ศาสนาประจำชาติ
สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์
รองอธิบดีกรมการศาสนา
*********************


                    ดังเป็นที่ทราบแล้วว่า สถาบันหลักของประเทศมี ๓ สถาบัน คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับสถาบันศาสนามีบุคคลบางกลุ่มไม่แน่ใจว่าเป็นศาสนาไหน จนถึงกับบางคนหรือบางท่านไม่ทราบว่า ศาสนาประจำชาติได้แก่คนศาสนาใด
                    เรื่องนี้ผู้เขียนได้ศึกษาพระรบปณิธานพระบรมราโชวาทและพระราชนิพนธ์ชองพระมหากษัตรย์ไทยและจากหลักฐานอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ที่เด่นชัดเท่าที่พอจะรวบรวมได้มีดังนี้
               
 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักทุก ๆ ด้าน "
                    "คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่ออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว....
                    กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศมีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหดญ่มีพิหารอันราม มีปู่ครูนิส (สัยมุต) มีเถร มีมหาเถร เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฏกตรัย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมาในกลางอรัญญิก  มีพิหารอันหนึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารศอันหนึ่งลุกยืน เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้พิหาร มีปู่ครู...."
 (ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๑๙, หน้า ๑๗ และ ๑๙.)

 

พระบรมสัตยาธิฏฐานของ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


                    "พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้ง ปวงว่า ให้บังเกิดมาในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระวงพุทธศาสนาไฉนจึงมิช่วยให้สว่างและเห็นเข้าศึกเล่า พอตกพระโอษฐ์ลง พระพายก็พันควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นช้างเศวตฉัตร ๑๖ ช้าง มีช้างดั้งช้างกันยืนอยู่เป็นอันมาก..."
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด),องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๓๓, หน้า ๒๐๗)

น้ำพระทัยและพระราชดำรัสของ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

                    "พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะให้เราเข้ารีตดังนั้นหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในราชวงศ์ของเราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จะให้เราเปลี่ยนศาสนาอย่างนี้เป็นการยากอยู่ และถ้ำาพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินจะต้องการให้คนทั่วโลกได้นับถือศาสนาอันเดียวกันแล้ว พระเจ้ามิจัดการให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้วหรือ?"
               
 "จริงอยู่เมื่อฟอลคอน ในเวลาหมอบอยู่ข้างพระบาทพระเจ้าพรุงสยามได้แปลคำชักชวนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้รับสั่งมากับราชทูตนั้น ฟอลคอนก็กลัวจนตัวสั่นและสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระกรุณาให้อภัยแก่ฟอลคอนแต่ก็ได้รับสั่งว่า ได้ทรงนับถือศาสนาอันได้นับถือต่อๆ กันมาถึง ๒,๒๒๙ ปี แล้ว เพราะฉะนั้นที่จะให้พระองค์เปลี่ยนศาสนาเสียนั้นเป็นการที่พระองค์จะทำไม่ได้"
 (ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๖ องค์การค้าของคุรุสภา ๒๕๐๗ หน้า ๒๓- ๒๔)

 

น้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


   อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
 ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
 ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
 แด่พระศาสดา สมณะ พระพุทธโคดม
 ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
 สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
 เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
   ถวาบยังคม รอยบาท พระศาสดา
    คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
   ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
   พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
   พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน
(จารึกในศาลพระเจ้าตากสินมหาราช วัอรุณราชวราราม)

พระราชปณิธาน
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

                                       "ตั้งใจจะอุมถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
                                       จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี"
               
                                                       (พระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง)

                    "แล้วมีพระราชโองการปฏิสันถารแก่เจ้าพระยาและพระยาทั้งปวงว่า"สิ่งของทั้งนี้จงจัดทำนุบำรุงไว้ให้จงดี จะได้ป้องกันรักษาแผ่นดิน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และพระราชอาณาเขตสืบไป" แล้วอครมหาเสนาบดีรับพระราชโองการกรบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ" แล้วเสด็จกลับขึ้นช้างในเสด็จประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ....
                    ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนางพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุะยา มหาดิลกภพนพรัตราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" เป็นพระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป้นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐสำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ตั้งแต่พระราชทานามนี้มาบ้างเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเกษมสมบุรณ์ขึ้น (ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยที่ว่าบวรรัตนโกสินทร์นั้นเป็นอมรรัตนโกสินทร์ นอกนั้นคงไว้ตามเดิม..."
(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, กรมศิลปากร, ๒๕๒๖ หน้า ๖๑-๖๓)
                    "ทุกวันนี้ตั้งพระทัยแต่ที่จะทำนุบำรุงวรพระพุทธศาสนา ไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุขให้ตั้งแต่อยู่ในคติธรรม ทั้ง ๔ ดำรงจิตจตุรัสบำเพ็ญศีลทาน จะได้สุคติภูมิ มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นประโยชน์แต่ตน.."
(กฎหมายตราสามดวง, กรมศิลปากร, ๒๕๖๙)
                    "พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดารดังนั้น จึงดำรัสว่า"ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้นเป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลท จะตั้งพระพุทธศาสนาจนได้" พระราชาคณะทังปวงรับสาธุแล้วถวายพระพร..."
(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ กรมศิลปากร ๒๕๒๖ หน้า ๑๑๓.)

พระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จ
พระพุทธเลิศหน้านภาลัย


                    "ศุภมัสดุ ๑๑๗๙ ศก... พระบาทสมเด็จบรมธรรมมิกมหาราชารามาธิราช บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว... ทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหายัญพิธีอันขาดประเพณีมานั้น ให้กลับคืนเจียรฐิติกาลปรากฎสำหรับแผ่นดินสืบไป จะให้เป็นอัตตัตถประโยชน์และปรัตถประโยชน์ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลก ข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวงจำเริญอายุและอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้แลชั่วหน้า..."
 (กระทรวงศึกษาธิการ แนวพระราชดำริเก้ารัชกาล โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว ๒๕๒๘ หน้า ๒๐.)

                    พระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพัฒน์รัตนราชโกษา พระยาราชสุภาวดีกับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีความสโมสาสามัคคีรสปรึกษาพร้อมกันเมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตรจะเป็นศาสนูปถัมภกยกพระบวรพุทธศาสนา และจะปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้แต่จะเห็นดีประนีประนอมพร้อมใจกัน ยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ราชสืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิดอย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้าอย่าให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร..."
                    (จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เลขที่ ๓๔ จ.ศ. ๑๒๑๒ พระบรมราชโองการเรื่องทรงมอบราชสมบขัติเมื่อใกล้จะสวรรคตให้กับเจ้าพระยาพระคลัง)

 

พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                    "การพระราชบริจาคอันนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ขัดขวางเป็นเหตุให้ท่านผู้ใดขุ่นเคืองขัดใจเลย พระนครนี้เป็นถิ่นที่ของคนนับถือพระพุทธศาสนามาแต่เดิม ไม่ใช่แผ่นดินของศาสนาอื่น คนที่ถือศาสนาอื่นมาแต่อื่นก็ดี อยู่ในเมืองนี้ก็ดี จะโทมนัสน้อยใจด้วยริษยาแก่พระพุทธศาสนาเพราะบูชาอันไม่ได้ด้วยไม่ใช่เมืองของศาสนาตัวเลย ถ้าโทมนัสก็ชื่อว่าโลภล่วงเกินไป"
(ประชุมประกาศ รัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑ องค์การค้าของคุรุสภา ๒๕๒๘ หน้า ๘๒)
                    "ทรงพระราชดำริเห็นว่า จะฆ่าสัตว์มีชีวิต คือ สุกร เป็ด ไก่ นก ปลา แลอื่น ๆ ให้ตายเป็นอันมาก จะเห็นไปว่าเป้นเวลาเฉลิมพระชนมพรรษาสัตว์ที่มีชีวิตซึ่งต้องตายเป็นอันมากดังนี้ เป็นเวลาทำบุญแล้ว จะมาทำบาปเล่าดูไม่ควรเพราะบ้านเมืองนับถือบรมพุทธศาสนา แลลัทธิถือว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป ขอให้ท่านทั้งปวงบรรดาที่เริ่มการทำบุญในครั้งนี้คิดยักย้ายทำของเลี้ยงพระสงฆ์แต่ที่ควร..."

                    (ประชุมประกาศ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๑๑ องค์การค้าของคุรุสภา ๒๕๐๔ หน้า๒๔๐-๒๔๑.)

พระราชปฏิญาณและพระราชนิพนธ์ของ
พระบาทสมเด็จพระจุลขอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปิยมหาราช

                    "ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนเฉพาะหน้าพระสงฆ์เถรานุเถระทั้งหลายอันประชุมอยู่ ณ ที่นี้ว่า การที่ข้าพเจ้าคิดจะไปประเทศยุโรป ณ ครั้งนี้ด้เวยข้าพเจ้ามุ่งต่อความดีแห่งพระราชอาณาจักและด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชนืแก่ตัวข้าพเจ้าด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะรักษาตนให้สมควรแก่ที่เป็นเจ้าของประชาชนชาวสยามทั้งปวง จะรักษาเกียรติยศแห่งพระราชอาณาจักรอันเป็นเอกราชนครนี้ จนสุดกำลังที่ข้าพเจ้าจะป้องกันได้
               
 และเพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนใจตัวข้าพเจ้า และเป็นเครื่องเย็นใจแห่งผู้ซึ่งมีความรักใคร่มุ่งหมายความดีต่อข้าพเจ้าปราศจากวิตกกังวลใจด้วยความประพฤติรักดษาตัวของข้าพเจ้า ๆ จึงขอสมาทานข้อทั้งหลายที่จะกล่าวต่อไปนี้
                    ๑. ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสดาอื่นนอกจากสมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมอันพระองคืได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิต
                    ๒. การที่ข้าพเจ้าไปครั้งนี้ แม้ว่าจะช้านานเท่าใดก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีใดจนกลับเข้ามาถึงในพระราชอาณาเขต
                    ๓. ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศซึ่งเขาถือกันว่า การให้สุราเมรัยไม่รับเป็นการเสียกิริยาอันดีฤาเพื่อป้องกันโรคภัยอันเปลี่ยนอากาศเป็นต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาเสียสติ ฤาแม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติเป็นอันขาด
                    คำปฏิญาณสมาทานสามประการนี้ ข้าพเจ้าได้ทำไว้เฉพาะหน้าพระสงห์เถรานุเถระอันได้มาประชุมในการพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล แห่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์และที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในบรมมหาราชวัง วันที่ ๒๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ พระพุทธศาสนายุกาล ๒๔๓๙ พรรษา เป็นวันที่ ๑๐๓๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน"
                    (กรมศิลปากร การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ.๑๑๖ เล่ม ๑. สหประชาพาณิชย์ ๒๕๒๓ หน้า ๙๗-๑๐๐)
                    "พระราชบิดาของฉัน ได้ทรงสละเวลาเป็นส่วนใหญ่ในการศึกษาและคุ้มครองศาสนาของชาติ ส่วนฉันได้ขึ้นครองราชย์ในขณะอายุยังน้อยจึงไม่มีเวลาที่จะเป็นนักศึกษาอย่างพ่อ ฉันเองมีความสนใจในการศึกษาหนังสือหลักธรรมต่าง ๆ สนใจที่จะคุ้มครองศาสนาของเราและต้องการที่จะให้มหาชนทั่วไปมีความเข้าใจถูกต้อง
               
 ดูเหมือนว่า ถ้าชาวยุโรปเชื่อในคำสอนของคระมิชชันนารีว่าศาสนาของเราโว่วมงายและชั่วทราม คนทั่งหลายก็จะต้องถือว่าพวกเราเป็นคน.โง่งมงายและชั่วทรามไปด้วย ฉันจึงรู้สึกขอบคุณบรรดาบุคคลเช่นท่านเป็นตัวอย่างที่สอนชาวยุโรปให้ความคารวะแก่ศาสนาของเรา"
               
 (พระราชหัตถเลขาถึง เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์)
                    "ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักร ให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย"
 (พระราชดำรัสของสมเด็จพระปิยมหาราชต่อคณะสงฆ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๐)
                    "ประชาชนในสยามราชอาณาจักรนี้ ย่อมเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาโดยมาก พุทธศาสนิกชขนในพระราชอาณาจักรย่อมได้สดับตรับฟังพระสัทธรรม ซึ่งสมเด้จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติสอนไว้เป็นวิธีทางสัมมาปฏิบัติจากพระภิกษุสงสฆ์ซึ่งมีอยู่ในสังฆารามทั่วพระราชอาณาจักรแลได้ฝากบุตรหลานเป็นศิษย์ เพื่อให้ร่ำเรียนพระบรมพุทโธวาทแลวิชาซึ่งจะให้บขังเกิดประโยชน์กล่าวคือ วิชาหนังสือเป็นต้น ในสำนักพระภิกษุสงฆ์เป็นประเพณีมีสืบมาแต่โบราณกาลจนบัดนี้ นับว่าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้กระทำประโยชน์แก่พุทธจักร แลพระราชอาณาจักรทั้งสองฝ่ายเป็นอันมาก
                    เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนปรารภถึงการที่จะทำนุบำรุง ประชาชนทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ แลให้เอื้อเฟื้อในการที่จะศึกษาวิชาอันเป็นประโยชน์ เพื่อจะให้ถึงความเจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับ จึงทรงพระรชดำริเห็นว่าไม่มีทางอย่างอื่นจะประเสริฐยิ่งกว่าจะเกื้อกูลพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลชายโดยพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มีกำลังสั่งสอนธรรมปฏิบัติแลวิชาความรู้แก่พุทธศาสนิกชนบริบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน"
               
 (กฎหมาย รัชกาลที่ ๕ ร.ศ. ๑๑๗ เรื่องประกาศจัดการเล่าเรียนหัวเมือง)
                    "การสอนศาสนาในโรงเรียนทั้งในกรุงแลหัวเมืองจะต้องให้มีขึ้นให้มีความวิตกไปว่าเด็กชั้นหลังจะห่างเหินจากการศาสนา จนเลยเป็นคนไม่มีธรรมในใจมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเหมือนอย่างทุกวันนี้ คนที่ไม่รู้อะไรก็มีมาก ต่อไปภายหน้าถ้าเป็นคนที่ได้เล่าเรียนคงจะประพฤติตัวดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้นหาถูกไม่ คนที่ไม่มีธรรมเป็นเครื่องดำเนินตาม คงจะหันไปทางทุจริตโดยมาก ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ค่อยคล่อง ฤาโกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงคล่องมากขึ้นและโกงพิสาดารมากขึ้น การที่หัดให้รู้อ่านอักขรวิธีไม่เป็นเครื่องฝึกหัดให้คนดีและคนชั่ว เป็นแต่ได้วิธีสำหรับจะเรียนความดีความชั่วได้คล่องขึ้น จึงเห็นว่าถ้ามีหนังสืออ่านสำหรับโรงเรียน ที่บังคับให้โรงเรียนต้องสอนกัน แต่ให้เป็นอย่างใหม่ ๆ ที่คนจะเข้าใจง่าย ๆ ...จะเป็นคุณประโยชน์มาก"
                    (กระทรวงศึกษาธิการ, แนวพระราชดำริเก้ารัชกาล, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๒๘, หน้า ๑๗๓

พระบรมราโชวาทและพระราชนิพนธ์ของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

                    "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดาและต้นโคตรวงศ์ของเรา จำเป็นต้องถือไม่มีปัญหาอะไร...เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกได้แน่นอน จึงได้กล้าลุกขึ้นยืนแสดงเทศนาทางพระพุทธศาสนาแก่ท่านทั้งหลายโดยหวังแน่ว่าบรรดาท่านทั้วปวงซึ่งเป็นคนไทย เมื่อรู้สึกแน่วแน่แล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้....พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด....ผู้ที่แปลงศาสนา คนเขาดูถูกยิ่งเสียกว่าผู้ที่แปลงชาติ เพราะเขาย่อมเห็นว่า สิ่งที่นับถือเลื่อมใสกันมาตลอดครั้งปู่ย่าตายาย ตั้งแต่เด็กมาแล้วเป็นของสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนนั้นมีความสัตย์ มีความมั่นคงในใจหรือไม่เมื่อมาแปลงชาติศาสนาได้แล้ว เป็นแลเห็นได้ทันทีว่าเป็นคนไม่มั่นคง อย่าว่าแต่อะไรเลยศาสนาที่ใครทั้งโลกเขานับถือว่าเป็นของสำคัญที่สุด เขายังแปลงได้ตามความพอใจหรือเพื่อสะดวกแก่ตัวของเขา..เหตุฉะนี้ ผู้แปลงศาสนาถึงแม้จะไม่เป็นผู้พึงเกลียดชังแห่งคนทั่วไป ก็ย่อมเป็นผู้ที่เขาสามารถจะเชื่อได้น้อย เพราะเหตุฉะนั้น เป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลายผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา
                    ต้องเข้าใจพุทธศาสนาในเวลานี้ ไม่มีแห่งใดในโลกที่ถือจริงรู้จริงเท่าในเมืองไทยเรา เมืองไทยเราเปรียบเหมือนป้อมอันใหญ่ ซึ่งเป็นแนวที่สุดของพระพุทธศาสนา แนวที่ ๑ แนวที่ ๒ ร่อยหรอเต็มที่แล้ว ยังแต่แนวที่ ๓และแนวที่สุดคือเมืองไทย เราทั้งหลายเป็นผู้รักษาแนวนี้ ถ้าเราไม่ตั้งใจรักษาจริง ๆ แล้ว ถ้ามีอันตรายอย่างใดมาถึงพระพุทธศาสนาเราทั้งหลายจะเป็นผู้ที่ได้รับความอับอายด้วยกันเป็นอันมาก...  เหตุฉะนี้เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งใจที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่าให้มีอันตรายมาถึงได้.. ผู้ที่คนอื่นเขาส่งเข้าปลอมแปลงเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา เราทั้งหลายต้องคอยระวังรู้เท่าไว้จึงจะควร...จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลชายที่เป็นเชื้อชาตินักรบต้องรักษาพระศาสนาอันนี้ให้คงอยู่ในเมืองไทยอีกต่อไป ต้องรักษาไว้เพื่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเราทั้งหลายให้เขารักษากันต่อไป ยั่งยืนเป็นเกียรติยศแก่ชาติของเราชั่วกัลปาวสาน
                    เวลานี้ทั้งโลกเขาพูดเขานิยมว่า ชาติที่ถือพระพุทธศาสนาที่พระพุทธศาสนายั่งยืนอยู่ได้ เพราะมีเมืองไทยเป็นเหมือนป้อมใหญ่ในแนวรบ
เราเคราะห์ดีที่สุด ที่นานมาแล้ว เราได้ตกไปอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงได้เป็นมนุษย์ชั้นสูงที่สุด ที่มนุษย์ชั้นสูงที่สุดที่มนุษย์จะเป็นไปได้ในทางธรรม เหตุฉะนี้ ขอท่านทั้งหลายที่นั่งฟังอยู่ ผู้ที่ตะเกียกตะกายอยากเป็นฝรั่ง อย่าทำเหมือนฝรั่งในทางธรรมเลย ถ้าจะเอาอย่างฝรั่งจงเอาอย่างในทางที่ฝรั่งเขาทำดี คือในทางวิชาการบางอย่าง ซึ่งเขาทำดีเราควรเอาอย่าง แต่การรักษาศีลรักษาธรรมเรามีตัวอย่างดีกว่าฝรั่งเป็นอันมาก ถือพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของเราแล้วเรามีตัวอย่างหาที่เปรียบเสมอเหมือนมิได้
                    พระพุทธศาสนาก็ดีหรือศาสนาใดก็ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ได้ก็ด้วยความมั่นคงของผู้เสื่อมใส ตั้งใจที่รักษา และข้าพเจ้าพูดทั้งนี้ ก็เพื่อชักชวนท่านทั้งหลายอย่างเป็นเพื่อนไทย และเพื่อนพุทธศาสนิกชนด้วยกันทั้งนั้นเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ได้ทำหน้าที่สมควรแก่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เราตั้งใจจะรักษาศาสนาของเราด้วยชีวิต ข้าพเจ้าและท่านตั้งใจจะช่วยข้าพเจ้าในกิจอันใหญ่นี้แล้วก็จะเป็นที่พอใจข้าพเจ้าเป็นอันมาก
                    เมืองเราเกือบจะเป็นเมืองเดียวแล้วในโลกได้มีบุคคลถือพระพุทธศาสนามาก และเป็นเหล่าเดียวกัน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาอย่าให้เสื่อมสูญไป การที่จะบำรุงพระพุทธศาสนา เราต้องรู้สึกก่อนว่าหลักของพระพุทธศาสนาคืออะไร
                    เราทั้งหลายที่ยังไม่แน่ ตั้งแต่วันนี้จะได้พร้อมกันตั้งใจว่าในส่วนตัวเราเองจะริษยากันก็ตาม จะเป็นอย่างไรก็ตาม จะทำการเช่นนี้ต่อเมื่อเวลาว่างไม่มีภัย เมื่อมีเหตุสำคัญจำเป็นที่เราจะต้องต่อสู้ชาติอื่นแม้การส่วนตัวของเราอย่างไร จะทำให้เสียประโยชน์แก่ชาติเราแล้ว สิ่งนั้นเราจะทิ้งเสีย เราจะรวมกันไม่ว่าในเวลานี้ชอบกันหรือชังกัน เราจะถือว่าเราเป็นไทยด้วยกันหมดเราจะต้องรักษาความเป็นไทยของเราให้ยั่งยืนเราจะต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ถวาวรวัฒนการ อย่างที่เป็นมาแล้วหลายชั่วโคตรของเราทั้งหลาย"
               
 (พระบรมราโชวาทเรื่องเทศนาเสือป่า)
                    อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำประพันธ์บทหนึ่งบ่งถึงความหมายของสีทั้งสามของธงไตรรงค์ ดังนี้
ความหมายแห่งไตรรงค์
                                      ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย
                                      แห่งสีทั้งสามงามถนัด
                                      ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
                                      และธรรมะคุ้มจิตไทย
                                      แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
                                      เพื่อรักษาชาติศาสนา
                                      น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา
                                      ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
                                      จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
                                      ที่รักแห่งเราชาวไทย
                                      ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
                                      วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ
               
                                     (จากดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ ๒๔๖๑ หน้า ๔๒)

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

                    "แต่บ้านเมืองในลานนาถึงกาลวิบัติ พระพุทะศาสนาก็เศร้าหมองจงสงฆมณฑลเสื่อมทรามระส่ำระสายมาช้านาน..มาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระปิยมหาราช พระบรมชนกนาถของเราจึงได้เริ่มทรงจัดการฟื้นพระพุทธศาสนาในมณฑลนี้มา โดยทรงพระราชดำริจะให้พุทธจักรและอาณาจักรเจริญรุ่งเรื่องสมกับสมัย เป็นต้นว่าในการสั่งสอนประชาชนทั้งหลายให้รัฐบาลเอาเป็นธุระสั่งสอนส่วนคดีโลก ให้พระสงฆ์รับภาระสั่งสอนส่วนคดีธรรมเป็นอุปการะแก่กันดังนี้ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของเราก็ได้โปรดให้จัดการสืบมาโดยทางนั้น"
                    (พระราชดำรัสและพรบรมราโชวาทในการเสด็จพระราชดำเนินเสียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ พุทธศักราช ๒๔๖๙, ทรงพระกรุณาโปรดกระหม่อยให้พิมพ์พระราชทานในงานบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวารพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าร่ำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗, ๒๕๒๗, หน้า ๓๖)
                   "ตามธรรมดาเด็ก ๆ จะเรียกแต่หนังสือเท่านั้นไม่พอ ถ้าเรียนแต่หนังสืออย่างเดียว ก็จะตรงกับที่โบราบท่านว่าไว้ว่า "วิชชาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด" เราต้องเรียนอย่างอื่นด้วย ต้องฝึกกายวาจาใจ พระพุทธองค์ได้รับสั่งไว้เป็นพุทธภาตว่า ""ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ" คือแปลว่า บุคคลที่ได้ฝึกหัดแล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์..."
 (พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกระทรวงศึกษาธิการ, แนวพระราชดำริเก้ารัชกาล, โรงเพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๒๘, หน้า ๒๕๖.)
                   "ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงน้ำใจ ให้ทนความลำบากได้ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนให้เป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจให้หายเจ็ดปวดในยามทุกข์ได้ด้วย... พวกเราทุก ๆ คนควรพยายามให้เด็ก ๆ ลูกหลายของเรามี "ยา" สำคัญ คือ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลัง เพราะ "ยา" อย่างนี้เป็นทั้ง "ยาบำรุงกำลัง" และ"ยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด"
                   (พระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในทิศ ๖ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๔ , หน้า ข.ฆ.)

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

                    "ข้าพเจ้าขอแสดงความชื่นชมยินดีด้วย ที่สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติจัดให้มีการประชุมยุวพุทธิกาสมาคมทั่วประเทศขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยยกเอาเรื่องการปลุกจิตสำนึกของชาวพุทธเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ขึ้นเป็นหัวข้อการประชุม... ชาวพุทธที่แท้จึงเป็นผู้คิดชอบปฏิบัติชอบอยู่เป็นปรกติอยู่ ณ ที่ใดก็ทำให้ที่นั่นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดองและสร้างสรรค์ จึงเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้คนไทยทุกเชื้อนชาติศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุขมีความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีการสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกัน และมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี การที่ยุวพุทธิกสมาคมได้ตี้งใจพยายามในอันที่จะปลุกจิตสำนกของชาวพุทธให้หนักแน่นมั่นคงในพระศาสนายิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์ทั้งแก่การจรรโลงพระพุทธศาสนา และแก่ส่วนรวมคือประเทศชาติอันเป็นที่เกิดที่อาศัย."
                    ("พุทธธรรม" วารสสารของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,ปีที่ ๔๒, )ฉบับที่ ๒๖๕, พุทธศักราช ๒๕๓๗.)

                    "ข้าพเจ้าถือว่า พระพุทธนวราชบพิตร เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุด และเป็นทั้งบที่หมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติ..."
(บทความในหนังสือ พระพุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติไทย,คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา, วิสาขบูชา, ๒๕๒๗, หน้า ๙๗.)
                    "บัดนี้ ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน และต้องการความสามัคคีความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม กรณีกิจอันสำคัญของท่านทั้งหลาย คือการส่งเสริมประชาชนให้มีพระรัตนตรัยและธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นหลักของใจและความประพฤติ ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง"
                    (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ ๑๗ วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒)

                    ในประวัติศาสตร์ไทย พระมหากษัตริย์ไทยพุกพระองค์ ทรงเป็นพุทธมามกะ รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ได้ระบุไว้ชัดแจ้ง ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๙ บัญญัติว่า ไพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัทภก" ซึ่งข้อความในวรรคหลังเป็นข้อความที่เนื่องกับวรรคแรก กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนา ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงประกอบราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ก็เสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามทรงจุดเทียนทองธูปเงินเครื่องนมัสการพระมหาณณีรัตปฏิมากร และทรงรับศีล แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศพระองค์เป็นภาษามคธว่า ทรงรับเป็นพุทธศาสนูปถัมภกจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรสืบไป พระสงฆ์ถวายสาธุการขึ้นพร้อมกันครั้นแล้วพระสงฆ์ทั้งนั้นสวดถวายพระพร เสร็จแล้วจึงเสด็จไปนมัสการพระมหามณีรัตนปฏิมากรแล้วเสด็จ (กลับ) อย่าขบวนที่เสด็จเมื่อขามา"
                    (จากหนังสือพระราชกรณีกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๐ โดยจมื่นอมรดรุณรักษ์, องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๕, หน้า ๖๑)
               
 สำหรับศาสนาอื่น ๆ นั้น พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้ความคุ้มครองศาสนาอื่น ๆ และช่วยอุดหนุนตามความเหมาะสม
 พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างดียิ่งตลอดมา โดยทรงอุปถัมภ์ในทุก ๆ ด้านคือ ด้านศาสนะรรมก็ได้ทรงอุปถัมภ์การชำระและจารึกพระไตรปิฏก การศึกษาพระปริยัติธรรมตลอดจนการปฏิบัติธรรม ด้านศาสนาบุคคลก็ได้ทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์และการสถาปนาพระราชคณะ ซึ่งไม่เคยทรงสถาปนานักบวชในศาสนาอื่น ๆ ทะนุบำรุงถาวรวัตถุทางพระพุทธสาสนา อีกทั้งทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น.
                    อนึ่งพระราชกรณีกิจที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงบำเพ็จไม่ว่าจะเป็นงานพระราชพิธี งานพระราชกุศลและรัฐพิธี ล้วนแต่มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักทั้งสิ้น แม้จะมีพิธีพราหมณ์ปนอยู่ พิธีพราหมณ์เหล่านั้นก็เป็นเพียงส่วนประกอบปลีกย่อยเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าประเทศไทยแม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่โดยพฤตินับและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องความหมายธงชาติไทย ก็เป็นอันนับได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยมาแต่อดีต
               
 อนึ่ง เครื่องชี้ชัดอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้สิ้นความสงสัยว่าสถาบันศาสนาได้แก่ สถาบันพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันในโอกาสเสด็จออกทรงผนวชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ว่า
                    "โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเองก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื้องในบรรดาสัจจธรรมคำสั่งสองอันชองด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวยข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่ง ตามราชประเพณีซึ่งจัดเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพาการีตามคตินิยมด้วย และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ครองราชย์ สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้วเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง.. จึงตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้"
(จากหนังสือพระบรมราโชวาท)
                    นอกจากนั้น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสตรัสต้อนรับโป๊ปจอห์น ปอล ที่ ๒ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ความตอนหนึ่งว่า
 "คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ"
               
 พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาททั้งหลายที่ได้อัญเชิญมานี้ เป็น พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระมหากษัตริย์ที่ทรงความสำคัญยิ่งหลายพระองค์ในทุกยุคทุกสมัย ได้ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน จึงเป็นหลักฐานยืนยังที่ชัดเจนได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่บรรพบุรุษของเราได้ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นสถานบันหลักของสืบเนื่องติดต่อมา
 การที่บรรพบุรุษของเราได้กำหนดให้สถาบันชาติ สถาบันพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหาษัตริย์ เป็นสถาบันหลักที่สำคัญนั้น ทำให้เรามองเห็นถึงพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องของบรรพบุรุษของเราเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบังดังกล่าวทั้ง ๓ สถาบันนี้จะขาดสถาบันใดสถาบันหนึ่งมิได้ ต่างอาศัยเกี่ยวพันซึ่งกัน คือ
                    ๑ สถาบันชาติ เครื่องหมายของความเป็นชาติย่อมมีส่วนประกอบหลายอย่าง แต่ส่วนประกอบสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเป็นชาติได้แก่ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติและตามที่กล่าวมาแล้วว่าโดยที่ประเทศไทยของเราได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาช้านานแต่โบราณ ทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อถือทางพระพุทธศาสนาเกือบทั้งสิ้น ฉะนั้นหากพระพุทธศาสนาได้รับความกระทบกระเทือนย่อมมีผลให้สถาบันชาติสั่นคลอนไปด้วย
                    ๒. สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่พระมหากษัตรย์ทรงเป็นพุทธมามกะตามกฏมนเทียรบาลและรัฐธรรมนูญ การที่ชนในชาติยังมีความเสื่อมใส ศรัทธายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ตราบใด ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีลัทธิความเชื่อถือที่สอดคล้องกับองค์พระประมุข มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุดร่วมกัน อันเป็นพื้นฐานความมั่นคงที่สำคัญ
                    ๓ สถาบันพระพุทธศาสนา โดยที่เนื้อแท้ของสถาบันพระพุทธศาสนานั้น มิอาจตั้งอยู่ได้โดยปราศ่จากความอุปถัมภ์จากองค์เอกอัครอศาสนูปถัมภกและจากรัฐ เพราะพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันนี้ เป็นผู้ทรงศีลเป็นผู้ขัดเกลากิเลส เป็นผู้เผยแพร่ประกาศพระศาสนาในฐานะศาสนทายาท มิได้ประกอบอาชีพการงาน เยี่ยงคฤหัสถ์ การดำรงสมณเพศต้องอาศัยชาวบ้านเมือง หากขาดการอุปถัมภ์ค่ำจุนจากรัฐและจากองค์พระประมุขเมื่อใด ก็ย่อมจะดำรงตั้งอยู่ไม่ได้เช่นกัน
                    ด้วยโครงสร้างของชาติไทยที่มีความผู้พันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาแต่อดีตอันยาวนาน จนคำสอนในพระพุทธศาสนากลายเป็นรากฐานของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีวัฒนธรรม ที่คนไทยทั้งชาติยึดถือร่วมกัน อีทั้ง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะตามกฏมนเทียรบาลและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำให้โครงสร้างความเป็นชาติไทย ซึ่งประกอบด้วยสถาบันหลักสามสถาบัน ได้แก่สถาบันชาติสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสัมพันธ์อาศัยซึ่งกันและกันมิอาจแยกจากกันได้ หากขาดสถาบันหนึ่งสถาบันใดอีกสองสถาบันก็มิอาจดำรงอยู่ได้   ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันทั้งสามดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราชไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๖ บัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"..

 

*************************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี