การมอบหมายอำนาจหน้าที่
นำเสนอโดย พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐

 

               รูปการปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมายปัจจุบัน กำหนดให้มีเจ้าคณะเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในเขตปกครองชั้นนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว มิได้แบ่งแยกอำนาจหน้าที่เป็นองค์การดังเช่นกฎหมายฉบับก่อน แต่เพื่อให้มีผู้ช่วยเจ้าคณะชั้นนั้น ๆ ให้มีรองเจ้าคณะเป็นผู้ช่วยบังคับบัญชารับผิดชอบตามที่เจ้าคณะมอบหมาย

               ส่วนการปกครองวัด คงกำหนดรูปแบบดังกฎหมายฉบับก่อน กล่าวคือกำหนดให้วัดเป็นศูนย์รวมงานการคณะสงฆ์และการพระศาสนาทุกอย่าง ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในวัดนั้น ๆ และให้มีรองเจ้าอาวาสผู้ช่วยเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย

               รองเจ้าคณะ รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และไวยาวัจกร เป็นตำแหน่งที่บัญญัติไว้เพื่อช่วยปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว เจ้าคณะหรือเจ้าอาวาสต้องมอบหมาย จึงจะปฏิบัติงานในหน้าที่เจ้าคณะและงานในหน้าที่เจ้าอาวาสได้ รองเจ้าคณะ รองเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสจะทำการใด ๆ จะต้องใช้อำนาจเจ้าคณะหรืออำนาจเจ้าอาวาส ส่วนไวยาวัจกรใช้ตำแหน่งไวยาวัจกรโดยตรง

               อนึ่ง งานคณะสงฆ์ใด ๆ และงานวัด เป็นงานส่วนรวมของพุทธจักร มิใช่งานของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ เจ้าคณะและเจ้าอาวาสจึงต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จะต้องให้งานในความรับผิดชอบสืบต่อกัน มิใช่งานสะดุดหยุดอยู่เฉพาะผู้รับตำแหน่งรูปหนึ่ง ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการส่งมอบงานการคณะสงฆ์และการวัด

               ทั้งการมอบหมายอำนาจหน้าที่และการส่งมอบงานนั้น ขอกำหนดให้ทราบแนวปฏิบัติดังนี้

วิธีมอบหมายอำนาจหน้าที่แก่รองเจ้าคณะ

               ตำแหน่งรองเจ้าคณะในส่วนภูมิภาค มี ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ รองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เป็นตำแหน่งซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่พร้อมกับการแต่งตั้ง แต่จะมีอำนาจหน้าที่ในเมื่อเจ้าคณะมอบหมาย การให้มีรองเจ้าคณะในส่วนภูมิภาคนั้น ก็เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะ จึงสุดแต่เจ้าคณะจะมอบหมายให้บังคับบัญชารับผิดชอบส่วนใด ๆ โดยเจตนารมณ์ของกฎมหาเถรสมาคมนั้น กำหนดรองเจ้าคณะเพื่อให้ช่วยงานและเพื่อให้ได้ฝึกงานในชั้นนั้น ๆ มิใช่กำหนดเพื่อให้รองเจ้าคณะพักผ่อนหรือรอรับเกียรติเท่านั้น แต่การมอบหมายอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะนั้น มหาเถรสมาคมได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้กว้าง ๆ จึงอาจมอบได้ทั้งด้วยวาจา และหรือด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นการชอบ และการมอบหมายงานนั้น จะมอบเป็นการชั่วคราวเฉพาะเรื่องหรือมอบเป็นการประจำก็ย่อมทำได้

               วิธีปฏิบัติ ควรแบ่งงานเป็น ๗ การ คือ การปกครอง (การรักษาความเรียบร้อยดีงาม) การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ การสาธารณสงเคราะห์ การนิคหกรรม แล้วรวมงานแต่ละการเข้าแบ่งเป็น ๒ ส่วน หรือ ๓ ส่วน ตามจำนวนผู้รับผิดชอบ ถ้ามีรองเจ้าคณะรูปเดียวก็แบ่งรวมเข้าเป็น ๒ ส่วน ถ้ารองเจ้าคณะ ๒ รูป ก็แบ่งเป็น ๓ ส่วน



(ดูตัวอย่างประกอบ)

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี