แนวคิดใหม่ในการฟื้นฟูจิตใจในประชาชน 6 จังหวัดภาคใต
โดย น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
 ************************************

           ในอดีตภาครัฐ องค์กรช่วยเหลือ รวมทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสพมหันตภัย นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางกายภาพแล้วก็มักจะให้ความสำคัญกับการเยียวยาทางจิตใจ โดยเฉพาะการรับฟัง การให้ระบายความในใจ การให้กำลังใจ ตลอดจนการให้ ผู้ประสพภัยคิดวางแผนว่าด้วยการหาทางออกในอนาคตของตนเอง จะเห็นได้ว่าการดำเนินลักษณะดังกล่าวจะมีจุดเน้น 3 ประการคือ 1. การปรับตัวของบุคคล 2. การผ่านพ้นวิกฤติเฉพาะหน้า 3. เป็นการช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติ

                  แต่ภายหลังจากประสบการณ์การติดตามศึกษาวิจัยประชาชนที่ได้รับภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ ทำให้ได้มีข้อค้นพบว่าการช่วยเหลือรายบุคคลในวิตกฤติเฉพาะหน้านั้นอาจจะมีปัญหาหลายประการ คือ 1. ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก 2. ใช้กำลังผู้เชี่ยวชาญมากเพราะเป็นการดูแลรายบุคคลถึงกระนั้นก็ยังไม่ทั่วถึงและไม่ต่อเนื่อง 3. แม้ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านั้นจะมีอาการดีขึ้นแต่การปรับตัวในระยะยาวก็อาจจะเกิดปัญหาได้ 4. ในการเกิดภัยพิบัติกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะมีผลกระทบทั้งชุมชนภายหลังเหตุการณ์มักจะมีปัญหาการปรับตัวทางสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียชุมชนและสังคมที่ตนเคยใช้ชีวิตอยู่มักจะนำไปสู่ปัญหาสังคม เช่น ปัญหาครอบครัว ยาเสพติด อาชญากรรม เป็นต้น

                  ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าจะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์หรือสร้างแนวคิดใหม่ในการฟื้นฟูจิตใจประชาชน กระบวนทัศน์ใหม่ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
                  1. ใช้ทุนสังคมที่มีอยู่ให้มากที่สุดในการช่วยเหลือ
                  2. เปลี่ยนสถานภาพจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติ
                  3. ฟื้นฟูจิตใจในปริบทของครอบครัวและชุมชนและอาศัยผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น
                  4. ประสานการฟื้นฟูจิตใจของบุคคลเข้ากับการฟื้นฟูชุมชน

1. ใช้ทุนสังคมที่มีอยู่ให้มากที่สุดในการช่วยเหลือ
                  ภาวะทางจิตใจหลังภัยพิบัตินั้นจะแสดงออกใน 2 ระดับ ในระดับแรกจะเป็นเพียง
ปัญหาในการปรับตัว ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่ได้รับผลที่ไม่รุนแรงจนเกินไป โดยที่การสูญเสียมีผลกระทบกับตนเองในระดับที่คนทั่วไปสามารถเผชิญได้ แต่ในระดับที่ 2 จะเป็นการเกิดบาดแผลทางใจ เพราะเหตุการณ์ได้สร้างผลกระทบกระเทือนทางจิตใจสูง เช่น เผชิญภาพเหตุการณ์ที่น่ากลัว สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปต่อหน้าต่อตาหรือสูญเสียหลาย ๆ อย่าง ๆ ไปพร้อมทั้งครอบครัว บ้านเรือน เครื่องมือประกอบอาชีพ เป็นต้น

                  นอกเหนือจากความรุนแรงที่ประประสพเป็น 2 ระดับแล้ว ปัจจัยสำคัญที่จะกระทบ
กับการปรับตัวก็คือ
                  - วัย เด็ก ๆ จะมีบาดแผลทางใจมากและปรับตัวได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะการขาดประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นเด็ก ๆ จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุซึ่งมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อยกว่า
                  - บุคลิกพื้นฐาน คนที่มีลักษณะพึ่งพามีอารมณ์อ่อนไหว ชอบโทษคนอื่นและยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ยาก ก็จะเกิดอาการที่รุนแรงกว่า
 อาการที่พบในรายที่รุนแรงอาจจะเกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์ทันที แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 1 – 2 สัปดาห์ เพราะในช่วงแรกบุคคลยังอยู่ในช่วงค้นหาสมาชิกในครอบครัว สำรวจความเสียหาย ฯลฯ อาการที่เกิดขึ้นในรายที่ไม่รุนแรงก็อาจจะเกิดปัญหาการปรับตัวในลักษณะอารมณ์เศร้าหรือวิตกกังวล  แต่ถ้าหากรุนแรงดังนี้เกิดบาดแผลทางใจดังที่กล่าวข้างต้น จะแสดงอาการ 3 ประการ คือ ประการแรก การยังรู้สึกถึงเหตุการณ์นั้น ในลักษณะเป็นภาพติดตา อาจจะในยามหลับหรือในเวลาตื่น ปฏิกิริยาทางจิตใจนั้นอาจจะขยายไปสู่เหตุการณ์อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น เวลาได้ยินเสียงดัง เวลาชมภาพข่าวเหตุการณ์ หรือเห็นผู้ประสบเหตุอื่น ประการที่สอง บุคคลนั้นพยามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ใดก็ตามที่โยงกับภัยพิบัตินั้น หรือตอบสนองอย่างชาเย็น เช่น ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่พูดถึง เป็นต้น ประการสุดท้าย จะมีอาการที่แสดงถึงความหวาดวิตก จิตใจที่สั่นคลอนได้ง่าย ภาวะหดหู่หรือขาดความมั่นคงทางจิตใจ
 เนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก การที่หวังว่าจะมีการช่วยเหลือได้ทั่วถึงจากวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์หรือบุคคลกรทางสุขภาพจิตย่อมเป็นไปได้ยาก การช่วยเหลือที่สำคัญจึงควรมาจากทุนสังคมที่มีอยู่ เช่น
                  - จากคนในครอบครัวเดียวกัน ผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าก็ช่วยเหลือด้วยการรับฟัง ปลอบโยน ให้กำลังใจคนอื่น
                  - อาศัยคนในชุมชนเดียวกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยหว่าหรือมีจิตใจเข้มแข็งกว่าก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้
                  - ใช้พลังของอาสาสมัครที่อยู่ต่างชุมชน แต่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันซึ่งสามารถให้การช่วยเหลือได้ต่อเนื่อง และเข้าถึงได้ดีกว่า เช่น สามารถไปเยี่ยมบ้านได้ เป็นต้น
                  ทุนสังคมที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ทุนทางความคิด ซึ่งในวิถีชุมชนมักมีที่มาจากศาสนา คนไทยไม่ว่าศาสนาใดจะมีรากฐานความศรัทธาทางศาสนาที่จะช่วยให้ยอมรับความเป็นจริงได้ง่าย เช่น
                  - พุทธศาสนา เน้นว่าการสูญเสียเป็นเรื่องอนิจจัง หรือเป็นเรื่องของกรรม
                  - ศาสนาอิสลามหรือศาสนาคริสต์ ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า
                  นอกเหนือจากนั้นพิธีกรรมของชุมชน ที่อิงศาสนาหรือประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน
ก็เป็นทุนสังคมที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางจิตใจได้มาก เช่น การสวดมนต์หรือละหมาดร่วมกัน การทำบุญตามหลักศาสนานั้น ๆ เป็นต้น

2. เปลี่ยนสถานภาพจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติ
                  ในทางจิตวิทยาพบว่าการจมปลักอยู่กับความรู้สึกสูญเสีย เจ็บปวด ขมขื่น จะทำให้คนเราปรับตัวได้แย่ลง ในทางตรงข้ามหากคนที่ประสพภัยพิบัติได้ทำในสิ่งที่สร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ากับผู้อื่นและสังคมก็จะช่วยเหลือเยียวยาจิตใจได้ดีกว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะมุ่งแต่การช่วยเหลือจากภายนอก จนลืมพลังของผู้ที่ประสพเหตุเอง สิ่งที่สำคัญก็คือ การให้ผู้ประสพภัยพิบัติได้จัดตั้งกันขึ้นมาจัดการและดำเนินการช่วยเหลือกันเอง
 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในค่ายพักชั่วคราว มักจะเห็นภาพที่ข้าวของบริจาคถูกวางไว้อย่างไร้ระเบียบ ผู้คนมายื้อแย่งข้าวของและและบางทีก็เป็นคนที่ไม่ได้รับภัยพิบัติ ทั้งนี้เพราะฝ่าย
ราชการก็มีภาระเต็มมือจนไม่สามารถมาจัดการได้ สิ่งที่ควรกระทำก็คือ ให้ผู้ประสพภัยจัดตั้งกันขึ้นมาเป็นกรรมการ แบ่งหน้าที่กันดูแล จัดระเบียบข้าวของ จัดทำข้อมูลความต้องการ แจกจ่ายข้าวของอย่างเป็นระบบ

3. ฟื้นฟูจิตใจในปริบทของครอบครัวและชุมชน
                  การเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุดก็คือการอยู่ในบรรยากาศของครอบครัวและชุมชนที่ตนรู้จักและคุ้นเคย มากกว่าจะมาอยู่แปลกที่แปลกถิ่น เพราะในครอบครัวและชุมชนคนเราจะรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายคิดฝ่ายกระทำ มากกกว่าเป็นฝ่ายงอมืองอเท้า ดังนั้นหากเป็นไปได้การให้ประชาชนได้มีโอกาสรวมครอบครัวกลับไปฟื้นฟูบ้านเรือนในเบื้องต้นและเชื่อมโยงกันเป็นชุมชน โดยการช่วยเหลือสนับสนุนทั้งหลายก็ผ่านการจัดการของชุมชนไปสู่ครอบครัว ก็จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ดีกว่าทั้งระยะสั้นและระยะยาวมาก การสร้างค่ายพักถาวรที่แยกครอบครัวออกจากชุมชนพึงหลีกเลี่ยงหากมิได้มีความจำเป็นจริง ๆ และควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงาน เช่นการสร้างบ้าน การออกแบบและการดำเนินการก็ให้เป็นไปโดยการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำของชาวบ้าน มากกว่าจะไปสร้างบ้านสำเร็จรูป

                  อย่างไรก็ตามในงานกรณีที่บุคคลไม่สามารถปรับตัวได้โดยกระบวนการครอบครัวและชุมชน การพึ่งพาวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ก็มีความจำเป็น เช่น
                  - ผู้ที่มีอารมณ์เศร้า หลาย ๆ สัปดาห์ มีความคิดท้อแท้สิ้นหวังจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือคิดฆ่าตัวตาย
                  - ผู้ที่กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่สามารถลืมเหตุการณ์ได้เป็นเวลาหลาย ๆ วัน
                  - มีอาการซึม เงียบ เก็บกด ไม่ตอบสนองตอบต่อการปลอบโยนของญาติพี่น้อง
                  - มีอาการทางจิต เอะอะโวยวาย เห็นภาพหลอน หวาดระแวง ฯลฯ
                  - เด็กหรือผู้สูญเสียที่ไม่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องอยู่อาศัยอย่างโดดเดี่ยว

                บุคคลเหล่านี่จำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกครอบครัว หรือผู้นำชุมชนจะต้องตระหนักว่าเป็น
เรื่องของอาการเจ็บป่วย หรือ สภาวะสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือจากวิชาชีพไปด้วยกันจึงจะได้ผล

4. ประสานการฟื้นฟูจิตใจเข้ากับการฟื้นฟูชุมชน

                  หลังจากที่บาดแผลทางจิตใจได้รับการเยียวยาแล้ว การปรับตัวในระยะต่อไปจะเป็นเรื่องของการปรับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ ซึ่งอยู่ในบริบทของชุมชนและสังคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ธรณีพิบัติหนนี้เกิดขึ้นกับทั้งชุมชน คนในชุมชนต้องอพยพออกจากที่อยู่ชั่วคราว บ้านเรือนพังทลาย สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เช่น ทางน้ำเปลี่ยน แนวปะการังถูกทำลาย ป่าไม้เสียหาย เป็นต้น
 ประชาชนจะเผชิญทางสองแพ่ง กล่าวคือ ถ้ากลับไปที่เก่า ก็อาจจะไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตและประกอบ อาชีพดังเดิมได้ ขณะเดียวกัน ถ้าหากหาทางออกที่ทำให้เกิดการสูญเสียชุมชนและสังคมที่ตนเติบโตมา โดยการอพยพไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตแบบใหม่ ก็จะนำมาซึ่งปัญหาสังคมที่รุนแรงยิ่งกว่า เช่น ครอบครัวแตกแยก ลูกโดยเฉพาะวัยรุ่นมีปัญหา การปรับตัวที่ ไม่ดีจะนำไปสู่การ ติดสุรา ยาเสพติด และการก่ออาชญากรรม เป็นต้น

แนวทางในการปรับตัวในระยะนี้ที่สำคัญก็คือ

                  4.1 การรวมพลังภายในชุมชน อาศัยวิกฤตของความยากลำบากที่ทำให้ทุกคนรักกันมากขึ้น มาช่วยกันพิจารณาหาทางออก การฟื้นฟูชุมชนยังเป็นทางออกที่เป็นไปได้ ก็จะต้องสามัคคีกันในการวางแผน การประสานขอความช่วยเหลือและความสนับสนุนที่จำเป็นจากภายนอก และการดำเนินงานอย่างมุ่งมั่น ผู้นำชุมชนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรวมพลังดังกล่าว
                  4.2 การรวมพลังทั้งสังคม โดยเฉพาะพลังจากภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนในเมือง ในการนี้จะต้องจัดทำโครงการฟื้นฟูระยะยาว เป็นการระดมทรัพยากรจากภาคเมืองมาสู่ภาคชนบทที่ประสบเหตุ พลังที่สำคัญยิ่งอีกพลังหนึ่งคือพลังจากประชาชนคนหนุ่มสาว ในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย การที่ได้เข้ามาเรียนรู้และช่วยพัฒนาฟื้นฟูชุมชน โดยให้เยาวชนทั้งจากในสังคมใหญ่และจากชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ต่อไปพลังเยาวชนเหล่านี้จะสามารถเติบใหญ่เป็นขบวนการของคนหนุ่มสาว ที่มีจุดยืนเพื่อสังคม แทนที่จะใช้พลังไปในทางสนุกสนาน ฟุ้งเฟ้อ หรือเพื่อตนเองอย่างที่ผ่านมา
                  4.3 การประสานกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูชุมชนจะต้องทำความเข้าใจกับภาครัฐบางส่วน ที่อาจจะใช้วิธีง่าย ๆ แต่สร้างปัญหาในภายหลัง เช่น การให้ค่าชดเชยแต่ยึดคืนที่ดิน การให้ที่พักพิงระยะยาวโดยไม่ให้เตรียมการให้ประชาชนพึ่งตนเอง และรักษาความเป็นชุมชนไว้ได้ ควรสร้างความร่วมมือในการระดมทรัพยากรด้านต่าง ๆ ของรัฐ มาช่วยฟื้นฟูชุมชน รวมทั้งให้มีนโยบายที่เกื้อหนุนการฟื้นฟูชุมชน เช่น การขยายการลดหย่อนภาษี ให้ครอบคลุมการบริจาคให้กับโครงการต่อเนื่องต่าง ๆ ที่เอกชนและประชาชนสนับสนุนชุมชน

โอกาสในการพัฒนา

                  กรณีพิบัติ ครั้งนี้ แม้จะเป็นโศกนาฏกรรมที่นำความสูญเสีย และความเศร้าสลดไปทั่ว ไม่เพียงแต่ผู้ที่ได้รับภัยพิบัติโดยตรงในหกจังหวัดภาคใต้เท่านั้น แต่ยังความรู้สึกร่วมต่อการสูญเสีย และพร้อมจะช่วยเหลือของคนในชาติ หรือแม้กระทั่งประชาชนในต่างประเทศ แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
                  วิกฤตอันดับแรก ก็คือ วิกฤตทางจิตใจของผู้ที่ได้รับภัยพิบัติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งโอกาสอันสำคัญกล่าวสำหรับผู้ได้รับภัย ก็คือ การพัฒนาและยกระดับจิตใจของตนไปสู่ความเห็นใจในเพื่อนผู้ร่วมทุกข์ภัยเดียวกันจนสามารถมองข้ามความแตกต่างในทางฐานะ เชื้อชาติและศาสนา การเห็นชัดในความไม่เที่ยงทำให้ลดความยึดติดในสิ่งที่เป็นตัวเราของเราและหันมาใส่ใจในการทำประโยชน์กับชุมชนและสังคมมากขึ้น การจะแปลงให้เป็นโอกาสเหล่านี้ได้จะต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญก็คือ การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ร่วมคิดกับผู้ประสบเหตุการณ์ การพัฒนาจิตใจตามแนวทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม และการได้มีโอกาส เป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติในการฟื้นฟูสภาพ
                  วิกฤตอันดับที่สอง ก็คือ วิกฤตทางสังคม อันอาจนำไปสู่การสูญสลายทางสังคม โดยเฉพาะหมู่บ้าน หรือชุมชน ที่ได้รับภัยพิบัติทั้งชุมชน มีความเป็นไปได้ที่จะถูกจัดการที่ดินใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถดำรงอาชีพและชีวิตแบบเดิม การต้องแยกออกจากครอบครัวและชุมชน เพื่อไปหางานทำใหม่ รวมทั้งผลจากการได้รับค่าชดเชย แล้วนำไปสู่การหาทางออกนอกสังคมเดิม เป็นต้น การที่มนุษย์ต่างสูญเสียความผูกพันต่อครอบครัว และชุมชนเดิมของตน จะไม่เพียงแต่เป็นส่วนที่ทำให้การปรับตัวแย่ลงเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา เช่น การหย่าร้าง การใช้ความรุนแรง การติดสุรา ยาเสพติด และอาชญากรรม เป็นต้น วิกฤตในลักษณะเช่นนี้จะได้รับการคลี่คลายไปได้ ก็ต้องอาศัย

                ประการที่หนึ่ง พลังจากผู้นำชุมชน

                  ประการที่สอง การวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนที่ได้รับภัยพิบัติตั้งแต่ต้น
                  ประการสุดท้าย คือการจัดการในการช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (เช่นการว่าจ้างแรงงานชุมชนในการปรับสภาพแวดล้อมระยะแรก) ทั้งนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนด้านนโยบายและทรัพยากรจากรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องอาศัยการต่อรองด้วย และที่สำคัญก็คือการสนับสนุนจากภาคสังคม ซึ่งควรมีการเคลื่อนไหวทางสังคมให้มีโครงการต่อเนื่อง อันน่าจะสำคัญยิ่งกว่าการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ในช่วงต้นเสียด้วยซ้ำ

                  มหันตภัยครั้งนี้ แม้จะเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยเผชิญมา แต่ก็เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการรวมพลังคนไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ลืมมิติทางจิตใจ

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี
  เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย
www.budnet.info