ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกต้อง
          
           (3) สามารถนำในการปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนา อิสลาม
          
           (4) มีความสามารถแสดงธรรมได้
          
           (5) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวัน คัดเลือก อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ไม่ถือเป็นนักพรตหรือนักบวช การพ้นจากตำแหน่งของ อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ให้เป็นไปตาม ระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด

           มาตรา 32 กรรมการตามมาตรา 30 (4) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
          
           (1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17
          
           (2) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวัน คัดเลือก
          
           (3) มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่มัสยิดนั้นตั้งอยู่ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ก่อนวันคัดเลือก

           มาตรา 33 เมื่อตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บ หรือบิหลั่น ว่างลง ให้นำ วิธีการตามที่บัญญัติในมาตรา 30 มาใช้เพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง

           มาตรา 34 กรรมการตามมาตรา 30 (4) มีวาระการดำรง ตำแหน่งสี่ปี เมื่อตำแหน่งกรรมการว่างลง ให้นำวิธีการตามที่บัญญัติในมาตรา 30 มาใช้เพื่อดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ ตำแหน่งว่าง เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการดังกล่าวว่างลงเนื่องจากคณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 40 (4) และผู้ที่พ้นจาก ตำแหน่งได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตาม มาตรา 41 ระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันให้นับแต่วันที่คณะกรรมการกลางอิสลาม แห่งประเทศไทยมีมติ ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปด สิบวันจะไม่ดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการที่ได้รับการ คัดเลือกแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

           มาตรา 35 คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          
           (1) บำรุงรักษามัสยิดและทรัพย์สินของมัสยิดให้เรียบร้อย
          
           (2) วางระเบียบปฏิบัติภายในของมัสยิดเพื่อให้การดำเนินงานของ มัสยิดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          
           (3) ปฏิบัติตามคำแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในเมื่อไม่ขัดต่อบัญญัติแห่ง ศาสนาอิสลามและกฎหมาย
          
           (4) สนับสนุนสัปปุรุษในการปฏิบัติศาสนกิจ ส่งเสริมให้เกิดความ สามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
          
           (5) พิจารณามีมติรับมุสลิมเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด
          
           (6) อำนวยความสะดวกและอบรมสั่งสอนให้สัปปุรุษประจำมัสยิด ปฏิบัติศาสนกิจโดยถูกต้องเคร่งครัด
          
           (7) ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสัปปุรุษประจำมัสยิดเมื่อได้รับ การร้องขอ
          
           (8) จัดให้มีและรักษาสมุดทะเบียนสัปปุรุษประจำมัสยิด และตรวจตรา แก้ไขเพิ่มเติมสมุดทะเบียนดังกล่าวให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
          
           (9) จำหน่ายชื่อสัปปุรุษประจำมัสยิดออกจากทะเบียน เมื่อได้สอบสวน แล้วปรากฏว่าผู้นั้นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนา อิสลาม
          
           (10) จัดให้มีทะเบียนทรัพย์สิน เอกสาร และบัญชีรายรับรายจ่าย ของมัสยิดให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง และจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ฐานะ การเงิน และทรัพย์สินของมัสยิด แล้วรายงานให้คณะกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
          
           (11) ดูดวงจันทร์และแจ้งผลการดูดวงจันทร์ต่อคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัด
          
           (12) ส่งเสริมการศึกษาและจัดกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อบัญญัติแห่งศาสนา อิสลาม

           มาตรา 36 สัปปุรุษประจำมัสยิดผู้ถูกจำหน่ายชื่อตามมาตรา 35 (9) มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้ประกาศให้จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียน และให้คณะกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้าน มติของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้เป็นที่สุด การยื่นคำร้องคัดค้านและการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตาม วรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กำหนด

           มาตรา 37 อิหม่ามมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          
           (1) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
          
           (2) ปกครองดูแลและแนะนำเจ้าหน้าที่ของมัสยิดให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ ให้เรียบร้อย
          
           (3) แนะนำให้สัปปุรุษประจำมัสยิดปฏิบัติให้ถูกต้องตามบัญญัติแห่ง ศาสนาอิสลามและกฎหมาย
          
           (4) อำนวยความสะดวกแก่มุสลิมในการปฏิบัติศาสนกิจ
          
           (5) สั่งสอนและอบรมหลักธรรมทางศาสนาอิสลามแก่บรรดาสัปปุรุษ ประจำมัสยิด

           มาตรา 38 คอเต็บมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบัญญัติแห่งศาสนา อิสลามในการแสดงธรรมแก่สัปปุรุษประจำมัสยิด

           มาตรา 39 บิหลั่นมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบัญญัติแห่งศาสนา อิสลามในการประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา

           มาตรา 40 กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          
           (1) ครบกำหนดวาระตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง สำหรับกรรมการ อื่นตามมาตรา 30 (4) ในคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
          
           (2) ตาย
          
           (3) ลาออก
          
           (4) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32
          
           (5) สัปปุรุษประจำมัสยิดตามมาตรา 30 วรรคสอง จำนวนเกิน กว่ากึ่งหนึ่งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอให้พ้นจากตำแหน่ง และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยแล้วมีมติให้พ้นจาก ตำแหน่ง
          
           (6) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสอบสวนแล้วเห็นว่ามีความ ประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่มัสยิด หรือบกพร่องต่อหน้าที่ หรือ ดำเนินกิจการของมัสยิดไปในทางไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อหลักการของศาสนา อิสลาม หรือกระทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด และคณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัดวินิจฉัยแล้วมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่สอบสวนแล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งความผิดที่ได้กระทำยัง ไม่ถึงขั้นให้พ้นจากตำแหน่ง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอาจวินิจฉัยให้ ภาคทัณฑ์ไว้ก่อนก็ได้

           มาตรา 41 กรรมการอิสลามประจำมัสยิดซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 40 (4) (5) และ (6) มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการกลาง อิสลามแห่งประเทศไทยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และให้ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จภายใน เก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้าน มติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทยให้เป็นที่สุด การยื่นคำร้องคัดค้าน และการวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด

           มาตรา 42 การประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ให้นำ มาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

บทเฉพาะกาล
_______

 

           มาตรา 43 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 9 ให้กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่ง ต่อไปอีกสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 40

           มาตรา 44 ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 เป็นมัสยิดตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัตินี้

           มาตรา 45 ให้ "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" ซึ่งจัดตั้งขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 เป็นอิสลามวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

           มาตรา 46 บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่ออก ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการ ศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมก่อนจนกว่า จะมีกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี

________________
หมายเหตุ:-
          
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน สมควร ปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี