'หลวงพ่อพะยอม' เสาหลักหลอมเลือดไทยในแผ่นดิน 'มาเลเซีย'
Written by AmanNews
Tuesday, 01 December 2009 08:31
กลุ่มซูวารอ ปัตตานี

            พาเยือนวัดไทย 'บ้านตาเซะ' ศูนย์กลางชุมชนคนเชื้อสายไทยในมาเลเซีย เครือญาติทางประวัติศาสตร์ ผ่าน 'หลวงพ่อพะยอม' ภิกษุผู้เป็นเสาหลักในการหล่อหลอมเยาวชนมาเลเซียสายเลือดไทยมิให้ลืมรากเหง้าของตนเอง ท่ามกลางเส้นใยความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชนที่เริ่มเลือนหายไปมากแล้วในสังคมชนบทแบบไทยๆ

            จากชายแดนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตัดผ่านวิวของเมืองแอ่งกระทะ ภูเขารายล้อมเขียวขมุกขมัวสายหมอกคลอเคลีย สวนยางทึบสองข้างทางเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ใช้เวลาราว 13 กิโลเมตรก็ถึง 'บ้านตาเซะ' ชุมชนเล็กๆที่จะทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์ร่วมกันของแผ่นดินผืนนี้ --ไทย/มาเลเซีย

            'บ้านตาเซะ' คือ หมู่บ้านคนเชื้อสายไทย นับถือศาสนาพุทธ ในประเทศมาเลเซีย ตั้งรกรากกันอยู่ที่นี่มานมนาน ถามว่านานแค่ไหน หากพอจะนับนิ้วไล่ประวัติกันได้อย่างน้อยๆก็ตั้งแต่สมัยมณฑลปัตตานีที่มีสุลต่านแห่งยะรมเป็นผู้ปกครอง จนกระทั่งมีการปักปันดินแดนในยุคสมัยอาณานิคม ส่วนหนึ่งของเมืองยะรมหรืออำเภอเบตงในปัจจุบันถูกแบ่งให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษก่อนที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียหลังเป็นเอกราช ไล่เรียงดูจากตอนนั้นก็ครบรอบ 100 ปีพอดิบพอดีในปีนี้

            อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านเวลามาข้ามศตวรรษดูเหมือนชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยพุทธที่ 'บ้านตาเซะ' ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ที่สำคัญเรายังสามารถเห็นภาพสังคมชนบทแบบไทยๆที่เคยมีวัดเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชาวบ้าน และเป็นสถานที่อบรมบ่มวิชาให้ลูกหลานได้ที่นี่

            บ่ายแก่จัด แต่ไม่มีแดด ขุนเขาและละอองฝนโปรยไพรตลอดวันทำให้เรารู้สึกสดชื่นมากกว่าอ่อนเพลีย แม้ว่าจะเพิ่งผ่านร้อยโค้ง ยะลา - เบตง มาไม่นาน รถเราจอดใกล้ๆโบสถ์ 'วัดอินทราวาส' หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า 'วัดตาเซะ' พลันที่ลงจากรถ เสียง ก. อา กา....น. อา นา.. ของเด็กๆดังแว่วเข้ามาในโสตหู พอมาบวกกับบรรยากาศนอกเมืองเรียบง่าย ทำให้ชวนนึกถึงสังคมชนบทบ้านเราในอดีต

            ต้นเสียงดังมาจากอาคารปลูกสร้างง่ายๆข้างๆโบสถ์ ใบเสมาประทับ พ.ศ. 2509 ยืนยันความเก่าแก่ เสียงท่องอ่านของเด็กวัดทำเอานึกถึงสมัยเรียนมานีมีตา...อาดูปู ขึ้นมาทันที จึงเดินตามเสียงไป เห็นหลวงพ่อกำลังสอนให้เด็กๆห้องหนึ่งคัดไทยอย่างขมีขมัน ส่วนห้องข้างๆที่กั้นฝาง่ายๆนั้นที่เป็นที่มาของเสียงที่ได้ยิน ภาพของพระผู้เฒ่ากำลังสอนเด็กๆ แบบนี้ แม้แต่ในชนบทของไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนาก็อาจไม่ค่อยเห็นได้บ่อยนัก เพราะหลังจากเด็กๆถูกป้อนเข้าระบบโรงเรียนตั้งแต่เล็กก็ห่างไกลศาสนาไปมากแล้ว อย่างมากก็มีเรียนบ้างเป็นครั้งคราวเอาไว้อัพเกรด 4

            แต่เด็กๆที่ 'บ้านตาเซะ' หลังเลิกเรียนตามปกติ พ่อแม่จะส่งมาเรียนภาษาไทยและศาสนาพุทธที่วัด การปรากฏตัวของพวกเราทำให้เด็กๆเริ่มเสียสมาธิ หลวงพ่อจึงหันมา จึงสบโอกาสแสดงตัวว่าเป็นนักข่าวจากฝั่งไทยและขอเข้าไปคุยกับหลวงพ่อ ท่านก็ยิ้มแย้มทักทายด้วยสำเนียงไทยภาคใต้ เด็กๆสีหน้าตื่นเต้นคึกคักขึ้น คงเพราะจะได้มีเวลาอู้อีกสักนิดหน่อย

            หลวงพ่อพะยอม เล่าให้ฟังว่า เด็กๆเหล่านี้เป็นลูกหลานของคนไทยพลัดถิ่นสมัยปันกันดินแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ ซึ่ง 4 ตำบลในพื้นที่อำเภอเบตงเดิม ได้แก่ ตาเซะ บาลิ่น โกร๊ะ และอิตำ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ความเป็นอยู่ในปัจจุบันของคนเชื้อสายไทยในมาเลเซียก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

            "รัฐบาลที่นี่ดีอย่าง สงกรานต์ก็ให้ทำกิจกรรม และให้เงินทำกิจกรรมถ้าชุมชนขอไป " หลวงพ่อพะยอมกล่าวถึงการจัดการความแตกต่างของรัฐบาลมาเลเซียที่ทำให้คนเชื้อสายต่างๆไม่รู้สึกเป็นอื่น โดยเฉพาะเชื้อสายไทย ทั้งนี้ ในมาเลเซียคนมลายูมุสลิมเป็นประชากรส่วนมาก นอกนั้นเป็นคนเชื้อสายจีน อินเดีย และไทยพุทธ ซึ่งสำหรับไทยพุทธที่ตาเซะดูเหมือนจะได้รับความไว้วางใจจากรัฐเป็นพิเศษ จึงยอมให้สิทธิในการมีกำนันเป็นคนไทยพุทธที่สามารถดูแลกันเองได้เองตามสมควร

            "คนไทยที่นี่ เขาไม่ไปไหน เขาเกิดที่นี่ โตที่นี่ เป็นแผ่นดินของเขา และเขาก็ไม่ให้ใครเข้ามาอยู่เช่นกัน" หลวงพ่อให้เหตุผลเมื่อเราถามถึงการย้ายกลับไปอยู่ในฝั่งไทย แต่ท่านก็ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติไม่เป็นปัญหาในตาเซะ เด็กๆที่โตที่นี่โดยมากพูดได้ 2 ภาษา คือไทยซึ่งพูดที่บ้าน (บางบ้านก็พูดสำเนียงภาคใต้) และในชุมชนไทย ส่วนมลายูเป็นภาษาสื่อสาร บางคนอาจพูดได้ถึง 3 ภาษา คือ พูดภาษาจีนได้ด้วย ซึ่งคนจีนเองก็มาทำบุญที่วัดเสมอ แต่สำหรับคนอินเดียจะมีโบสถ์พราหมณ์ของตัวเอง

            ด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และประเพณีของชุมชนไทยใน 'บ้านตาเซะ' นั้นก็ยังคงคล้ายกับท้องถิ่นภาคใต้ของไทยมาก นอกจากงานสงกรานต์ที่รัฐบาลมาเลเซียยอมให้จัดงานแล้ว ยังมีการจัดงานทำบุญเดือนสิบ และเพิ่งจัดงานลอยกระทงไปพร้อมๆกับประเทศไทย ส่วนข่าวคราวจากเมืองไทยคนที่นี่ก็ติดตาม และเขาก็รักในหลวงเหมือนกัน

            ปัจจุบัน คนเชื้อสายไทยพุทธใน 'หมู่บ้านตาเซะ' มีกว่า 300 ครอบครัว แต่หลวงพ่อ บอกว่า เมื่อก่อนไม่ได้มีคนเยอะขนาดนี้ จะอยู่กระจัดกระจายกันไป จนกระทั่งหลังจากยุคอาณานิคมซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมาเลเซียต้องสู้กับจีนคอมมิวนิสต์มลายา จึงมีนโยบายให้ชุมชนต่างๆที่กระจัดกระจายทั้ง ไทย จีนและอินเดียให้มารวมกันบริเวณนี้ คนไทยเมื่อมาอยู่รวมกันก็สร้างโบสถ์ สร้างวัดขึ้น แต่ไม่มีพระสงฆ์

            "มาจากอำเภอปากพะยูน พัทลุง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว" หลวงพ่อบอก จากนั้นมาท่านก็จำพรรษาที่นี่เรื่อยๆ แต่ท่านออกตัวว่าไม่ใช่เจ้าอาวาส และที่วัดนี้ไม่มีเจ้าอาวาส เพราะท่านเองดูแลไม่ไหว

            เราลองหันสบตาเด็กๆ เมื่อเห็นแววตาตอบรับเลยหันไปคุยบ้าง พวกเธอพูดภาษาไทยสำเนียงภาคกลางตอบกลับมาได้อย่างคล่องแคล่ว

            "เดี๋ยวจะมีลอยกระทงอีกครั้ง " เมธินี สีสุวรรณ ยิ้มแป้นแฝงความขวยเขิน ความคมขำ และคำพูดคำจาฉะฉานทำให้นึกถึงแบบเรียนภาษาไทย บทที่มานีเข้าโรงเรียนวันแรก หมาที่เดินไปมาตรงลานวัดยิ่งทำให้เรานึกถึงเจ้าโต ขาดแต่ว่าถ้ามีม้าเจ้าแก่กับลิงของพี่วีระห้อยโหนตามเสาคงสนุกไม่หยอก

            "ที่วัดพิกุลบุญญาราม เป็นวัดไทยอีกวัดหนึ่ง เขาจะจัดงาน เพราะที่วัดอินทราวาสจัดไปแล้ว" เธออธิบาย

            เราอาจจะงงแต่ที่นี่สามารถจัดงานลอยกระทงได้อีกหากวัดจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแม้ว่าวันเพ็ญเดือนสิบสองจะผ่านไปแล้วก็ตาม นี่คงเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนทีเดียวหากเทียบกับประเพณีดั้งเดิมทางฝั่งไทยที่ยึดถือปฏิทินจันทรคติมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไปในเนื้อหา เมธินี บอกว่า คนที่นี่ยังคงยึดถือความเชื่อเดียวกัน คือการลอยกระทงยังเป็นเสมือนการขอขมาต่อสายน้ำหรือมหาคงคานที ส่วนประเพณีอื่นๆเสน่ห์แบบไทยๆก็ยังมีครบถ้วน อย่างงานสงกรานต์ก็จะต้องอาบน้ำให้คนเฒ่าคนแก่และทำบุญตักบาตร เล่นแป้งบ้าง สำหรับเด็กๆนั้นการเล่นปืนฉีดน้ำดูจะเป็นที่นิยมมากกว่าสาดกันด้วยขัน

            "มีญาติอยู่ที่เมืองไทย ช่วงสงกรานต์ หรือลอยกระทงก็ได้ไปหาบ้าง หรือมีข้ามมาหาที่นี่บ้าง" นีรามัย จันทวิรัติน์ เพื่อนที่นั่งโต๊ะข้างหน้าเมธินีบอก เธอเป็นคนเดียวในห้องที่เคยไปเยี่ยมญาติในฝั่งไทยและทำให้ความเป็นญาติกาของสองแผ่นดินแดนยังเชื่อมกระชับข้ามผ่านกาลเวลา นอกจากนี้ เทคโนโลยีดาวเทียมก็มีส่วนช่วยถักทอสายใยจากอดีตให้เป็นผืนเดียวกันได้มาก อย่างน้อยดาวเทียมก็สามารถนำ 'ชิงชัง' หรือ 'น้ำตาลไหม้' มาให้ได้ดูและเมาท์กันสนุกสนาน ดูเหมือนว่าพี่ชาคริต จะได้รับความนิยมค่อนข้างมาก แต่พี่เคน ธีรเดช แห่ง 'รถไฟฟ้ามหานะเธอ' ก็กำลังเป็นมาแรงไม่แพ้กัน

            เด็กผู้ชายไปไหน... เราถาม เพราะสังเกตว่านักเรียนห้องนี้มีแต่เด็กผู้หญิง

            "อ๋อ..มันสอบตก หลวงพ่อเลยไล่ให้ไปเรียนห้องอื่น" เธอกล่าวถึงเพื่อนแก้ววัยทะโทนอย่างขำๆ...ปิติที่เรารู้จักมันก็มักซนแก่นแบบนี้เสมอ

            ก่อนเราจะกลับ หลวงพ่อเดินเข้าไปในกุฏิก่อนจะหิ้วถุงหอบหนึ่งกลับมาวางบนโต๊ะ ในถุงเป็นนมข้นจืดกับไมโล
"ฝากไปให้นายด่านฝั่งไทยด้วย บอกว่าหลวงพ่อวัดตาเซะฝากมา " หลวงพ่อกล่าว "ถึงมาอยู่มาเลเซียก็ยังติดตามข่าวคราวในเมืองไทยตลอด" ท่านว่า พร้อมโชว์หนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่งให้ดู เราเลยแอบถามความเห็นต่อข้อเสนอ 'นครปัตตานี' ของ พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ ที่กำลังเป็นข่าวคราวครึกโครมช่วงนี้

            "ไม่มีทาง" หลวงพ่อกล่าวไม่เห็นด้วยอย่างหนักแน่น
           
"มันเป็นเรื่องที่แก้ยาก มันอาจเข้าทางเขาสบายเลย" หลวงพ่อพูดแค่นั้นแล้วเงียบไป เราจึงไม่ซักต่อ แต่ก่อนเดินไปที่รถหลวงพ่อย้ำกับเราอีกครั้ง

            "ถ้ามาอีกก็ซื้อหนังสือพิมพ์ไทยมาฝากบ้างต่ะ"

            แม้มาอยู่ต่างแดนนานแล้ว แต่ดูท่านยังเป็นห่วงใยประเทศไทยเสมอ.

ที่มา.-AmanNews


*******************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี