การพ้นจากตำแหน่งพระสังฆาธิการและไวยาวัจกร
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม
ปริปุณฺณสีโล วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
๘๔๒๙๐
|
ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งพระสังฆาธิการและไวยาวัจกรมาตามลำดับ โดยยกหลักเกณฑ์และวิธีการมาแจกแจง พร้อมกับทำตัวอย่างไว้พอเป็นแนวทางปฏิบัติ พอที่พระสังฆาธิการและเลขานุการจะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติได้ การแต่งตั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และให้เป็นไวยาวัจกรนั้น เป็นการบรรจุผู้มีความรู้ความสามารถและเหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ ให้ผู้นั้นได้มีโอกาสบริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนา แต่ในบางกรณี ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น อาจพอใจในการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ในระยะแรก กาลต่อมาอาจเบื่อหน่ายหรือไม่พอใจในการปฏิบัติงาน หรือในบางกรณีสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ได้ดีในระยะแรก แต่ระยะหลังหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ในบางกรณีปฏิบัติงานในหน้าที่มาโดยเรียบร้อยตลอดมาจนอายุครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ควรได้รับการยกย่องเชิดชู หรือในบางกรณี ดำรงตำแหน่งหน้าที่โดยเรียบร้อยตลอดมาจนถึงชราทุพพลภาพ หรือพิการ จำเป็นต้องให้ปลดเปลื้องภาระเพื่อให้พักผ่อนหรือรักษาตัว จึงต้องมีบทบัญญัติให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไว้ เพราะเมื่อดำรงตำแหน่งใด ๆ ได้ ก็ย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้นได้ การพ้นจากตำแหน่งนั้น ในบางกรณี เป็นไปเองโดยสภาพและเปิดเผยชัดเจน เช่น มรณภาพหรือตาย ลาสิกขา แต่ในบางกรณี ต้องมีวิธีสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งกล่าวโดยรวมว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการ" คล้ายกับการแต่งตั้ง การให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ย่อมเป็นภาระของเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดและผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ดังจะกล่าวต่อไป วิธีขอลาออกจากตำแหน่ง
วิธีลาออกจากตำแหน่งพระสังฆาธิการนั้น
บัญญัติเพื่อให้พระสังฆาธิการผู้ไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งต่อไป หรือประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อลาสิกขา
ขอลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ได้ บทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ไว้กว้าง ๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระสังฆาธิการ
จึงกำหนดบทเรียนดังต่อไปนี้.- การปฏิบัติในวิธีที่ ๑ ผู้ประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งต้องจัดทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งนั้น ๆ ระบุ วัน เดือน ปี ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ และเหตุผลที่ขอลาออก ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเพื่อดำเนินการต่อไป การปฏิบัติในวิธีที่ ๒ ต้องจัดทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งพระสังฆาธิการทุกตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ถ้าแต่ละตำแหน่งผู้แต่งตั้งต่างชั้นกัน เช่น เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์และเป็นเจ้าคณะอำเภอ ให้จัดทำหนังสือขอลาออก ๒ ฉบับ ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของตำแหน่งนั้น ๆ อย่าทำหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งทั้ง ๒ ในฉบับเดียวกัน เพราะไม่สะดวกแก่การดำเนินการ เพราะต้องส่งหนังสือลาออกตัวจริงจนถึงผู้พิจารณาอนุญาตทุกตำแหน่ง และ ถ้าเป็นพระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตร หรือพระเปรียญอยู่ด้วย ให้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขาอีก ๑ ฉบับ ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด อย่ารวมเป็นฉบับเดียวกับหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สะดวกแก่การปฏิบัติงาน และต้องยื่นก่อนวันที่กำหนดลาสิกขาไม่น้อยกว่า ๔๕ วัน วิธีปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา เมื่อผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด ได้รับหนังสือลาออกจากตำแหน่ง หรือหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขาแล้ว ให้พิจารณาบันทึกความเห็นในหนังสือนั้น ลงนามกำกับคัดสำเนาหนังสือนั้นไว้ แล้วทำหนังสือนำส่งหนังสือขอลานั้นอีกฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการตามลำดับ โดยต้องส่งหนังสือตัวจริงจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้งเพื่อพิจารณาอนุญาต อย่าส่งสำเนาหนังสือขอลา หรือสำเนาหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ผู้อนุญาตจะบันทึกอนุญาตในหนังสือนั้นแล้ว แจ้งเรื่องราวกลับหรือจะออกเป็นคำสั่งอีกก็ได้ ที่สำคัญ ต้องสั่งให้มอบงานในตำแหน่งหน้าที่แก่ผู้รักษาการแทนรูปใหม่หรือแก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด และถ้าเป็นพระสมณศักดิ์ให้นำพัดยศสมณศักดิ์มอบแก่ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเพื่อส่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย ตามระเบียบที่สังฆมนตรีว่าการองค์ปกครองวางไว้ และยึดถือปฏิบัติอยู่ ถือเอาความเฉพาะที่เป็นข้อห้ามดังนี้.-
๑.
ห้ามพระสมณศักดิ์ลาสิกขาก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต ถ้าละเมิดให้ถือว่าเป็นผู้ประทุษร้ายเกียรติของคณะสงฆ์และจัดเป็นบุคคลอันสงฆ์พึงรังเกียจ ข้อมูลและเอกสารที่ควรดูเพิ่มเติม |