พระราชบัญญัติ
โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พ.ศ. 2504


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2504
เป็นปีที่ 16 ในรัชกาลปัจจุบัน

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุและการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

           มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504"
           มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
*[รก.2504/66/980/29 สิงหาคม 2504]

           มาตรา 3 ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2477 และ (2) พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วใน พระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ แทน

           มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
           "โบราณสถาน"* หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดย ลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึง สถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
*[บทนิยามนี้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]
           "โบราณวัตถุ" หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่า จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของ โบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี
           "ศิลปวัตถุ"* หมายความว่า สิ่งที่ทำด้วยฝีมืออย่างประณีตและมีคุณค่า สูงในทางศิลป
*[บทนิยามนี้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           "สิ่งเทียมโบราณวัตถุ"* หมายความว่า สิ่งที่ทำเทียมโบราณวัตถุหรือ ส่วนของโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่อยู่ในความ ครอบครองของกรมศิลปากร *[บทนิยามนี้เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]
           "สิ่งเทียมศิลปวัตถ"ุ* หมายความว่า สิ่งที่ทำเทียมศิลปวัตถุหรือส่วน ของศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่อยู่ในความครอบครองของ กรมศิลปากร *[บทนิยามนี้เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]
           "ทำเทียม"* หมายความว่า เลียนแบบ จำลอง หรือทำเอาอย่างด้วย วิธีการใด ๆ ให้เหมือนหรือคล้ายของจริง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีขนาด รูปลักษณะ และ วัสดุอย่างเดิมหรือไม่ *[บทนิยามนี้เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]
           "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติ การตามพระราชบัญญัตินี้
           "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมศิลปากร
           "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

           มาตรา 5* การออกหนังสืออนุญาตและการออกใบอนุญาตซึ่งอธิบดีต้อง กระทำตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีจะมอบหมายให้ข้าราชการในกรมศิลปากรซึ่งมี ตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไปกระทำแทน หรือผู้ว่าราชการ จังหวัดแห่งท้องที่ใดเป็นผู้กระทำแทนสำหรับท้องที่นั้นก็ได้ การมอบหมายให้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา

           เมื่อได้มีประกาศมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ใดกระทำการ แทนอธิบดีตามความในวรรคหนึ่งแล้ว คำขอรับหนังสืออนุญาตและใบอนุญาต ให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่นั้น *[มาตรา 5 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 6* ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
           กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
*[มาตรา 6 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

หมวด 1
โบราณสถาน

_______

           มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถาน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจา นุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และให้มีอำนาจ กำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน โดยให้ถือว่าเป็น โบราณสถานด้วยก็ได้ ประกาศดังกล่าวนี้ อธิบดีจะเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้ กระทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
           การขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามความในวรรคก่อน ถ้าโบราณสถานนั้น มีเจ้าของหรือมีผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจ ก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาล

           ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดี ระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถานแล้วแต่ กรณีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอต่อศาล หรือศาลมีคำสั่งคดี ถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้อธิบดีดำเนินการ ขึ้นทะเบียนได้

           มาตรา 7 ทวิ* ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมการก่อสร้างอาคาร ภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศ ขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจ สั่งระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นภายในกำหนด หกสิบวันนับแต่วันได้รับคำสั่ง ผู้ใดขัดขืนไม่ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคาร ตามคำสั่งอธิบดี มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และให้อธิบดีดำเนินการ รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นได้ โดยเจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ปลูกสร้าง ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือดำเนินคดีแก่ผู้รื้อถอนไม่ว่าด้วยประการใด ทั้งสิ้น สัมภาระที่รื้อถอนถ้าเจ้าของไม่ขนย้ายออกไปจากเขตโบราณสถาน ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันรื้อถอนเสร็จ ให้อธิบดีจัดการขายทอดตลาดสัมภาระนั้น เงินที่ได้จากการขายเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและการขายแล้วเหลือเท่าใด ให้คืนให้เจ้าของสัมภาระนั้น *[มาตรา 7 ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 308 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]

           มาตรา 8 บรรดาโบราณสถานซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

           มาตรา 9 โบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว และเป็นโบราณสถาน ที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายชำรุด หักพังหรือเสียหายไม่ว่า ด้วยประการใด ๆ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานนั้น แจ้งการชำรุด หักพังหรือเสียหายเป็นหนังสือไปยังอธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เกิดชำรุด หักพังหรือเสียหายนั้น

           มาตรา 9 ทวิ* โบราณสถานตามมาตรา 9 ที่ได้จัดให้มีการเรียกเก็บ ค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่นเป็นปกติธุระ หรือจัดเก็บผลประโยชน์ใด ๆ อันเกิด จากโบราณสถานนั้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้เสีย ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทั้งหมด หรือบางส่วนตามที่อธิบดีกำหนด
การกำหนดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโบราณสถานตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีแต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน โดยให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองร่วมเป็นกรรมการด้วย
*[มาตรา 9 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 10* ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือ ขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำ ตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้น กำหนดเงื่อนไขไว้ประการใด ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย
*[มาตรา 10 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 (รก.2535/38/12)]

           มาตรา 10 ทวิ* พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในโบราณสถาน เพื่อตรวจดูว่าได้มีการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือมีการขุดค้น

           สิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานหรือไม่ ในการนี้ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดวัตถุที่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าจะเป็น วัตถุที่ได้มาจากการขุดค้นในบริเวณโบราณสถานได้ การตรวจ ยึดหรืออายัดตามความในวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ระหว่าง พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก และเมื่อดำเนินการตรวจ ยึดหรืออายัดแล้ว ในเขต กรุงเทพมหานครให้รายงานต่ออธิบดี ในเขตจังหวัดอื่นให้รายงานต่อผู้ว่าราชการ จังหวัดและอธิบดีเพื่อทราบ *[มาตรา 10 ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 308 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 และแก้ไขโดยพระราช บัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 11 โบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วนั้น แม้ว่าจะเป็นโบราณ สถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ทำการซ่อมแซมหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการบูรณะหรือรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบก่อน

           มาตรา 12 ในกรณีที่มีการโอนโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้โอนจะต้องแจ้งการโอนเป็นหนังสือโดยระบุชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอน และวัน เดือนปีที่โอนไปยังอธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันโอน
           ผู้ได้รับกรรมสิทธิ์โบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วโดยทางมรดกหรือ โดยพินัยกรรมต้องแจ้งการได้รับกรรมสิทธิ์ไปยังอธิบดีภายในหกสิบวันนับแต่วันได้ รับกรรมสิทธิ์ ในกรณีที่มีผู้ได้รับกรรมสิทธิ์โบราณสถานเดียวกันหลายคน เมื่อ ได้มีการมอบหมายให้ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แจ้งการรับกรรมสิทธิ์ และผู้ได้รับมอบหมายได้ปฏิบัติการแจ้งนั้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคนได้ปฏิบัติการแจ้งนั้นแล้วด้วย

           มาตรา 13* เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพ ความปลอดภัย ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียน แล้ว ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้เข้าชมปฏิบัติในระหว่าง เข้าชมได้ และจะกำหนดให้ผู้เข้าชมเสียค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่นด้วยก็ได้ การจัดให้เข้าชมโบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วย กฎหมาย โดยเรียกเก็บค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่น ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดี ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ในราชกิจจานุเบกษา *[มาตรา 13 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 13 ทวิ* เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการศึกษาและ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลใดเข้าไปดำเนิน กิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในบริเวณโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วและ มิใช่เป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ ผู้รับอนุญาตออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการทั้งสิ้น และผู้รับอนุญาตต้องจ่ายเงิน ค่าสิทธิค่าตอบแทน และค่าธรรมเนียมอื่นให้แก่กรมศิลปากรเพื่อสมทบกองทุน โบราณคดี ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
*[มาตรา 13 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2)]


หมวด 2
โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ

_______

 

           มาตรา 14* เมื่ออธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุใดที่มิได้ อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีเป็นพิเศษ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจา นุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุใดไม่ว่าจะได้ขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่ หรือศิลปวัตถุใดที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว สมควรสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติ อธิบดี มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็น โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ห้ามทำการค้า และหากเห็นสมควรเก็บรักษาไว้เป็น สมบัติของชาติ ให้อธิบดีมีอำนาจจัดซื้อโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นไว้ได้ *[มาตรา 14 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 14 ทวิ* เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และการจัดทำทะเบียน โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไป ให้อธิบดีมีอำนาจ ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้เขตท้องที่ใดเป็นเขตสำรวจโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุนั้น โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแจ้งปริมาณ รูปพรรณและ สถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุนั้นต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
           เมื่อได้มีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมี อำนาจเข้าไปในเคหสถานของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือสถานที่เก็บรักษา โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือระหว่าง เวลาทำการ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำทะเบียน และในกรณีที่เห็นว่าโบราณวัตถุ

           หรือศิลปวัตถุใดมีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี เป็นพิเศษ ให้อธิบดีมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 14 ได้ *[มาตรา 14 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 15 โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วนั้น ห้ามมิให้ ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข นั้นด้วย

           มาตรา 16* ในกรณีที่โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ชำรุด หักพัง เสียหาย สูญหาย หรือมีการย้ายสถานที่เก็บรักษา ให้ผู้ครอบครอง โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น แจ้งเป็นหนังสือไปยังอธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่ วันชำรุด หักพัง เสียหาย สูญหาย หรือมีการย้ายนั้น
*[มาตรา 16 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 17 ในกรณีที่มีการโอนโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้น ทะเบียนแล้วผู้โอนจะต้องแจ้งการโอนเป็นหนังสือโดยระบุชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอน และวันเดือนปีที่โอนไปยังอธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันโอน
           ผู้ได้รับกรรมสิทธิ์โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วโดยทาง มรดกหรือโดยพินัยกรรม ต้องแจ้งการได้รับกรรมสิทธิ์ไปยังอธิบดีภายในหกสิบวัน นับแต่วันได้รับกรรมสิทธิ์ ในกรณีที่มีผู้ได้รับกรรมสิทธิ์โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุเดียวกัน หลายคน เมื่อได้มีการมอบหมายให้ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แจ้งการรับ กรรมสิทธิ์ และผู้ได้รับมอบหมายได้ปฏิบัติการแจ้งนั้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคนได้ปฏิบัติการแจ้งนั้นแล้วด้วย

           มาตรา 18* โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และอยู่ในความดูแลรักษาของกรมศิลปากรจะโอนกันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่ง บทกฎหมาย แต่ถ้าโบราณวัตถุและศิลปวัตถุใดมีเหมือนกันอยู่มากเกินต้องการ อธิบดีจะอนุญาตให้โอนโดยวิธีขายหรือแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์แห่งพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ หรือให้เป็นรางวัลหรือเป็นค่าแรงงานแก่ผู้ขุดค้นก็ได้ ทั้งนี้ ตาม ระเบียบที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา *[มาตรา 18 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 18 ทวิ* โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครอง ของกรมศิลปากร หรือที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และมีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีเป็นพิเศษ รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใน ราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็นโบราณวัตถุหรือ ศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม
           เมื่อได้มีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว การผลิต การค้า หรือมีไว้ใน สถานที่ทำการค้าซึ่งสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม นั้น ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดใน ราชกิจจานุเบกษา และให้ผู้ประสงค์จะผลิตสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียม ศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมแจ้งรายการสิ่งที่ตนจะผลิตต่ออธิบดี พร้อมทั้ง ต้องแสดงให้ปรากฏที่สิ่งที่ตนผลิตนั้นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ได้ทำเทียมขึ้น
           เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคสองแล้ว ให้อธิบดีแจ้งรายชื่อผู้ผลิตและ รายการสิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมที่จะผลิตนั้น ต่ออธิบดีกรมศุลกากรเพื่อประโยชน์ในการส่งหรือนำออกนอกราชอาณาจักรด้วย
*[มาตรา 18 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2)] พ.ศ.2535]

           มาตรา 19* ผู้ใดประสงค์จะทำการค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มิได้ ห้ามทำการค้าตามมาตรา 14 วรรคสอง ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี การขอรับใบอนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่อธิบดีอนุญาต ให้อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตใน ราชกิจจานุเบกษา ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อ รัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด *[มาตรา 19 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 19 ทวิ* ผู้ใดจะแสดงโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุโดยเรียกเก็บ ค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่น ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีทราบก่อน และต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
*[มาตรา 19 ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 308ฯ และแก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 19 ตรี* ใบอนุญาตตามมาตรา 19 ให้มีอายุใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตต่ออธิบดีก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าอธิบดีจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น
           การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่อธิบดีอนุญาต ให้อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตใน ราชกิจจานุเบกษา

           ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมี สิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ถ้ามีการอุทธรณ์การต่ออายุใบอนุญาตตามวรรคสามก่อนที่รัฐมนตรีจะมี คำวินิจฉัย รัฐมนตรีจะสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการไปพลางก่อนเมื่อมีคำขอของ ผู้อุทธรณ์ก็ได้ *[มาตรา 19 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 20* ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 19 ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการค้า และให้ผู้รับใบอนุญาตทำบัญชี รายการโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุ ที่ควบคุมการทำเทียมที่อยู่ในความครอบครองของตนและรักษาบัญชีนั้นไว้ ณ สถานที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
*[มาตรา 20 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 21* ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ผลิต สถานที่ทำการค้า สถานที่แสดง หรือสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุ ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึง พระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการ เพื่อตรวจดูว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้อง ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ หรือเพื่อตรวจดูว่ามีโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือ สิ่งเทียมโบราณวัตถุ หรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ มีสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่มิได้ปฏิบัติตามประกาศที่อธิบดี กำหนดตามมาตรา 18 ทวิ อยู่ในสถานที่นั้นหรือไม่ และในกรณีที่มีเหตุอันควร สงสัยว่ามิได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ หรือสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่ได้มาโดยมิชอบ

           ด้วยกฎหมาย หรือสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุที่มิได้ปฏิบัติตาม ประกาศที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 18 ทวิ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ยึดหรืออายัดโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุหรือสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียม ศิลปวัตถุนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีได้ *[มาตรา 21 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 21 ทวิ* ในการปฏิบัติหน้าที่ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานที่ที่ทำการตรวจสอบตามมาตรา 14 ทวิ หรือมาตรา 21 และให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังกล่าวอำนวยความสะดวกตามสมควร
           บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดใน กฎกระทรวง
*[มาตรา 21 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 21 ตรี* ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
*[มาตรา 21 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 22* ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุไม่ว่า โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นจะเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว หรือไม่ ออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
การขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

           ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ศิลปวัตถุที่มีอายุไม่เกินห้าปีและ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และการนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุผ่านราชอาณาจักร *[มาตรา 22 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 23 บุคคลใดประสงค์จะส่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุออก นอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดี ในกรณีที่ อธิบดีมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีต่อรัฐมนตรีภายใน กำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
           ในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควรหรือรัฐมนตรีวินิจฉัยให้ออกใบอนุญาตให้ ผู้ยื่นคำขอส่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และ เมื่อผู้ยื่นคำขอได้ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข วิธีการและข้อกำหนดว่าด้วยการ วางเงินประกัน และหรือการชำระค่าปรับตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเกี่ยว แก่การส่งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวแล้ว ก็ให้อธิบดีออกใบอนุญาตให้ผู้ยื่นเรื่องราวส่งหรือนำวัตถุออกนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวได้

           มาตรา 23 ทวิ* ในกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องส่งหรือนำโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ หรือชิ้นส่วนของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครอง ของกรมศิลปากรออกนอกราชอาณาจักร เพื่อการศึกษา การวิเคราะห์ การวิจัย การซ่อมแซม หรือประกอบ ให้อธิบดีมีอำนาจส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือชิ้นส่วนของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ เว้นแต่เป็นชิ้นส่วนของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ต้องนำไปแปรสภาพหรือทำลาย ไปโดยกระบวนการวิเคราะห์หรือการวิจัยนั้น อธิบดีจะส่งหรือนำออกนอก ราชอาณาจักรโดยไม่ต้องนำกลับก็ได้
*[มาตรา 23 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 24* โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ซ่อน หรือฝัง หรือทอดทิ้งไว้ ในราชอาณาจักรหรือในบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะโดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใด สามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ ไม่ว่าที่ที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งจะอยู่ใน กรรมสิทธิ์หรือความครอบครองของบุคคลใดหรือไม่ ให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ผู้เก็บได้ต้องส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วมีสิทธิจะได้รับรางวัลไม่เกิน หนึ่งในสามแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้อธิบดีตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนเป็น ผู้พิจารณากำหนดค่าของทรัพย์สินและเงินรางวัลตามวรรคหนึ่ง ผู้เก็บได้มีสิทธิ อุทธรณ์การกำหนดของคณะกรรมการเป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในสิบห้าวันนับแต่วัน ทราบการกำหนด คำวินิจฉัยของอธิบดีให้เป็นที่สุด *[มาตรา 24 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 24 ทวิ* ในกรณีที่ใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือถูกทำลาย
การขอรับใบแทนใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
*[มาตรา 24 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

 

หมวด 3
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

_________

 

           มาตรา 25 ให้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะจัดตั้งขึ้น ณ ที่ใด หรือจะให้สถานที่ใดเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตลอดถึงการถอนสภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้รัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้ บังคับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้

           มาตรา 26* โบราณวัตถุและศิลปวัตถุซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและ อยู่ในความดูแลรักษาของกรมศิลปากรนั้น จะเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่นใดนอกจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมิได้ แต่ในกรณีที่ไม่อาจหรือไม่สมควรจะนำมาเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับอนุญาตจากอธิบดีแล้วจะเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์อื่น วัด หรือสถานที่ของทางราชการก็ได้
           ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่อธิบดีอนุญาตให้นำโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุไปแสดง ณ ที่ใด ๆ เป็นการชั่วคราว หรือในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งให้นำ โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อประโยชน์ในการซ่อมแซม หรือบูรณะ
           ในกรณีที่โบราณวัตถุและศิลปวัตถุใดมีเหมือนกันหลายชิ้น อธิบดีจะ อนุญาตให้กระทรวง ทบวง กรมใดเป็นผู้เก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุนั้นบางชิ้น ก็ได้
*[มาตรา 26 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 27* เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจ ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้เข้าชมปฏิบัติในระหว่างเข้าชมได้และจะกำหนด ให้ผู้เข้าชมเสียค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่นด้วยก็ได้
*[มาตรา 27 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]


หมวด 4
กองทุนโบราณคดี

______

 

           มาตรา 28 ให้จัดให้มีกองทุนขึ้น เรียกว่า กองทุนโบราณคดี เพื่อใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์แก่โบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์

           มาตรา 29 กองทุนโบราณคดีประกอบด้วย
                      (1) เงินที่ได้มาตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
                      (2) เงินผลประโยชน์อันเกิดจากโบราณสถาน
                      (3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
                      (4) เงินทุนกองกลางและเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งกรมศิลปากรมีอยู่แล้วใน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

           มาตรา 30 การเก็บรักษาและการจ่ายเงินกองทุนโบราณคดี ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

 

หมวด 4 ทวิ*
การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต

_________

 

           มาตรา 30 ทวิ* ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราช บัญญัตินี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไข ที่อธิบดีกำหนด อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้มีกำหนดครั้งละไม่เกินหกสิบวัน แต่ในกรณีที่มีการฟ้องผู้รับใบอนุญาตต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีจะสั่งพักใช้ใบอนุญาตไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้

           ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นไม่ได้

           มาตรา 30 ตรี* เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตผู้ใดต้องคำพิพากษา ถึงที่สุดว่ากระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต อธิบดีมี อำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
           ผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับตั้งแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

           มาตรา 30 จัตวา* คำสั่งพักใช้และคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ทำเป็น หนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่ไม่พบตัวหรือบุคคลดังกล่าวไม่ยอมรับคำสั่ง ให้ปิดคำสั่งไว้ ณ ที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ที่สถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือภูมิลำเนา ของผู้รับใบอนุญาตนั้น และให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ปิด คำสั่ง
           คำสั่งพักใช้และคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาและจะโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือโดยวิธีอื่นด้วยก็ได้

           มาตรา 30 เบญจ* ผู้ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
           การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพักใช้ หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตนั้น
*[หมวด 4 ทวิ มาตรา 30 ทวิ ถึงมาตรา 30 เบญจ เพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]


หมวด 5
บทกำหนดโทษ

_______

 

           มาตรา 31* ผู้ใดเก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ซ่อนหรือฝัง หรือทอดทิ้งโดยพฤติการณ์ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้ และ เบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 31 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 31 ทวิ* ผู้ใดซ่อนเร้น จำหน่าย เอาไปเสีย หรือรับซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุอันได้มาโดยการ กระทำความผิดตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกิน ห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           ถ้าการกระทำผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำไปเพื่อการค้า ผู้กระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 31 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 32* ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถาน ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 32 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 33* ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ ไร้ประโยชน์ หรือทำให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ *[มาตรา 33 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 34* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9 มาตรา 12 มาตรา 13 วรรคสอง มาตรา 14 ทวิ มาตรา 16 มาตรา 17 หรือมาตรา 20 หรือ ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 13 หรือมาตรา 27 ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 34 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 35* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 35 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 36* ผู้ใดทำการค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ห้ามทำการค้า ตามประกาศที่ออกตามมาตรา 14 วรรคสอง หรือฝ่าฝืนมาตรา 15 หรือไม่ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดไว้ในหนังสืออนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 36 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 36 ทวิ* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามมาตรา 18 ทวิ วรรคสอง หรือไม่แจ้งรายการสิ่งที่ตนผลิตต่ออธิบดี หรือไม่แสดงให้ปรากฏที่สิ่งที่ตน ผลิตว่าเป็นสิ่งที่ได้ทำเทียมขึ้นตามมาตรา 18 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 36 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 37* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 37 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 37 ทวิ* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 ทวิ หรือประกาศที่ ออกตามมาตรา 19 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน ห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 37 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 37 ตรี* ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควร แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราช บัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 37 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 38* ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนออกนอก ราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 38 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

           มาตรา 39* ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ออกนอกราชอาณาจักรอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
*[มาตรา 39 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

 

บทเฉพาะกาล
______

 

           มาตรา 40 ให้ผู้ทำการค้าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือแสดง โบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุให้บุคคลชมโดยเรียกเก็บค่าชมเป็นปกติธุระอยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากอธิบดีให้ทำการค้า โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือแสดงโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุให้บุคคลชมภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
           ความในมาตรา 19 และมาตรา 20 มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการค้า โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ หรือแสดงโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุให้บุคคลชมโดย เรียกเก็บค่าชมเป็นปกติธุระ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตโดยถูกต้องตามความ ในวรรคก่อน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนถึงวันที่ได้รับใบอนุญาต

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส.ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี


อัตราค่าธรรมเนียม*
_______

           (1) ใบอนุญาตตามมาตรา 19 ฉบับละ 20,000 บาท
           (2) ใบอนุญาตตามมาตรา 22
           (ก) โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุซึ่งกรมศิลปากรเห็นว่ามีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไป ชิ้นละไม่เกิน 2,000 บาท
           (ข) โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุซึ่งกรมศิลปากรเห็นว่า มีอายุต่ำกว่าสมัยอยุธยา ชิ้นละไม่เกิน 1,000 บาท
           (3) ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100 บาท
           (4) การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น

*[อัตราค่าธรรมเนียมแก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535]

________________
หมายเหตุ:-
           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากมีบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดต่ำกว่าที่ควรอยู่ มาก เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกประเทศซึ่ง เป็นภัยต่อการสงวนวัตถุเช่นว่านั้นแล้ว ยังมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมแก่การ ปฏิบัติจัดการเกี่ยวแก่การพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและการโบราณคดีให้เป็นไป ด้วยดีอีกหลายประการ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวแก่การนี้ เสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น


           ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 308 [ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515] โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทั้งมีคุณค่าใน ทางศิลปะ อันเป็นทรัพย์มรดกที่มีค่ายิ่งของชาติได้ถูกทอดทิ้ง ทำลาย สูญหายไป เป็นจำนวนมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หัวหน้า คณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ [รก.2515/190/28 พ./13 ธันวาคม 2515]
__________________
           พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและไม่รัดกุม เพียงพอในด้านการคุ้มครองดูแลรักษา การบูรณะและการซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ และกำหนดอัตราโทษไว้ต่ำมาก ทำให้มีผู้กระทำผิด เกี่ยวกับการลักลอบบุกรุก ขุดค้น และทำลายโบราณสถาน ลักลอบนำหรือส่ง โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีออกนอก ราชอาณาจักรมากขึ้น นอกจากนี้ ปรากฏว่าในปัจจุบันมีการผลิตและการค้า สิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้เหมาะสมเพื่อให้การคุ้มครองดูแลรักษา การบูรณะ การซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และการควบคุมการผลิตและ


           การค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุหรือสิ่งเทียมศิลปวัตถุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตและหนังสืออนุญาต อัตราโทษ และอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ไข บทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [รก.2535/38/12/5 เมษายน 2535]

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี